วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 11/32 (1)


พระอาจารย์
11/32 (add560623C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
23 มิถุนายน 2556
(ช่วง 1)



(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  3  ช่วงบทความ)

โยม –  เหมือนเวลามันจะดูอย่างนี้ค่ะพระอาจารย์  มันจะเหมือนวิ่งไป วิ่งไปดูที่ตา วิ่งไปดูลมหายใจ วิ่งไปดูที่ขา อะไรอย่างนี้ค่ะ

พระอาจารย์ –  เออ ดูไปเหอะ อย่างนั้นก็ทำได้ ...ขอให้มันเป็นอาการของกายจริงๆ  ไม่ใช่นึกๆ คิดๆ  ให้มันเป็นความรู้สึกจริงๆ มันเป็นกายผัสสะจริงๆ ที่มันปรากฏ


โยม –  อย่างนี้เราจะรู้ได้ยังไงคะพระอาจารย์ ว่าเราคิดเอาหรือมันไปดูจริงๆ

พระอาจารย์ –  เดี๋ยวมันแยกออกเองน่ะ เพราะกายตามความคิดนี่ มันเป็นกายที่ไม่มีอยู่จริงนั่งอยู่นี่ มันรู้สึกตรงไหนบ้างเล่า มีความรู้สึกอะไรบ้าง


โยม –  อย่างถ้านั่งอย่างนี้ค่ะ ก็จะดูที่ก้นค่ะ

พระอาจารย์ –  เออ ก็นั่นน่ะ หยั่ง คอยหยั่งๆๆๆ ไว้ อย่าให้มันลืม


โยม –  ค่ะ แล้วสักพักหนึ่งก็จะไปรู้ที่ลมหายใจน่ะค่ะ

พระอาจารย์ –  ให้มันวนเวียนอยู่ในกายนั่นแหละ ที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องจำเพาะว่าก้นหรือว่าลม


โยม –  ก็มีปวด เมื่อยอย่างนี้ มันจะขึ้นมาเป็นพักๆ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ได้หมด ...ก็เรียกว่า เขาจะแสดงบทบาทไหนขึ้นมา ก็ดูมันไป กายมันก็มีบทบาทของกาย  เดี๋ยวก็เป็นอย่างนั้น เดี๋ยวก็เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวก็ชัดตรงนั้น

แต่ถ้าไม่มีบทบาทชัดเจนนี่ แล้วมันไม่รู้จะดูอะไร ก็บอกว่าดูรูปกายโดยรวมว่ารูปกายกำลังเป็นรูปทรงอย่างไร เป็นรูปทรงนั่ง หรือมันอยู่ในรูปทรงไหน

อย่างอยู่ในอิริยาบถนั่ง ก็ให้เห็นตัวเองนั่ง ให้เห็นตัวรูปกายนั่ง  แล้วก็ในรูปกายนั่งก็จะค่อยๆ ชัดเจนในความรู้สึกของการนั่งขึ้นมา ทีละเล็กทีละน้อย

คือเอาอิริยาบถใหญ่ไว้ก่อน ...ถ้าเวลาหากายไม่เจอ เวลาหลงเพลินหายไปนี่ ต้องกลับมาถามตัวเองว่าทำอะไรอยู่นี่ แล้วกลับมารู้ในอิริยาบถ ว่าอยู่ในอิริยาบถไหน


โยม –  เอาใหญ่ๆ ไว้ก่อน

พระอาจารย์ –  เอาใหญ่ไว้ก่อน พอใหญ่แล้วก็จับใหญ่ไว้ จับรูปทรงอิริยาบถไว้ จับรูปกายไว้ ว่ายืน หรือนั่ง หรือเดิน

พอมันจับอยู่กับอิริยาบถได้แล้วนี่ ความรู้สึกในอิริยาบถ หรืออิริยาบถย่อย กายในกาย เรียกว่ากายย่อยในกายใหญ่นี่ มันก็จะปรากฏ ...ทีนี้พอกายย่อยปรากฏนี่ ก็ต้องไล่ คอยสอดส่อง

เพราะมันจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาในกาย ในอิริยาบถ เช่นในนั่งนี่ เดี๋ยวก็เปลี่ยนไปตรงโน้น เดี๋ยวก็เปลี่ยนไปตรงนี้ เดี๋ยวก็ไปชัดตรงนั้น เดี๋ยวก็ชัดตรงนี้ขึ้นมา 

ก็เรียกว่ากายมันกำลังแสดงบทบาท นั่น ดูเฉยๆ รู้เฉยๆ ให้ทัน..ให้ทันอาการของกายเหล่านี้ ...ไม่ต้องคิดไม่ต้องหาอะไร แล้วแต่เขาจะแสดงยังไงก็ดูมันไป


โยม –  พระอาจารย์คะ แล้วอย่างสมมุติแวบแรกเลย...เราแบบหลงๆ ไป แวบแรกเรามารู้ลมหายใจก่อนน่ะค่ะ

พระอาจารย์ –  ได้ อะไรก็ได้


โยม –  แล้วต่อจากนั้น เราควรจะรู้อะไรต่อ

พระอาจารย์ –  แล้วก็ขยายลม สูดลมให้เห็นอิริยาบถ ทั้งกายเลย ...ขยาย เขาเรียกว่าขยายลม ให้เห็นทั่วตัว ให้เห็นรูปกายทั่วตัวก่อน ...ไม่งั้นลมนี่มันละเอียด 

พอลมมันละเอียด แล้วจะไปจับลมละเอียดในอิริยาบถหยาบ นี่ เดี๋ยวหาย เดี๋ยวลมหาย ...พอลมหายแล้วมันจะพาให้จิตหายไปด้วย ใจหายไปเลย รู้ก็หาย สติก็หาย

แต่ว่าพอขยายลมมาทั่วอิริยาบถกายใหญ่ กายธาตุ กายมหาภูตรูป ๔ ...ตรงนี้ มันจะลงมาที่กายหยาบขึ้น ...พอกายหยาบปุ๊บนี่ การระลึกรู้ การเท่าทันในระดับสติที่ยังอ่อนด้อยของพวกเรานี่ มันก็จะชัดเจน

แต่ถ้าเป็นสติละเอียดแล้วนี่ ฝึกดีแล้วนี่ ก็สามารถกำหนดลมได้ตลอดเวลาเหมือนกัน คือเห็นลมได้ด้วยความต่อเนื่องในแทบจะทุกอิริยาบถก็ได้ ...แต่ว่าต้องเป็นผู้ที่มีสติที่มั่นคงจริงๆ ละเอียดจริงๆ แล้ว

แต่ในเบื้องต้นน่ะ เราไม่แนะนำหรอกให้เอาลมเป็นที่ระลึกรู้โดยตรง ...การดึงกลับมาน่ะมันชัดในขณะแรกเท่านั้นเอง แต่ว่าจะต้องมาไล่..ไล่กายใหญ่ ไล่อิริยาบถ อยู่กับอิริยาบถ อิริยาบถ ๔ นี่ อย่าให้ขาด

เพราะยังไงๆ มันก็ต้องมีอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งอยู่แล้วในการดำรงชีวิต ในขณะที่เอาสติมาระลึกรู้ตรงนั้นน่ะ ...เพราะนั้นเราถึงบอกให้ถามตัวเองว่า "ทำอะไรอยู่" บ่อยๆ 

ท่องไว้ “ทำอะไรอยู่ๆๆ” แล้วกลับมาดู ทำอะไรอยู่ ...ต่อไปก็ขยับเขยื้อน กำลังไหวก็รู้ว่ากำลังไหว กำลังคู้ กำลังหัน กำลังหมุน กำลังเอื้อม กำลังพลิก กำลังทำอะไรต่อไป 

มันก็จะรู้ต่อเนื่องๆ ไป ...ให้มันเห็นอาการกายเชื่อมอิริยาบถต่อเนื่องไป เกิดความรู้ตัวทั่วพร้อมไป อย่าใจร้อนแค่นั้นเอง  ใจเย็นๆ แล้วก็ค่อยๆ อย่ารีบร้อน อย่าเร่งรัด

