วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 11/23 (2)


พระอาจารย์
11/23 (560722D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
22 กรกฎาคม 2556
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 11/23  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  แล้วจะอยู่กับความจริง ...หรือจะอยู่กับความไม่จริง 

ถ้าอยู่กับความเป็นจริงน่ะจะเกิดปัญญา ...แต่ถ้าไปอยู่กับความไม่จริง ก็จะเกิดความรู้ที่ไม่จริง คือรู้ตามสมมุติ รู้ตามบัญญัติ ...ไม่ได้รู้ตามความเป็นจริง 

พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้รู้ตามสมมุตินะ ท่านบอกว่าให้ละสมมุติอีกต่างหาก อย่าไปหลงสมมุติ อย่าไปหลงบัญญัติ ...แต่พอเริ่มต้นพวกเราก็เอาบัญญัติมาเป็นแม่บทซะแล้ว 

ไปๆ มาๆ ผลข้างเคียงตามมา คือทิ้งบัญญัติไม่ได้ มันกลายเป็นนิสัยที่คุ้นเคยน่ะ ...ทีนี้พอจะกลับมาอยู่กับรากฐานคือความเป็นจริงล้วนๆ นี่ กลายเป็นของยากไปซะแล้ว 

แต่มันก็ไม่เกินกำลังของผู้ปฏิบัติที่มีความพากเพียรตั้งมั่นจริงจังหรอก ที่จะค่อยๆ ละเลิกเพิกถอน.อะไรที่มันคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อะไรที่เป็นการปฏิบัติที่มันคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

โดยเอาความเป็นจริงของปัจจุบันกายนี่เป็นรากฐานยืนพื้นไว้ ...มันมีเท่านี้ก็รู้เท่านี้ มันแสดงเท่านี้ก็รู้ว่ามันแสดงเท่านี้  มันไม่ได้บอกความหมาย มันไม่ได้บอกชื่อมันอย่างนี้ ก็รู้แค่นี้ ...เอาตรงนี้ก่อน

กายไม่ได้แปลว่าลมหายใจเข้าหรือออกอย่างเดียว กายไม่ได้แปลว่านั่งอย่างเดียว กายไม่ใช่แค่ตึง แน่น อ่อน แข็ง อย่างเดียว ...มันเป็นทุกอย่างน่ะแหละ แล้วแต่มันจะแสดงอาการไหน

มันจะแสดงเป็นลมบ้าง เข้าบ้างออกบ้าง สั้นบ้างยาวบ้าง  หรือย้ายไปเป็นปวดบ้างตึงบ้าง เป็นก้อนเป็นกองบ้าง หนักบ้าง ทึบๆ บ้าง มีลมพัดมาทีก็วูบๆๆๆ บ้าง

ทั้งหมดนี่ล้วนเป็นอาการของกายตามความเป็นจริง หรือปกติกายตามความเป็นจริงทั้งสิ้น ไม่ผิดกติกา ไม่ใช่ว่าจะต้องรู้เฉพาะลมหายใจเข้าและออกแต่ถ่ายเดียว

อย่างนี้แหละที่เรียกว่าสติที่รู้ไปทั่วกาย หรือรู้รอบ รู้ตลอดในกองกาย ...เพราะกายไม่ใช่เป็นแค่ลม กายไม่ใช่เป็นแค่หนักแค่เบา กายไม่ได้เป็นแค่อุ่นแค่ร้อนแค่เย็น กายไม่ได้เป็นแค่แข็งแค่นิ่ม

เห็นมั้ย มันมีตั้งหลายอาการ ทำไมจึงต้องไปจำเพาะแบ่งว่ากายคืออันนี้ๆ เท่านั้น ...นี่คือเริ่มเข้าไปจัดการแล้ว ไปทำความเป็นจริงอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นอย่างนั้นขึ้นมา

อย่างนี้เรียกว่าไม่ได้เรียนรู้กายตามความเป็นจริง ถึงบอกว่า สตินี่...ไม่เลือก  ขอให้เป็นปกติปัจจุบันกาย ตรงไหนก็ได้ ที่ไหนก็ได้ โดยรวมก็ได้  นั่งรู้ว่านั่งก็ได้ เห็นรูปทรงนั่งอยู่ตรงนี้ก็ได้

รู้มันเข้าไปเถอะ แล้วมันจะมีตรงไหนชัดเจนขึ้นมา เช่น เป็นลมพัดก็รู้ขึ้นว่ากำลังมีอาการนี้ ...ก็ไม่ต้องไปบอกว่าลมพัดหนอ อะไรหนอ ...ถ้ามันติดว่าหนออยู่ ก็เออ ไม่เอาแล้ว ไม่เอา

