วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 11/21 (1)


พระอาจารย์
11/21 (560722B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
22 กรกฎาคม 2556
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เป็นไงบ้างล่ะ

โยม –  มันไม่ค่อยตั้งมั่น พระอาจารย์

พระอาจารย์ – ทำบ่อยๆ รู้บ่อยๆ แก้ความหลง ...สร้างความเคยชินในการระลึกรู้ นิดนึงก็เอา หน่อยนึงก็เอา  ได้นิดก็เอา ได้หน่อยก็เอา ..สร้างความชำนาญ ความถี่ บ่อยๆ

เอาจนมันคุ้นเคยน่ะ จนมันเป็นนิสัยภายใน จนมันเป็นอุปนิสัย จนมันเป็นอุปบารมี ...แทนสันดานของการเผลอเพลิน ล่องลอย แล้วก็จมปลักมุ่งมั่นกับภายนอก

มีแต่การภาวนา การฝึก การทวนเท่านั้น ...มันจึงจะแก้ความมุ่งมั่นกับภายนอกจนลืมเนื้อลืมตัว

ถ้าไม่ภาวนา ถ้าไม่ฝึกสติ...อย่างมาก อย่างยิ่งแล้วนี่ ...มันจะแก้จิต แก้ความเห็น แก้ความเชื่อ การกระทำของเราที่มันมุ่งออกไปข้างหน้าข้างนอกอย่างแรงกล้านี่ไม่ได้

เวลาทำงาน เวลาไปไหนมาไหน มันก็จะมุ่งไป...ในงาน ในอะไร  จนลืม...ถึงขั้นที่เรียกว่ามันมัวเมาเข้าไป มันไปจริงจังอย่างยิ่งเกินไป...กับข้างนอก เรื่องราวภายนอก

แล้วพอมันจะถอยออก จะถอนกลับ ...ไอ้ความจริงจังตรงนั้นน่ะ มันก็จะสร้างความเห็นว่าอย่างนั้นไม่ได้ อย่างนี้ไม่ได้ กลัวว่างานจะเสีย กลัวว่าเรื่องราวภายนอกน่ะ มันจะไม่สำเร็จ

อะไรๆ มันจะไม่สมบูรณ์ แล้วมันจะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ค้างคาไว้อยู่ นี่มันมีคำอ้างคำกล่าว..ของเราน่ะ ของจิตผู้ไม่รู้ เพื่อไม่ให้ออกจากการมุ่งมั่นภายนอกแล้วก็เปลี่ยนมาเป็นความมุ่งมั่นภายใน

เพราะนั้นตัวแรกที่จะต้องทำก็คือ...สติ  เพื่อให้เกิดความระลึก แล้วก็ถอยถอนกลับมา ตั้งมั่นอยู่ภายในกาย ภายในปัจจุบันกาย ปัจจุบันขันธ์

เมื่อมันตั้งมั่นด้วยอำนาจของสติที่คอยเหนี่ยวคอยรั้งไว้อยู่ตลอดเวลา พลังของสมาธิ พลังจิตที่มันตั้งมั่นเป็นหนึ่ง มันจะเกิดพลังที่มันมุ่งมั่นอยู่ภายใน มันไม่มุ่งมั่นภายนอก

แล้วเมื่อมันมุ่งมั่นภายใน ...มันก็จะมุ่งมั่นอยู่ในการค้นคว้าหาความเป็นจริงอยู่ภายใน แทนที่มันจะไปพุ่งค้นคว้าหาความเป็นจริงอยู่ภายนอก

ซึ่งไอ้การค้นคว้าหาความเป็นจริงของภายนอกนี่...ไอ้ความเป็นจริงภายนอกนี่  ยิ่งหา...ยิ่งมีมากขึ้นไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ ...ไม่มีคำว่าจบและสิ้น

ไม่ว่าจะหน้าที่การงาน ทรัพย์สมบัติ เรื่องราว ความถูก-ความผิด อะไรอย่างเนี้ย ...มันยิ่งหาความเป็นจริงไป มันยิ่งต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น

เพราะนั้นใจหรือจิตหรือไอ้เราที่มันไปมุ่งมั่นกับการงานภายนอกนี่ มันก็เรียกว่าเป็นสมาธิที่เป็นมิจฉาสมาธิ หรือว่าโมหะสมาธิ ...มันก็ได้งานภายนอก

แต่ว่าไอ้งานที่ได้น่ะ มันจะได้แบบไม่จบไม่สิ้น และมีผลไม่เป็นอันเดียวกัน ...ดีบ้าง-ไม่ดีบ้าง มากบ้าง-น้อยบ้าง ถูกบ้าง-ผิดบ้าง สุขบ้าง-ทุกข์บ้าง ...แตกต่างกันไป

