วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 11/16 (2)


พระอาจารย์
11/16 (560523C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
23 พฤษภาคม 2556
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 11/16 ช่วง 1

พระอาจารย์ –  อย่ามัวแต่ปฏิบัติแบบลูบๆ คลำๆ  อย่ามัวแต่ปฏิบัติด้วยการปล่อยจิตให้ล่องลอยไปมา อย่ามัวปฏิบัติในการที่ใช้ชีวิตแบบเลื่อนๆ ลอยๆ  เผลอๆ เพลินๆ ไม่มีหลักไม่มีฐาน ไม่มีหลักไม่มีแหล่ง

หาหลักให้เจอ หาศีลให้ได้ อยู่กับศีลให้ได้...ให้นาน ให้ต่อเนื่อง ให้ไม่ขาด ให้ไม่เว้นวรรคขาดตอน  

ถ้าทำได้ ถ้ารักษาศีลได้อย่างไม่เว้นวรรคขาดตอนนี่ หรือรักษาความรู้ตัว รักษากายไว้ไม่เว้นวรรคขาดตอนนี่  ไม่ต้องถามหาผล ...มีแต่ผลน่ะเขาจะประเคนมาให้

เหมือนพระนี่รับประเคน เป็นพระแล้วต้องรับประเคน เข้าใจรึเปล่าเหมือนกัน ถ้าได้ทำแล้วมันเป็นพระ พอเป็นพระแล้วมีแต่ผลน่ะประเคนให้

ความเบา ความสบายกาย สบายใจ  ความไม่มีอาลัยอาวรณ์ในกายในใจ ความไม่มีห่วงหากังวลในอดีตในอนาคต มันหมด มันหาย มันจาง มันสิ้น ...จนมันไม่หวนคืนเลย 

ไม่รู้เมื่อไหร่น่ะ ...เอากายไว้ ตายแล้วก็เลิกภาวนา เกิดใหม่ภาวนาต่อ ...ตั้งจิตให้มันเป็นอย่างนี้ ตั้งความมุ่งมาดปรารถนาในสัจจะธิษฐานให้มันได้ 

อย่ามากำหนดเป็นวันเป็นเวลา ...เอาตายเข้าว่า ...ก็ไม่เลิก ก็ไม่หยุด ในการที่ผูกหลัก ตั้งหลักตั้งฐานศีล ฐานกาย ... จนมันสามารถจะตั้งได้ในทุกสถาน ทุกเหตุการณ์ ทุกบุคคล ทุกสถานะที่เกิด 

หรือกำลังจะเกิดเหตุการณ์...ที่ดี ที่ร้าย ที่รับได้ ที่รับไม่ได้มาก่อน ... ก็ต้องตั้งได้ ศีลก็ตั้งได้ กายก็ตั้งได้ รู้ก็ตั้งได้อยู่ตรงนั้น 

ปัญญารู้เห็นทั้งภายในภายนอกได้ตรงนั้นโดยฉับพลันทันที  หรือโดยที่ว่ามันรักษามาโดยต่อเนื่องแล้วตรงนั้นเกิด ก็ด้วยความไม่หวั่นไหว

แต่ถ้ามันไม่ได้ปฏิบัติแบบต่อเนื่องชัดเจนในองค์ฐานของศีลสมาธิปัญญา ...พอถึงวาระคับขันนี่ เจอเหตุการณ์ที่มันเกินคาดฝัน เกินคาดหมาย เลวร้ายเกินที่จะรับได้อย่างนี้ 

ตรงนั้นน่ะ พอจะหาคำว่ารู้ตัวยังไง ศีลอยู่ตรงไหน จะตั้งมั่นนี่จะอยู่ยังไง ...มันจะหาไม่เจอ ไม่รู้จะทำยังไงดี อลหม่านสับสน หาคำภาวนาไม่ถูก หาจุดภาวนาที่เคยไม่ได้

ต้องถอย ต้องถอน ต้องหนีก่อน พอเจออาการอย่างนั้นน่ะหรือ ...แล้วสมมุติว่ามันถอนไม่ได้ หนีไม่ได้ล่ะ เช่น ใกล้ตายอย่างนี้ หรือว่ามีเวทนาหนักๆ นานๆ ล่ะ

ซึ่งไม่ใช่ไอ้เวทนาอย่างที่เราอยู่นี่ ลมพัดทีวูบ อากาศอ้าวนี่ เดี๋ยวพอเข้านั่งรถปุ๊บเย็นปั๊บ มันเปลี่ยนแปลงไปมา ...ไอ้เวทนาอย่างตอนนี้นี่เล็กๆ น้อยๆ น่ะ มันไปแล้วก็มา มาแล้วก็ไป 

มันก็รู้สึกพอรับได้ ...เออ เหมือนฤดูมันยังมีเปลี่ยนน่ะ สามเดือนสองเดือนก็เปลี่ยนที มันไม่ฝนตกตลอด เออ มันก็พอรับได้ เข้าใจได้ ว่ามันมีความแปรปรวน

แต่ถ้ามันป่วยไข้ขั้นตายนี่ ...เวทนามันมา แต่มันไม่ค่อยไปน่ะ มันกะว่าจะอยู่กันจนตายไปข้างหนึ่งนี่ จะทำยังไง  ถ้ามันต้องไปเจอเวทนาหนักๆ มีอุบัติเหตุ เป็นอะไรก็ได้นี่

