วันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 11/3




พระอาจารย์

11/3 (560504C)

(แทร็กต่อ)

4 พฤษภาคม 2556


พระอาจารย์ – การเดินอยู่ในมรรคนี่...ต้องเท่าทันจิต  สติต้องเท่าทันจิต...แล้วละ  

ไม่ใช่ไปดับจิตนะ ไม่ใช่ไปห้ามจิตนะ ...มันห้ามไม่ได้หรอก ยังไงก็มี  แต่อย่าเอามันมาเป็นภาระ อย่าเอามาเป็นเรื่อง อย่าเอามาเป็นที่ตั้งของปัญญา ... มันไม่เป็นปัญญาได้หรอก ปัญญามันจะต้องตั้งอยู่ที่กายนี้

ที่ตั้งของปัญญาคือกายตัวนี้  ที่ตั้ง...คือต้องมาทำความสืบค้น ทบทวนความเป็นจริงของกายนี้  เพราะเป้าหมายของการภาวนานี่ มันมีอยู่สองอย่าง...คือมาทำความรู้แจ้งกาย-ใจ...กายกับใจ...สองสิ่ง  เป็นสองสิ่งที่จิตผู้ไม่รู้นี่ไม่เข้าใจ อวิชชานี่ไม่รู้ความเป็นจริงของสองสิ่งนี้ ว่ากายคืออะไร กับใจที่แท้จริงคืออะไร

เมื่อใดที่มัน...ปฏิบัติยังไงก็ได้ที่มันทำให้เกิดความรู้ชอบเห็นชอบ รู้แจ้งเห็นจริง รู้ชัดเห็นชัด ของกายหรือธรรมชาติที่แท้จริงของกาย นั่นแหละ เรียกว่าผลของการภาวนา...เพื่องานนั้น  

เมื่อมันเข้าใจชัดแจ้ง ชัดเจน ในความเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของกายแล้ว มันจะเข้าใจในตัวของมัน ... จากความไม่รู้นี่ จะเข้าใจเลยว่า กายนี่ไม่ใช่ใคร ของใคร ... เป็นแค่ธรรมชาติหนึ่งที่ปรากฏขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปลอยๆ ...ไม่ใช่เป็นธรรมชาติที่เกิด ตั้ง ดับ ของใคร เพื่อใคร ...แค่นี้เอง

ถ้ามันรู้ธรรมชาติของกายที่แท้จริงอย่างนี้ โดยทุกอณู ทุกการปรากฏ ทุกองคาพยพ ทุกเหตุแห่งกาย ทุกปรากฏการณ์ของกาย  เรียกว่ารู้แจ้งแทงตลอดในกาย ... เมื่อใดที่มันรู้แจ้งแทงตลอดในเหตุแห่งกาย หรือคำว่าสมมุติว่ากายนี้ก็ตาม  ตรงนั้นน่ะ จะเกิดภาวะที่ตามมาคือ แจ้งจิต...พร้อมกัน

เพราะจิตมันจะเนื่องด้วยมันเห็นกายไม่ตรง มันจึงเกิดอาการของจิตที่มันวุ่นวี่วุ่นวาย ส่ายแส่ สร้างรูปสร้างนาม  ซึ่งเลียนแบบ จำลองกาย...เท่าที่ตาเนื้อนี่มันเห็นในปัจจุบัน มันจึงมีเรื่องแบบมากมายก่ายกองขึ้นมาในจิต

แต่เมื่อมันแจ้งชัดในความเป็นกายแล้วนี่ อาการจิตนี่...จบ แจ้งเลย ...ไม่รู้มันจะคิดไปหาพระแสงอะไร ไม่รู้มันจะปรุงหาอดีต-อนาคตอะไร ... เพราะมันไม่มีอะไรเลย ทั้งหมดล้วนสร้างมาลอยๆ กับมือมันทั้งนั้นน่ะ แท้จริงแล้วมันไม่มีอะไร

ก็เรียกว่าเมื่อไหร่ที่แจ้งกาย ก็จึงจะแจ้งจิต  จิตมันก็จะจบ...ลงที่กายหรือรูปของกาย  แล้วจากนั้นน่ะ จะเหลือจิตที่ยังไม่แจ้งในอรูป คือตรงจิตตรงนั้นจะเหลือเป็นจิตที่ไม่มีรูปและนาม ...คือจิตมันออกจากความเป็นรูปและนาม หรือที่มันสร้างรูปและนามขึ้นในจิตแล้วก็เป็น alive ในรูปนามในจิตนั่นน่ะ...มันไม่มีแล้ว มันแจ้งแล้ว เพราะมันเนื่องด้วยกาย ...จบ chapter 1

จะมาเหลือ chapter ต่อไป คือเป็นจิตที่เป็นอรูป คือไม่มีรูปนามในจิต แต่มีอาการของจิต...ที่มันยังไขว่คว้า ขุดค้นหาอยู่  นี่เขาเรียกว่าอนุสัยยังมี สันดานยังมี ... คือไม่รู้จะไปไหนแล้ว แต่ยังไม่ยอมดับเครื่องน่ะ

คือน้ำมันยังไม่หมด เข้าใจป่าว แต่ว่าคันเร่งนี่ถอนแล้ว ไม่มีสถานที่ให้มันไปแล้ว  แต่ว่าก็ยัง ฮึ่มๆ ของมัน ไม่รู้มันฮึ่มหาอะไร...ทั้งที่ไม่มีอะไรให้มันไปนะ  เนี่ย มันอยู่ในอรูป แล้วก็สำคัญว่าอรูปนั่นน่ะ เป็นที่อยู่ที่อาศัย ก็เป็นภพคืออรูปภพขึ้น

นี่คืองานที่จะต้องทำต่อไปหลังจากทำลายเหตุแห่งกายหรือทำความแจ้งในตัวกายหรือเหตุแห่งกายแล้ว  ต่อมาก็ต้องมาแจ้งใจ เป็นเหตุที่ 2 chapter 2 ...  เพราะนั้นตัวใจกับจิตนี่มันจะเนื่องกัน  แต่ว่าใจที่เนื่องด้วยทำลายกายแล้วนี่ ใจกับจิตน่ะ มันจะเป็นจิตที่เป็นอรูป คือไม่มีรูปนามในจิต เรียกว่าอรูปจิตหรืออรูปภพ

แล้วตรงนั้นน่ะ พอจิตที่มันเป็นอรูปภพ...ตรงอรูปภพสำหรับพระอริยะแล้ว...ในอรูปภพนั้นหมายความว่าตรงนี้หมดกิเลสแล้ว  กิเลสไม่เกิดแล้ว อารมณ์ไม่เกิด ราคะไม่เกิด โทสะไม่เกิด ปฏิฆะไม่เกิด อดีต-อนาคตไม่เกิด ไม่มีอะไรเกิด กิเลสความอยาก-ความไม่อยาก...ไม่มีแล้ว ที่เนื่องด้วยรูปด้วยกาย ไม่มีแล้ว

มันก็เหมือนกับว่า...คือพวกเรานี่คุ้นเคยกับกิเลสที่เนื่องด้วยรูปและกายนี่ จนมันบอกว่านี่แหละคือภาระอันใหญ่หลวงหนักหน่วง คือว่ากิเลสทั้งหมด...คือทั้งหมดนี่เลย  พอมันหมดไปสิ้นไปเหมือนปลาสนาการหายเรียบหมดเลยนี่ มันจะบอกเลยว่าหมดกิเลสแล้ว ว่าง หมดเลย สิ้นแล้ว...นี่ มันจะเข้าไปจมแช่ในอาการนี้

เพราะพวกเราจะไม่เคยเข้าในสภาวะอรูปภพเลย เพราะจิตไม่เคยว่างอย่างที่ไร้กิเลสเกิดเลย จิตไม่เคยไร้ที่ไม่มีรูปนามปรากฏเลย  แต่พอมาถึงจุดนั้น...ที่มันหายไป หมดค่า หมดราคาไปแบบโดยสิ้นเชิงนี่  มันก็ว่า โอ ถึงแล้วกู

