วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 11/30




พระอาจารย์
11/30 (add560623A)
23 มิถุนายน 2556


พระอาจารย์ –  เป็นไงบ้างล่ะภาวนา

โยม –  โยมไม่ค่อยค่ะ มันป่วย ...กับไปเที่ยวน่ะค่ะ เลยหลงหมดเลย   ติดรู้นิดเดียวค่ะ ยังมีรู้บ้างน่ะค่ะพระอาจารย์  อย่างเดินมันก็เกิดรู้สึกตัวอย่างนี้ค่ะ

พระอาจารย์ –  นี่ล่ะเที่ยว ...มันไหลออกไปทางตาหมดน่ะ ตามันส่ายแส่ เผลอเพลิน


โยม –  แล้วอย่างป่วยอย่างนี้น่ะค่ะพระอาจารย์  มันป่วยเยอะๆ อย่างนี้

พระอาจารย์ –  ป่วยก็ต้องดูเวทนา รู้กับเวทนากับกาย  เวทนามันหนักกว่าก็ดูเวทนา ดูความรู้สึกในกาย ...เป็นทุกข์ยังไง กายมันแสดงอาการทุกข์ยังไง ดูให้มันเห็นเป็นกองเวทนา


โยม –  มันเห็นแต่ว่ามันเจ็บมากน่ะค่ะ

พระอาจารย์ –  มากก็มาก ก็เป็นเรื่องของมัน ก็มองให้เป็นเรื่องธรรมดา มากก็มาก ...ธรรมดา มันเรื่องของขันธ์ ไม่ใช่เรื่องของใคร  เวทนาก็เป็นเวทนาในขันธ์ ไม่ใช่เวทนาในเรา

แต่มันก็ยาก..เวทนาน่ะ ...เพราะจิตมันจะยึดมาก  "เรา" น่ะมันจะยึดเวทนาในกายนี้มาก 

ตราบใดที่มันยังวางกายไม่ได้ มันวางกายไม่ขาด มันยังเห็นกายเป็นตัวเราของเราอยู่ เวทนามันก็เป็นตัวเราของเรา มันยึดเวทนาหนักกว่าความเป็นรูปลักษณ์ของกาย


โยม –  มันเหมือนจะไม่เห็นเลยน่ะค่ะพระอาจารย์  มันเห็นแต่ความปวด  มันเห็นแต่แบบ “ทำยังไงๆ” มันเห็นเป็นอย่างนี้น่ะค่ะ

พระอาจารย์ –  อดทนอย่างเดียว ไม่มีทางอื่น ...อดทน ค่อยๆ ทนดู ด้วยความสงบ  ทน...แล้วก็ดูด้วยความสงบ ไม่คิด ทนดูแบบไม่ต้องคิด ไม่ต้องปรุง ...เดี๋ยวมันจะค่อยๆ แยกแยะออก

แต่ถ้าไปมัวคิดมัวปรุงแต่ง หรือว่าคิดไปในอดีต-อนาคตนี่  คิดว่าเมื่อไหร่จะหาย เมื่อไหร่จะน้อยลง อย่างนี้  มันจะไม่เห็นอะไรหรอก ฟุ้งซ่าน...มันจะฟุ้ง


โยม –  มันเห็นแต่มันวิ่งไปวิ่งมาน่ะค่ะพระอาจารย์  มันก็วิ่งไปดูว่ามันเจ็บ แล้วมันก็เจ็บมาก แล้วเดี๋ยวก็วิ่งกลับมา อย่างนี้ค่ะ

พระอาจารย์ –  ก็อย่างนั้นน่ะ ดูอาการวิ่งไปวิ่งมาของมันนั่นแหละ ไม่ต้องไปหวังว่าจะหาย หรือหวังว่ามันจะดีขึ้นอะไร หรือว่าจะให้เห็นอะไรในนั้น ...มันไม่มีอะไรหรอก

ก็ดูอาการของขันธ์ไป ดูอาการของเราที่เข้าไปยึดด้วย ...ที่มันเป็นเรา..ก็ให้เห็น เออ เรากำลังยึดนะ มันมีเรายึดในขันธ์อยู่ ...เพราะนั้นก็เห็นไปตามที่มันแสดง 

เห็นกิเลสที่มันเข้าไปยึด ไปครอบครองขันธ์ ครอบครองเวทนา ...ยึดมากก็รู้ว่ายึดมาก ปวดมากก็รู้ว่ากำลังปวดมาก มีเราเข้าไปปวดมาก  ก็ให้เห็นตามความที่มันปรากฏนั่นแหละ 

