วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 11/31 (2)


พระอาจารย์
11/31 (add560623B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
23 มิถุนายน 2556
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 11/31  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เมื่อจิตมันยอมอ่อนน้อมต่อศีล ต่อธรรม ...ไม่อหังการว่ากายเป็นอย่างนั้น กายเป็นอย่างนี้ ไม่ไปสร้างความเห็นที่มันขัดแย้งกับความเป็นจริงขึ้นมาจนเป็นทุกข์

เพราะไอ้สิ่งที่มันสร้าง หรือว่ามันขัดแย้งกับธรรมตามความเป็นจริงขึ้นมานี่ ไม่ว่าจะเป็นความคิดความเห็นว่าเป็นเราก็ตาม เป็นของเราก็ตาม พวกนี้

เมื่อใดที่มันสร้างความขัดแย้งกับความเป็นจริงของขันธ์ขึ้นมาเมื่อไหร่  มันเป็นสมุทัย มันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ...นี่ มันก็จะยอมลบล้างความเห็นผิดในตัวของมันเอง ด้วยความเป็นปัจจัตตังในตัวของมันเอง

แต่คราวนี้ว่ามันก็ต้องประกอบเหตุเยอะๆ ...การประกอบเหตุแห่งศีล  การประกอบเหตุแห่งสตินี่ต้องเยอะ ต้องสม่ำเสมอ ต้องซ้ำซาก ต้องต่อเนื่อง จนต่อเนื่อง

แล้วก็...มันจะว่าเป็นเรา หรือบางครั้งก็ไม่เป็นเรา หรือบางครั้งก็เป็นเราโดยที่ไม่เห็นเลยว่าไม่เป็นเราได้ยังไงตรงไหนนี่ ...ก็ช่างมัน ประกอบเหตุลงไป

ไม่ต้องถามว่าเมื่อไหร่ ยังไง  ไม่ต้องไปคิด ไม่ต้องไปปรุง ไม่ต้องไปสร้างเวลา ...ก็ดูซ้ำๆๆๆ โง่ๆ ลงไป ดูความรู้สึกในกาย ไล่ดูวนดู วนเวียนสอดส่องอยู่ในกายนี้ ไม่ให้มันไปสอดส่องที่อื่น

เพราะจิตน่ะ...ถ้ามันไม่ได้ควบคุมด้วยสติ สมาธิ ปัญญาแล้วนี่  จิตมันจะไม่อยู่กับปัจจุบัน จิตจะไม่อยู่กับปัจจุบันขันธ์ จิตจะไม่อยู่กับปัจจุบันกาย ...มันจะไปอยู่ในอดีต มันจะไปอยู่ในอนาคต 

มันจะไปอยู่กับขันธ์คนอื่น มันจะไปอยู่กับขันธ์ภายนอก มันจะไปอยู่กับวัตถุข้าวของภายนอก ...แล้วมันก็จะไปสร้างเรากับสิ่งนั้นๆ นั้นๆ ที่มันไปตรึก ไปตรอง ไปแช่ ไปจม ไปคา ไปข้อง 

เห็นมั้ยว่า มันก็จะมี "เรา" ในทุกที่ที่จิตมันส่งออกไปน่ะ ...เพราะนั้นถึงแม้ว่าความเป็นเรามันยังไม่ขาดสิ้น..ด้วยการกลับมารู้กายบ่อยๆ รู้กายบ่อยๆ ก็ตาม 

แต่ไอ้เราที่มันไประเหเร่ร่อน ที่มันไปเป็นเรากับรูป เป็นเรากับเสียง เป็นเรากับการกระทำของคนนั้นคนนี้ เป็นเรากับเหตุการณ์นั้นเหตุการณ์นี้ทั้งดีทั้งร้ายอย่างนี้...มันก็ไม่มี 

พอมันไม่มี มันก็มีแต่เรานั่ง เรายืน เราเดิน ...นี่ เรามันถูกจำกัดแล้ว จิตมันถูกจำกัดแล้ว มันจะดิ้นไม่หลุดแล้ว มันจะถูกล้อมกรอบแล้วด้วยศีล มันถูกล้อมกรอบด้วยสมาธิ มันถูกล้อมกรอบด้วยสติ