ยังมี 'กู' ถึงอีกนะ ... เออ คำว่าเรายังไม่จบเลยนะ ยังเป็นเราว่า “สำเร็จแล้วกู นิพพานแล้วกู ถึงแล้วๆ” ก็ไม่ทำอะไรแล้ว เสวยความไม่มีกิเลสตรงนั้นเป็นอารมณ์ ...ก็ยังเสวยตรงนั้นเป็นอารมณ์ คือตรงนั้นน่ะไม่หน้าตาของเรา ความรู้สึกของเราชัดเจนหรอก...แต่ว่าเป็น “กู” ลึกๆ

เห็นมั้ย...สักกาย ใครว่าหมดที่โสดาบัน...ไม่จริง ไม่หมด ...ยันพระอรหันต์นั่นน่ะหมด ... กว่ามันจะเอะใจว่า เฮ้ย ยังมีอะไรวะ’  นี่ ถึงจะแยกอรูปกับรู้กับใจ แยกจิตกับใจ  แยกจิตที่เป็นอรูปจิตนี่ออกจากใจอีกทีนึง ...อ้อ หลงอยู่ตั้งนาน

แยกออก...ยังไม่จบ  พอแยกออกก็เหลือแต่ใจรู้ คราวนี้อยู่ที่รู้เลย...เออ วิสุทธิจิต รู้นั้นเป็นวิสุทธิจิต  ตรงนี้จะเข้าอรหันตมรรคแล้วนี่ วิสุทธิจิต บริสุทธิ์ล้วนๆ ของจิต ...มันยิ่งกว่าหมดกิเลสอีกนะ

มันคือความหมดจดเลยของจิต แล้วมีความบริสุทธิ์อยู่ท่ามกลางความเวิ้งว้าง  คือไม่ได้มีแต่ความเวิ้งว้างนะ ...นี่แยกออกมาแล้วนะ แยกอรูปออกแล้วนะ  แต่ยังอยู่กับวิสุทธิจิต ความบริสุทธิ์แห่งจิตผู้รู้  ดวงจิตผู้รู้ที่วิสุทธิอย่างยิ่ง ...ก็ยังมาจมอยู่ตรงนั้นอีก

แต่ว่าตรงนี้ที่เรียกว่าเป็นภพสุดท้ายของใจ...ที่มั่นสุดท้ายของ “เรา” ...  “เรา”ตรงนั้นน่ะไม่มีหน้าตาแล้ว เป็นความบริสุทธิ์ล้วนๆ  แต่มันเป็นที่ยืนที่หยั่งของตีนที่มันยืนอยู่...ที่สุดท้ายในสามโลกธาตุ

แล้วมันจะทิ้งได้มั้ยล่ะ ...ไม่อยากทิ้ง ไม่ยอมทิ้งน่ะ เพราะมันบริสุทธิ์ที่สุดแล้ว  ถ้าทิ้งก็ตกโลกไม่มีที่อยู่น่ะสิ’ …  นี่มันจะรู้สึกหวง หวงตรงที่ยืนหยั่งในวิสุทธิจิตนี้ ...ก็อิ่มเอิบซาบซ่านหรือว่าปราโมทย์ปรีเปรมอยู่ตรงที่นั้น เรียกว่าปัสสัทธิอย่างยิ่ง ปราโมทย์...อยู่ที่ความปราโมทย์

กว่าที่มันจะรู้แล้วก็ยอมรับตัวมันเอง นั่นแหละเรียกว่า...อาสวักขยญาณ ... ตรงนี้เป็นเรื่องของเขาเองแล้วน่ะ

ทั้งหมดนี่ที่เราพูดมา...ในกระบวนการตั้งแต่ต้นมรรค จนปลายมรรค จนที่สุดของมรรคนี่...เป็นเรื่องของกายมาตามลำดับเลย ...ไม่ข้าม ไม่พลิกหัวมาเป็นท้าย ไม่พลิกท้ายมาเป็นหัว ไม่พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่เอาหลังมือเป็นหน้ามือ ...มันเป็นไปตามลำดับ

กิเลสตั้งแต่หยาบ กลาง ละเอียด ประณีต สุดประณีต มันจะเป็นอย่างนั้น ... กายตั้งแต่หยาบ ละเอียดปานกลาง ละเอียดประณีตสุดประณีต จนที่สุด...ว่าง ...ไปตามลำดับ

ไม่ได้พูดเรื่องจิตเลยน่ะ ไม่ได้พูดเรื่องกิเลสเลย ...ในอวิชชา ปัจจยา สังขารา หรือปฏิจจสมุปบาท ไม่มีพูดเรื่องกิเลสเลยนะ ไม่ได้พูดเรื่องกิเลสราคะ โทสะ โมหะ อะไรเลยนะ ...ไม่ได้พูดเรื่องความคิด เรื่องอารมณ์ เรื่องอะไรนี้เลยนะ

เพราะนั้นก็มาคอยเท่าทัน อยู่ในหลัก อยู่ในกรอบของมรรค คือศีลสมาธิปัญญา  ทำความชัดเจนในศีล ในสมาธิ ในปัญญา  ทำความแจ้งในศีล สมาธิและ ปัญญา ...ทำอยู่แค่นี้

มันหลง มันเผลอ มันเพลิน หรือมันกำลังไปคุ้ยเขี่ยคุ้ยหาขยะตรงไหนที่ไหน  พอระลึกได้ รู้ตัวได้...ก็ออกมา ไม่เฝ้ากองขยะ  มันไม่มีอะไรให้ค้นหาหรอกในนั้น ทั้งความจริงและความดีหรือผลอันประเสริฐ ...ไม่มี

ต้องหักอาวรณ์ อาลัย เสียดาย  ออกจากความน่าใคร่ น่าจะมี น่าจะเป็น  ควรจะมี ควรจะเป็น ... ตรงนี้ที่มันเป็นสิ่งที่ล่อลวง  อาการในจิต อารมณ์ในจิต สภาวะจิต สภาวธรรมในจิต พวกนี้เป็นอารมณ์ที่ล่อลวงอย่างยิ่ง ...เหมือนเหยื่อล่อ

และยิ่งถ้ามีคำพูด คำกล่าวอ้างของคนใดคนหนึ่งในระดับชั้นที่เป็นครูบาอาจารย์ขึ้นมาแล้วนี่  มันยิ่งเข้าไปติดกับ ด้วยจงใจและเจตนา และไม่ยอมออกด้วย

มันก็ดี...ในแง่ที่มันเป็นกุศล ไม่เกิดกิเลส หรือว่าไม่เกิดการฟุ้งไปแบบไร้ทิศไร้ทางจนเกินไป  ก็ยังเห็นความดับแล้วก็อยู่กับความดับของจิต ...ก็มีอานิสงส์เป็นกุศล แต่ไม่มีปัญญา  แล้วก็ตายพร้อมกับเข้าใจว่า อืม กิเลสมันเริ่มจางคลายไปแล้ว เพราะมันเห็นกิเลสมันเกิดแล้วก็ดับๆ

ด้วยอานิสงส์กุศล มหากุศลอันนี้...ก็จะได้เกิดเป็นเทวดาบ้าง เป็นพรหมบ้าง  จนถึงขั้นเป็นอรูปพรหม ...สำหรับผู้ที่มีความเพียรละว่างดับว่างได้ทุกครั้งที่เกิดอาการของจิต อารมณ์ในจิต ดับได้หมด ดับได้ตลอดเลยน่ะ นู่น อานิสงส์กุศลนี้ก็ส่งไปเป็นอรูปพรหม  ต่ำกว่านี้ก็มาเป็นรูปพรหม ต่ำกว่านี้ก็มาเป็นกามาวจร...เทวดา ๖ ชั้น นี่คืออานิสงส์