แต่เมื่อมันเกิดความตั้งมั่นอยู่ภายในแล้ว ...มันจะมีความมุ่งมั่นอยู่ภายใน

การมุ่งมั่นอยู่ภายในนี่แหละ มันเป็นมูลฐานมูลเหตุให้เกิดปัญญา ญาณทัสสนะ...ที่จะเกิดความรู้ความแจ้งความชัดเจนในกองขันธ์กองธาตุ กองปัจจุบันธาตุ กองปัจจุบันขันธ์

ซึ่งมันเป็นความเป็นจริง ซึ่งมันเป็นเหตุ ซึ่งมันเป็นต้นเหตุ...ที่ความไม่รู้ทั้งหลายนี่มันมาหมาย ...เริ่มหมายแบบผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากตรงนี้ก่อน

เมื่อมันมีการมุ่งมั่นเรียนรู้ดูเห็นอยู่ภายในกายในขันธ์นี่ มันก็จะเข้าใจความเป็นจริง สภาพที่แท้จริงของกาย สภาพที่แท้จริงของขันธ์ ว่าแท้ที่จริงแล้วมันคืออะไร เป็นอะไร

ก็เห็นว่าแท้ที่จริงแล้วมันเป็นอะไรหรือไม่เป็นอะไร นี่...สุดท้ายมันก็จะได้ความเป็นจริงตรงนั้น ได้เห็นความเป็นจริงตรงนั้น ซึ่งมันมีอยู่แล้ว ความเป็นจริงนี้มันมีอยู่แล้ว

แต่ถ้ามันไม่ได้มุ่งมั่นอยู่ภายใน ตั้งใจใส่ใจอย่างยิ่งอยู่ ...มันจะไม่เห็นความเป็นจริงอันนี้

เพราะนั้นตัวสมาธิหรือจิตตั้งมั่นอยู่ภายใน จึงเป็นตัวบาทฐานให้เกิดความรู้ความเห็นที่เรียกว่าเป็นญาณปัญญา คือการรอบรู้ในกองขันธ์ ที่สุดก็คือการรู้แจ้งเห็นจริงในกองขันธ์

ทำไมต้องรู้แจ้งเห็นจริงในกองขันธ์ ...เพราะว่าจิตผู้ไม่รู้ที่มันอยู่ในขันธ์นี่ มันมาหมายขันธ์นี่ผิด ...เพราะมันหมายขันธ์นี้แบบผิดๆ มันจึงออกไปสร้างความผิดภายนอกไม่จบไม่สิ้น

พระพุทธเจ้าถึงบอก...ต้องมาเริ่มต้นทำความรู้แจ้งเห็นจริงในกองขันธ์ ...เมื่อมันรู้แจ้งเห็นจริงในกองขันธ์แล้วนี่ ไอ้ความผิดที่มันออกไปทำด้วยความไม่รู้ภายนอกนี่ มันก็จะหยุดเลย

เหมือนตัวกับเงา ถ้ามันไม่มีตัวนี่ มันจะไม่มีเงา ...มาเริ่มที่ตัวนี้ก่อน  เพราะมันมีตัว เพราะมันมีเรา...เงาของมันน่ะมันทาบทาไปหมด ครอบคลุมไปหมด


โยม –  อาจารย์ครับ ยิ่งนานไปเข้า มันเหมือนกลายเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความผูกพันกับอะไร มันเหมือนไม่ค่อยใส่ใจหรืออะไรกับภายนอก ไม่ค่อยมีใจกับอะไร

พระอาจารย์ –  อือ นั่นแหละดีแล้ว คือยิ่งอยู่ไปยิ่งภาวนาไป มันก็ยิ่งสละโลกไปเรื่อยๆ  หรือมันไม่ข้องแวะกับโลก แล้วก็โลกไม่สามารถมาข้องแวะได้ด้วย

อย่าว่าแต่มันไม่ข้องแวะกับโลก ...โลกก็ข้องแวะกับมันไม่ได้


โยม –  มันรู้สึกแปลกๆ

พระอาจารย์ –  อาจหาญไว้ ...อย่าไปกลัว อย่าไปกลัวคนอื่นรับไม่ได้ อย่าไปกลัวคนอื่นเขารู้สึกไม่ดี อย่าไปเกรงใจโลก อย่าไปเกรงใจธรรมเนียมต่างๆ อย่าลังเลสงสัยในความเป็นไปอย่างนี้

แล้วมันก็จะเกิดความอาจหาญมั่นคงอยู่ภายใน ที่จะกล้าละ กล้าสละ กล้าวาง ทุกสิ่ง...โดยไม่เลือก โดยไม่กลัว ...บางทีมันละไม่ได้เพราะมันกลัว

กลัวไม่เหมือนคนอื่น กลัวเข้ากับคนอื่นเขาไม่ได้ กลัวผิดแผกแตกต่างจากคนอื่น ...แต่ถ้ามันละไป หรือมันไม่ข้องแวะกับอะไรไปเรื่อยๆ แล้ว มันก็มีความอาจหาญขึ้นมาภายใน