หรือไปเจอเวทนากำลังจะตาย  เป็นมะเร็งตั้งแต่อายุไม่เท่าไหร่นี่ แล้วมันปวดแบบไม่หาย มาแบบไม่กลับ เหมือนไม่กลับน่ะ เหมือนมันเที่ยงเลย เหมือนมันผูกตายขายขาดอยู่ในขันธ์นี่

เอาไงดีล่ะทีนี้ จะตั้งตรงไหนล่ะศีลน่ะ สมาธิล่ะ ...เวทนาหนักๆ แรงๆ นี่อย่าถามหาสมาธิเลยนะ ...ไม่มี หาที่ตั้งไม่ได้เลยแหละ หาที่ตั้งรู้ตั้งเห็นไม่ได้เลยในท่ามกลางมรสุมที่เป็นสลาตัน นั่นน่ะ มหาวิบัติภัยในขันธ์เลย

ถ้ามันไม่ฝึกจนมันเกิดความชัดเจนในศีลสมาธิปัญญาแล้ว เวลาเอามาใช้งานนี่ มันใช้ไม่ทันน่ะ ...เพราะมันเก็บไว้ในซอกลึกของหัวใจเกินไป กว่าจะเปิดเซฟได้ ติดรหัสบานเลยกู ...เอามาใช้ไม่ทันการ

เพราะมัวแต่เก็บเพลิน ...เคยทำ เคยได้ เคยรู้อยู่กับกายอย่างนั้นดูอย่างนี้ แล้วมันจะเป็นกลางเท่านี้ ... พอถึงวาระปุ๊บ มันมาจ่อหน้าปั๊บนี่ กางตำรา เปิดตำราไม่ทัน 

หรือจะไปเปิดเซฟที่เคยทำมาแต่อดีต ไปค้นมันอยู่ตรงไหน ...มันวางยังไง ถึงจะออกจากเวทนา ถึงจะอยู่กับมันด้วยความสงบสันติ หรือเป็นกลาง หรือไม่มีเราไม่เป็นเรากับมัน ...นี่ ไม่ทัน

รีบๆ ฝึกกันซะ ให้มันหลุด ให้มันพ้น นั่นแหละค่อยนิ่งนอนใจได้ ...ระหว่างนี้ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ จะลาเกษียณพักงานก็ไม่ได้ ลากิจลาป่วยก็ไม่ได้  ไม่เหมือนงานอื่นยังลาได้

งานในองค์มรรคนี่ อย่าแม้กระทั่งคิดว่าจะลากิจลาป่วย หรือแอบ...คือไม่ได้ป่วยแต่แอบว่าป่วย ...ไม่ได้น่ะ  ลาเมื่อไหร่ พักเมื่อไหร่ ปึ่บ อวิชชาโมหะตัณหาอุปาทาน ครอบขันธ์มิด จนหากายหาใจไม่เจอ

เพราะนั้นในท่ามกลางการงาน ระหว่างงาน ระหว่างการดำเนินชีวิต...กายมีมั้ย...นิดนึงก็เอา หน่อยนึงก็เอา ถี่ๆ บ่อยๆ ถึงแม้มันจะต่อเนื่องได้ไม่นานก็ตาม ...ก็อย่าให้มันห่างศีล จนมันเกิดความลำพองจิต 

คือมันเกิดความที่กระด้างกระเดื่องต่อศีลสมาธิและปัญญา ...ทุกคนน่ะจะเคยเจอจิตที่มันกระด้างกระเดื่องต่อศีลสมาธิปัญญา ...แต่เอาไม่เห็น เอาไม่อยู่ 

แบบว่าเห็นไม่มีเรื่องอะไรน่ะ แล้วกูจะปล่อย ให้มันล่องลอย เพลิดเพลิน ไปกับอะไรต่ออะไรอย่างนี้ …แล้วพอจะให้กลับมาอยู่กับตัว กลับมาอยู่กับกาย นี่ เหมือนกับเด็กห้าขวบจับฉีดวัคซีนน่ะ เคยมั้ยล่ะ ...

พอจับเข้าแถว ครูต้องไม่บอกนะว่าจะไปฉีดวัคซีน  ถ้าบอกปึ้บนี่มันจะเอาแล้ว ผมป่วย หนูป่วย หนูขอลาเข้าห้องน้ำ นี่จับเด็กฉีดวัคซีน หรือฉีดยา ...นี่ จิตเหมือนกัน มันเลี่ยง หลบ แล้วเอาไม่อยู่

นั่นแหละก็พากเพียรลงในที่เดียวนั่นแหละ กายอยู่ที่ไหนก็รู้ลงไปที่ตรงนั้น ปัจจุบันอยู่ที่ไหนก็รู้ลงในปัจจุบันนั้นๆ ...อันไหนที่มันจะพาออกนอกปัจจุบัน ....ก็ละซะ 

ภายนอกที่จะพาออกนอกปัจจุบันก็ละ ภายในจิตเจ้าของที่จะออกนอกปัจจุบันก็ละซะ ... แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาละและก็วางจิตพวกนั้นซะ

อย่าตกอยู่ในความประมาทเผลอเพลินไปตามอาการที่มันออกนอกกายออกนอกใจ ...แล้วคิดว่าไม่เป็นอะไร ไม่เสียหายอะไร

ในโลกน่ะดูเหมือนไม่เสียหายอะไรหรอก ...เพราะอะไร เพราะว่านี้คือสิทธิของคนในโลก เพราะสิทธิของคนในโลกเขาจะอยู่ในอาการนี้ ก็เลยได้สิทธินั้นไป คือ...ได้สิทธิในการเกิด