พอมันหมดกำลังของอานิสงส์แห่งการกระทำการภาวนาตรงนี้กุศลตรงนี้แล้ว มันจะลงกลับมาเป็นคน ...มาเอาดินน้ำไฟลม มหาภูตรูป ๔ เป็น “เรา” ต่อ ... เพราะคนนี่มันเป็นภพกลาง เป็นทางสามแพร่งหกแพร่ง  พอมันหมดจากสภาพนั้น ก็จะมาอยู่ในสภาพที่เป็นกลาง เป็นรากฐาน

แล้วทำไมต้องมาเป็นคน...ทำไมต้องกลับมาเป็นคนอยู่เสมอ  เพราะอะไร ... เพราะไม่เข้าใจว่าดินน้ำไฟลมคือดินน้ำไฟลม เพราะไม่เข้าใจว่าอากาศคืออากาศ เพราะไม่เข้าใจว่าอุณหภูมิคืออุณหภูมิ เพราะไม่เข้าใจว่าของแข็งคือของแข็ง ของเหลวคือของเหลว ...ไม่ใช่เรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่ของเรา ... มันก็มากินง้วนดิน สะเก็ดดิน ซ้ำซากๆ วนเวียนๆ

ทีนี้พอมาเริ่มปฏิบัติ  มันก็มีอานิสงส์ตกค้าง...เป็นอุปบารมี เป็นนิสยปัจจโยภายใน ที่เคยกระทำมาซ้ำซากในอดีต  มันก็อยู่ในอุปจิต อยู่ในระดับอนุสัย ... พอมันมาได้ยินได้ฟังเรื่องการปฏิบัตินี่...ก็ด้วยความคุ้นเคย...กลับไปทำแบบเดิมอีก ดูจิตต่อ ดูอารมณ์ในจิตต่อ ละกิเลสในจิตต่อ ...กายไว้ทีหลัง เดี๋ยวมันละเอง

ทีนี้ก็เป็นภาคสองแล้ว ...ภาคสอง แล้วก็จะเป็นภาคสาม แล้วก็จะเป็น To be continue  ไม่จบและสิ้น ... เกิดมากี่ครั้งก็คุ้นเคยกับการที่ว่า กายไว้ทีหลัง เดี๋ยวมันละกิเลสภายในแล้วมันก็ละกายได้เองน่ะ’ … ง่ายไปมั้ง

สุดท้ายก็มาตายกับการเป็นคนอีก  เพราะอะไร ... ดินคือดินก็ยังมาว่าเป็นเราอีก  ยังไม่หมดสิ้นซึ่งความสงสัยลังเลว่านี่เป็นเราที่มันตายได้ยังไง หือ  มันก็มาสร้าง หรือมาหลงดินน้ำไฟลม แล้วก็มากอบดินน้ำไฟลมขึ้นมาเป็นคน ...เพื่อจะให้เห็นว่าเราทำได้ ไม่ให้ตายได้ เพราะว่านี่เป็นของเรา

เนี่ย เขาเรียกว่าลัดขั้นตอน เข้าใจคำว่ามันลัดขั้นตอนมั้ย ... มันจึงเกิดอาการซ้ำซากวนเวียน  แต่มันวนเวียนในระดับสูงน่ะ เข้าใจมั้ย ...ซึ่งก็ไม่แน่นะ บางทีมันก็อาจจะโผล่ลงระดับต่ำได้ 

เพราะว่ากรรมวิบาก มันไม่แน่น่ะ  เรื่องนี้มันไม่แน่นอนหรอก ไม่มีอะไรเพอร์เฟ็คในโลก ไม่มีอะไรเป็นไปโดยความสมบูรณ์เป๊ะๆ หรอก ...ก็มีโอกาสพลั้งเผลอ ตกต่ำได้บ้างบางครั้งบางคราว

แต่ว่าอุปจิตหรืออุปบารมีนี่...ที่มันคุ้นเคยน่ะ มันก็จะตราตรึงในการที่ว่า...เคยทำยังไงก็มักจะลงร่องนั้น กว่าที่มันจะหันหัวเรือ เบนหัวเรือมาตรงต่อศีลสมาธิปัญญาตามลำดับนี่ มันจะต้องได้รับ ได้ผ่าน มูลเหตุเบื้องต้นของมรรค

มูลเหตุเบื้องต้นของศีลสมาธิปัญญา คือการสดับรับฟัง ถือเป็นมูลเหตุสำคัญในองค์มรรค ที่จะเจริญหรือไม่เจริญขึ้น ... ถ้าไม่ได้เริ่มจากการสดับรับฟัง อ่านเองเออเอง คิดเอง ทำเอง เข้าใจเอง จบเอง เสร็จ ...วนเวียนที่เดิม

แต่การสดับรับฟังจากบัณฑิตผู้รู้จริง อริยจิตอริยบุคคล ครูบาอาจารย์ในขั้นที่เป็นอริยะขึ้นไปนะ... ต่ำสูงไม่สำคัญ ขอให้เป็นยะ...ไม่ใช่เยอะ ขอให้เป็นหัน...ไม่ใช่เห  รับรองไม่ผิด ไม่พลาดคลาดเคลื่อนจากศีลสมาธิปัญญา  

ตรงนี้มันจะพอกพูนสะสมกำลัง...ที่มันจะค่อยๆ เบนมาสู่ร่องของกายของศีล ซึ่งเป็นจุดสตาร์ทของมรรค อริยมรรค ไปตามลำดับ แล้วมันก็จะค่อยๆ เกิดผลไปตามลำดับ

แล้วอาศัยอุปนิสัย อุปจิต อุปบารมีที่เคยทำมานี่ พอมันลงร่องแล้ว...ไม่ยาก  มันจะกลายกลับมาเป็นตัวเกื้อต่อไป ... แต่ที่มันยากตอนนี้คือไอ้ของเคย...ที่มันคุ้นเคยในการทำ 

บางคนน่ะ มาหาเรานี่  แล้วก็ทำ...ดูกายรู้กาย จนแยกกันชัดเจน อย่างว่าทำงานทั้งวี่ทั้งวันนี่ก็เห็นเป็นอะไรไม่รู้มันทำ  แล้วนี่...ตายใจว่า สบายแล้ว ไม่ต้องดูต่อแล้ว น่าจะได้โสดามรรคมั้ง คิดเองอีกแล้วนะ ว่าน่าจะอยู่ตัวแล้ว

เริ่มแล้วๆ เริ่มสร้างมูลฝอยให้หมาขี้ ... มาแล้วนะ จิตจะเริ่มเคลื่อนแบบเนียนๆ เลย ... จนมาทุกวันนี่เป็นแบบเอาต้นเอาปลายไม่ถูกเลย  สลับ วน ...จะลงฐานเดิมยังลงไม่ถูกเลย  ไปเรื่อยแหละ ตรงนั้นก็ดู ตรงนี้ก็ดู ตรงโน้นก็จะดู ...ไปใหญ่แล้ว

ก็ต้องได้รับการเคาะกะโหลกใหม่ ล้างสมอง  ต้องล้างสมองออกอีกแล้ว ...เอ๊อ ไอ้พวกนี้นี่ ทำไมจะต้องมาให้ล้างสมองบ่อยๆ วะ ... พอล้างสมองแล้วก็ เออ ทำไมฟังอาจารย์แล้วมันกลับได้เร็ววะ’ … ก็มันจะไม่เร็วได้ไง กูล้างสมองให้มึง (หัวเราะกัน)

เลิกคิด เลิกหาซะ แล้วก็รู้อยู่แค่นี้...จบ ...  'เออ มันง่ายดีน่ะ'  ...ก็ง่ายสิ ใครทำให้มึงยากเล่า ไปหาเรื่องยากทำเองอ่ะ ...นี่ มันก็ลงฐานได้  

