วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 11/23 (1)


พระอาจารย์
11/23 (560722D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
22 กรกฎาคม 2556
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  ธรรมดา เวลาที่เริ่มการปฏิบัติภาวนา ไม่มีหรอกที่มันจะได้ร่องได้รอยหรือว่าตรงร่องตรงรอยทันทีทันควัน ...มันก็แล้วแต่กรรมซัดกรรมซ้อนพาไป ด้วยความผูกพันคุ้นเคยแต่เก่าก่อน

แต่อาศัยความไม่ท้อถอย ความพากความเพียร  มันก็ผลักดัน สืบเนื่อง สงเคราะห์ในธรรม  ยกระดับไปตามลำดับลำดา ...จากผิดๆ ถูกๆ ครึ่งๆ กลางๆ มันก็เริ่มมากลางมากกว่าครึ่ง

ที่ครึ่งผิดครึ่งถูก ...ซึ่งส่วนมากจะครึ่งไปทางผิด มันไม่ครึ่งมาทางถูก  เพราะว่าทำไปก็สงสัยตัวเองไป ไม่รู้ว่าไอ้ที่ทำนี่ จะถูกมั้ย จะได้มั้ย จะหลุดพ้นได้มั้ย

เพราะสังเกตดูแล้ว กิเลสกูไม่ได้ลดลงเลย (หัวเราะกัน) เท่าเดิม  ดีไม่ดีบางครั้งบางคราว มันคิดดอกเบี้ยอีกต่างหาก ...ก็เลยเกิดการสงสัยว่าไอ้การปฏิบัตินี่ได้ผลจริงหรือ ...ก็เป็นธรรมดา

แต่อาศัยการได้ยินได้ฟังนี่ ก็ค่อยๆ ปรับ ...ค่อยๆ เรียกว่าค่อยเป็นค่อยไป เพราะว่าคือเริ่มเดินน่ะ เหมือนกระต่ายสามขามาก่อนไง พอมันจะเริ่มมาเดินสองขา มันก็ยังเข้าใจว่าต้องเดินสามขา ...เพราะมันคุ้นเคย

แต่เราถามว่า คนเรานี่เดินกี่ขา ...สองขา อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา เป็นความชำนาญ  ถ้าสามขาธรรมดามั้ย (โยม – ไม่ค่ะ) เออ สี่ขายิ่งไปใหญ่เลยนะ หรือดีไม่ดีเอาหัวเดินต่างตีน ถามว่ามันธรรมดามั้ย

พอเราไปเริ่มอะไรที่มันไม่ธรรมดาขึ้นมาแล้วนี่ การที่จะกลับคืนสู่ความเป็นธรรมดา หรือมาเริ่มต้นกับความธรรมดา มันก็เลยกลายเป็นของยากไป

เพราะมันเคยกับสิ่งที่ไม่ธรรมดาหรือเกินจริง ...มันเกินจริง มันเกินธรรม มันเกินขันธ์ มันเกินปัจจุบัน มันเกินธรรมดา

เพราะนั้นว่าก็ต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจ ทำความเห็นให้มันตรงก่อน ตรงต่อการภาวนา ตรงต่อการปฏิบัติ ตรงต่อมรรค ตรงต่อศีล ตรงต่อสมาธิ ตรงต่อปัญญา ...ให้มันเข้าใจให้ตรงก่อน

แล้วเมื่อมันเข้าใจตรง...ด้วยสัมมาทิฏฐิในศีลสมาธิปัญญาแล้วนี่  มันก็จะเริ่มปฏิบัติตรง ค่อยๆ ตรงขึ้น ตรงตามธรรม ตรงต่อธรรม ตรงต่อความเป็นจริง ไม่เกินเลย แล้วก็ไม่ต่ำกว่านั้นบางที

นี่เขาเรียกว่าอยู่ในระดับหรือเลเวลที่พอดี หรือมัชฌิมาปฏิปทา ...มันจึงค่อยๆ เข้าใจ ซึมซาบ ซึมซับความหมายของคำว่ามัชฌิมาปฏิปทาด้วยตัวของมันเอง

แล้วเมื่อมันเข้าใจ ซึมซาบ ซึมซับในความหมายของคำว่ามัชฌิมาปฏิปทาคืออะไรแล้ว  คราวนี้มันจะเกิดความชัดเจนในการปฏิบัติ...ด้วยความไม่ลังเลและสงสัย

