วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 11/25 (2)


พระอาจารย์
11/25 (560729A)
29 กรกฎาคม 2556
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 11/25  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  แต่ถ้าเอากายเอาศีลนี่เป็นหลัก แล้วใช้สติกำหนดกำกับไว้กับปกติกายปัจจุบันกาย  มันก็จะรู้จักคำว่าพอดี...พอดีกันระหว่างกายใจปัจจุบัน ไม่ขาด...ไม่เกิน

ถ้าขาดก็หมายความว่ากายหาย  ถ้าเกินก็คือมีกายอันอื่นเกินเข้ามาอีก ซึ่งก็คือกายที่มันเป็นกายที่ไม่ใช่กายปัจจุบันเกินเข้ามา ...แต่ถ้ามันพอดีกัน ก็มีแค่ปัจจุบันกายกับรู้

รู้อยู่กับปัจจุบันกายไปเรื่อยๆ ให้พอดีกัน ไม่ขาดไม่เกินกัน ทั้งวัน ตลอดวัน ทุกวัน อย่างเนี้ยเรียกว่าเป็นการดำเนินไปในมัชฌิมาปฏิปทาในระดับเบื้องต้น

เมื่อดำรงวิถีกายวิถีจิตนี่ อยู่บนเส้นทางของความเป็นกลางอย่างนี้ พอดีกันอย่างนี้ ...เรียกว่าเป็นการเดินไปในองค์มรรค เดินอยู่บนองค์มรรค

และท่ามกลางเส้นทางสายกลางนี้ มัชฌิมาปฏิปทานี้ การเดินดำรงอยู่ในองค์มรรคนี่ ...ระหว่างที่มันเดินอยู่ในมรรคนี่ มันจะเกิดความรู้ความเข้าใจภายใน

ความรู้ความเข้าใจภายในนี่ ไม่ใช่ความรู้ความเข้าใจภายนอก ...มันเป็นความรู้ความเข้าใจภายในขันธ์นี่ ที่เรียกว่าปัญญา...มันจะเกิดปัญญา 

เมื่อเดินอยู่บนเส้นทางของมรรค เมื่อเดินอยู่บนเส้นทางสายกลาง ...ความรู้ความเข้าใจมันก็ค่อยๆ เปิดเผยความเป็นจริง...อันดับแรก อันดับต้นก็คือกาย...เปิดเผยความเป็นจริงของกาย ทีละเล็กทีละน้อย

เพราะว่าบุคคลที่ไม่ได้เดินอยู่ในมรรคนี่ หรือไม่ได้ปฏิบัติอยู่ในองค์มรรคนี่ ...มันจะเห็นกายไม่ตรง มันเห็นกายผิดจากสภาพที่แท้จริง มันเห็นกายแบบผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

และการที่มันเห็นกายผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงนั้นแหละ ที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าเป็นสมุทัย หรือเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นเหตุให้เกิดความยินดี-ยินร้าย เรียกว่าราคะ ปฏิฆะ 

นี่เป็นเหตุให้เกิดความอยาก-ความไม่อยาก เป็นเหตุให้เกิดกิเลสน้อยใหญ่ โทสะ โลภะ โมหะ ...เพราะมันเห็นกายไม่ตรงต่อสภาพที่แท้จริงตามความเป็นจริงของกาย

เพราะนั้นก็รักษาองค์มรรคด้วยสติ...กำกับความพอดีกันระหว่างกายกับรู้  ทำอะไรให้รู้อยู่ในอาการนั้น นั่ง..รู้อยู่กับนั่ง ยืน..รู้อยู่ว่ายืน เดิน..รู้อยู่ว่าเดิน ...ให้มันพอดีกัน 

ถ้าเดินแล้วไม่รู้ว่าเดิน แปลว่ากายขณะเดินน่ะมันหาย...ทั้งๆ ที่ว่ากายมันมี ...นี่ เขาเรียกว่ามันไม่พอดีกันระหว่างกายกับใจ กายกับรู้  ...มันขาดหายไป หลงลืมไป ล่องลอยไป 

หรือมัวแต่คิดเรื่องกายคนอื่น นี่ก็เรียกว่ามันเกิน ...ไปคิดถึงกายตัวเองข้างหน้า คิดถึงการกระทำข้างหน้าข้างหลัง คิดถึงการกระทำของสัตว์บุคคลอื่น ก็เรียกว่ามันเกิน...เกินกาย

นี่เขาเรียกว่ามันสุดโต่งจากความพอดีกับปัจจุบันกาย ปัจจุบันใจ ปัจจุบันรู้ ...มันก็ไม่เกิดปัญญา  มันก็เกิดแต่กิเลส เกิดโทสะ ปฏิฆะ หงุดหงิด ขุ่นมัว