คราวนี้ว่าจะรักษายังไงเท่านั้นน่ะ มันเป็นเทคนิคที่ต้องฝึกฝนเรียนรู้เอา ...ถึงบอกว่าในระยะเบื้องต้นนี่อย่าห่างครูบาอาจารย์  เพื่ออะไร  เพื่อไม่ให้ห่างจากศีลและมรรค เข้าใจมั้ย  พอมันเริ่มห่างจากครูบาอาจารย์ปึ๊บนี่ เอาแล้ว ว่าแน่  กูแน่ๆๆ แล้ว ...แย่ทุกราย ประมาณนั้น  มันแน่ไม่จริง มันยังแน่ไม่จริง

แต่จิตมันอวดดี จิตมันมีความถือตัวของมัน...ประมาท  เพราะนั้นในระดับพระอริยะนี่ยังมีความประมาทตายใจอยู่ตลอดสายเลยนะ เป็นธรรมที่เนิ่นช้าอยู่ตลอด ...เพราะว่าเครือญาตินี่แหละ

คำว่าเครือญาติคือจิตนะ  จิตมันจะสร้างญาติขึ้น ...ไอ้นั่นก็ต้องก่อนนะ ไอ้ทำตรงนี้ไม่เป็นไรหรอกมรรคนี่ไว้ที่หลัง ...ไปทำเพื่อจิตอาสา เพื่อสงเคราะห์ เพื่อคนนู้นคนนี้ ญาติเยอะ แล้วก็เอาเรื่องญาติไว้ก่อน ...ก็ปล่อย 

เหมือนปล่อยให้อาชญากรลอยนวล เข้าใจมั้ย  สุดท้ายมันก็ไปฟักไข่แพร่พันธุ์ สุดท้ายก็มาทำร้ายทำลายตัวของมัน ...คือก็ยังรับทุกข์รับโทษของการที่ไม่ประกอบสัมมาอาชีโวให้ต่อเนื่อง  

งานในองค์มรรคยังเลิกไม่ได้ ยังหยุดไม่ได้ ยังเกษียณไม่ได้ ยังลาออกไม่ได้ ยังเกษียณตัวเองไม่ได้ ยังไปเซ็นใบพักงาน ลาหยุดพัก ลาป่วยก็ไม่ได้ ... จะได้รับอนุญาตต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์ จึงเรียกว่าพรหมจรรย์นั้นจบแล้ว

คำว่าพรหมจรรย์แปลว่า ความประพฤติอันประเสริฐสุด หนทางแห่งการเข้าสู่ความประเสริฐสุด ด้วยการประพฤติและปฏิบัติ ท่านเรียกว่าพรหมจรรย์ ... เพราะนั้น ถ้าไม่เป็นพระอรหันต์นี่ พรหมจรรย์ยังไม่สิ้นสุด การประพฤติพรหมจรรย์ยังไม่สามารถจะจบได้

แต่จิตน่ะมันชอบจะรามือวางมือซะกลางคัน เพราะมันขี้เกียจ เพราะมันมักง่าย ...ก็ต้องคอยเท่าทันไอ้จิตดวงนั้น แล้วก็ละทิ้งวางทิ้ง...ละทิ้งวางทิ้ง แล้วก็ทำงานของตัวไป  งกๆ เงิ่นๆ ก้มหน้าก้มตางุดๆ ไปภายในโดยไม่หวังผล  ไม่ได้อะไรหรอก...แต่ไม่เลิกไม่รามือ ไม่วางมือ ไม่วางงานในมรรคคือการเจริญศีลสมาธิปัญญา

ก็ไม่ว่าจะหันไม่หัน จะดาไม่ดา จะขวดไม่ขวด จะสกิหรือไม่สกิ จะอนาคา-อนาข้อง ไม่รู้กูไม่สนน่ะ  สนแต่ศีลสมาธิปัญญา  คือไม่มานั่งไล่ทวนภูมิธรรมของคนนั้นคนนี้หรือตัวเอง...ไม่มีอ่ะ เสียเวลาคิด

เพราะนั่นคือจิตตัวนึงที่มักใหญ่ใฝ่สูง ที่มันจะเอาเราดีเราเด่น เอาเราไปอวดโลก อวดกิเลสกับโลก เอากิเลสไปอวดโลกรึไง...ไม่เอา  ไม่เอากิเลสของตัวเองไปอวดโลก อวดธรรม อวดรู้ อวดธรรม...ไม่เอา  
ถ้ามันไม่มานั่งคอยพินิจพิจารณาว่า กูเป็นอะไรแล้ว เราเป็นถึงไหน มันก็ไม่มีความอยากจะไปโอ้อวดในธรรม  เรียกว่าไปกล่าวอุตริธรรมที่ไม่มีในตน ... ซึ่งไอ้คนที่พูดน่ะมันไม่มีอยู่แล้วเพราะมันเป็นอุตริธรรม  ถ้ามีเขาไม่พูดหรอก เพราะมันทันตั้งแต่อยากพูดแล้ว...มันละจิตได้ทุกดวงน่ะ ขณะที่มันเดินในมรรคนะ

มันก็เงียบ ...เหมือนกับเดินในป่าช้า มีแต่คนตายไม่มีคนเป็น ...แล้วกูจะไปพูดให้ใครฟัง กูยังตายเลย’ ... เพราะว่ากายนี่เหมือนอยู่กับของตาย ของที่ตายแล้ว  เข้าใจคำว่าซากมั้ย  จิตก็เป็นซาก มีแต่ของตาย ที่เห็นน่ะเป็นซาก จะไปอวดซากดินน้ำไฟลมให้ใครดีใจภูมิใจวะ

เพราะนั้นจิตก็ไม่ว่าแล้ว  ทำงานงุดๆ งกๆ เงิ่นๆ คนเดียวเงียบๆ ...เป็นกายวิเวก เป็นจิตวิเวก จนถึงที่สุดของใจ ปริสุทธิวิเวก ... จิตมันจะเงียบลงไปเรื่อยๆ หมดเรื่องในจิตไปเรื่อยๆ กายก็ชัดขึ้นเรื่อยในความไร้สภาพตัวตนของใคร

มันก็ปรากฏในสภาพเป็นตัวเป็นตน...แต่ไม่ใช่ใคร ของใคร ...ก็เป็นก้อนกองการรวมตัวกันขึ้นขณะชั่วคราวนึง  มันก็ยิ่งชัดในการเป็นแค่การรวมตัว หรือปรากฏการณ์รวมตัวกันขึ้น เป็นกอง ก้อน หรืออาการขณะนึง ชัดขึ้น ...จิตก็ยิ่งเงียบเท่านั้น ให้สังเกตดู

แต่ถ้ามันรวมตัวแล้วยังมีเรา เป็นเรา ตัวเรา ให้รู้ไว้เลยว่าเดี๋ยวจิตแลบแล้ว ...มันจะคิดไปถึงว่า ถ้าทำอย่างงี้ แล้วเราจะเป็นยังไงว้า แล้วมันจะหายปวดไหมนี่ มีแล้ว "เรา" ... ถ้ามีเราในปัจจุบัน เดี๋ยวจะมีเราข้างหน้าที่มันจะดีกว่าหรือร้ายกว่า ...แต่ถ้ามันเป็นกอง ก้อน อาการ...ก็ เอ๊อะ จิตเงียบ

เพราะนั้นไอ้ตัวที่จิตที่เงียบอยู่...ที่ท่านเรียกว่าสัมมาสมาธิ...ก็มากขึ้น  มันก็ยิ่งกลับมาทำให้กายนี่ชัดขึ้น จิตก็เงียบขึ้น สมาธิก็มากขึ้น ...มันก็สนับสนุนกัน  เพราะสัมมาสมาธิ ความหมายของสัมมาสมาธิคือระงับกายสังขาร จิตสังขาร และวจีสังขาร นั่นเขาเรียกว่าสัมมาสมาธิคือมันระงับสังขาร ระงับกองสังขารของขันธ์