แม้ใครจะพูดอย่างไร แม้ใครจะติ แม้ใครจะชม แม้ใครจะยกย่องเชิดชู ก็ไม่สนใจ ...เพราะมันชัดเจนอยู่ในตัวของมัน ในตัวของมรรค ในตัวของวิถี ในตัวของผลที่ได้รับ ...มันไม่ใช่ทิฏฐิมานะ 

ไม่ใช่ว่าทำแล้วมันเกิดทิฏฐิมานะ แต่มันทำแล้วเกิดผลซึ่งมันรองรับได้ด้วยตัวของมันเอง  ไม่ได้รองรับด้วยตำรา ไม่ได้รองรับด้วยคำพูดของครูบาอาจารย์ ไม่ได้รองรับด้วยเทรนด์ของการปฏิบัติ

แต่มันรองรับด้วยผลที่ได้ด้วยตัวของมันเอง ...ตรงนี้จึงจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นจริง ศีลที่แท้จริง สมาธิที่แท้จริง ปัญญาที่แท้จริง การปฏิบัติที่แท้จริงคืออะไร

เริ่มต้น เราก็พูดว่ามรรคมีองค์ ๘ นี่คือมรรควิธี หรือวิถีแห่งมรรค ...การปฏิบัตินี่คือวิถีแห่งมรรค ไม่นอกจากวิถีแห่งมรรคเลย โดยรวมท่านก็แบ่งย่อยว่าเป็น ๘ มรรคมีองค์ ๘

แต่มันแตกแยกย่อยโดยปริยัติเท่านั้น เอามาปฏิบัติไม่ได้ งง สับสน ตีกันไปมาในภาคของการปฏิบัตินี่ ในองค์มรรคก็คือ มันเหลือแค่ ๓ ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือเรียกว่าไตรสิกขา

คราวนี้ว่าศีลสมาธิปัญญาก็คือความหมายเดียวกันกับมรรคนั่นแหละ แต่มันเป็นลักษณะของภาคปฏิบัติ ไม่ใช่ภาคปริยัติที่จะมาจำแนกตีความโดยพยัญชนะ

แต่มันสามารถเอาไปใช้ในชีวิต ในการดำรงชีวิตดำเนินชีวิต ดำเนินวิถีแห่งจิตได้

ก็ต้องมาทำความเข้าใจให้ชัดเจนในความหมายของไตรสิกขาอีก มันจะได้ไม่เป็นการปฏิบัติที่เข้าไปล่วงเกินศีลสมาธิปัญญา หรือเป็นการปฏิบัติที่เข้าไปต่ำกว่าศีลสมาธิปัญญา

นี่ ต้องทำความเข้าใจนี่ก่อน ไม่ใช่อยู่ดีๆ เขาบอกให้ทำ...ก็ทำ เขาบอกว่าวิธีนี้ถูก...ก็ถูก เขาบอกว่าวิธีนี้คนเขาทำแล้วได้ผล...ก็เชื่อ

นี่ เขาเรียกว่า...เคยเห็นคนตาบอด แล้วจูงคนตาบอดมั้ย  ถามว่าคนตาบอดมันจะจูงไปไหน กูก็บอด มึงก็บอด มันจะไปไหนล่ะ..ไม่รู้ ไม่รู้เลย ...นี่ การปฏิบัติก็จะอยู่ในภาวะที่เรียกว่าลูบๆ คลำๆ

ที่พวกเราทำกันอยู่นี่ ที่เคยทำมานี่ และกำลังทำอยู่นี่ด้วย ก็ยังอยู่ในฐานะภาวะที่เรียกว่าลูบๆ คลำๆ ในมรรค  ลูบๆ คลำๆ ในศีล ในสมาธิและปัญญา ...นี่เองจึงเป็นเหตุให้เกิดความลังเล ไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจ

เพราะนั้น ยังไงมันก็ต้องลูบคลำมาก่อนทั้งนั้นน่ะ ...เหมือนเด็กทารก เกิดมามันอ่านเขียนหนังสือเป็นมั้ย  ...กว่าที่มันจะเขียนเป็นนี่เป็นยังไง ก.ไก่ สักตัวนี่กัดเขี้ยวเคี้ยวฟันแทบตายกว่าจะเขียน ก.ไก่ หนึ่งตัว