ไม่ยี่หระ เกิดคนเดียวก็ตายคนเดียว ก็ไม่เห็นต้องพึ่งอะไร ไม่เห็นจะต้องมีใครมาดูแล ไม่เห็นจะต้องกลัวว่าคนจะไม่รักไม่ชอบ อยู่ได้ ...ก็อยู่ไป

สุดท้ายมันจะไม่ได้ละแต่โลกภายนอก มันจะละ...แม้กระทั่งตัวขันธ์นี่ ก็ยังไม่ยี่หระต่อกองขันธ์นี่  มันก็เห็นเป็นแค่ขยะอันนึง ยุบๆ ยับๆ ยิ่บๆ ยั่บๆ ของมันไป

ไม่เอาเราเข้าไปเอาใจใส่มาเป็นภาระ ให้มันหนัก ให้มันวุ่นวี่วุ่นวาย ...นี่ อยู่ไป ภาวนาไป เดี๋ยวมันก็ค่อยๆ เข้าใจในตัวของมันเองขึ้นมา

แล้วก็เกิดความกล้าที่จะเผชิญกับอะไรก็ได้ ยังไงก็ได้...ด้วยการละและการวาง  มันแจ้งด้วยการละและการวาง มันไม่ได้แจ้งด้วยการเอาหรือการหวนคืน

เพราะลึกๆ มันจะไปหวนคืนให้เหมือนเดิม เพราะมันคุ้นเคย ...มันเคยมีเคยเป็น เคยอยู่เคยเป็นอย่างนั้นมาเนิ่นนาน  ...พอมันเริ่มเปลี่ยนสภาพ หรือเริ่มละเริ่มวาง มันไม่คุ้นเคย

แค่มันไม่คุ้นเคยเท่านั้นนี่ ตรงเนี้ย ความไม่คุ้นเคยนี่ ในสิ่งที่มันกำลังละ กำลังปล่อย ไม่เกี่ยวไม่ข้อง ไม่แยแส ไม่ใส่ใจ ...มันกลัว ลึกๆ มันกลัว เพราะมันไม่คุ้นเคย

มันก็จะหวน หวนกลับไปเป็นอย่างเดิมดีมั้ย หรือมันผิดมั้ย มันสงสัยแล้ว นี่มันต้องละ ต้องวาง ต้องละความรู้สึกของเราตรงนี้ออกไปเรื่อยๆ

แล้วก็อยู่ไปจนมันปรับสภาพคุ้นเคยขึ้นมา เรียกว่าสมดุล มันก็เกิดความสมดุล...พอดี  มันจะเห็นว่าเป็นความพอดีกันมากขึ้น พอดีโดยที่ว่าพอดีได้กับทุกสิ่ง โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกัน

ไม่ต้องยื่นมือเข้าไป...มันก็พอดี  ไม่ต้องไปโอบอุ้ม ไม่ต้องไปประคับประคอง...มันก็พอดี  ต่างคนต่างอยู่ เท่านี้พอ ... ไม่ล้ำกัน ไม่เข้าไปล้ำ ล่วงล้ำ กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเหมือนเคย

ซึ่งแต่ก่อนนี่ มันก็ยังมีว่ามากบ้างน้อยบ้าง ...เคยน่ะ มันเคย อย่างนั้นอย่างนี้กับเขา กับไอ้อย่างนั้น กับสิ่งนี้ กับอารมณ์นั้น กับความรู้สึกนี้ของคนนั้นคนนี้ ...มันเข้าไป

พอเราถอยปล่อยมือออกมานี่...มันไม่เคย  มันก็เลยลังเลว่าจะหวนไปทำอย่างเดิมมั้ย ...เพื่อรักษาเขาเอาไว้ เพื่อรักษาอันนั้นไว้...แบบเดิม

แต่พอมันเริ่มสมดุล มันเริ่มพอดีแล้ว จิตมันก็รวมอยู่ที่นี่ ใจมันก็รวมอยู่แค่รู้  เรา...มันก็ไม่มีออกไปเจตนากับสิ่งใด อารมณ์ใด บุคคลใด เรื่องราวใดๆ

เพราะนั้น ไอ้เรื่องราวใดๆ บุคคลใดๆ ในโลกนี่ มันเป็นของที่มันมีของมันอยู่แล้ว ...จะยื่นมือไป หรือไม่ยื่นมือไป มันก็มีของมันอยู่แล้ว

แต่การที่เราไม่เคยละวางเลย...ในการที่จะเข้าไปจัดการกับมัน ...นี่คือความคุ้นเคยของกิเลสที่มันมักจะเข้าไปจัดการกับทุกสิ่ง ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ทั้งในแง่ดีแง่ร้าย แง่ที่เป็นคุณกับเขา แง่ที่เป็นโทษกับเขา

นี่ มันคุ้นเคยกับอย่างนั้น … พอเริ่มที่จะดึงออกนี่...มันไม่คุ้นเคยแล้ว


(ต่อแทร็ก 11/21  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น