ไอ้คำว่าสังขารของขันธ์ สังขารของกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร คืออะไร ...คืออุปาทานขันธ์มันระงับ  ยิ่งระงับมันก็ยิ่งปรากฏขันธ์ตามจริง...เท่าที่มันปรากฏ ขันธ์ห้า  แล้วมันก็จะเน้นอยู่จำเพาะกายเท่านั้น เพราะว่าขันธ์ที่เป็นส่วนนามนี่มันระงับไปโดยปริยายไว้ก่อน

เนี่ย พากเพียรภาวนาอยู่ในที่อันเดียว จนจิตมันแน่วแน่ตั้งมั่นอยู่ภายใน จนจิตมันมั่นคงอยู่กับภายใน จนแทบจะเรียกว่าหาความคิดไม่เจอ จนเรียกว่าแทบจะหาอดีต-อนาคตไม่ได้ ...แล้วมันก็มี แค่ ยืนเดินนั่งนอนๆ ซ้ำๆ ซากๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ

ตรงนี้ ขณะแรกที่มันเข้าไปถึงหรือว่าอยู่ในสภาวะนี้ มันจะเกิดอาการจิตที่มันอยากรู้อยากหาอะไรที่มันไม่ซ้ำซากเหมือนนี้ เหมือนกับมันจะหาความเพลิดเพลินไปกว่านี้ ตรงนี้ต้องละให้เด็ดขาด  ให้ทัน...แล้วก็วนเวียนๆ ซ้ำซากอยู่อย่างนี้  อย่าประมาท เลินเล่อ หรือคิดว่าจะมีปัญญาจากที่อื่นขึ้นมา...ด้วยการสนับสนุนของจิต

จิตไม่ใช่ตัวสนับสนุนนะ จิตเป็นตัวทำลายนะ...เป็นตัวทำลายองค์มรรค เป็นตัวทำลายความเป็นจริงในปัจจุบัน เป็นตัวทำลายความชัดเจน ... แล้วมันจะสร้างอะไรที่ไม่จริงขึ้นมาให้ชัดเจนกว่า แล้วจะเกิดอาการหลงตามมัน แล้วจะมีตัวเราของเราเข้าไปสวม เข้าไปครอบครองอยู่ ... ทีนี้ล่ะไปกันใหญ่แล้ว

เหมือนเสือติดปีกล่ะ เหมือนมังกรติดปีก แล้วก็ไปแบบไม่มีลิมิท unlimited  สุดท้ายก็มาถาม 'ทุกข์มันเกิดได้ยังไงนะ ทำไมมันเศร้าหมอง ทำไมมันจับอะไรไม่ถูกเลย มันเละเทะเลอะเทอะไปหมด' 

จะรู้สึกมันจับอะไรไม่ได้ มันเลอะเทอะ งงไปหมด ไม่รู้จะเริ่มต้นตั้งต้นตรงไหนดี ...มันจะเกิดภาวะที่เรียกว่า “ล้มละลาย” เหมือนล้มละลายเลย นั่นแหละ สมุทัยคือเหตุ ...จิตน่ะเป็นตัวสมุทัย 

ถ้าไม่มั่นคง ไม่ชัดเจน ไม่แน่วแน่อยู่ในองค์ศีล องค์ปัจจุบันกายแล้วนี่  มันจะวนเวียนซ้ำซากในอาการเดิมๆ  เหมือนเขาวงกต ... ตกปลักความคิด ตกปลักอารมณ์ ตกปลักอดีต-อนาคต ตกปลักเรื่องราวของเรา ตกปลักเรื่องราวของเราในอดีต ตกปลักเรื่องราวของเราในอนาคต ตกปลักเรื่องราวของคนอื่น เป็นคำพูดคนนั้นคนนี้

มันจะเข้าไปตกปลักเหล่านี้ จนลืมความเป็นจริงคือ...กายอยู่ไหน กายที่ปราศจากตัวเราของเราอยู่ไหน  มันเลยลืม มันปิดบัง สับสนอลหม่านไปหมด ... แล้วมันก็มาอยู่ท่ามกลางความฟุ้งซ่าน ลังเล และสงสัย  ที่ภาษาท่านเรียกว่าอยู่ภายใต้ความมืดมนอนธการ...ด้วยความไม่รู้

ไม่ใช่มืดอย่างเดียวนะ ...แต่มันมีเรื่องเยอะแยะ มันมีเรื่องในความมืดมิดนั้นด้วย  เหมือนขยะอวกาศ ที่มันลอยอยู่ในอวกาศที่มืดมิดน่ะ แล้วก็ชนกันไป ชนกันมา สะเปะสะปะ ... ทั้งๆ ที่ว่าขยะ หรือว่าจิตนี่ มันไม่มีตัวตน แต่มันยังชนกัน เกิดความเที่ยงจนกระแทกกระทั้นกัน

จนเป็นความรู้สึกมีเรารับเวทนาอยู่ในนั้น ...ได้ยังไง มันได้ยังไง  มันกลายเป็นตัวตนที่เที่ยงที่กระทบกระทั่งกัน เป็นเรื่องเป็นราว เป็นอารมณ์ เป็นความรู้สึก เราเจ็บ เราปวด เราดีใจ เราเสียใจ เราเศร้าโศก เราคร่ำครวญ เราปริเทวนา เราคับแค้น...ได้อย่างไร ... แล้วออกจากมันไม่ได้ด้วย

แต่ถ้าตั้งหลัก จับหลักให้ดี ...กลับมารู้ตัวทันที กลับมาอยู่กับความรู้ตัว กลับมาอยู่กับกาย กลับมารู้อันเดียว กลับมารู้ที่เดียว กลับมารู้ในของอย่างเดียว กลับมารู้กับปัจจุบันเดียว  ปราศจากอดีต-อนาคตในจิต

เพราะกายนี่มันไม่มีอดีต กายนี่มันไม่มีอนาคต  กายที่แท้จริงหรือกายศีลนะที่ไม่มีอดีตอนาคต ...แต่กายสังขารนี่มีไม่ถ้วนเลยนะ ...แต่กายจริงนี่จะไม่มีอดีต-อนาคต มีแต่ปัจจุบัน ที่มันตั้งอยู่รอวันดับแค่นั้นเอง  
ดูมันไป โง่ๆ ไป  อย่าไปหาความฉลาด รู้ที่อื่น  มันจะพาหลง พาวน พาอับจน พาหม่นหมองอกตรม พาทุกข์และความเศร้าหมอง ...ไม่นำพามาซึ่งความตื่นรู้เห็นและเบิกบาน คือใจภายในที่ตั้งมั่น

นี่แหละ เรามาทบทวนคำว่าศีลสมาธิปัญญา ย้ำให้ชัดเจนว่า...การปฏิบัติอย่านอกเหนือศีล อย่าเกินศีล อย่าออกนอกศีล แค่นั้นแหละ  

และระหว่างที่กำลังปฏิบัติอยู่ในองค์ศีลด้วยสตินี่ มันถือว่าเป็นการกำราบจิตไปในตัว เป็นการละพยศของจิตไปในตัว เป็นการต่อต้านต่อสู้อำนาจของจิตที่ผูกขาดด้วยความไม่รู้ คืออำนาจของตัณหาและอุปาทาน...มันแรง มันจะต้องแรงอยู่แล้ว

และถ้าไม่แรงแบบเอาเป็นเอาตาย...ที่จะต้องคิดต้องมีอารมณ์ให้ได้  มันก็จะมาแบบเนียนๆ คือหลงและหายและลืม ...นี่มันเป็นได้สองแง่นะ จิตนี่  