ให้อยู่ด้วยสตินั่นแหละ สติก็คือรู้ตัว แล้วตัวมันจะเป็นยังไงก็ช่างมัน ...จะเป็นตัวเราปวด จะเป็นตัวกาย หรือเป็นตัวเวทนา ก็รู้ตัวไป ดูตัวมันแสดงไป ...ยึดก็รู้ว่ายึด ก็ไม่ได้ห้าม 

มันยังยึดก็รู้ว่ายังยึดอยู่ ยึดมากก็รู้ว่ากำลังยึดมาก ...ก็ไม่ต้องไปแก้ไปไขอะไรกับมันหรอก ดูมันไปเฉยๆ ไม่งั้นมันจะฟุ้งซ่าน ไม่งั้นก็จะว่า “ทำยังไงดี” อย่างนี้ ...ก็ดูมันไป


โยม –  มันก็จะวิ่งไปแต่ว่า “จะหายาอะไรกินดี มันจะหาย” อะไรอย่างนี้ค่ะ มันจะคิดไปอย่างนี้น่ะค่ะ

พระอาจารย์ –  ก็ให้ทัน...เห็นทัน แล้วก็ไม่ทำตามความคิด เฉยๆ เห็นแล้วก็เฉยๆ


โยม –  ก็มันมีอยู่ครั้งนึงน่ะค่ะ ดูมันลงไปๆ แล้วมันก็หายปวดน่ะค่ะ แต่สักพักมันก็ขึ้นมาใหม่

พระอาจารย์ –  เวทนามันก็เป็นอย่างนั้นน่ะ เดี๋ยวมา เดี๋ยวไม่มา  เดี๋ยวมาก เดี๋ยวก็น้อย  เดี๋ยวก็หายไป เดี๋ยวก็ขึ้นมาใหม่  เอาแน่เอานอนไม่ได้ ขันธ์มันไม่เที่ยง

แต่คราวนี้ว่า พอมันหาย...แล้วมันมีจิตเราเข้าไปถือความดีใจ พอใจ ...ก็ต้องเห็นว่ามันเกิดความพอใจ ให้เห็นการแสดงอาการของ “เรา” ด้วย การแสดงของขันธ์ด้วย

ดูเขาแสดงบทบาทของขันธ์ไป...ไม่ต้องมีเราไปแสดงบทบาท เหมือนกับเราดูละคร เหมือนดูละครในกายในขันธ์ ดูว่าเขาแสดงบทบาทอะไร

แล้วมีตัวเราหรือไม่มีตัวเราออกมาไหม ถ้ามีตัวเราออกมาก็ให้เห็น ...เมื่อใดที่มันเห็นมีตัวเราออกมา เมื่อนั้นก็จะเห็นว่า..ทุกข์มันจะมาก นั่น…เดี๋ยวมันก็เรียนรู้ในตัวของมันเองน่ะ

เมื่อใดที่มันไม่มีเราออกมาแสดงบทบาทในขันธ์นี่ มันก็จะเห็นทุกข์นี่มันอยู่ในระดับหนึ่ง ระดับความเป็นจริงของขันธ์ ...แต่เมื่อใดที่มันมีเราออกมาวุ่นวี่วุ่นวาย จัดการนั่นจัดการนี่ มันจะทุกข์มากขึ้น

เพราะนั้นการมีสติ คอยดู เฝ้าดู รู้อาการของขันธ์ อาการของเรา ที่มันแสดงบทบาท ...มันก็จะจำแนก เกิดความเข้าใจในตัวของมันลึกๆ ว่าอะไรเป็นต้นเหตุให้เกิดทุกข์

มันก็จะเห็นว่า “เรา” นี่แหละเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ทุกข์มันเกิด แล้วก็ความปรุงแต่ง ...ถ้ามีความปรุงแต่งมาก คิดมาก อดีต-อนาคตมาก..ก็ทุกข์มาก  นี่ ถ้ามีเราก็ทุกข์มาก ถ้ามีเราครอบครองขันธ์ก็จะทุกข์มาก ...มันก็จะเห็น

แต่เมื่อใดที่มันสงบ...สงบระงับจากความรู้สึกที่เป็นตัวเราของเรา หรือว่าสงบระงับจากความปรุงแต่ง ...เวทนาก็คือเวทนา มันก็ไม่ได้เป็นอะไรที่มันทุรนทุราย มันก็เป็นแค่ความปวดลอยๆ ของมันอยู่

