วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 11/25 (1)



พระอาจารย์
11/25 (560729A)
29 กรกฎาคม 2556
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  มาบวช มาเรียนรู้...วิถี การใช้ชีวิต ...วิถีการใช้ชีวิตมันใช้วิถีชีวิตอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องใช้วิถีจิตให้เป็น

เพราะนั้นว่าการบวชการเรียนเป็นพระ ก็เป็นการมาเน้น ฝึกเรื่องวิถีของจิตเป็นหลัก  เพื่อจะปรับวิถีของจิตให้อยู่ในครรลองที่มันเป็นไปเพื่อความเป็นทุกข์เป็นโทษให้มันน้อยลง

แล้วก็เอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน เอาไปใช้ให้ได้ถ้ามันไม่มีวิถีการเรียนรู้ การดำเนินวิถีจิตในทางที่เหมาะที่ควรแล้วนี่ มันก็จะเกิดทุกข์เกิดโทษ

เพราะระหว่างที่มันดำรงตนอยู่ในเพศฆราวาส ซึ่งมันต้องแวดล้อมด้วยกิเลสของสัตว์โลก แวดล้อมด้วยอารมณ์ ...มันก็มีทั้งกิเลสของภายนอกด้วย และก็กิเลสของภายในตัวเองด้วย

กิเลสคือความไม่รู้ กิเลสก็คืออารมณ์ ราคะ โทสะ โมหะ นี่แหละ ...คนในโลก มนุษย์ในโลกนี่ มันอยู่ด้วยกิเลสเป็นผู้นำพา ใช้กิเลสเป็นตัวชี้นำ มันไม่มีหางเสือ

แต่เมื่อมาอยู่ในองค์มรรคนี่ เหมือนกับตัวที่ชี้นำ คือธงชัยพระอรหันต์ ...มันเป็นตัวนำทาง

มรรค หรือวิถีแห่งมรรค นี่ เหมือนกับเป้าหมายที่เป็นธงชัยของพระอรหันต์ เป็นตัวชี้นำ ...มันก็จะเดินฝ่ากิเลสไปได้ ทั้งภายในและภายนอก การดำเนินชีวิตมันก็เป็นไปด้วยความสงบร่มเย็นพอประมาณ 

แต่ถ้าเคร่งครัดต่อวิถีของมรรค วิถีของมัชฌิมาปฏิปทาอย่างยิ่งแล้วนี่ ...มันไม่ได้เป็นแค่ความสงบพอประมาณเท่านั้น ...แต่มันเป็นความสงบร่มเย็นเป็นที่สุด สันติ ไม่วนเวียนอยู่ในกองทุกข์อีกต่อไป 

ก็ไม่ต้องมาวนเวียนกับการเกิดการตายอีกต่อไป ...เพราะเกิดแต่ละครั้งแต่ละคราวนี่ มันต้องมาเกิดพร้อมกับก้อนทุกข์กองทุกข์ ...นี่เป็นสมบัติคาเนื้อคาตัว ติดเนื้อติดตัวจนวันตาย

การได้ขันธ์ การมีขันธ์มานี่ มันก็มีทั้งคุณและโทษอยู่ในตัวของมัน ...โทษของมันก็คือมันเป็นก้อนทุกข์กองทุกข์ เป็นก้อนที่มันมีความเสื่อมตลอดเวลา 

มันล้ำหน้าไปในทางเสื่อมตลอดเวลาอยู่แล้ว นี่ ไอ้ที่ว่าโตขึ้นๆ น่ะ แต่ที่จริงมันเสื่อม เป็นไปด้วยความเสื่อม เป็นไปเพื่อความสลายแตกดับในที่สุด

เกิดกี่ครั้ง เกิดกี่ชาติ เกิดกี่สมัย ...ได้กายนี้ ได้ขันธ์นี้...ก็ต้องมาทนทุกข์อยู่กับกายอยู่กับขันธ์ทุกภพชาติไป ...นี่ มันก็เป็นทุกข์ประจำขันธ์มาตั้งแต่เกิด

ไม่ว่าเกิดมายากดีมีจน เกิดมาเป็นชาย เกิดมาเป็นหญิง เกิดมาร่ำรวย เกิดมามีฐานะสูงส่งหรือต่ำต้อย ...ก็ทุกข์พอกัน เท่ากัน เหมือนกัน แบบเดียวกัน เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน หนีไม่พ้น

ถ้าไม่มีปัญญา ถ้าไม่ปฏิบัติภาวนาจริงๆ จังๆ ...มันจะหลุดรอดจากการเวียนว่ายตายเกิด การได้ขันธ์ ได้ก้อนทุกข์ ได้กองทุกข์มาเป็นสมบัติอย่างนี้ ...ไม่ได้เลย