มีความเศร้าหมอง กังวล เกลียด กลัว สงสัย ลังเล ขุ่นข้องหมองใจ อึดอัดคับข้อง เสียดแทง ...ล้วนแต่เป็นการพอกพูนสมุทัย ด้วยการไม่รู้เนื้อไม่รู้ตัว

ชีวิตที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดของพวกเรานี่ มันก็อยู่ใต้อุ้งมือของกิเลสมาตลอดเวลา ใช้ชีวิตอยู่ด้วยการพอกพูนสะสมสมุทัย จึงมีแต่สุขมีแต่ทุกข์หมุนเวียนเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตากันไป...ไม่มีเวลาพัก ไม่มีเวลาหยุด

ไม่สุขก็ทุกข์ ...ส่วนมากสุขไม่ค่อยมี มีแต่ทุกข์  อึดอัด คับข้อง เสียดแทงทิ่มแทง เร่าร้อน ขุ่นมัว กังวล ...ในหนึ่งวันน่ะ จะตกอยู่ภายในอำนาจของกิเลสเหล่านี้ เศร้าหมอง โดยหาทางออกไม่ได้

แล้วไอ้วิธีหาทางออกของคนไม่มีปัญญาหรือคนในโลก ...ก็คือไปหาอะไรสนุกๆ ทำ เพื่อให้มันเกิดอารมณ์ที่น่าใคร่ น่าพึงพอใจ ...กลบเกลื่อนกันไป

สุดท้าย พอความสุขที่หามาได้เล็กๆ น้อยๆ ปล้อบๆ แปล้บๆ นั่น  มันหมดมันจางไป ...ก็ทุกข์ที่มันสุมอยู่ภายใน มันก็เร่าร้อนขึ้นมา ...ไม่หายไปไหน 

ก็มีแต่ความวุ่นวี่วุ่นวาย คิดไปคิดมา คิดหน้าคิดหลัง คิดเรื่องคนนั้น คิดเรื่องของตัวเองไปอยู่ตลอดเวลา

เพราะนั้นการมาบวชมาเรียนนี่ ไม่ใช่มาเอาบุญ ไม่ใช่มาเอาบาป ไม่ใช่มาเอาชื่อเอาเสียงว่าได้บวชได้เรียนแล้วแค่นั้นนะ

แต่จุดมุ่งหมายของการบวชจริงๆ นี่ เพื่อให้เรียนรู้วิถีการดำรงชีวิต การดำเนินชีวิต กับวิถีจิต วิถีใจ วิถีมรรค แล้วก็วิถีของกิเลส ให้มันรู้ให้มันเข้าใจ

เพื่อจะได้รู้จักว่า จะเลือกเดินทางไหนดี ...จะเดินบนเส้นทางของทุกข์ตลอดสาย หรือเดินบนเส้นทางที่เหนือทุกข์ตลอดสาย นี่คือคุณประโยชน์ของการบวชการเรียน

เพราะว่ามันเป็นช่วงที่พักจากงาน พักจากภารกิจภายนอก พักจากการวุ่นวี่วุ่นวายกับคนรอบข้าง ตั้งแต่พ่อแม่พี่น้อง ผัวเมีย ลูก เพื่อน งาน เจ้านาย ลูกน้อง คนที่เกลียด คนที่รัก มันห่างออกมา

ก็ใช้เวลาช่วงนี้ซึ่งหาได้ยากสำหรับมนุษย์...คนสมัยนี้ มันก็อ้างว่าไม่ค่อยมีเวลา ...เพราะนั้นไม่ใช่บวชแล้วก็มานั่งๆ ยืนๆ หลับๆ  มันก็จะไม่ได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มที่เต็มฐาน

เดี๋ยวเวลาสึกไปแล้วก็จะบอกว่า บวชครั้งนี้ไม่ได้อะไรเลย เสียเวลาเปล่า เนี่ย หลายคนมักจะพูดกันอย่างนั้น เพราะมันไม่ได้มาบวชเรียนศึกษาความจริงอะไร

พอมาบวชเรียนศึกษาก็ไปเรียนหนังสือหนังหา เรียนปริยัติ...แต่ไม่เรียนการปฏิบัติ  มันก็จะไม่เข้าใจในความหมายของปริยัติ ซึ่งเป็นแค่ตัวหนังสือตัวภาษา

ซึ่งมันแก้กิเลสไม่ได้ มันละกิเลสไม่ได้ มันเข้าสู่องค์มรรคไม่ได้ มันเดินไปบนมรรคไม่ได้ มันเดินไปจนที่สุดของมรรคไม่ได้ด้วยตัวหนังสือ