อย่างพอมันตั้งท่าที่จะรู้ตัวแล้วก็ระวังเท่าทันจิตตัวนั้น...เดี๋ยวก็ลืม ...นี่ มาซะดื้อๆ เลย...เนียนๆ มาแบบไม่มีอะไร...ลอย  กายก็หาย ใจก็ไม่มีอะไร จิตก็ไม่มีอะไร ทุกอย่างเป็นความว่างแบบไร้สภาพไปเลยน่ะ ...นี่โมหะล้วนๆ เต็มๆ

เห็นมั้ยจิตนี่ กว่าที่มันจะกำราบได้อยู่หมัดนี่ มันต้อง...สติในกายนี่ต้องชัดมากๆ ไม่ได้อยู่แบบเลื่อนๆ ลอยๆ  หรือไปนั่งไล่นั่งคว้านั่งจับอาการของจิตอย่างเดียว นั่นสุดท้ายมันจะพาอับจนหมด แล้วจะรู้เลย...ไม่ได้อะไร ไม่มีปัญญาอะไรเกิดขึ้นเลยน่ะ  ดูเหมือนกิเลสก็จะละได้...แต่ไม่เห็นหมดเลย ไม่รู้สึกว่าเบาบางจางคลายลงด้วยซ้ำ

แต่มันจะดูดีตอนที่มันดับแค่นั้นเอง ขณะนั้นเอง ภูมิใจที่ว่าเออ มันหายไป มันเหมือนปลิดทิ้งเลยนะ ... แต่เดี๋ยวมาใหม่ ไม่เหมือนปลิดทิ้งแล้ว มันเหมือนแตกหน่อออกผลใหม่ ... นั่นน่ะ อย่าทำเป็นยายฉิมเก็บเห็ด เดี๋ยวจะตายคากระจาดเห็ด แล้วก็ตายไปกับเห็ดเน่าๆ

เพราะนั้นกลับมาอยู่กับความเป็นจริงของกาย กลับมาอยู่กับความเป็นจริงของศีล แล้วในศีลนี่จะเป็นบ่อเกิดของปัญญาญาณ เป็นที่ตั้งของปัญญา

ความรู้ความจริง...ที่แท้จริง อยู่ในนี้ อยู่ในกายนี้ อยู่ในศีลก้อนนี้  จึงเรียกว่าศีลนี่เป็นรากฐาน เป็นผืนดิน เป็นแผ่นดิน เป็นที่รองรับ เป็นที่ตั้งของธรรมทั้งหลายทั้งปวง

เพราะว่ามันไม่จำเพาะแค่กายนี้นะ...ศีล  เมื่อเข้าถึงความเข้าไปทำลายรูปของกายนี้ หรือรูปสัญญา รูปนิมิตที่มันห่อกายด้วยจิต  พอรูปแตก...รูปกายนี้แตก  เมื่อนั้นจะเข้าสู่ความเป็นมหาศีล 

คือทุกอย่างที่ปรากฏ ทั้งจับต้องได้ จับต้องไม่ได้นี่ ...เป็นสิ่งเดียวกันหมดเลย  ไม่ได้แบ่งว่า นี้เป็นนั้น นั้นเป็นนี้ นี้ชื่อนั้น นี้เป็นสิ่งนั้น นี้เป็นวัตถุอันนั้น...ไม่มี  เป็นอันเดียว เป็นธรรมเดียวกันหมดเลย

เพราะนั้นตัวศีลกายหรือศีลปัจจุบัน ก้อนศีลนี่ สุดท้ายแล้วเมื่อมันทำลายซึ่งรูปที่ครอบมันออก  เมื่อนั้นจะเข้าไปลิงก์กับสามโลกธาตุ เป็นศีลเดียวกัน เสมอกัน อย่างเดียวกัน  ...ไม่มีการที่จิตจะเข้ามาจำแนก แบ่งว่านี้คือนั้น นั้นคือนี้อีกต่อไป 

จึงเรียกว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวง หรือว่ามหาศีลนี่คือเห็นสภาวะที่เรียกว่าสังขารธรรมทั้งสิ้น สรรพสิ่งทั้งหมด...ล้วนเป็นหนึ่ง ... เพราะนั้นเรื่องกายนี่เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ เป็นเรื่องรวมของสรรพสิ่ง ...นี่คือต่อไปนะ  

ตอนนี้ยังไม่รวมหรอก มันยังแบ่งกันเป็นจำเพาะบุคคลอยู่ มันยังเป็นธรรมจำเพาะบุคคลอยู่  แต่พอมันทำลายความเป็นบุคคลด้วยการก่อขึ้นของรูปสัญญารูปนิมิตที่เกิดจากความไม่รู้นี่ แล้วตรงนั้นมันทำลายความเป็นบุคคลแล้ว

เมื่อจิตมันถูกทำลายความเป็นบุคคลด้วยรูปแล้วนี่ มันจะเข้าไปทำลายความเจาะจง ที่เนมมิ่ง(ให้ชื่อ)-บัญญัติ สมมุติภาษา ที่ไปครอบการรวมตัวกันขึ้นของสรรพสิ่ง ที่เป็นรูปลักษณ์ทรวดทรงใดทรวดทรงหนึ่งขึ้นมา  

เพราะนั้นมันจะเห็นความเป็นตัวตน...ที่มีตัวตนแต่ไร้ตัวตน ... เห็นความมีในความไม่มี  เห็นความไม่มีในความมี  มันจะเห็นตรงนั้น ... อันนี้เป็นภาษาพูดเหมือนเล่นคำ แต่พอถึงตรงนั้นน่ะ มันไม่เหมือนเล่นคำหรอก มันจริง มันเชื่อ มันเข้าใจอย่างนั้นจริงๆ

ในสมมุติมีปรมัตถ์ ในปรมัตถ์มีสมมุติ  ในบัญญัติก็มีปรมัตถ์ ในปรมัตถ์ก็มีบัญญัติ  มันอิงกันอยู่ มันแอบกันอยู่ ... แต่มันมองทะลุตลอดเลย เห็นทุกความเป็นจริงที่อยู่ในการปรากฏ ทั้งภายในและภายนอก

นี่แหละ แจ้งกายแจ้งจิตมันจะแจ้งพร้อมกันอย่างนี้  อันนี้เป็นภูมิธรรมภูมิปัญญาของพระอริยะที่แท้จริง ... คือระดับต่ำกว่าอนาคาลงมาเราไม่เรียกพระอริยะหรอก ยังไม่จัดเป็นโลกุตตรจิตอย่างสมบูรณ์

มาถึงจุดนี้มันจะแยกกาย แยกโลก แยกขันธ์ เด็ดขาดเลย  ตรงนี้เป็นโลกุตตรจิตโดยสมบูรณ์  ไม่มีคำว่าเกลือกกลั้วอีกแล้ว จึงเรียกว่าโลกุตตรจิต หรือว่าอริยจิตที่เป็นภูมิอริยะเต็มตัว  เรียกว่าเป็นอริยจิตเต็มตัว

แต่คนที่เป็นถึงอริยจิตตรงนั้นเต็มตัวนี่...ไม่มีคำพูดแล้ว ไม่ข้องแวะแล้ว ไม่โอ้อวดแล้ว ไม่เทศน์แล้ว ไม่สอนใครแล้ว...จบลูกเดียว จบภายในลูกเดียวเลย ...ไม่จบก็ต้องจบ เพราะมันจะคอยจบอยู่ตลอดเวลา ปัญญาขั้นนั้นมันจะคอยจบของมันตลอดเวลาเลย ไม่มีคำว่าสองออกมาเลยจากจิต ...ไม่มีหรอก  ดับลูกเดียว จบลูกเดียว ตายลูกเดียวน่ะ

ให้มันได้ถึงอย่างนั้น เรียกว่า เออ นี่แหละนักภาวนา ...ไม่ใช่ภาวนาเป็นงานอดิเรก  ได้ลางาน ว่างงาน วันหยุดยาว...ก็มาภาวนาซักหน่อย แน๊ ... เก็บเบี้ยใต้ถุนร้านมาใส่ไห คอยแต่จะเก็บเบี้ยที่มันตกมาจากรูกระดาน ...ไม่ทันกินหรอก