เพราะถ้ารีบร้อนเร่งรัดแล้วมันจะเคร่งเครียด ...พอเคร่งเครียดแล้วมันจะอยากได้..แล้วไม่ได้  พออยากได้แล้วไม่ได้ แล้วมันจะท้อ แล้วมันจะทิ้ง เข้าใจมั้ย

มันจะเป็นอย่างนี้ นักภาวนามันจะมักง่าย แล้วก็โลภมาก จะเอาเร็วๆ ...พอฟังไป คิดว่าเข้าใจดีแล้ว ง่าย รู้ดีแล้ว ...ไปทำจริงๆ มันไม่ได้ มันแทบไม่ได้เลยน่ะ

ก็ค่อยๆ เรียนรู้  ค่อยๆ ฝึก  แต่ว่าไม่ทิ้งงานนี้ ทำไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ  แล้วกลับมาทำแบบเดิมซ้ำเดิมๆ อยู่บ่อย นั่นแหละ เหมือนกับพวกนักกีฬาที่เขาฝึกซ้อมน่ะ

เหมือนกับนักตะกร้อ นักวอลเลย์บอลนี่ กว่าที่มันจะเสริฟได้ลูกที่มันลงขอบลงเขต มันต้องฝึกมาเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นครั้งน่ะ ฝึกซ้อมมันอยู่ที่เดียว จนกว่ามันจะชำนาญ หลับตาตีลูกก็ยังลง อย่างเนี้ย

มันก็เหมือนกันน่ะ การฝึกซ้อม..ก็ต้องฝึกซ้อมที่เดิมที่เก่าน่ะ จะไปเปลี่ยนที่ไม่ได้ เรียกว่าทำซ้ำๆ ซากๆ ลงไป รู้แบบเดิม ก็รู้ที่กายอันเดิม ก็รู้ที่ปกติกาย ก็คือปกติกาย

อย่าไปบอกว่าตรงนี้ ตรงนั้นไหม วิธีการนั้นวิธีการนี้มันจะมาช่วยไหม นี่ จิตมันจะเริ่มค้นหาแล้ว ...ฟุ้งซ่าน นี่เรียกว่าจิตฟุ้งซ่าน...ก็ละซะ อย่าไปเอามาเป็นธุระ

อย่าเอามาเป็นไกด์ไลน์ อย่าเอามาเป็นบทนำ อย่าเอามาเป็นตัวชี้นำ ...เพราะไอ้ตัวนั้นน่ะคือตัวเรา  อะไรที่ “เรา” ชี้นำนั่นน่ะ พาไปสู่ความวิบัติ หรือหายนะ หรือทุกข์ หรือหมุนวน

มันจะพาไปไหนรู้มั้ย พาเข้าดงหมามุ่ย...เออ แต่มันคิดว่ามันจะพาไปสวรรค์น่ะ คิดว่าพาไปมรรคผลนิพพาน ...แต่จริงๆ ที่แท้มันพาเข้าดงหมามุ่ย ดงขี้ ดงทุ่นระเบิด ดงกับดัก ดงแร้ว ดงห่วง ดงปืน

เนี่ย มันก็พาเข้ารกเข้าพง เข้าดงไปอย่างนี้ ...“เรา” น่ะพาไปตกระกำลำบากอยู่ตลอดเวลา วนเวียนอยู่ในโลกสามโลกธาตุ ก็เพราะ “เรา” นี่พาไปอยู่ตลอดเวลา

แต่ถ้าให้มรรคนี่พาไป...มรรคไม่พาไปไหนเลย มรรคนี่อยู่กับปัจจุบัน...โดยสติเป็นตัวคอยกำกับ ให้มันอยู่ ให้มันหยุด ...เพราะนั้นการหยุดอยู่กับปัจจุบันนั่นแหละคือการเดินในองค์มรรค

มันเดินด้วยการหยุด...นั่นแหละมรรค ...แต่จิตมันคุ้นเคยไงว่า ถ้าทำอย่างนั้น ไปตรงนั้น ไปอย่างนี้ แล้วเรียกว่าเดิน คือได้...ถ้าได้อะไรเรียกว่าเดินหน้าหรือก้าวหน้า อะไรอย่างนั้น