ลำพังปัญญาในทางโลก ในการคิด การอ่าน การฟัง การจดจำ ...แค่นี้ มันไม่พอที่จะทำให้ไปตัดวงจรของการเกิดการตายของสัตว์โลกได้

มันต้องอาศัยปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้ภายใน...เรียกว่าการภาวนา  มันถึงจะเข้าไปตัด สลายวงจรการเกิดการตายได้ ...ตั้งแต่น้อยไปถึงมาก จนถึงที่สุด...ก็คือไม่เกิดเลย

เพราะนั้นการมาบวชมาเรียน ได้มาฟังธรรมจากหลวงปู่ท่าน...ซึ่งแม้จะเป็นการฟังจากเทปหรือซีดีก็ตาม ก็ถือว่าเป็นธรรมจากพระอริยะ คือพระอรหันต์ ว่างั้นเถอะ

สิ่งที่ท่านพูด สิ่งที่ท่านสอน สิ่งที่ท่านแสดงนี่ จึงเป็นของที่มีค่าสูง...สูงกว่าลมปากของมนุษย์ผู้มีกิเลสหนาแน่น หรือว่าปากของพระที่ไม่ได้เป็นอริยะบุคคล

เพราะนั้น ฟังธรรมแล้วก็อย่ามานั่งหลับนอนหลับ ...ให้ตั้งอกตั้งใจฟัง ใส่ใจ น้อมนำ เอาไปปฏิบัติให้มันเกิดมรรคเกิดผลขึ้นมาภายในของตัวเจ้าของ

ให้มันเกิดความเข้าใจในวิถี ในวงจรของการปฏิบัติธรรม ซึ่งมันมีหลากหลาย ...ที่หลวงปู่ท่านเทศน์ ท่านเทศน์ครอบคลุม ทุกแนวทาง ทุกจริต

ก็พยายามอย่าเบื่อ อย่าขี้เกียจ ก็เรียกว่า สุสสูสัง ละภะเต ปัญญัง  ฟังด้วยดีก็จะเกิดปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจในระดับที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ตัวเอง

การจะเกิดพระอรหันต์ขึ้นมาแต่ละองค์แต่ละครั้งนี่ ไม่ใช่ของง่าย  หาได้ยากยิ่ง เหมือนกับเพชรน้ำเอก ไม่ใช่ไปหาซื้อตามท้องตลาด หรือหาตามป่าตามเขาได้ กว่าจะได้มาสักเม็ดสักก้อนหนึ่ง

อย่างที่มาบวชกันรุ่นหลังนี่ยังไม่ทันหลวงปู่เลย ...แต่ก็ยังดี ยังทันสมัยที่เทคโนโลยีมีเสียงถ่ายทอดกันได้ ... ถ้าเป็นสมัยหลวงปู่มั่น อย่าว่าแต่ไม่ได้เห็นไม่ได้ยินท่าน แม้แต่เสียงยังไม่ได้ยินเลย ไม่มีเทปน่ะ สมัยนั้น

เพราะนั้น...ธรรมนี่ เป็นของมีค่า ล้ำค่ายิ่ง ...พระพุทธเจ้าท่านบอกไว้ว่า ศีลสมาธิปัญญานี่ มรรคนี่ เป็นทางอันประเสริฐ หมายความว่า เป็นเอกายนมรรค เป็นทางสายเอก

เป็นทางอันประเสริฐ ไม่มีทางไหนประเสริฐเท่า เท่ากับทางมรรค หรือว่ามัชฌิมาปฏิปทา ศีลสมาธิปัญญา ซึ่งเป็นวิถีแห่งมรรคนี่ ก็เป็นของอันประเสริฐ

เหมือนแก้วรัตนตรัย เหมือนแก้วรัตนตรัยคือธรรมอันประเสริฐ ไตรสิกขานี่ เหมือนแก้ว เหมือนของล้ำค่า มีค่ายิ่ง ยิ่งกว่าของที่มีค่าในโลกนี่ ทั้งหลายทั้งปวง

แต่มนุษย์ทั่วไปนี่ มันไม่เห็นคุณค่าของศีลสมาธิปัญญา  มันมองว่าเป็นของไกลตัว เป็นของสำหรับบางคนเท่านั้น มันก็เลยห่างไกลจากศีลสมาธิปัญญา 

เมื่อมันห่างไกลจากศีลสมาธิปัญญา ก็หมายความว่ามันห่างไกลจากมรรค หรือว่าหนทางปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อความออกจากทุกข์ พ้นทุกข์  …เมื่อมันห่างจากมรรค มันก็ห่างจากผล คือนิพพาน

เพราะนั้น ถ้าใช้ชีวิตโดยที่ว่าไม่แอบอิงแนบชิดใกล้กับศีลสมาธิ ก็หมายความว่า มันก็ห่างไกลจากความหลุด ความพ้น ความออกจากการหมุนเวียนในสังสารวัฏ