คือมันต้องติดแน่ๆ พอเริ่มนั่งก็ว่าลมเข้าหนอ-ออกหนอ นี่ มันต้องติดอยู่แล้ว ...ก็ค่อยๆ แกะออก  มันเกาะ..ก็แกะ มันเกาะอีก..ก็แกะอีก  เกาะๆ...แกะๆ กันอยู่เนี่ย

นี่เป็นอานิสงส์ อนุสัยของการที่ไปทำอะไรให้มันมาเกาะติดซะอย่างงั้น ก็เลยต้องเสียเวลา เกาะแล้วก็แกะๆ ...แกะออกๆ เดี๋ยวมันก็อยู่ได้ เงียบๆ

รู้จักอยู่เงียบๆ ให้เป็นซะบ้าง อย่าไปปาก (ปาก ภาษาเหนือแปลว่า พูด) ...มันเคยปากกับเราไหม


โยม –  ไม่เคย มันไม่พูดกับเรา มีแต่เราพูดกับมัน

พระอาจารย์ –  แล้วไปยุ่งกับมันอะไร หือ (หัวเราะกัน) ...มันเคยบอกมั้ยว่ามันสวย มันเคยบอกมั้ยว่ามันขาวหรือมันดำ มันเคยบอกมั้ยว่ามันเป็นผู้หญิง


โยม –  ไม่ ...อ้อ บอกเหมือนกันค่ะ

พระอาจารย์ –  มันบอกตรงไหน


โยม –  อวัยวะ

พระอาจารย์ –  มันบอกหรือ มันบอกมาเป็นคำพูดมั้ย


โยม –  ไม่ มันบอกมาเป็นรูป

พระอาจารย์ –  แล้วรูปมันบอกมั้ย มันเป็นอะไร ของใคร


โยม –  ไม่บอก เรานี่แหละบอก

พระอาจารย์ –  เอ้า ... เออ โง่มั้ย (หัวเราะกัน) โง่กว่ามันนะนั่นน่ะ (โยม - ค่ะ) เขาแสดงความเป็นจริง แต่กลับไปบิดเบือนความเป็นจริงด้วยสมมุติ ด้วยบัญญัติ ...เสร็จแล้วก็ตายกับบัญญัติสมมุติเลย

ถ้าเป็นผู้หญิงคือต้องเป็นผู้หญิงจริงๆ อย่ามาว่าเป็นผู้ชายนะ จะโกรธให้ดู ...โกรธมั้ย เคยใช่มั้ย เพราะเชื่อจริงๆ ว่ากูเป็นผู้หญิงน่ะ  ทั้งๆ ที่ตัวมันแท้ๆ นี่มันบอกอะไรมั้ย ...เนี่ย อันไหนจริงกว่ากัน


โยม –  เมื่อเช้าโยมก็นั่งดู ผู้ชายเดินมา ก็อะไรนะที่มันบอกว่าผู้หญิง-ผู้ชาย  โยมไม่ได้ทะลึ่งนะคะ  อ๋อ อวัยวะมันแบ่งว่านี่คือผู้หญิง-ผู้ชาย ก็แค่นั้นเอง โยมก็รู้อย่างนี้

พระอาจารย์ –  นั่นเขาเรียกว่าปัญญาแบบตื้นเขิน ยังตื้นเขินอยู่ ...จริงๆ แล้วไม่มีอะไรบอกความเป็นเพศเลย นะ ...มีแต่จิตเราที่เข้าไปให้ค่าต่างหาก 

ตัวเรานั่นแหละที่มีสัญญา แล้วจำได้หมายรู้ขึ้นมา แล้วมันให้ความหมายมั่นในความจำได้หมายรู้นั้นๆ ...โดยเชื่อแบบเป็นวรรคเป็นเวร ...เขาเรียกว่า มโนสัญเจตนา มันเกิดอยู่ภายใน

แต่ถ้าดูแบบง่ายๆ สบายๆ ...ความเป็นจริงนี่ เขาแสดงตรงไปตรงมา  ความเป็นจริงของกายที่อยู่ตรงนี้ เขาแสดงแบบตรงไปตรงมามั้ย ...ทำไมอยากจะต้องไปซับซ้อนกันกับมัน 

แค่รู้ว่านั่งเฉยๆ นี่ มันเป็นยังไง หือ มันจะตายหรือ มันจะไม่ถึงนิพพานหรือ ...มันยากตรงไหน มันมีอะไรมาขัดขวาง มันมีอะไรมาปิดบัง ...ดูดีๆ ใครปิดบัง ใครขัดขวาง 