เพราะนั้นน่ะ การที่อยู่ในศีล ในสมาธิ ในปัญญา ในมรรค นี้ไม่ใช่สิทธิของคนโลก ...หมายความว่านี่เป็นผู้ที่จะไม่กลับมาอยู่ในโลกอีกต่อไปในภายภาคหน้าน่ะ  

จะใช้สิทธิ์นี้รึเปล่าล่ะ ...มีสิทธิ์แต่ไม่ใช้สิทธิ์ นี่ก็ไม่ว่ากัน ...ก็ประมาท เผลอๆ เพลินๆ หลงๆ ลืมๆ อยู่ในโลกไป ป้ำๆ เป๋อๆ เลื่อนๆ ลอยๆ ไหลๆ ไป

แต่ถ้าจะออกนอกโลก นอกจักรวาล นอกขอบเขตของอนันตาจักรวาล ...นีี่ ต้องอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา ...ไม่อยู่ในโลก ...แม้กระทั่งยังไม่ทันตาย ก็ไม่ต้องอยู่ในอารมณ์โลก หรือไปอยู่กับภายนอกขันธ์  

แล้วก็ศีลสมาธิปัญญานะ ต้องอย่างจริงจังขึ้น เข้มข้นขึ้น ไม่ใช่ละลายจางคลายลง ...ถ้าเมื่อใดศีลสมาธิปัญญาเข้มข้นขึ้น  สิ่งที่ละลายจางคลายคืออวิชชาตัณหาอุปาทาน...พร้อมกับความรู้สึกที่เราเป็นทุกข์ 

เนี่ย พากเพียร จนหมดสิ้นอายุขัย ไปแต่ละวรรค แต่ละขั้น แต่ละตอน แต่ละชาติแต่ละภพ ...แล้วมันจะสร้างสมอุปนิสัยบารมี สันดาน ที่ เอ๊ะอ๊ะ อะไรขึ้นมา มันก็กลับมาอยู่ที่ศีลสมาธิปัญญาเองโดยไม่ได้ตั้งใจ

นี่เรียกว่าสันดานเกิดขึ้นแล้ว เป็นนิสสยปัจจโย  เพราะว่ากายนี่มีปัจจโยหลายอย่าง ขันธ์ห้ามีปัจจโยหลายอย่าง มีปัจจัยหลายอย่างที่ก่อเกิด 

อาศัยนิสสยปัจจโยที่เป็นศีลสมาธิปัญญา มันก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มาก่อเกิดขันธ์เพื่อให้มาเรียนรู้ขันธ์ต่อไป 


โยม –  ถ้าอย่างหลวงพ่อพูดในแง่ของความเจ็บปวดน่ะเจ้าค่ะ ความเจ็บปวดในขั้นสุดท้ายใกล้ตายนี่ ในพระอริยะท่านจะเห็น คือไม่เกาะกับอาการที่มันบอกว่าปวดว่าเจ็บ อย่างแบบแยกนี้เลยหรือเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  น้ำกับน้ำมัน ...เหมือนน้ำกับน้ำมัน

โยม –  จะรุนแรงแค่ไหน ก็เห็นเป็นแค่ลักษณะอาการปรากฏ

พระอาจารย์ –  อือ

โยม –  มันแยกออก ไม่เหมือนคนปกติที่เกาะเกี่ยว

พระอาจารย์ –  มันไม่มีการคละเคล้าในขันธ์


โยม –  แต่ขันธ์มันต้องแสดงสีหน้า ขมวดคิ้วนิ่วหน้า มีไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  มี มันก็มีตามสันดานขันธ์

โยม –  แต่มันไม่เข้าไปเกาะว่า “เรา” หรือใคร

พระอาจารย์ –  อือ เพราะกล้ามเนื้อกาย ส่วนมากเป็นกล้ามเนื้ออัตโนมัติเยอะ เยอะกว่ากล้ามเนื้อที่บงการได้  แล้วลักษณะบางลักษณะมันเป็นอัตโนมัติของทุกขเวทนาที่มันสร้างรัดรึงขันธ์ขึ้นมา 

แต่ว่าใจนี่ มันขาดจากขันธ์โดยสิ้นเชิงแล้ว  หมายความว่าความเกาะเกี่ยวในขันธ์...ด้วยจิตด้วยอวิชชาไม่มีแล้ว


โยม –  อย่างที่จำได้ถ้ารักษา ...อย่างที่หลวงปู่เคยเข้าโรงพยาบาลนี่ เพราะว่าหลวงปู่แพ้อาหารเป็นพิษ แล้วหลวงปู่ก็บอกว่ามันทรมานนะ ถ้าไม่ได้มาช่วย หลวงปู่อาจไม่ไหว หลวงปู่เคยพูดประมาณนี้ ...ก็แสดงว่าทางกายนี่ก็ต้องรักษาเขาไปตามสภาพขันธ์แต่จิตเราไม่แตะ

พระอาจารย์ –  ใช่ ลักษณะของวิบากมันมีอย่างนี้ แล้วก็ความรู้สึกเป็นทุกข์ที่มันทับในขันธ์นี่มี ...แต่ลึกๆ ในลึกๆ นี่ ในใจลึกๆ นี่ จะไม่มีความเป็นทุกข์มาก 

แต่ว่านี่คือมันทุกข์ปกติที่แสดงออกให้คนทั่วไป...ให้รู้ว่าระดับนี้ทนไม่ได้แล้ว โดยสมมุติ โดยภาษา โดยอาการให้คนทั่วไปเห็น ...คือถ้าท่านไม่รักษาหรือท่านไม่บอกนี่ ขันธ์นี้ไม่รอด 