ก็ต้องทำความรู้ความเข้าใจในเรื่องของศีลสมาธิปัญญาให้ชัดเจน...ชัดเจนในระดับที่สามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ไม่ใช่เอามาใช้ในวัด ในป่า ในเขา หรือว่าตอนมาเป็นนักบวช

นักบ้านก็มีได้...ศีลสมาธิปัญญานี่  มันไม่ใช่ของที่ไกลตัว หรือว่าเป็นของที่ยาก แบบต้องไขว่คว้าปีนบันได ต่อบันไดหากัน ...ศีลสมาธิปัญญา พูดกันง่ายๆ สั้นๆ ก็คือกายใจนั่นแหละ

แต่ละคนเกิดมา มันไม่มีใครไม่มีกาย ไม่มีใจ มันเกิดมาพร้อมกับกายใจนี้แหละ...เป็นสมบัติ ...แต่ยังไม่รู้จักสมบัติที่ได้มาพร้อมกับการเกิด มันเลยไม่เห็นคุณค่าของสมบัติที่ได้มาพร้อมกับการเกิดคือกายใจนี่ 

ที่เราบอกว่ากายนี่มันเป็นทั้งคุณทั้งโทษในตัว ...ในโทษในทุกข์ก็คือความเป็นก้อนทุกข์  มันก็มีแต่ความแปรปรวน เสื่อมไป ดับไป มีทุกขเวทนาที่เสียดแทงและบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา

แต่ในแง่คุณก็คือเป็นเครื่องแสดงความเป็นจริงของโลก ของขันธ์  เป็นเครื่องเรียนรู้ความเป็นจริงของโลก ของขันธ์ ...นี่ในแง่ที่ว่ากายนี้มีคุณต่อการภาวนาต่อการปฏิบัติ

ถ้าไม่เรียนรู้กาย ถ้าไม่เรียนรู้ความเป็นจริงของกาย ...มันก็จะเข้าไม่ถึงความเป็นจริงของโลกและของธรรม

ถ้าเรามองเห็นคุณค่าของกายอย่างนี้ ก็ต้องเร่งใส่ใจขวนขวายในการเรียนรู้เรื่องของกาย...ของเจ้าของนั่นแหละ ...กายคนอื่น กายภายนอก ไม่ต้องไปสนใจ ...ให้ใส่ใจขวนขวายที่จะเรียนรู้กายของตัวเอง

เพราะในแง่ของคำว่าศีลนี่ มันก็แปลความหมายว่าปกติกายวาจาอยู่แล้ว ...การเรียนรู้เรื่องของกาย มันก็เหมือนกับการอยู่ในกองศีลก้อนศีลนั่นน่ะ

เหมือนกับวนเวียนอยู่ในก้อนศีล กองศีล กองกาย กองปกติ ที่มันแสดงอาการต่างๆ นานา  ในแง่มุมต่างๆ นานา ตามเหตุตามปัจจัยที่มากระทบหรือแวดล้อมมัน

เพราะนั้น การรักษากายใจนี่ หรือการคอยจดจ้อง คร่ำเคร่ง พากเพียร อยู่กับกายของตัวเอง ด้วยสติ ด้วยการระลึกรู้ ด้วยการสังเกต ด้วยความแยบคายนี่ ...นี่คือบาทฐานของการปฏิบัติเพื่อจะเข้าสู่องค์มรรค

เพื่อเข้าสู่ความเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง ทางแห่งความพอดี  ไม่ขาดไม่เกิน ไม่มากไม่น้อย ...เดินไปด้วยความพอดี พอดีกันระหว่างกายกับใจในปัจจุบัน

ถ้าไม่มีกายปัจจุบัน ถ้าไม่รู้จักกายปัจจุบัน ถ้าไม่อยู่กับกายปัจจุบัน ...มันจะไม่รู้จักว่ามันพอดีอยู่ตรงไหน มันจะหาความพอดีไม่ได้

เพราะจิตน่ะมันหาความพอดีไม่ได้ มันคอยเปรียบไปเปรียบมา เทียบไปเทียบมา อดีตบ้าง อนาคตบ้าง อย่างนั้นอย่างนี้บ้าง ...มันก็จะหาความพอดีไม่ได้

เพราะนั้นตัวจิต ตัวความคิด ตัวความเห็นของพวกเรานี่  มันจะเป็นตัวที่เรียกว่าเป็นตัวที่สุดโต่ง...ทั้งในแง่รักและชัง คือมันไม่ยุติธรรม


ในแง่รักและชังอย่างไร ...ในแง่รักก็คือกามสุขัลลิกานุโยค หรือราคานุสัย ...ในแง่ของความชังก็คือ อัตตกิลมถานุโยค ...มันหาความพอดีไม่เจอ


(ต่อแทร็ก 11/25  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น