หนึ่ง...เรา  สอง...ความคิด  สาม...ความเชื่อ  สี่...ความเห็น  ห้าหกคือเคยทำอย่างงู้นอย่างงี้มา พวกเนี้ยจะเป็นตัวปิดบังกายตามความเป็นจริงในปัจจุบัน ...แล้วถามว่า ใครจะแก้ให้ล่ะ หา ให้เราแก้ให้มั้ย


โยม –  ไม่ดีกว่า ตัวเรานี่แหละ

พระอาจารย์ –  ใช่ เพราะเราแก้ให้ไม่ได้  ...ต่อให้พระพุทธเจ้ามานั่งอยู่ตรงนี้ พระพุทธเจ้าก็แก้ให้ไม่ได้  ท่านถึงบอกว่า ปัจจัตตัง เวทิตตัพโพ วิญญูหิติ

ธรรมนี้ การปฏิบัตินี้ ผู้นั้นจะต้องน้อมนำไปทำเอาเอง...ด้วยศรัทธา ด้วยความเพียร ที่เรียกว่าอินทรีย์ ๕ คือศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา

เห็นมั้ยว่า อินทรีย์หรือว่าพละ หรือว่ากำลังนี่ มันต้องเริ่มต้นจากศรัทธา ...ไม่ใช่ศรัทธาเรา  แต่คือศรัทธาในข้อความที่เราพูด ศรัทธาในความหมายที่เราอธิบายชี้แจง

ว่าศีลคืออย่างนี้นะ สมาธิคืออย่างนี้นะ ปัญญาคืออย่างนี้นะ แล้วมันศรัทธา เมื่อมันมีศรัทธาต่อศีล ตรงต่อศีล ตรงต่อสมาธิ ตรงต่อปัญญาแล้ว มันจึงเกิดวิริยะ แปลว่าความพากเพียร เอาไปปฏิบัติ

สติจึงเกิดขึ้น...ก็มีการระลึก ก็มีการรักษาปัจจุบันกาย ไม่ให้ห่าง ไม่ให้ขาด ไม่ให้หาย ไม่ให้หลง ไม่ให้ลืม ไม่ให้เกิน ไม่ให้หลุด ไม่ให้ขาดวรรคขาดตอน

เมื่อสติเกิดอย่างนี้ รักษาศีล รักษาปกติกาย รู้ตัวอยู่ตลอดต่อเนื่อง...สมาธิก็เกิด คือจิตตั้งมั่นเป็นหนึ่งอยู่กับปัจจุบันกายปัจจุบันศีลนั่นเอง

เพราะฉะนั้น คำว่าสมาธิไม่ได้แปลว่าสงบ แต่แปลว่า...จิตตั้งมั่นเป็นหนึ่งกับปัจจุบันศีลปัจจุบันกาย

ทีนี้ว่าถ้ามันเป็นหนึ่งกับที่อื่น เช่นขับรถแล้วเป็นหนึ่งอยู่กับถนนหรือการขับ ก็เป็นหนึ่งเหมือนกัน เป็นสมาธิเหมือนกัน มีสมาธิอยู่ในการขับรถ ผลก็คือรถไม่ชน 

แต่มันไม่เกิดปัญญาที่รู้จักขันธ์ตามความเป็นจริง ใช่ไหม ...ระหว่างขับรถแล้วรถไม่ชนนี่ ถามว่ารู้มั้ยว่าขันธ์คืออะไร ขันธ์ห้าคืออะไร กายคืออะไร เราคืออะไร เราอยู่ที่ไหน ...มันไม่รู้เลย 

เพราะสมาธินี้ยังไม่ใช่สมาธิที่ควรแก่งานในองค์มรรค ท่านจึงเรียกว่าไม่ใช่สัมมาสมาธินั่นเอง

แต่เมื่อใดที่มันมาหนึ่งกับกาย หนึ่งอยู่กับศีล หนึ่งอยู่กับปัจจุบันกาย หนึ่งอยู่กับปัจจุบันศีล ...นี้เองจึงเป็นเหตุให้เกิดปัญญาญาณ คือรู้เห็นตามความเป็นจริง

ไม่ใช่มันรู้เห็นข้างนอกตามความเป็นจริง แต่มันรู้เห็นขันธ์ห้าตามความเป็นจริงอย่างที่เราบอกตอนนี้ เมื่อกี้ว่า ใครมันบอกว่ามันเป็นผู้หญิงนั่ง ...กายมันบอกมั้ย