แล้วก็เยียวยาไป บรรเทาไป ในระดับนึง อย่างนั้น ... แต่ถึงหมอไม่รักษาแล้วเกิดตายลงต่อหน้าต่อตา ใจท่านก็ไม่ว่าอะไร

แต่การรับรู้รับทราบเวทนานี่ เท่ากันกับคนปกติ ...เหมือนกัน  แล้วอธิบายได้ด้วยคำพูดภาษาเหมือนกัน ...มีเท่ากันหมด ความรู้สึกเข้มข้นในความเจ็บปวดเท่ากัน 

แม้ว่าดูว่ามันแรงขนาดไหน มันน้อยขนาดไหน แล้วจะทำ ต้องแก้ แล้วมันมีความบรรเทาขึ้นในขันธ์ ก็แก้ไปตามอาการ นี่ในลักษณะที่มันแก้ตามอาการได้

แต่ถ้าสมมุติไม่มีหมอรักษาหรืออยู่ในป่า  ถ้าอย่างนี้ท่านไม่สนเลย แล้วไม่คิดด้วย ...ก็คนละสถานะแล้ว เข้าใจมั้ย 


โยม –  หรือจะหลบไปอยู่ในภาวะที่...

พระอาจารย์ –  ไม่หลบ ไม่ได้หลบอะไร ...มันยอมรับ ถือว่ายอมรับโดยปริยาย ยอมรับโดยสภาพ... แต่เมื่อใดที่มันอยู่ในสภาวะที่มีหมอมีคนดูแล มันก็อยู่ในฐานะที่บรรเทาได้ก็บรรเทาไป


โยม –  ถ้าในภาวะที่มันไม่มีใคร แล้วอยู่ลำพัง  ถ้ามันจะบรรเทา อย่างเข้าไปอยู่ในฌานนี่

พระอาจารย์ –  ไม่เข้า ...ถ้าเป็นในระดับพระอริยะ ไม่เข้าเลย

โยม –  อริยะของหลวงพ่อหมายถึง

พระอาจารย์ –  ที่สุดแล้ว ไม่เข้าเลย ตั้งหน้าตั้งตาดูอยู่คู่กัน...มองกัน เหมือนกับมองสิ่งของ เหมือนของกองหนึ่ง


โยม –  อย่างครูบาอาจารย์บางองค์ท่านผ่าตัดโดยไม่ดมยา

พระอาจารย์ –  นั่นก็แล้วแต่ท่านมีกำลังเป็นรากฐานของสมถะ

โยม –  ก็แล้วแต่ว่าจะใช้กำลังของสมถะนั้น ในภาวะนั้นๆ ไหม

พระอาจารย์ –  ถ้ามันมีเหตุ เช่น รับยาสลบไม่ได้ หรือว่ามันจะมีอาการข้างเคียง  มันมีปัจจัยหลายอย่าง ไม่เหมือนกันหรอก ความเป็นไปในจิตของพระอรหันต์

อย่างอาจารย์มหาทองอินทร์น่ะเป็นโรคไต ...ก่อนตายกำลังใกล้จะตาย หมอเขางดอาหารรสจัดทุกชนิด เพิ่นก็บอกว่า เบื่อโว้ย ทำอะไรอร่อยๆ มากินหน่อย อยากกิน ...นี่ มันเป็นความคุ้นเคยในขันธ์ 

แล้วก็ท่านไม่เอามาเป็นธุระในการที่ทำพูดคิดแล้วจะได้หรือไม่ได้มา ...แต่ความคุ้นเคยของขันธ์ เหมือนมีกิเลส เหมือนมีความอยากเท่านั้นเอง เป็นนิสัย อุปนิสัย หรือว่าอุปสันดาน วาสนา

แต่ถึงไม่ได้กินจริงๆ ท่านก็ไม่กระวนกระวาย เข้าใจมั้ย ...แต่ดูเหมือนกระวนกระวาย เพราะความเคยชินแต่เดิมเท่านั้นเอง


โยม –  ถ้าได้ยินอย่างนี้ คือมันต้องระวังภายในของผู้ได้ยินด้วย ไม่ไปตัดสินว่าถูกหรือผิด ทำไมเป็นอย่างนั้น

พระอาจารย์ –  ใช่ อย่าไปเปรียบเทียบ

ก็ระวังกายใจไว้ อย่าให้มันล้ำ ล้ำกายล้ำใจ ... เรียกว่าสำรวมจิตอยู่เสมอ สำรวมอยู่ในศีล อยู่ในกายอยู่เสมอ

มันจะต้องเข้าไปสู่ความระงับ จิตวิเวก อย่างวิสุทธิจิตจริงๆ เรียกว่าจิตวิสุทธิจริงๆ นั่นแหละ มันถึงค่อยเข้าไปลบล้างกิเลสขั้นนอนเนื่อง...อาสวะอนุสัย 

แล้วมันจะต้องอยู่ในภาวะนั้นระยะนึงก่อน มันจึงจะหลุดขาดโดยสิ้นเชิง ...แล้วทุกอย่างจะคืนเหมือนเดิม เหมือนเป็นปกติเช่นเดิม ลักษณะเดิมของขันธ์ อุปนิสัยเก่าก่อน 

ทุกอย่างจะเป็นไปโดยที่ว่า เกิด-ดับๆ พร้อมกันตรงนั้นเป็นปัจจุบัน โดยที่ไม่ต้องควบคุมระมัดระวังอะไร ...มันขาดแล้ว ถือว่ามันขาดแล้ว


..................................



วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 11/16 (1)


พระอาจารย์
11/16 (560523C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
23 พฤษภาคม 2556
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ : แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น 2 ช่วงบทความค่ะ)

พระอาจารย์ –  ต้องจำหลักให้มั่นและแม่น...ในศีลสมาธิปัญญา  อย่าให้คลาดเคลื่อนจากองค์ศีล อย่าให้ห่างจากองค์ศีล ... นี่ ถ้าคนไม่เคยฟังเรา มันก็จะไปนั่งไล่เลยว่าศีลนี้คือกี่ข้อ...ไม่ใช่น่ะ

ศีลนี้คือ...รู้ตัวรึเปล่า นั่น แค่นั้นแหละ ... มันก็กลับมาเกาะก้อนมรรค กอดก้อนศีลไว้เป็นหลัก อยู่ในเส้นทางมรรค อยู่ในปากทางมรรค อยู่ในหนทางที่จะเข้าสู่มรรค

ช้าหรือเร็ว...ไม่ใช่อยู่ที่โชควาสนา ...อยู่ที่ประกอบเหตุแห่งมรรค ประกอบเหตุแห่งสติ ประกอบเหตุแห่งศีลนี่...มากหรือน้อยกว่ากัน  

คือประกอบเหตุแห่งศีลในหนึ่งวันน่ะ...ให้มากกว่าอวิชชามันประกอบเหตุแห่งจิตปรุงแต่ง สร้างเราสร้างเขา สร้างเรื่องราวในอดีต-อนาคตขึ้นมา

การภาวนาน่ะ ...ให้มันสั้น ให้มันตรง ให้มันหยุด ให้มันอยู่แค่กาย ...อย่าให้มันยืดเยื้อ เยิ่นเย้อ เกินกาย เกินปัจจุบัน ...แล้วทุกอย่างมันจะชัดเจน...แล้วก็ง่าย 

เมื่อจิตมันตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบัน แล้วปัจจุบันนั้นคือปัจจุบันกาย ไม่ใช่ปัจจุบันลอยๆ นะ

ทุกอย่างที่มันขัดขวางองค์มรรค...การเดินไปในองค์มรรค  ก็คือจิตคิด จิตปรุง จิตสงสัย จิตนิวรณ์ จิตมีราคะโทสะ จิตง่วงเหงาหาวนอน จิตซึม จิตเบลอ

จิตเผลอเพลิน   จิตไหล จิตเลื่อน จิตเคลื่อน จิตคล้อย จิตไปในอดีต จิตไปในอนาคต ...พวกนี้เป็นตัวที่ขัดขวางมรรค คือขัดขวางการระลึกรู้อยู่จำเพาะกาย

ไม่มีใครช่วยได้ นอกจากตัวเองทำขึ้นมา ปฏิบัติขึ้นมา ตั้งใจขึ้นมา พากเพียรขึ้นมา ...ไม่ปล่อย ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่รามือ ไม่โลเล ไม่สงสัย  ยืนเดินนั่งนอนก็รู้กับยืนเดินนั่งนอนแค่นั้น...ไม่ไปรู้เกินนั้น

นั่งก็รู้สึกถึงการนั่ง แล้วก็รู้สึกในอาการนั่งที่มันมีโดยตลอดกาย เป็นอย่างไร มีอะไรภายในปรากฏ มีอะไรมากระทบภายนอกที่ปรากฏอยู่กับกาย...ก็รู้ 

ยืนก็รู้แค่ยืน ในระหว่างการยืน ก็รู้ความรู้สึกในการยืนระหว่างการยืน ...ไม่ต้องไปสะละวนกับเรื่องราวที่มันนอกเหนือกาย นอกเหนือปัจจุบันกาย อย่างนี้

ให้พากเพียร ให้จดจ้อง ให้เฝ้าดู ให้สังเกต อยู่ในก้อนนี้  จนกว่ามันจะเจอน้ำใสไหลเย็น...เป็นกลาง ไม่ได้เป็นใครของใคร เป็นสาธารณะ 

บ่อนี้เป็นสาธารณะ น้ำนี้เป็นสาธารณะ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ...เหมือนน้ำที่ตกมาจากฟ้า น้ำบ่อนี้ก็คือธรรมชาติของกายที่แท้จริง

ปัญญาเหมือนของมีคมที่ปาดและเฉือนความคิด และความเห็นความเชื่อที่มันครอบคลุมกายไว้ มันปาดมันลบอดีต-อนาคตที่มันปิดบังกายไว้ มันถาก มันถาง มันปาดกิเลสราคะโทสะโมหะที่มันปิดบังกายไว้

ถ้าทื่อ ถ้าไม่แหลม ถ้าไม่เฉียบ ถ้าไม่คม มันปาดไม่ออก  หนังมันหนาเหมือนหนังควาย มันแน่น มีดก็ทื่อ ลับก็ไม่เป็น มันก็เหมือนกับเอามาสีๆ ถูๆ หนังควาย แล้วมันจะถึงเนื้อถึงเอ็นถึงกระดูกมั้ย ...ไม่ถึง

มันก็เห็นแต่กายที่ถูกครอบ ถูกบัง ถูกปิด ถูกงำ ถูกคลุม ...แล้วก็เชื่อเป็นตุเป็นตะ ว่ากายจริงๆ คือเนี้ย ออกมาเป็นเราก็คือเรา อย่างเนี้ย ไม่เป็นอื่นน่ะ ก็ว่าเรานั่ง ...นี่จบแล้ว จบแบบจบที่จิต จบที่อวิชชา