แล้วมันก็เป็นเวทนาขันธ์ที่มีอยู่คู่กันกับกาย มันเนื่องด้วยกาย  ถ้าไม่มีกายมันก็ไม่มีเวทนา ...มันก็เห็นก้อนกายกับก้อนเวทนาคู่กันอยู่อย่างนั้น แล้วก็มีก้อนกองรู้ ที่เห็นสองอาการสลับไปมาอยู่

แต่ถ้ามันฟุ้งซ่าน คิด หรือเป็นเรื่องของเรา ...มันก็ไม่เห็นแค่สองอาการ  มันจะมีหลายอาการ แล้วมันวุ่นวี่วุ่นวาย เจ็บ ทรมาน สับสน จับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่รู้หัวไม่รู้ไม่รู้ท้าย หมุนวน

มันหมุนวน มันจะเกิดอาการวนเวียนซ้ำซาก คิดซ้ำซาก อย่างโง้น อย่างงี้ อย่างงั้น  แล้วก็กลับมาคิดอย่างงั้นอย่างงี้ใหม่ ซ้ำซากวนเวียน นี่แหละ เขาเรียกว่าจิตมันไม่สงบ

เพราะนั้นถึงบอกว่า เวลาเรายังไม่มีเวทนาที่มันบีบคั้นนี่ มันต้องฝึกน่ะ มันต้องฝึกให้มีฐานของสติสมาธิที่มันแข็งแรงจริงๆ ไม่อย่างนั้นเวลามันเกิดเวทนาที่มันไม่คาดฝันขึ้นมาอย่างนี้ มันก็เรียกหาเรียกใช้สติสมาธิไม่ได้ 

จิตก็ไม่สามารถตั้งมั่นดูรู้กับเวทนาด้วยความเป็นกลาง เพราะว่ามันไม่มีความชำนาญในการทำจิตให้ตั้งมั่นด้วยสติในปัจจุบัน ...ถึงบอกว่า เวลามันไม่มีเวทนา เวลาอิริยาบถปกติอะไรอย่างนี้ อย่าลืมเนื้อลืมตัว 

ยังไงก็กลับมาอยู่กับตัว รู้ตัวไว้ รู้อิริยาบถใหญ่-ย่อยไว้ ...มันจะทำให้จิตนี่เกิดความตั้งมั่นอยู่ภายในเป็นบาทฐาน ...เวลามันเกิดเหตุร้ายแรงภายนอกหรือภายในขันธ์ มันก็สามารถที่จะตั้งมั่นได้ด้วยความไม่หวั่นไหว

เมื่อมันตั้งมั่นด้วยความไม่หวั่นไหว มันจะเกิดความเข้าใจตามความเป็นจริงของขันธ์นั้น...ว่าขันธ์นั้นคืออะไร การปรากฏของขันธ์นั่นคืออะไร ความเป็นจริงของขันธ์ที่ปรากฏน่ะเท่าไหน

เพราะว่าจิตมันสงบระงับ มันก็จะเห็นขันธ์ตามความเป็นจริง เท่าที่มันปรากฏ ...แต่ถ้าเมื่อใดจิตมันไม่สงบ หรือไม่รวมเป็นหนึ่งนี่ มันก็ไม่เห็น หรือเห็นไม่ชัดเจน

เพราะขันธ์ที่มันแสดงนี่ มันมีทั้งความจริง...และก็ที่จิตมันปรุงขึ้นมา สร้างอาการซ้อนทับอยู่ในเวทนาขันธ์ของกาย เช่น สมมุติบัญญัติว่าปวดมาก ปวดน้อยนี่ แค่นี้มันก็คือความปรุงแต่งแล้ว เจ็บมาก จะตายมั้ย หรืออะไรอย่างนี้  

อะไรพวกนี้คือเป็นความปรุงแต่ง แล้วก็ยิ่งคิดอย่างนี้ ยิ่งมีความปรุงแต่งพวกนี้เข้าไปกำกับหรือเข้าไปทาบกับเวทนาขันธ์ในกายจริงๆ แล้วนี่ ...มันจะก่อให้เกิดเวทนาในเราขึ้นมา เกิดเวทนาของเรา

เขาเรียกว่าเป็นเวทนาใน เพราะนั้นเวทนาในนี่ มันจะเกิดขึ้นเพราะมันมีเรา แต่ถ้ามันไม่มีเรา มันก็มีแต่เวทนาที่กาย ไม่มีเวทนาในเรา ...มันก็มีเวทนาที่เป็นเวทนาตามความเป็นจริงของกายของขันธ์ 