มันก็เลยต้องมาเรียนกับพระสายปฏิบัติหรือว่าพระป่า เพราะพระบ้านก็จะเน้นเรื่องปริยัติมากเกินไป 

อะไรที่มันมากเกินไปน่ะ...ไม่ดีทั้งนั้น ยกเว้นการปฏิบัตินะ ...เพราะอะไร ...เพราะมันมีแต่น้อยเกินไป ตอนนี้ 

ที่ว่าน้อยยังไง มากยังไง ...ก็คือถ้าการปฏิบัติน้อยกว่าลมหายใจเข้าออก...ทุกลมหายใจเข้าออก เรียกว่าน้อยเกินไป ...เราถึงบอกว่าต้องให้มากกว่านี้ 

คำว่ามากกว่านี้ของเรานี่มันแค่ไหน ...ก็ไม่แค่ไหนหรอก ก็แค่ทุกลมหายใจเข้าออก นั่นแหละ ...ถ้าเกินทุกลมหายใจเข้าออก นั่นเรียกว่ามากเกินไปแล้วสำหรับการปฏิบัติ 

เพราะนั้น ทำให้มันได้ถึงขั้นนั้นก่อน แล้วจะรู้ว่า...เนี่ย ที่สุด คือทุกขณะ ทุกปัจจุบัน ไม่ขาดแม้แต่ปัจจุบันใด ปัจจุบันหนึ่ง

ถึงบอกว่าการปฏิบัติของพวกเรานี่ยังน้อยเกิน ต่ำกว่ามาตรฐาน ...มาตรฐานอะไร ...อริยะจิต อริยะบุคคล ...ต่ำกว่ามาตรฐานผลและนิพพาน

อย่ามองว่าเป็นของยาก หรือพูดเหมือนเขียนเสือให้วัวกลัว ...เพราะเราไม่ใช่เสือ เราเป็นพระ เหมือนกัน  แล้วพระนี่มาจากไหน...คน...เหมือนกัน สองขา สองแขน หนึ่งหัว หนึ่งตัวเท่ากัน

ไม่ใช่ว่ามีสามเขางอกขึ้นมา หรือว่ามีสองขาเพิ่มขึ้นมา ...สองขาเท่ากัน เริ่มต้นด้วยศูนย์เท่ากัน ศูนย์จากศีลสมาธิปัญญาเท่ากัน ...ไม่ใช่ว่าเกิดมาพร้อมกับรู้จักศีลสมาธิปัญญามาตั้งแต่ท้องแม่

ล้วนแต่มาขวนขวายเอาใหม่ เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ในชาติปัจจุบันนี้ ...คือไม่รู้ว่าชาติที่แล้วมันเคยทำหรือไม่ทำไม่รู้ เพราะพอดีไม่มีปุพเพนิวาสานุสติญาณมาตั้งแต่เกิด

รู้แต่ว่ามาทำเอาเดี๋ยวนี้ เริ่มต้นที่จุดสตาร์ทตรงที่ไม่รู้อะไรเลย แล้วค่อยๆ ขวนขวายภายใน ...ต้นทุนเท่ากัน ไม่มากไม่น้อยกว่ากัน มีกายเท่ากัน มีศีลเท่ากัน เสมอกัน หนึ่งเดียวกัน

แต่ไอ้ที่พวกเรายังขาด ที่ไม่เท่ากัน หรือว่าน้อยกว่าเราก็คือ...ความขวนขวาย ความใส่ใจ ความตั้งใจจริงในการปฏิบัติ...น้อยมาก

ไปอยู่กับความเผลอเพลินซะเป็นส่วนมาก ไปอยู่กับความไม่ตั้งอกตั้งใจอยู่ภายในเป็นส่วนมาก ไปอยู่กับการสนุกพูด สนุกคุย สนุกเล่นเป็นส่วนมาก

ไปอยู่กับการเผลอเพลิน นอนหลับนอนไหลคิดฟุ้งซ่านไปข้างหน้าข้างหลัง เป็นส่วนมาก ...กินเวลาชีวิตนี้ เก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์ได้มั้ง ...จนวันตาย

เราถึงบอกว่าความขวนขวายน้อยมาก มันต่างกันตรงนี้ ...ทั้งๆ ที่ว่า ศีลนี่เท่ากัน เกิดมาเท่ากัน เป็นคนเท่ากัน ไม่ใช่เราเป็นกิ้งกือมีตีนมากกว่าสองตีนสองขา

แต่ก็เริ่มมาสะสมความพากความเพียร ความขวนขวาย ความใส่ใจ ทำให้เกิด ทำให้มีขึ้น ซึ่งศีลสติสมาธิปัญญา


(ต่อแทร็ก 11/26) 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น