แล้วไม่ต้องกลัว ทีนี้มันก็เหมือนถูกบังคับให้ต้องมาเห็นความเป็นจริงถ่ายเดียวน่ะ เห็นมั้ย ทีนี้มันไม่ยอมไม่ได้แล้ว สุดท้ายมันต้องยอมรับความเป็นจริงแน่ๆ 

แต่คราวนี้ว่า ใครจะแน่กว่ากันล่ะ ...ส่วนมากมันก็แน่กว่าน่ะ ใช่มั้ย เพราะพวกเราน่ะไม่ค่อยแน่ หลุด ลอย หาย เผลอ เพลิน แล้วก็ไม่อยากกลับมา...ก็ตามน้ำน่ะ เลยตามเลยน่ะ 

ทีนี้พอเลยตามเลยนี่ ก็ว่า...เออ เดี๋ยวกลับบ้านก่อนค่อยทำ กลับจากนั้นกลับจากนี้ แล้วเออ มันได้กลับถึงบ้านแล้วก็จะได้ตั้งหน้าตั้งตาทำ ...แต่พอกลับถึงบ้านแล้วก็ เออ รอก่อน 

นี่ มันจะผลัดไปอยู่อย่างนี้ ...เวลามันก็หมดไป เวลาที่มันจะเรียนรู้กาย ดูกาย หยั่งรู้ดูเห็นในความเป็นจริงของกาย มันก็หมดไปโดยใช่เหตุน่ะ ...เพราะว่าอะไร ...ก็อายุขัยมันน้อยลงๆ น่ะ 

เพราะนั้นเวลาที่จิตมันจะมารู้กายเห็นกายตามความเป็นจริงจนกว่ามันจะเชื่อนี่ มันต้องใช้เวลา มันไม่ใช่ว่าดูแค่วันสองวัน เดือนสองเดือน...แล้วมันจะยอมง่ายๆ นะ 

ก็มันสร้างความเป็นเรามาเป็นอเนกชาติ มันจะยอมง่ายๆ หรือไง เป็นไปไม่ได้เลย ...เห็นมั้ยว่า ทำไมครูบาอาจารย์พระอริยะท่านถึงบอกว่าความเพียรนี่ เหมือนกับฝนทั่งให้เป็นเข็มน่ะ 

คือไม่หยุดหย่อน ไม่ย่อหย่อนเลยน่ะ...ความเพียรภายในที่จะหยั่งรู้ดูเห็นสอดส่องอยู่ในกายทุกขณะทุกเวลาเลยน่ะ เอาจนกว่าจิตมันจะยอม...ด้วยสันทิฏฐิโกน่ะ ไม่ใช่ยอมเพราะถูกบังคับ

ไม่ได้ยอมเพราะว่ามีความคิดตรงข้ามมาบอกมันนะ ...มันยอมด้วยความที่ว่ามันรู้เองเห็นเอง มันหนีไม่ได้ มันดิ้นไม่หลุด ว่าความจริงคือความจริง โดยสัจจะ กายโดยสัจจะเป็นอย่างนี้

แล้วมันก็จะเข้าใจทั้งกายโดยปรมัตถ์สัจจะ และกายโดยสมมุติสัจจะ...มันก็เข้าใจ ไม่ใช่มันไม่เข้าใจ หรือว่ามันจะเข้าใจแต่ปรมัตถ์สัจจะ หรือว่าสัจจะของกายที่แท้จริงเท่านั้น

สมมุติสัจจะ บัญญัติสัจจะในกายมันก็รู้...รู้ว่ากายสมมุติคืออะไร เขาสมมุติอย่างนี้ก็ถูกแล้ว ก็ไม่ผิด...แต่ว่าไม่จริง เออ สมมุติว่าเป็นชาย สมมุติว่าเป็นหญิง...นี่ ก็รู้ ไม่ใช่ไม่รู้