เรียกว่าเป็นทุกขสัจ หรือว่าทุกข์ประจำขันธ์ เพราะว่าขันธ์นี่มันดำรงอยู่ด้วยความเป็นก้อนทุกข์กองทุกข์อยู่แล้ว มันไม่มีความสุขในตัวของมันอยู่แล้ว มันมีความเร่าร้อนเผาไหม้ในตัวของมันเอง 

เพราะนั้นตัวขันธ์นี่มันคือทุกขสัจ ล้วนๆ อยู่แล้ว...มันไม่ได้สบายอะไร ...แต่เวลาเราอยู่กับกายด้วยความเผลอเพลินในการดำเนินชีวิตนี่ มันก็คิดว่ากายนี่ปกติแล้วเป็นสุข แล้วมันก็เข้าใจว่ากายนี้เป็นของดี ของสบาย อย่างนี้

มันก็จำๆ จำความสุขความสบายในกายนี้ไว้ เวทนาที่มันกลางๆ หรือเวทนาที่มันไม่สุขไม่ทุกข์ ..มันก็พึงพอใจ เกิดความยึดในความสุขในกาย เวลาที่มันไม่มีเวทนาแสดงอาการเป็นทุกข์เร่าร้อนขึ้นมา

แต่เมื่อใดที่กายมันแสดงความเป็นจริงที่เป็นทุกข์ขึ้นมา เราก็ไม่ยอมรับเวทนานี้ ...มันก็เกิดอาการต่อต้าน ผลักไส มันก็เกิดปฏิฆะในกายกับเวทนา ...มันก็เกิดความดิ้นรน กระเสือกกระสน หาทางแก้หาทางหนี 

ยิ่งแก้ยิ่งหนี...ก็ยิ่งทุกข์ ...ก็ต้องเข้าใจว่าขันธ์นี่ ยิ่งแก้เท่าไหร่ หนีเท่าไหร่ ก็ไม่พ้นจากเวทนาจนถึงขั้นตายหรอก ...ยังไงสุดท้ายก็มีเวทนาจนถึงวาระสุดท้าย..ก็เป็นเวทนาขั้นที่มันทนไม่ได้ แตกดับไป

เพราะนั้นเวทนาตายก็คือเวทนาที่มันร้ายแรงที่สุด จนขันธ์นี้มันทานทนไม่ได้ มันก็ตาย ...ยังไงก็ต้องเจอเวทนาตัวนี้ ...ถึงบอกว่าถ้าไม่ฝึกจิตให้ตั้งมั่นจริงๆ แล้วนี่ มันจะสู้กับเวทนาตายไม่ได้ 

แล้วไอ้เวทนาอย่างที่เรามี ปวดเมื่อย เจ็บไข้ได้ป่วยพวกนี้ มันถือว่าเป็นเวทนาเล็กๆ น้อยๆ ...ก็ต้องเรียนรู้ อดทน อดทนตั้งมั่นให้ได้ แล้วก็สำเหนียกรู้กับมัน ตระหนักรู้กับมัน ถึงความเป็นจริงอย่างนี้ 

เกิดมามีกาย เกิดมามีขันธ์แล้ว ยังไงก็ต้องทุกข์  ยังงั้ย...ยังไงก็ต้องเป็นทุกข์ ...ขันธ์มันไม่สบายไปจนวันตายหรอก มันก็แสดงอาการพวกนี้เป็นระยะๆ ให้เห็น ให้เรียนรู้ ให้เข้าใจ

แต่ถ้ามัวแต่หนี มัวแต่หาทางแก้ทางกันมันนี่ เหมือนกับเอาชนะมันมากเท่าไหร่ ก็เหมือนกับมันก็ยิ่งเกิดความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นกายเรา เวทนาของเรา ที่สามารถเข้าไปจัดการได้ ครอบครองได้

เวลาเวทนาตายมาถึงจริงๆ น่ะ มันทำไม่ได้หรอก มันแก้ มันกันไม่ได้ ...คราวนี้ก็ดิ้นรน จิตก็ดิ้น เห็นขันธ์ตาย มันไม่ยอม ไม่หยุดดิ้น ...ก็เป็นทุกข์ซ้อนทุกข์ ทุกข์ในขันธ์แล้วก็ทุกข์ในเรา

เพราะนั้นว่าเวลาอยู่ดี ขันธ์มันไม่ได้กำเริบ เวทนาไม่ได้กำเริบอย่างนี้ ...อย่าประมาท อย่าปล่อยเนื้อปล่อยตัว อย่าปล่อยให้จิตมันไหล มันล่องมันลอย มันเพลิดมันเพลินไปกับภายนอก