แล้วเดี๋ยวนี้ดูสิ พวกเราเขียนหนังสือได้ขนาดไหน หลับตาลืมตายังเขียนได้  มันคล่องมั้ย ชำนาญมั้ย ...นี่ ฝึก...มันต้องฝึกกันทั้งนั้น

เพราะนั้นก็อธิบายให้ฟังว่า ความหมายของศีลคืออะไร ศีลสมาธิปัญญาคืออะไร ...ให้เข้าใจ แล้วเอาไปปฏิบัติ มันจะได้ไม่ออกนอกกรอบศีลสมาธิปัญญา

เพราะจริงๆ นี่ ถ้ามันเข้าใจเรื่องกรอบศีลสมาธิปัญญาโดยความชัดเจน...ในระดับสุตตะ-จินตาแล้ว ...มันจะไปหกคะเมนตีลังกา นั่งนอนยืนเดิน อยู่ในรูปแบบไหน ที่ไหนก็ตาม

มันก็สามารถจะปฏิบัติได้...โดยที่ไม่ออกนอกศีลสมาธิปัญญาเลย ...ถูกหมดแล้ว ...มันมีความมั่นใจในระดับนึงแล้ว

เพราะนั้นศีล จะอธิบายความหมายแปลได้ว่า...ปกติกายวาจา  ศีลนี่แปลว่าปกติกายวาจา ไม่ได้แปลว่าข้อห้าม ไม่ได้แปลว่าห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามลักทรัพย์ ห้ามประพฤติผิดในกาม

ห้ามโกหกมุสา ห้ามกินเหล้า ห้ามนั่งนอนในที่อันสูงอันใหญ่ ห้ามทัดดอกไม้ ห้ามประโคมเครื่องหอม ห้ามฟังเพลง ห้ามจับเงิน จนห้ามๆๆๆ สองร้อยยี่สิบเจ็ดข้อ

นั่นไม่ได้แปลความหมายศีลนั้นโดยตรง ...แต่ตามตรง แปลโดยตรงตัว ตรงสภาพที่แท้จริงของคำว่าศีล แปลว่า...ปกติกายวาจา

ทำไมถึงต้องพูดเรื่องศีลสมาธิปัญญา ...เพราะศีลเป็นเหตุให้เกิดสมาธิ สมาธิจึงเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ...ไม่ผิดจากนี้ ...สมาธิจะไม่เกิดจากอื่นเลย ต้องเกิดจากศีลเป็นเหตุ

เพราะฉะนั้น ถ้าสมาธิหรือความสงบใดก็ตามที่เราเข้าใจว่าเป็นสมาธิ  นั่นไม่ใช่สมาธิที่เรียกว่าสัมมาสมาธิ ...ท่านเรียกว่าเป็นมิจฉาสมาธิ ท่านเรียกว่าเป็นโมหะสมาธิ

เห็นมั้ย นี่ ถ้าคลาดเคลื่อนแล้วนี่ ผลที่ได้ก็จะคลาดเคลื่อนไปตาม ...เพราะนั้นถ้าสมาธิมันคลาดเคลื่อนจากสัมมาสมาธิแล้ว ถามว่าปัญญาจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมั้ย ...คลาดเคลื่อนหมด

ความรู้ความเห็นที่ได้ตามมา ต่อเนื่องมา ก็ไม่สามารถเข้าไปละเลิกเพิกถอนกิเลสน้อยใหญ่หยาบ กลาง ละเอียด ประณีต ภายในกาย ภายในขันธ์ ภายในจิต ภายในใจ ของบุคคลนั้นๆ ได้เลย

คือพูดง่ายๆ ภาวนามาห้าปีสิบปีนี่ เอามาใช้ประโยชน์ไม่ได้ จนรู้สึกท้อแท้เหมือนสูญเปล่า จนแทบจะรามือไป ..แต่จริงๆ แล้วนี่ พวกเราปฏิบัติไม่ตรงเอง ไม่ตรงต่อศีล ไม่ตรงต่อสมาธิ ไม่ตรงต่อปัญญา 

มันจึงเกิดความคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติ และผลของการปฏิบัติก็คลาดเคลื่อน แตกต่างกันไปมา ...ไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่เป็นไปเพื่อความ ละ วาง จาง คลาย จากทุกข์ภายใน