โยม –  ไม่ ...เราบอก


พระอาจารย์ –  เห็นมั้ย แค่พูดแค่นี้ แค่แนะนำแค่นี้  มันยังเข้าไปหยั่งถึงความเป็นจริงของเนื้อแท้ธรรมแท้ของกายแท้ๆ เลยว่า เขาไม่ได้รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเขาเป็นใคร ในการนั่งนี้ ในความรู้สึกที่นั่งนี้ ใช่ไหม

โยม –  ใช่


พระอาจารย์ –  มันบอกมั้ย มันแสดงเพศมั้ยในความแข็งนี่  ในลมหายใจเข้า-ออก มันบอกมั้ยลมหายใจนี้เป็นผู้หญิงมีเพศ มีหญิงมีชายอยู่ในลม หือ มันบอกมั้ยมันเป็นของใคร

โยม –  ไม่บอก


พระอาจารย์ –  เอ้า แล้วทำไมบอกว่า “เรานั่ง” ล่ะ  ทึกทักเอาเองรึเปล่า หรือมันหมายมั่นเอาแบบไม่มีเหตุไม่มีผลรึเปล่า หรือมาหมายเอาแบบโง่ๆ รึเปล่า

หรือมาหมายด้วยมิจฉาทิฏฐิหรือว่าความเห็นผิดในกาย ...มันเห็นผิดในกายหรือเปล่า มันเห็นผิดไปจากความเป็นจริงใช่ไหม ว่ากายนี้เป็นเรา ว่ากายนี้เป็นผู้หญิง ...นี่ มันถูกหรือมันผิด

ถ้าตามโลกตามสมมุติล่ะไม่ผิด แต่ถ้าตามธรรมน่ะผิด ...แล้วไงล่ะ  จะเอาอันไหน จะเอาถูกตามโลกหรือจะเอาถูกตามธรรม

โยม –  ตามธรรมค่ะ


พระอาจารย์ –  อ่ะ ถ้าตามธรรม ผลก็คือไม่เป็นทุกข์  ถ้าตามโลกน่ะ เดี๋ยวทุกข์

โยม –  คือนั่งนาน...เมื่อย


พระอาจารย์ –  เมื่อย...นี่ไม่ใช่ผิดนะ  ที่มันทุกข์เพราะว่า “เราเมื่อย” น่ะ ...เมื่อยมันไม่รู้ไม่ชี้นะ ถ้ามันมีปากมันก็บอกกูไม่รู้ไม่ชี้ ก็มึงดันนั่งนานเองน่ะ ใช่มั้ย  แล้วมึงมาเดือดร้อนกับกูทำไม

ไอ้ที่มันทุกข์นี่ เพราะ “เราเมื่อย...เราปวด” ปวดไม่ได้บอกว่ามันทุกข์นะ ...ดูดีๆ สิ  ...รู้จักรึยังว่าปัญญาคืออะไร คือแยกแยะสภาพตามความจริงออก ด้วยความชัดเจน

ไม่เห็นต้องคิดเลย ไม่เห็นต้องรอเลย แค่ดูตรงนี้มันก็เกิดปัญญาทีละเล็กทีละน้อยแล้ว ไม่เห็นต้องหนอเลย เข้าใจมั้ย ...นี่ ถามว่าเข้าใจมั้ย จิตมันก็จะตอบว่าเออ เข้าใจว่ะ ...เนี่ย ปัจจัตตัง

เราไม่ได้บีบบังคับให้เข้าใจตามเรานะ ...แต่ว่าโยมเห็นไปตามลำดับเองใช่มั้ย ข้างในน่ะ  ลึกๆ ข้างในน่ะ มันบอก “เออเว้ย จริงเว้ย ไม่ผิดเลย ...นั่นน่ะเขาเรียกปัจจัตตัง 

ปัญญามันก็เกิดผลอย่างเนี้ย เห็นมั้ย มันก็รู้สึกโล่ง เบา “เออ เฮ้ย กูโง่มานานว่ะนี่ แล้วกูจะโง่ต่อไปถ้ากูไม่มาได้ยินนี่ แล้วถ้าไม่หยั่งรู้ดูเห็นอย่างนี้ในปัจจุบัน 

เห็นมั้ยว่า มันต้องตั้งหน้าตั้งตาทำสมาธิอยู่มั้ยนี่ หรือต้องมีความสงบก่อนมั้ยนี่ ...เออ แล้วทำไมมันเข้าใจล่ะ หือ ทำไมมันรู้สึกฟังแล้วเบาล่ะ 

นี่ไม่ใช่อานิสงส์ของเรานะ …แต่เพราะว่าฟังตาม ปฏิบัติตามลงในปัจจุบัน แล้วมันแยกแยะในขณะที่ฟังไปด้วยน่ะ เห็นมั้ย เรียกว่ามีการปฏิบัติพร้อมกับการได้ยินได้ฟัง 