มันไม่ได้จบที่วิชชา จบที่ความรู้เห็นจริง ...ปัญญามันตื้นระดับหนังวัวหนังควาย มันไม่มีอะไรเข้าไปปาด มีแต่ปัญญาทื่อๆ พอลูบๆ คลำๆ แล้วก็...เออ "เรา" อีกแล้ว พอแล้ว ...จบ  นี่เขาเรียกปัญญาแบบลูบๆ คลำๆ

แต่ถ้ามันแหลมคมด้วยศีล สติ แล้วก็มีสมาธิ แล้วก็ก่อให้เกิดปัญญา  มันก็เกิดความแหวก ปาด ถาก ลบ ทำความจาง เอาออก ละ วาง นี่ พวกนี้ปัญญา หน้าที่ของปัญญาทั้งนั้นเลยนะนี่ 

ไอ้หนังที่ว่าหนังช้าง หนังวัวหนังควายที่ว่ามันเหนียวนี่ นึกว่าไม่มีอะไรในนั้น เชื่อแบบเป็นวรรคเป็นเวรมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ มันก็จะเห็นว่า...อ๋อ อยู่นี้นี่เอง ธรรมทั้งหลายทั้งปวงอยู่นี้นี่เอง

วิ่งหาธรรมมาสามโลกธาตุ วิ่งหาธรรมมาหลายประเทศ วิ่งหาธรรมมาหลายจังหวัด วิ่งหาธรรมมาหลายดอย วิ่งหาธรรมมาหลายถ้ำ วิ่งหาธรรมมาหลายอาจารย์ ...Oh...I see. ประมาณนั้น เห็นแล้ว เข้าใจแล้ว

โคตรโง่เลยกู วิ่งพล่านเหมือนหนูติดจั่นไปทั่ว...มันว่าตัวเอง  แต่ก็หลุดจากจั่นอันนี้...กับดัก ที่มันรัดข้อเท้า หรือบางทีก็รัดคอ บางทีก็รัดหาง หนูตัวนั้นไว้

หรือดีไม่ดีก็ไปเจอยาพิษตายเกลื่อน หรือไปเจอกับดักกาว ทีนี้ดิ้นไม่ได้เลย ตายทั้งติดกาว ถูกเอาไปโยนน้ำทิ้งหรือโยนเข้ากองไฟ นี่ นักภาวนาแบบหนูติดกับดัก...เยอะ

แล้วเวลาไอ้หนูติดกับดักมันก็ร้องกันจี๊ดๆๆ นี่ที่เป็นคำสอนทั้งหลายทั้งปวงออกจากหนูติดกับดัก กำลังจะตายนะ อู้ย มีสานุศิษย์ไปฟัง จากหนูติดจั่นที่เสียงมันดัง...เพราะมันกำลังจะตาย 

คือหนูทั่วไปมันเสียงไม่ดังเพราะมันไม่ติดกับดัก มันก็เลยไปเห็นแปลกประหลาดมหัศจรรย์กับหนูที่ร้องใกล้ตาย ซึ่งเป็นธรรมลวง ...เดี๋ยวนี้ก็ร้องกันเซ็งแซ่เต็มโลกสามโลก

เพราะนั้นอย่าคลาดจากศีล อย่าเคลื่อนจากศีล อย่าบิดเบือนด้วยจิตไม่รู้จักศีล แล้วจึงเกิดการปรามาสศีล เพราะเมื่อปรามาสศีลมันก็เป็นการปรามาสธรรม 

เมื่อปรามาสศีลปรามาสธรรม มันจะเข้าถึงธรรมไม่ได้ มันจะเห็นธรรมไม่ได้  มันจะรู้แจ้งในธรรมไม่ได้ ...เพราะมันเริ่มตั้งแต่ปรามาสศีล ซึ่งตัวศีลนั้นคือตัวธรรม

ธรรมที่นี้ ก็คือธรรมชาตินั่นเอง ก็คือธรรมชาติที่แท้ของกาย ...เพราะนั้นตัวธรรมชาติที่แท้ของกาย ไม่เกินกว่ามหาภูตรูป ๔ กับไม่เกินกว่าเวทนา ...มีอยู่แค่นั้นน่ะ ที่มันปรากฏ 

คือมันเปลี่ยนอยู่ในสองลักษณะนี่  ตอนนี้โดยลักษณะพื้นๆ ก็มีเย็น ร้อน กับแข็ง แล้วมีการขยับไหวติงบ้างเป็นระลอกอย่างนี้ ...เพราะนั้นอย่าเบื่อที่จะรู้อยู่แค่นี้ เห็นอยู่แค่นี้ 

เวลานั่งก็ให้รู้ว่านั่งเฉยๆ นี่แหละ ไม่เอาอะไร ไม่หาอะไร ...ได้ก็ไม่เอา ออกไปหาก็ไม่เอา จะไปทำขึ้นมาใหม่ก็ไม่เอา จะนั่งเฉยๆ นี่แหละ รู้ว่านั่ง แล้วในอาการนั่งมีอะไร ความรู้สึกในการนั่งมันมียังไง จะรู้อยู่แค่นี้

มันจะว่า “เบื่อฉิบหายเลย เซ็งฉิบหายเลย” ก็ต้องสู้กับมัน เพราะจิตมันวิ่ง มันเพลินหา ...เพราะจิตมันจะสร้างกายที่มันเลิศอลังการ ที่มันจะได้อารมณ์นั้น มีอารมณ์นี้ 