ทุกลมหายใจเข้าออก ...นี่คือคำเปรียบเปรยนะ ไม่ใช่ให้ไปกำหนดลมทุกลมเข้าออกนะ เดี๋ยวยิ่งเครียดหนัก (หัวเราะกัน) ...คือคำเปรียบเปรยว่า...ภาวนาให้ได้ทุกลมหายใจเข้าออก คือตลอดเวลา

ที่ลืมตัว หลงตัว ลืมกาย ลืมปัจจุบัน ก็เอามาตรงนั้น แล้วก็เริ่มนับหนึ่งตั้งแต่ตรงนั้นใหม่...เสมอ  ไม่ต้องรอมาวัด หรือวันหยุดยาว...ค่อยภาวนา ...กว่าจะมีวันหยุดยาวสักปี มันไม่ใช่มีทุกวัน  พอดีตายซะก่อนก็ไม่ถึงวันหยุดยาว ก็เลยไม่ได้ภาวนา นั่น จะได้ภาวนาก็ต่อเมื่อวันหยุดยาว...ก็ไม่ได้

หรือเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดค่อยภาวนา ...แล้ววันไม่หยุดมันมีมากกว่าวันหยุดมั้ยเล่า  ส่วนมากกิเลสมันจะอยู่ตอนไหนเล่า ...มันก็อยู่ตอนที่หลงน่ะ มันก็อยู่ตอนที่ไม่รู้เนื้อรู้ตัว อยู่ในสังคม อยู่ในชุมชนนี่แหละ ...เป็นที่เพ่นพ่านของกิเลสเลย เป็นที่เอ้อระเหยลอยนวลของตัวเราของเราเลย  

แล้วถ้าไม่ภาวนาตอนนั้นแล้วจะไปรอตอนไหน ...ไม่ต้องรอ  พอมาถึงตรงนี้ ...ยิ่งพอมาอยู่ต่อหน้าเรานี่แล้ว กิเลสนี่มุดหัวไปหมดเลย ตัวเราของเราหายเรียบไม่โผล่เลย  แต่เวลาทำงานนี่พรั่งพรู ...ไม่รู้มันมาจากไหน  

เนี่ย เห็นมั้ยว่าเวลาที่สำคัญที่สุดคือเวลาที่มันแสดงตัวตนที่ไม่จริงขึ้นมา แล้วเป็นเราของเราขึ้นมา มีอารมณ์ มีความหงุดหงิดขุ่นมัว กราดเกรี้ยว ทนไม่ได้รับไม่ได้ อะไรพวกนี้ ... เวลานั้นน่ะ จะต้องเป็นเวลาที่เดินมรรค เดินปัญญา เดินสติ เดินอยู่ในความรู้ตัว เดินอยู่ในความอดทน

แต่ไอ้ตรงนี้ไม่ต้องอดทนน่ะ  กิเลสมันหายหัวหมดน่ะ มาเจอบารมีครูบาอาจารย์ ...  กิเลสมันก็เหมือนกับแสนรู้น่ะ เกิดความสงบเสงี่ยม สำรวมตัว สำรวมจิต นอบน้อม กระมิดกระเมี้ยน จะคิดจะอะไรก็ ไม่เอา เกรงใจ ...นั่น อะไรประมาณนั้นน่ะ

มันก็ดี แต่ว่าถ้าดีจริงคือสติมันจะต้องเจริญอยู่ได้ท่ามกลางที่ๆ โอกาสกิเลสมันเอื้อ  ที่เราต้องดำเนินชีวิตอยู่ในโอกาสหรือภาวะนั้นตลอด  ซึ่งส่วนมากเราก็จะตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสแบบไม่ลืมหูลืมตา มันหลงเข้าไปแบบไม่ลืมหูลืมตา คือมันไม่ตื่นรู้ ด้วยสติ ด้วยปัจจุบันกาย ด้วยศีล

มันก็เข้าไปแบบเหมือนลืมตานอกแต่ข้างในมันไม่ลืมหูลืมตาน่ะ หลง วนอยู่ในอารมณ์ ครุ่นคิด จมปลัก จมแช่อยู่ในการกระทำของคนใดคนหนึ่ง อย่างนี้น่ะ...บางทีเป็นครึ่งค่อนวันเลยน่ะ 

ถ้าสมมุติมันมาด่า หรือพูดไม่ดี หรือตำหนินี่  มันสามารถจะจมแช่กับการกระทำนั้น กับคำพูดแค่ประโยคสองประโยคนี่ได้เป็นครึ่งค่อนวัน หรือทั้งวันตลอดคืน...หลับยังกลับมาฝันเลย

ศีลมันอยู่ไหน สมาธิมันอยู่ไหน ปัญญามันอยู่ไหน แล้วเอามาใช้ได้ยังไงล่ะ ... ต้องมาใช้ ณ ที่เกิดเหตุให้ได้  ต้องเรียกมาใช้ ด้วยการรู้ตัว รู้ตัวๆๆๆ เป็นตัวแก้เลย

ไม่ต้องแก้ด้วยวิธีมานั่งคิด นั่งว่า จะออกจากอารมณ์นี้ยังไง จะออกจากความรู้สึกที่ไม่ดีนี้ยังไง คิดเข้าไปอยู่นั่นล่ะ  หาวิธี หาอุบายอยู่นั่นน่ะ  ต่อให้ไปจุดธูปเก้าดอกบนบานศาลกล่าว ขอลาอโหสิกรรมต่อเจ้ากรรมนายเวรก็แล้ว ก็ยังเครียด ...ก็มันไม่ใช่ทางออก

ศีลสมาธิปัญญาเท่านั้นจึงเป็นทางออกที่เลิศ ที่ประเสริฐ ที่ตรง ที่ชอบ ...แต่จิตไม่ชอบ มันชอบแก้ด้วยวิธีอื่น ...แก้ไปแก้มาก็เหมือนกับ มีเชือกอยู่ปมนึงน่ะ แก้ไปแก้มาก็ขมวดจนเป็นก้อน  เคยเห็นมั้ย ปมเชือกปมด้ายที่แก้ไปแก้มาไปกันใหญ่เลย ...ต้องตัดเลย

เห็นมั้ย อย่าเสียดาย...ตัดเลย อย่ามัวแก้ อ่ะ เอาใหม่วะ  ไม่ต้องกลัวหมดเชือก ตัดเลย ขาดเป็นขาด  อย่ามัวมะงุมมะงาหรา ทำไมมันแก้ไม่ออกซักที  หักอาลัยอาวรณ์ซะ ไม่เกิดมรรคผลในการแก้เชือกนั้นหรอก  

ภูมิใจรึไง  เอาความภูมิใจไปทำอะไร เหอ ...อวด ชั้นเห็นแล้ว ต่อหน้าต่อหน้าชั้นเลยนะเนี่ย’  เขียนไว้ จารึกไว้ จะได้ลงอนุสาวรีย์ตอนตาย ... ไม่มีประโยชน์หรอก ตัดๆๆ จิตไม่จบหรอก ไม่ต้องกลัว นะ

ต่อไปพอมันเริ่มขมวดปมก็ ‘...เออ รู้แล้ว ถ้ากูยุ่งล่ะก้อ เดี๋ยวเป็นสองปม  แน่ะ ถ้ายุ่งจะนานกว่านี้เป็นห้าปม ทีนี้เดี๋ยวกูจะปวดหัวแน่ๆ เลย’ … ก็ตัด ตัดลูกเดียว (หัวเราะกัน) วางลูกเดียว ละอย่างเดียว  แล้วคอยดู