เพราะฉะนั้น ถ้าถามถึงการปฏิบัติน่ะ จะเริ่มที่ไหนล่ะ ...จะเริ่มที่สมาธิก่อน หรือจะเริ่มที่ปัญญาก่อนล่ะ  เห็นมั้ย ไม่ได้นะ...เพราะมันไม่ได้เริ่มที่ต้นเหตุหรือต้นตอของสมาธิและปัญญา

เพราะนั้นการปฏิบัติถ้ามันเข้าใจแล้ว ก็จะต้องเริ่มต้นที่ศีล ...และไม่ใช่ไปตั้งหน้าสมาทานศีล แต่ต้องตั้งหน้าตั้งตาสมาทานความรู้ตัว เพราะปกติกายก็คือตัวนี้แหละ...ตัวที่มันนั่งนี่แหละ 

แล้วมันมีความปกติ แสดงความปกติอย่างไร ในอาการนั่ง  มีมั้ย ...ขยับ รู้สึกมั้ย คอมันขยับนี่รู้สึกมั้ย ...นั่งนี่มันรู้สึกมั้ยว่ามันแข็งกัน รู้สึกมั้ย มันเป็นปกติของมันมั้ย ...เป็นมั้ย

โยม –  เป็นค่ะ


พระอาจารย์ – ต้องทำขึ้นมามั้ย

โยม – ไม่ค่ะ


พระอาจารย์ – มันมีของมันอยู่แล้วใช่มั้ย

โยม – ใช่คะ


พระอาจารย์ – บอกให้มันหายไปซิ

โยม – ไม่หายค่ะ


พระอาจารย์ – บอกให้มันมากขึ้นซิ

โยม – ไม่ได้ค่ะ


พระอาจารย์ – เห็นมั้ย พราะมันมีของมันเป็นปกติธรรมชาติใช่มั้ย ...เนี่ย เรียกว่าปกติกาย หรือธรรมดากาย หรือปัจจุบันกาย หรือศีล

กายนี้คือกายศีล กายนี้แสดงความเป็นศีล คือแสดงความเป็นปกติธรรมดามาตั้งแต่เกิด จนวันตาย ...แต่เราอยู่กับปกติกาย เราอยู่กับปกติศีลนี้ แบบไม่รู้ไม่ชี้ ...จนเดี๋ยวนี้

ที่ผ่านมานี่ เราอยู่กับก้อนกายก้อนศีลนี่ โดยไม่รู้จักศีล โดยไม่รักษาศีล โดยไม่มีการสมาทานศีลที่แท้จริง  ...กลับไปสมาทานศีลภายนอก คือข้อห้ามข้อละเว้น

แล้วเข้าใจว่า ยิ่งเว้นยิ่งห้ามมากเท่าไหร่ จิตจะสงบมากขึ้นเท่านั้น ...นั่น ไปกันใหญ่แล้ว เข้าป่า นั่นแหละ ไปกันใหญ่นี่ไม่ใช่เข้าทางนะ แต่เข้าป่าเข้ารกเข้าพง แล้วเข้าใจเอาเองว่า เดี๋ยวมันก็คงดีขึ้นสักวัน

ก็ไม่เห็นมันดีขึ้นสักวัน นี่ พูดกันตรงๆ เลยนะ ไม่ต้องอ้อมค้อมแล้ว เพราะเราขี้เกียจอ้อมค้อม เหนื่อย พูดมาทั้งวัน เหนื่อยเหมือนกัน ไม่อ้อมไม่ค้อมแล้ว ...ถ้ามาก็ชกมันตรงหัวนี่แหละ เอาให้น็อค

เอาให้มันตายคาหมัดคาตีนนี่แหละกิเลส ความสงสัยลังเลในการปฏิบัติ มันจะได้ไม่เถียง ...เอาจนมันเถียงไม่ได้ เอาจนมันมาเถียงความเป็นจริงของกายของศีลนี่ไม่ได้ อย่ามาเล่นเล่ห์เพทุบาย

เพราะจิตนี่มันเจ้าเล่ห์...จิตหรือเรานี่จ้าเล่ห์  เดี๋ยวก็มีข้อแม้ เดี๋ยวก็มีข้ออ้าง เดี๋ยวก็ตำรานั้น เดี๋ยวก็อาจารย์นี้  นี่...มี เดี๋ยวก็มี เชื่อมั้ย เดี๋ยวก็มี มันต้องเป็นอย่างงั้นอยู่แล้ว 