แต่ว่าไม่ยึด ไม่ซีเรียสกับความเป็นหญิงเป็นชาย กับความเป็นคน ...ก็รู้ว่าเป็นคน แต่ว่าเป็นคนโดยสมมุติ โดยความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นคน มันเป็นก้อน ก้อนที่ไม่มีชีวิต

มันก็จะเข้าใจทั้งสมมุติและปรมัตถ์ ในการที่มันเรียนรู้อยู่ในที่เดียวนี่...ด้วยการที่ไม่คิดไม่ปรุงนี่ แต่มันหยั่งรู้ดูเห็นๆๆ คอยหยั่ง ย้ำๆๆๆ ลงภายใน นี่เขาเรียกว่าความเพียร

เขาเรียกว่าการงาน ต้องให้มันทำงานอยู่อย่างนี้ …ซึ่งส่วนมากมันทำแล้วมันเหนื่อยไง คล้ายๆ กับมันเหนื่อย มันท้อ มันเหนื่อย แล้วก็...เออ พักก่อน ไอ้ตรงนี้ พักก่อนๆ

ปล่อยให้มันลอยก่อน ให้มันลอย ให้มันเพลินหายไป  มันถือว่าเป็นการพักจิตหรือว่าพักงาน ...นี่ ตรงนี้ เขาเรียกว่าความเพียรมันถอย ความเพียรมันน้อย


โยม –  บางทีมันก็เหมือนจะบอกว่ามันไม่ก้าวหน้า

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ มันเป็นคำกล่าวอ้างของจิตทั้งนั้น...ของเราน่ะ ...ก็อย่าไปฟัง ก็ทำลงไป กายมันก็มีอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ทำไมรู้กับมันตลอดเวลาไม่ได้

มันก็ต้องฝึก...โดยไม่มีเวล่ำเวลามาเป็นตัวขีดคั่น โดยไม่มีว่าจะได้อะไรหรือไม่ได้อะไร...มาเป็นตัวขีดคั่น ว่าทำเท่านี้แล้วทำไมไม่ได้ ...แค่คิดนี่มันก็ทุกข์แล้ว

“ทำตั้งนานแล้ว ทำไมถึงไม่เข้าใจสักที ทำไมมันยังไม่ยอมวางสักที” เห็นมั้ยว่า แค่คิดนี่ก็ทุกข์แล้ว ...ก็ต้องละความคิดนี้ทันทีเลย คือไม่ไปจมต่อกับมัน

ไอ้ห้ามมันน่ะห้ามไม่ได้อยู่แล้ว มันคิดก็คิดไป แต่ว่าอย่าไปจมหรือปรุงต่อกับมัน ...ก็ก้มหน้าก้มตาทำงานภายในของเราไป คือสติรู้ดูเห็นไป โง่ๆ ไป ...ติดก็ติด ช่างหัวมัน

แต่ว่าไม่เลิกรา ไม่เลิกการเจริญในความเพียร ในสติ ในศีลสมาธิปัญญา ในองค์มรรค อยู่อย่างนี้ ...สุดท้ายน่ะ วิริเยนะ ทุกขมัจเจติ บุคคลจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียรเท่านั้น

ถ้าไม่มีความเพียรด้วยความต่อเนื่องสม่ำเสมอแล้ว จิตที่เป็นอวิชชาโง่เขลาแต่ดื้อรั้นถือตัวนี่ ยากที่มันจะยอมสงบต่อศีล  เพราะอำนาจหรือพลังของศีลสติสมาธิปัญญานี่ มันอ่อน มันน้อย

เพราะเราขี้เกียจ เพราะเราประมาทเลินเล่อ เพราะเราเผลอเพลิน เพราะเราตายใจ เพราะเราคิดว่าวาสนาไม่ถึง บารมีไม่มี อะไรอย่างนี้ มันคิดเอาเองน่ะ

บารมีมันก็ต้องมาสร้างอยู่ในปัจจุบันด้วยกันทั้งนั้นน่ะ ...มันเป็นความเชื่อความถือว่าครูบาอาจารย์ท่านทำไว้เยอะ ท่านสร้างไว้เยอะ บารมีท่านก็ทำได้อย่างนี้ ...ไม่มีหรอก 