ปมมันจะไม่อยู่ ปมมันจะไปคาราคาซังตรงไหน...ไม่สน ...ถือว่ามันออกจากกระแสแล้ว ออกจากวิถีแล้ว ออกจากวิถีมรรคไปแล้ว  อย่าตกขอบไปกับมัน อย่าจริงจังกับมัน ...มันไร้สาระ

แต่เรามันคิดว่าเสียดาย ถ้าแก้ได้นี่เชือกมันจะยาวนะ เอาไว้ใช้ประโยชน์ได้นะ เอาไว้ทำประโยชน์ได้ ...เอาไว้ผูกคอตายไง (หัวเราะกัน) เออ ใช้ประโยชน์ได้ดี เอาไว้ผูกคอตายได้ มันใช้ประโยชน์แบบโง่ๆ น่ะ

ตัดทิ้งเลย ... จนมันหมดกรอด้ายน่ะ...จบ ความปรุงแต่งหมดสิ้น  อย่าไปเสียดายจิต อย่าไปเสียดายเรื่องราวในจิต อดีต-อนาคตในจิต สภาวธรรม สภาวะ คนนั้นคนนี้ ฮู้ย ไร้สาระ

มาทำความแจ้งในกาย ให้เห็นกายไร้สาระนั่นแหละจบ  ที่สุดของกายให้ถึง ให้แจ้งก่อน  แล้วก็รู้ไป โง่ๆ เงียบๆ ไป ...ตรงๆ รู้ตรงๆ รู้ชัดๆ กับความรู้สึกทุกความรู้สึกของกาย ในการยืนเดินนั่งนอน มันต้องมีความรู้สึก แล้วก็ชัดเป็นขณะๆ ไป

แล้วก็ต่อเนื่อง ให้ต่อเนื่อง วนเวียนอยู่ในความรู้สึกในกาย ... อย่าเบื่ออย่าท้อๆ ...ตัวนี้เป็นกิเลสที่จะมาทำลายองค์มรรค สำหรับผู้ปฏิบัติ ... เพราะมันยังไม่เห็นผลเป็นกอบเป็นกำ มันจะท้อแล้วก็เหมือนกับสูญเปล่า เหมือนกับทิ้งหินถมหินลงในมหาสมุทร 'เมื่อไหร่จะเต็ม' มันจะรู้สึกอย่างนั้น เพราะมันดูเหมือนไม่ได้อะไรเลย

จริงๆ ก็ไม่ได้อะไรหรอก และก็ไม่ได้ภาวนาให้ได้อะไรหรอก ... แต่ในระหว่างที่มันทิ้งไปนี่มันจะเห็นความเป็นจริง เห็นความเป็นจริงตามลำดับลำดาไป  แล้วสักพักหนึ่งมันก็จะเกิดปัญญาที่เรียกว่าชวนะญาณหรือชวนะปัญญา เอ๊ะ ก็ไม่เห็นเป็นเราตรงไหนนี่หว่า นี่มันจะรู้สึกคล้ายๆ อย่างนี้ขึ้นมาเป็นขณะๆ ไป นั่นแหละพอแล้ว

แล้วสะสมปัญญาเหล่านี้ เรียกว่าสะสมปัญญาญาณไป จนเป็นกอบเป็นกำ  จนมันเริ่มถอยห่าง ทิ้งห่างออกจากความเป็นกายเรา  มันก็แยกออกจากกัน ...เหมือนกับมันเข้าไปกลั่นกรองระดับหัวกะทิกับหางกะทิ  ...มันจะไม่ผสมกันแล้ว

เหมือนกับนมกับเนยนี่ พอเคี่ยวนมจนเป็นเนยแล้ว  เนยก็เป็นเนย นมก็เป็นนม  มันก็เห็น นี่มันคนละธรรมชาติกันนี่หว่า  แต่เวลาที่มันเป็นนมนี่ดูเหมือนไม่มีเนยนะ  แต่พอทำการเคี่ยวไปๆ คนไปคนมา มันแยกตัวออก

กายกับใจก็แยกตัวกัน  ทีนี้มันเริ่มชัด ... แรกๆ ไม่ชัด พอเขย่าปุ๊บมันมารวมกัน เขย่าปุ๊บกายใจรวมกัน พอรวมกันมันจะเป็นเรา ถ้ามันรวมกันเมื่อไหร่ มันจะเป็นเรา เป็นความรู้สึกของเราปรากฏมาแทนความแยกออกๆ

แต่พอทำไปด้วยความอดทนไม่ท้อถอย โง่ๆ ไปนี่  มันก็แยกหัวกะทิ-หางกะทิ แยกเนย-แยกนมออก แยกน้ำ-แยกน้ำมันออก ...ก็เห็น อือ มันคนละธรรมชาติกัน มันก็จะชัดขึ้น 

ทีนี้จะเขย่าๆ ขนาดไหน มันก็ไม่คืนตัวของมัน โดยธรรมชาติที่มันมีปัญญานี่เป็นตัวคั่นกลาง ด้วยความเป็นญาณทัสสนะ หรือความรู้อันประเสริฐหรือว่าปัญญาญาณ ...จะแยกออกจากกัน ไม่สามารถจะมากลมกลืน เกลือกกลั้วเป็นเนื้อเดียวกันได้อีกต่อไป

แล้วมันก็จะถอยห่างออกจากขันธ์ ...ใจนะ จะถอยห่างออกจากขันธ์ ห่าง ที่เรียกว่าเป็นผู้ห่างไกล  ใจก็เป็นผู้ห่างไกลจากโลก จากกิเลส  จะไม่เกลือกกลั้วมัวเมา กลมกลืนได้อีกต่อไป ไม่เป็นเนื้อเดียวกันอีกแล้ว  จนหมดสิ้นเยื่อใยซึ่งกันและกัน

เพราะนั้นกายก็ไม่มีเยื่อ ใจก็ไม่มีเยื่อ  เยื่อมันเกิดจากจิตผู้ไม่รู้ มันสร้างเยื่อขึ้นมา ...กายไม่มีเยื่อที่มาติดเลยนะ ตัวมันไม่ใช่กาวเลยนะ ใจก็ไม่ใช่กาวนะ  

แต่ไอ้ตัวที่เคลือบใจนี่กาวแท้ๆ เลย ยิ่งกว่าตราช้างอีก  มันเป็นตัวเกาะเกี่ยว แล้วก็ผสมปนเป ผสมปุ๊บนี่ กลายเป็นของผสมอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “เรา” แล้วของผสมนี่จะต้องเป็นเราของเราแท้ๆ เลย เนี่ย มันตัวนี้

ศีลสมาธิปัญญาจะเป็นตัวดึงออก คัดกรองออก หรือว่าวิจยธรรม จำแนกธรรม จำแนกธาตุ จำแนกอายตนะ จำแนกขันธ์ จำแนกกาย จำแนกใจ จำแนกจิต จำแนกอารมณ์ จำแนกปัจจุบัน-อดีต-อนาคต ออกจากกัน ...มันจะจำแนกออกจนเห็นได้ 

ถ้ามันจำแนกออก มันจะหาสภาพความเป็นเราของเราไม่ได้ในการจำแนกออก  มันแตกละเอียดหมด ขันธ์นี่ รวมตัวไม่ติด  ปัญญามันก็จะคอยทำความแยก จำแนกธรรมออกจากกัน  มันก็เห็นขันธ์นี่เป็นกองๆๆ อาศัยอยู่ร่วมกันๆ ไป แค่นั้นเอง

ถ้ายิ่งเห็นกายเห็นขันธ์เป็นกองๆ แต่ละกองเกิดๆ ดับๆ สลับหมุนเวียนกันไปมานี่  มันไม่มีความเป็นเราในนั้นได้เลย ... นี่คือปัญญา ทัสสนะของญาณที่มันเข้าไปเห็น โดยปราศจากจิตที่มันเป็นตัวน้อมนำให้เกิดความกลมกลืนกันด้วยความไม่รู้

 เอ้า เท่านี้แหละ ... ไปทำเอา


...............................