ไม่ใช่หรอก...มรรคนี่ต้องหยุดอยู่กับปัจจุบันกาย ปัจจุบันขันธ์ มันจึงจะเดินปัญญา ปัญญาจึงจะเดิน ...เดินยังไง ...เดินด้วยการรู้ชัด เข้าใจชัดเจน 

แจ้งในปัจจุบันขันธ์ แจ้งในปัจจุบันกาย แจ้งในขณะทุกปัจจุบันกายที่ปรากฏ...ว่ามันเป็นอะไร มีการเกิดอย่างไร มีการตั้งอย่างไร มีการดับไปอย่างไร 

และในการเกิด ในการตั้ง ในการมาก ในการน้อย ในการดับไปนี่ มันมีอะไรไหมที่บ่งบอกถึงความเป็นเราของเรา ...นี่ มันจะแจ้งอยู่ในทุกปัจจุบันกายที่ปรากฏอย่างนี้...ทีละเล็กทีละน้อย 

ปัญญามันก็เดินไปด้วยการเข้าอกเข้าใจในตัวของมันเอง พร้อมกับถอดถอนความเห็นผิด ความเข้าใจผิดในกาย ...ความยึดมั่น ความถือมั่น ความเชื่อแบบผิดๆ เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิในกาย มันก็คลายๆ

มันคลายไปด้วยความรู้ชัด รู้จริง รู้แจ้งเห็นจริง...อยู่ในปัจจุบันกายทุกขณะๆ  ในการเกิด ในการตั้ง ในการดับของเหตุแห่งกายที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นอะไร

จะดีจะร้าย จะควร-จะไม่สมควรตามที่มันเคยให้ค่าไว้ก็ตาม ...มันก็เห็นความเกิดความดับเท่านั้น...ที่ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีเราไม่มีของเราในการเกิดในการดับทุกปัจจุบันกายที่ปรากฏ

แม้มันจะตั้งอยู่..ไม่ดับ แสดงความไม่ดับ ...บางอาการที่มันตั้งอยู่ เช่นแข็ง เช่นอ้าว เช่นอบอย่างนี้ มันก็ตั้งอยู่ด้วยความเป็นกลางๆ ไม่มีความหมาย ...เงียบๆ

มันไม่บ่งบอกสัญลักษณ์ว่าคืออะไร เป็นอะไร  ไม่มีการบ่งชี้ว่าอาการนี้เป็นใครของใคร มันไม่มี...ไม่มีอะไร ไม่มีอะไรในกายเลย ไม่มีอะไรในขันธ์เลย

มันไม่มีอะไรในนั่ง ไม่มีอะไรในเดิน ไม่มีอะไรในยืน ไม่มีอะไรในนอน  ไม่มีอะไรในขยับ ในไหว ในแน่น ในตึง  ไม่มีอะไรในแข็ง ในร้อน ในอ่อน ในนิ่ง

เห็นมั้ย ไม่มีอะไรในปวด ในเมื่อย ในเวทนาทั้งหลายในกาย มันไม่มีอะไร ...เวทนาก็คือเวทนาล้วนๆ กายคือกาย เหตุแห่งกาย ไม่มีอะไรในนั้นเลย ...มันจะเห็นน่ะ

นั่น มันก็จะเห็นว่าขันธ์น่ะ ในขันธ์น่ะ ในขันธ์ที่ปรากฏน่ะ มันล้วนแล้วแต่ว่างเปล่า ไม่มีอะไรในนั้น ...คำว่าไม่มีอะไรในนั้นคือ...ไม่มีแม้กระทั่งเราในนั้น

แล้วยังมาบอกว่าเป็นเรา ของเรา ตรงไหนล่ะ...ดูเข้าไป ดูดีๆ ...มันดูยังไงก็ไม่มีอะไรในนั้น มันไม่มีอะไร ก็มีแต่เกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป 

มันไม่ตกค้างเป็นอะไรหลงเหลืออยู่ในนั้นเลย ไม่มีว่ายังมีอะไรที่ยังไม่ดับมั้ย ยังมีอะไรลึกๆ ในนั้น ...มันก็ดับไปหมดสิ้นไปในปัจจุบันนั้นเอง...ในอาการแห่งการปรากฏนั้น


(ต่อแทร็ก 11/32  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น