ต้องหมั่นขยันสร้างสติสมาธิขึ้นมาในอิริยาบถ ในปัจจุบันการดำรงชีวิตอยู่ นี่...มันก็จะเป็นการสร้างบาทฐานของมรรค ของสติ ของศีล ของสมาธิ ของปัญญา

เวลามันถึงคราวอับจนขึ้นมานี่ พวกนี้มันเอาไปใช้ได้...ไม่ต้องพึ่งภายนอก ไม่ต้องพึ่งอะไร...มันก็อยู่ได้ พึ่งตัวเองได้ ...ถ้าไม่งั้น ถ้ามันไม่มีศีลสมาธิปัญญาเป็นที่พึ่งนี่ เวลาถึงคราวคับขัน มันพึ่งตัวเองไม่ได้ 

คราวนี้ก็พึ่งหมอ พึ่งคนรอบข้าง พึ่งญาติ คนนั้นคนนี้คอยปลอบ พึ่งคำสวดอ้อนวอน พึ่งบุญทำสังฆทาน ทำอะไรสะเดาะเคราะห์แก้กรรม อย่างนี้ มันคิดลมๆ แล้งๆ ไป

แต่ถ้ามันฝึกไว้จนได้ที่พึ่ง หรือว่าสามารถหาที่พึ่งภายในของตัวเองได้ ...มันก็เอาสติหรือสมาธิ ปัญญานี่แหละเป็นที่พึ่ง มันก็พึ่งตัวมันเอง เอาตัวรอดได้ เมื่อถึงเวลาคับขันทุกคราวไป

จนถึงวาระสุดท้ายของขันธ์ที่มันแตกดับ ก็พึ่งศีลสติสมาธิปัญญาเป็นที่พึ่ง จิตมันก็ตั้งมั่น...จากลาขันธ์นี้ด้วยความเป็นกลาง ด้วยการยอมรับทุกสภาพความเป็นจริงของขันธ์ที่เขาแสดง...ในวาระสุดท้ายน่ะ

คือยังไง ...คือวาระสุดท้ายในการแตกดับของขันธ์ ยังไงมันก็แตกดับไปด้วยทนกับเวทนาในกายไม่ได้ นั่นเอง ...ระบบอวัยวะภายในร่างกาย ระบบการหมุนเวียนของลมของน้ำของอากาศพวกนี้มันติดขัดไปหมดน่ะ

เพราะนั้นเวลาระบบการหมุนเวียนในขันธ์มันเริ่มเสื่อมทราม มันทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพของมัน ติดๆ ขัดๆ เหล่านี้ มันจะก่อให้เกิดเวทนาใหญ่-น้อยขึ้นมา

พอระบบหมุนเวียนสมดุลในกายมันไม่ได้ ดินน้ำไฟลมมันไม่สมดุลไม่เสมอกัน มันก็แตกไปเป็นส่วนๆ ไป หมดสภาพไปเป็นส่วนๆ ไป ...เวทนามันก็มากขึ้นไปตามลำดับ

ถึงบอกว่าอย่ามัวแต่สนุก ความตายรออยู่ข้างหน้า มันไม่สุขหรอกเวลาตาย เวทนาในกายที่มันแสดงนั่นน่ะ หาสุขไม่เจอ หาที่สงบไม่ได้เลย...ถ้าภาวนาไม่เป็น

แต่ถ้าฝึกฝนอบรม ขยันหมั่นเพียร สร้างสติสมาธิเสมอ สร้างฐานกายใจให้มั่นคง ฐานรู้ฐานเห็นนี่...สองฐานนี่ ฐานกายกับฐานรู้ ...เพราะว่าในสองฐานนี่ เป็นที่ปลอดภัย สงบ สันติ ที่รู้กับกายที่เป็นกลางๆ กับกายที่เป็นก้อนธาตุ

จนสุดท้ายมันออกจากขันธ์ได้ ละวางขันธ์ได้ มันจะไม่อยู่กับขันธ์เลย ...มันก็มาอยู่ที่รู้โดยตรง อยู่กับรู้และเห็น โดยไม่มีการส่ายแส่ออกมาคลุกเคล้าในกองขันธ์

มันก็เหลือแต่คงสภาพรู้คงสภาพเห็นด้วยความเป็นหนึ่ง ไม่แตกตัวออกไป ...นี่คือจิตที่มันฝึกได้ดีแล้ว อบรมด้วยศีลสมาธิปัญญาอย่างดีแล้ว


(ต่อแทร็ก 11/31)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น