ภาวนามยปัญญามันเลยเกิดพร้อมกับสุตตะและจินตา เดี๋ยวนี้เลย ...ไม่ต้องรอชาติหน้าแล้วนะ

แต่ปัญหาคือว่า...พอมันออกจากเราไปนี่ มันจะได้อย่างงี้ไหม (หัวเราะกัน) ...เข้าใจมั้ย อันนี้มันต้องอาศัยความชำนาญ แล้วก็ความใส่ใจ จนมันเกิดความที่เรียกว่า “ยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง”

ไอ้นี่ยังอาศัยลำแข้งเรา...ถ้าไม่มาใกล้มือใกล้ตีนนะ มันไม่รวมอยู่ได้ มันไม่สามารถจะน้อมนำด้วยตัวของมันเองได้เลย ...เพราะมันจะมีจิตกิเลสหรือว่าตัวเราน้อมนำออกไปหาในที่อื่นที่ไกล

ไปหาสภาพธรรม สภาพความรู้ที่ดี ที่เหนือ ที่ใช่ ที่คิดว่าใช่  ที่น่าจะใช่ ที่ใช่ยิ่งกว่านี้ ...แล้วพวกเราจะทานทนตรงนี้ไม่ได้ ถ้าไม่ฝึกที่จะระลึก...กำกับกายกำกับปัจจุบันไว้ด้วยความสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

เพราะนั้นตัวที่ระลึกไว้อยู่ด้วยสติ...กับกายหรือว่าศีลนี่ มันจะก่อให้เกิดฐานของสมาธิ...คือจิตที่ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวไปกับอาการทั้งหลายทั้งปวง

ไอ้อาการทั้งหลายทั้งปวงที่น่ากลัวที่สุดคือความคิดของเรา ไอ้ทั้งหลายทั้งปวงที่น่ากลัวที่สุดคือความเห็นของเราเองนั่นแหละ ...ไม่ใช่อันอื่นเลย

ถ้าไม่มีสมาธิ ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น ถ้าจิตไม่มั่นคงจริงๆ แล้ว มันจะส่ายออกนอกกาย ส่ายออกนอกปัจจุบันกาย ส่ายออกนอกปัจจุบันศีล ...และถ้ามันออกนอกปัจจุบันกายปัจจุบันศีลเมื่อไหร่ อย่าถามถึงปัญญา 

ไม่มีทางเลยที่จะเกิดปัญญาญาณ หรือทัสสนะอันแจ่มใส...ในการเห็นกายเห็นขันธ์ตามความเป็นจริง อย่างที่เราพูดเป็นไกด์ไลน์ให้แล้วโยมวิ่งตามระลึกลงตามตรงนี้เลย

ปัญญามันไม่ได้ไปเกิดที่อื่น ปัญญาไม่ใช่ไปหาจากที่อื่น ...มนุษย์สมบัติ กายนี่เป็นของเราเอง ได้มาพร้อมกับการเกิด ถือว่าเป็นสมบัติ  ท่านเรียกว่ามนุษย์สมบัติ ...ติดตัวมาคนละหนึ่งก้อน

ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากันหมด ทุกคนมีศีลเท่ากันหมด ทุกคนมีมรรคเท่ากันหมด ทุกคนมีวิถีแห่งมรรคเท่ากันหมด ...แต่ติดอยู่อย่างเดียวคือ...กูไม่เดินอยู่บนทางนี้

มัวแต่หาทางอื่นเดิน อย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น สำนักนั้นว่างั้น สำนักนี้ว่าอย่างงี้ อาจารย์องค์นั้นว่าอย่างนี้ ตำรานี้ว่าอย่างนั้น ...มันล้วนแล้วแต่ออกนอกนี้ไปเลย ใช่มั้ย ยิ่งไป ยิ่งได้ ยิ่งไกล

ไกลอะไร...ไกลความเป็นจริง  ไกลอะไร...ไกลออกไปจากปัจจุบันความจริง  ไกลอะไร...ไกลออกจากปัจจุบันธรรม  ไกลอะไร...ไกลจากมรรค  ไกลอะไร...ไกลจากผล  ไกลอะไร...ไกลจากนิพพาน

ต่อให้มันภาวนาไปตามประสามันจนตาย...ก็เกิดไปเถอะ  จงมายินยอมรับความเกิดต่อเนื่องไปเถอะ สมควรแล้วแก่ความโง่ ...นี่ไม่ได้แช่ง แต่มันต้องเป็นอย่างนี้


(ต่อแทร็ก 11/24)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น