อู๊ย เวลาท่านทำ ก็แทบเป็นแทบตาย ทุกปัจจุบันนั่นน่ะ ...ไม่ใช่อยู่ดีๆ ท่านนึกๆ ฝันๆ แล้วก็ โอ๋ย นั่งอยู่แล้วก็มีคนประเคนมรรคผลนิพพานมาให้...ไม่มีหรอก ...มันทุกข์ทรมานทั้งนั้น

ท่านก็ไม่รู้หรอก ท่านเคยทำหรือไม่เคยทำมาก่อน ...แต่ท่านก็ประกอบเหตุแห่งศีลสมาธิปัญญาแบบไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย ไม่อ่อนแอ ไม่เรื่องมาก ไม่มีเงื่อนไข อะไรเหล่านี้

ไม่มีข้ออ้าง...อ้างว่าต้องทำงาน อ้างว่ามีครอบครัว อ้างว่ามีลูกไม่ดี มีผัวไม่ดี มีเพื่อนไม่ดี อ้างหน้าที่การงานมันจะต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ มันเป็นข้ออ้างทั้งหมด

มันอ้างไม่ได้หรอก อ้างเท่าไหร่...กายมีไหมเล่า กายก็ยังมีอยู่ในทุกที่น่ะ...ก็ฝึกได้ ถ้ามีกายอยู่ที่ไหนแล้วนี่ ฝึกได้หมด  หมายความว่าสามารถเอาสติมาระลึกกำกับอยู่กับกายได้หมด

เพียงแต่ว่ามันไม่ใส่ใจ มันไม่ตั้งใจเท่านั้นเอง  มันขาดความใส่ใจ ขาดความตั้งใจจริงๆ ...ถ้ามันอยู่ด้วยความตั้งใจแล้วนี่ มันจะไม่มีข้ออ้างหรือเงื่อนไขอะไรเลย

เพราะกายมันมีอยู่ มันไม่ใช่ว่าต้องไปขุดไปค้นไปสร้างขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่ต้องไปนึกน้อม ไม่ใช่ต้องไปเต้าเรื่องขึ้นมา ...มันก็มีอยู่ เดี๋ยวนี้มันก็มี ที่ไหนมันก็มี ไม่ความรู้สึกใดก็ความรู้สึกหนึ่ง

ถ้าหากายไม่เจอ ถ้าสมมุติมันหากายไม่เจอ ไม่รู้จะหากายตรงไหน  ก็สูดลมหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ  มันก็จะมีเห็นความรู้สึกในลมหายใจแล้ว ...นั่นน่ะปัจจุบันลมก็มาพร้อมกับปัจจุบันกาย

แล้วจากนั้นก็ขยายลมออกไปให้ทั่วกาย ให้เห็นอาการอิริยาบถอยู่ในท่ายืน เดิน นั่ง นอน ...มันก็จะเห็นกาย แล้วก็รักษาความต่อเนื่อง...คือมันจะต่อเนื่องในกายได้ มันจะต้องอยู่ด้วยความสอดส่องภายใน 

ถ้าไม่สอดส่อง ไปรู้แป๊บๆๆ อย่างนี้มันหาย มันก็หาย สติมันขาดกระจุยหมดน่ะ ...แต่ถ้าวนเวียนสอดส่องให้ทั่วอยู่อย่างนี้ มันก็ไม่ค่อยเล็ดลอด จิตก็ไม่ค่อยพาเล็ด พาลอด พาไหล พาเลื่อนลอยออกไป

เพราะนั้นว่าสติที่จะมากำกับในอิริยาบถปกตินี่ ปัญหาใหญ่คือมันจะเกิดภาวะเลื่อนลอยง่าย หลง เพลิน ลืม ...พอลืมแล้วก็ไม่ค่อยกลับ มันเมามันในอารมณ์ มันเมามันในความเฉไฉออกไปนอกกายนอกขันธ์


(ต่อแทร็ก 11/32)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น