ได้ไปกิน ได้ไปเสพ ได้ไปสนุก ได้ไปด่า ได้ไปรับคำชม ได้ไปสร้างงาน ที่เป็นที่จารึกจดจำในโลก ได้ไปอย่างโน้นอย่างนี้ เยอะแยะไปหมด ...มันมันส์

แล้วพอมาอยู่นี่ เหลือแต่กายเดียว หัวเดียวกระเทียมลีบ กับใจเดียวที่มีแต่รู้เฉยๆ เห็นเฉยๆ ไม่มีความรู้อะไรในนั้นเลย ...เหมือนโง่มากๆ  แต่ถือว่าเป็นการถอดถอนความอยากรู้อยากเห็นในสิ่งที่ไร้สาระ

นี่ถือว่าเป็นการละกิเลสขั้นหยาบที่สุดเลย คือความสู่รู้ แสนรู้ อยากรู้ อยากได้ ลอยๆ ในอากาศ...นั่นน่ะคือจิต เพราะนั้นมันเป็นการกำราบแล้วก็ละกิเลส ในขั้นระดับศีลก็ละกิเลสหยาบๆ คือนิวรณ์นี่แหละ

พอมันถากออก คือไอ้นี่ต้องใช้ขวานถากเลยนะ เรียกว่าถาก เปลือก  ลิดกิ่ง ลิดก้าน ลิดใบ เหลือแต่กระพี้บ้างแก่นบ้าง เนี่ย นิวรณ์ ถูกถากออกแล้ว 

ทีนี้มันก็ชัดเลยน่ะ แก่นอยู่ตรงไหน ตรงไหนมีแก่น ตรงไหนไม่มีแก่น ไม้มันไม่เป็นแก่นทั้งต้นหรอก ก็เน้นตรงที่แก่น แก่นศีล แก่นจิต แก่นใจ แก่นปัจจุบัน แก่นสมาธิ แก่นปัญญา

กิเลสหยาบๆ คือนิวรณ์มันก็ค่อยๆ หมดกำลัง อ่อนล้าไป...ชั่วคราวนึง ขณะนึง  จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา ทดแทน เป็นเอก เป็นหนึ่ง เป็นดวงจิตผู้รู้ผู้ตั้งมั่นอยู่ภายใน ไม่ไหล ไม่หลง ไม่ไป ไม่มา ไม่หา 

มันอยู่เฉยๆ สว่าง ใจนี่ แล้วก็แผ่ความสว่างใจออกไปกระทบกับความมืดบอดของกาย มันก็สว่างที่กาย ...คือปัญญาที่มันเข้าไปเปิดเผยความเป็นจริง 

ซึ่งความจริงเขาเปิดเผยอยู่แล้ว แต่ว่ามันถูกครอบงำด้วยกิเลสน่ะ ... นัตถิ ปัญญา สมาอาภา สว่างใดไม่สว่างเท่าปัญญา ความแหลมคมใดไม่มีทางที่จะมากางกั้นปัญญา

เพราะนั้นระดับปัญญาของใจที่มันสว่างนี่ มันทะลุสิ่งที่มันบัง ครอบ ...ไปทาบลงที่กายตรงไหนก็สว่าง ก็เห็นกายเป็นก้อน เป็นความรู้สึกบ้างเล็กๆน้อยๆ วูบวาบไปมา ...นั่นแหละคือหน้าที่ของผู้ปฏิบัติในองค์มรรค

ซึ่งไม่เห็นมีดีตรงไหนเลย ไม่เห็นได้อะไรดีขึ้นเลย ไม่เห็นจิตดี ไม่เห็นจิตประเสริฐ ไม่เห็นอะไรทั้งนั้นน่ะ ไม่ได้สภาวธรรม ไม่ได้สภาวะอารมณ์ที่สามารถนั่งอมยิ้มได้อะไรหรอก 

มันก็ไม่มีสภาวะสภาแวะอะไร มีแต่ธรรมดา ...ก็มีแต่มันเห็นกายเป็นธรรมดา เนี่ย

พอมันจะเริ่มหมดกำลังของสมาธิที่ตั้งมั่นเป็นกลางเป็นหนึ่งแล้ว มันจะมีจิตแย็บๆ ...นี่เริ่มเคลื่อน คือไม่ใช่แค่จิตคิดเป็นต่อนๆๆ เป็นเรื่องนะ แต่เริ่มซึม อารมณ์ก็เหมือนกับซึม เป็นความรู้สึกในอารมณ์ ธรรมารมณ์...ซึม

เนี่ย ให้รู้ไว้เลย ศีลกำลังจะแตก สมาธิกำลังจะแตก จะแปลงร่างแปลงโฉมเป็นคนโลกต่อ อีกภาคหนึ่งแล้ว คือตอนมานี่ มันมาแบบเนียนๆ น่ะ  มันแตกตัวแบบเนียนๆ หรือว่าด้วยความไม่รู้เนื้อรู้ตัวนี่ 

กว่าจะรู้สึกว่า แหม มันสุข ไม่เป็นเรา นี่ประมาทจะพร้อมแล้ว ...ต้องรู้ให้ทัน รู้ให้เร็ว รู้ให้ถี่ รู้ให้ไว แล้วก็ตั้งรู้ขึ้นมา แล้วก็เอารู้นั่นน่ะไปตั้งเห็น รู้กับกายเป็นที่ตั้งรู้ตั้งเห็น 