เราก็มองเป็นเรื่องธรรมดาอีกเหมือนกันนั่นแหละ เป็นมาแล้ว เคยเป็น ...แต่เราไม่แน่กว่าหลวงปู่ ครูบาอาจารย์ท่านแน่กว่า เลยต้องยอมท่านก่อน แล้วก็ทำตามท่านไปก่อน

คราวนี้ก็ยอมไปยอมมา ทำไปทำมา มันก็เห็น...เออ เฮ้ย จริงว่ะ เออๆ มันเป็นอย่างนั้นจริง ...เนี่ย มันต้องยอมก่อนนะ ต้องลองยอมดูก่อนนะ

เพราะนั้นถ้ายอม ก็เริ่มรักษาศีลซะตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป คือรักษาศีลรักษากายนี้ด้วยสติ ...ไม่ใช่รักษาด้วยการสมาทาน ขอ อยาก หรือนึกๆ คิดๆ

ต้องสำรวมสติขึ้นมา...ระลึก  มันจึงจะเห็นความเป็นปกติของกาย ณ ปัจจุบันขณะนี้ ...ถ้าไม่มีสติ มันจะไม่รู้จักเลยว่ากายนี้กำลังอยู่ในท่าทางไหน และปกติในท่าทางนี้มีความรู้สึกอย่างไรอยู่ ใช่มั้ย

เนี่ย สติจึงเป็นตัวรักษาศีล...ไม่ใช่ “เรา” รักษาศีล เข้าใจมั้ย ...ต้องเข้าใจอย่างนี้ก่อนนะ ไม่ใช่ “เรา” รักษาศีล ...ถ้า “เรา” นี่ต้องไปรักษาศีลวิรัติ คือศีลข้อห้าม มีเราทั้งนั้นนะเป็นผู้วิรัติ

แต่ศีลที่เป็นอธิ...อธิศีล หรือศีลในองค์มรรค หรือศีลในภาคปฏิบัติ ...ไม่ใช่ “เรา” รักษา  แต่เป็นสติเข้าไปรักษาศีล เรียกว่า...สติในกาย ...ตัวนี้คือตัวที่รักษาศีล รักษาความปกติ

และไม่ใช่ไปทำให้มันปกติ ไม่ใช่ไปแก้ความปกติให้มันปกติยิ่งขึ้น ...แต่คือรักษาความปกติเท่าที่มันปรากฏนี่แหละ ตึง แน่น หนัก เนี่ย เท่านี้ก็เท่านี้ เขาปรากฏยังไง..ก็เท่าเนี้ย

มันปรากฏห้าก็รู้ว่ามันมีห้า ไม่ต้องไปลดเหลือสาม ไม่ต้องไปเพิ่มเป็นสิบ ...เข้าใจคำว่าสติที่พอดีกันมั้ย เนี่ย สติที่เข้าไประลึกแล้วก็พอดีกันกับกายที่ปรากฏ...พอดีกัน

เดี๋ยวจะค่อยๆ เรียนรู้คำว่า มัชฌิมา ...มันพอดีกัน มันพอดีกันกับปัจจุบันศีล มันพอดีกันกับปัจจุบันกาย แล้วก็รักษาความพอดีกันระหว่างกายกับรู้นี่แหละ ให้ต่อเนื่อง

อย่าไปปาก (ภาษาเหนือแปลว่าพูด บอก) ว่านั่นว่านี่ ...ก็มันปรากฏของมันแค่นี้ ทำไมจะต้องไปบอกว่ามันคืออะไร มันบอกตัวมันเองมั้ยว่ามันคืออะไร ...ไม่บอก...เพราะมันไม่มีปาก

ทำไมจะต้องไปบอกว่ามันนั่ง..หนอ ยืน..หนอ  ...ถามมันว่า มันรู้มั้ยว่ามันนั่ง ถามสิ มันตอบมั้ย เนี่ย แล้วมันแสดงอาการอะไรกลับคืนมา แสดงยังไง ...เงียบ จริงมั้ย

โยม –  จริงค่ะ


พระอาจารย์ –  แล้วที่บอกว่านั่ง จริงรึเปล่า

โยม –  มันสมมุติเอา


(ต่อแทร็ก 11/23  ช่วง 2 )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น