สมาธิมันก็จะถูกกำชับขึ้น อาการไหล อาการเลื่อน อาการเคลื่อน อาการสร้างอดีต-อนาคตของจิต มันก็จะค่อยหดตัวลง ไม่มีอำนาจ ไม่มีอำนาจเหนือศีล เหนือสมาธิ เหนือปัญญาการเท่าทันไปได้

แต่ก่อนเราเคยอยู่ในอุ้งมืออุ้งตีนของอวิชชาตัณหาอุปาทาน ...ต่อไปถ้าฝึกนี่ เราจะอยู่เหนืออุ้งมืออุ้งตีนของอวิชชาตัณหาอุปาทาน 

เพราะอำนาจของศีลสมาธิปัญญา ที่พอกพูนบากบั่นพากเพียร สะสม ด้วยความสม่ำเสมอต่อเนื่อง เป็นนิจ เป็นอาจิณ เป็นกิจวัตร ...ไม่มีเวล่ำเวลา

ไม่ใช่เฉพาะเวลาใดเวลาหนึ่ง หนึ่งชั่วโมง สองชั่วโมงในหนึ่งวัน ที่เขาบอกว่าให้นั่งดูตัวเองในหนึ่งชั่วโมงในหนึ่งวันก็พอแล้ว นี่กิเลสผัดวันประกับพรุ่ง ...ไม่มีทาง

วันนึง ชั่วโมงนึง ดูกายรู้กายแค่ให้มันผ่องใสก็พอแล้วสำหรับชีวิตคนทั่วไป อย่างนี้เหรอ มันจะไปพอไหมกับการที่สะสมมาของอวิชชาตัณหาอุปาทาน...นี่อเนกชาติน่ะ 

แค่หนึ่งชั่วโมงในหนึ่งวัน มันพอจะลบความเห็นผิดในกาย ลบความเชื่อผิดๆ ในกาย แล้วมันจะลบความเห็นผิดในโลก ลบความเห็นผิดในสรรพสิ่ง ในธรรมทั้งหลายทั้งปวงนี่นะ ...เป็นไปไม่ได้

สติสมาธิปัญญาอย่างยิ่งยวดเท่านั้น จึงจะดั้นด้นขึ้นไปจนถึงมหาศีล มหาสติ มหาสมาธิ มหาปัญญา 

ที่จะเกิดมหาปัญญา...ที่เรียกว่าเท่าทันทุกกระบวนการของการปรากฏขึ้นภายในขันธ์และภายนอกขันธ์...โดยไม่คลาดเคลื่อนแม้แต่ขณะเดียว นั่นน่ะ

ถ้ามันคลาด ถ้ามันเคลื่อนเมื่อไหร่ ปึ้บ อวิชชาทำงาน เกิดความเป็นเจ้าของ ครอบครอง เป็นเรา ด้วยความไม่รู้ตัวทันที มันพอกพูนอวิชชาตัณหาอุปาทานทันที

แต่ในระดับมหาสติ มหาสมาธิ มหาปัญญานี่ หมายความว่า ทุกขณะไม่มีคำว่าคลาดและเคลื่อน จากองค์ธรรม คือองค์ศีล องค์สมาธิ องค์ปัญญา คือองค์ธรรมในปัจจุบัน ไม่มีคำว่าคลาดเคลื่อนจากองค์ธรรมเลย

แต่สิ่งที่พูดเหล่านี้ มันไม่ใช่ของที่ทำได้ง่ายๆ ได้มาง่ายๆ ...บอกแล้วไง ศีล สติ สมาธิ ปัญญา...อย่างยิ่งยวด หลวงปู่หรือครูบาอาจารย์ท่านถึงบอกว่า...นิพพานน่ะอยู่ฟากตาย  

ถ้ายังปฏิบัติกันเล่นๆ ปฏิบัติกันพอเป็นพิธีหรือปฏิบัติพอให้ได้พูดว่าปฏิบัติธรรมแล้ว นี่หรือที่จะไปลบล้างความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ในขันธ์ในโลก ในสังขารธรรมการปรุงขึ้นของธรรมทั้งหลายทั้งปวง 

มันจะพอเพียงกับการที่จะได้เห็นว่า...ทั้งหลายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ใคร ของใคร ไม่สามารถครอบครอง จัดการ ควบคุม บังคับ ตกแต่ง ได้อีกต่อไป

ธรรมน่ะเป็นของที่มีอยู่ตลอดเวลา แต่เป็นของที่เห็นได้ยาก ...ทั้งๆ ที่ว่ามีอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่มีอยู่ติดเนื้อติดตัวอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่มีรอบเนื้อรอบตัวอยู่ตลอดเวลา 

แต่ทำไมถึงเห็นได้ยาก ทำไมถึงอยู่กับมันได้ยาก ทำไมถึงเกิดสำเหนียกโยนิโสกับมันได้ยาก ...เพราะอนุสัย เพราะกิเลส เพราะความคุ้นเคยในกิเลส ความเคยชินในกิเลส ความหลง ความไม่รู้เนื้อไม่รู้ตัว  

เพราะนั้นธรรมที่มีอยู่อย่างดาษดื่นสากลจักรวาล นับตั้งแต่กายนี้ขันธ์นี้ออกไป ... มันก็เลยมองไม่เห็น...แล้วไม่รู้แม้กระทั่งว่ามันมีอยู่ตรงนี้...ทุกขณะเวลา


(ต่อแทร็ก 11/16 ช่วง 2)