วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 11/32 (3)


พระอาจารย์
11/32 (add560623C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
23 มิถุนายน 2556
(ช่วง 3)



(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 11/32  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  ปัญหามันอยู่ที่เราไม่แกะ แล้วก็ไปหาว่าเขามาติด หรือว่าเขาพยายามจะทำให้ติด 

นั่นมันเรื่องของเขา เราห้ามไม่ได้หรอก ...เป็นเรื่องของกิเลสคน เป็นเรื่องของความไม่รู้ ไม่เข้าใจ  เขาก็คุ้นเคยกับธรรมเนียมของโลก ประเพณีนิยมในโลก

แต่เราก็คอยละ คอยขาด คอยวางอยู่ภายใน...ที่ไม่เอาๆๆ อยู่ข้างใน ...จะว่ายังไง จะมีเงื่อนไขอะไรขึ้นมาก็ทำความเพียรเพ่งอยู่ภายในกายใจตัวเองเท่านั้นน่ะ

มันก็เป็นการแกะออกอยู่ตลอด แกะอารมณ์ แกะความรู้สึก แกะอดีต ถอนอนาคต ไม่คิดไม่ปรุงว่าเขาจะเป็นยังไงต่อไป อย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้นมั้ย ...พวกนี้ มันก็ต้องละออกๆๆ

ถ้ามันไปคิดว่า เออ ถ้าอย่างนั้น เดี๋ยววันข้างหน้า เดี๋ยวพรุ่งนี้ มะรืนนี้เขาจะต้องเป็นอย่างนี้ ...นี่ อย่างนี้ไปไม่รอดแล้ว มันก็ต้องไปตามกระแสเขาแล้ว ด้วยความอ่อนต่อกระแสกิเลสภายนอก

แต่ถ้ามั่นคงตั้งมั่น แล้วก็ละอยู่ภายใน จะเป็นยังไงก็ช่าง เขาจะเข้าใจ เขาจะไม่เข้าใจ เขาจะทำร้ายยิ่งกว่านี้ เขาจะแย่ยิ่งกว่านี้ ...ก็ทิ้งซะ วางซะ ไม่คิด ...ก็รู้ตัวไป อยู่กับความรู้ตัวไป

นี่เขาเรียกว่าจาโค...สละออก สละออกซึ่งอดีต ซึ่งอนาคต ซึ่งความน่าจะมี ความน่าจะเป็น ความไม่น่าจะเป็นของคนนั้นคนนี้ ...มันก็ต้องสละออกไป จิตมันถึงจะรวมเป็นหนึ่งอยู่กับปัจจุบันได้

ไม่งั้นมันก็จะแตกกระสานซ่านกระเซ็นด้วยอาการฟุ้งซ่าน เรื่องนั้นเรื่องนี้ อย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าอย่างนั้นจะเป็นอย่างนี้ ถ้าเราอย่างนี้แล้วเขาจะเป็นอย่างนั้น ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้แล้วเขาจะเป็นอย่างนี้

นี่ มันจะมีอยู่อย่างนี้ ...ก็ไม่ไปไหนหรอก ไปเกิดร่วมกันแล้วกัน นั่นแหละ มันก็จะเป็นอย่างนั้น มันไม่หยุด มันจะไม่หลุด มันจะไม่พ้น ...แต่ถ้าเขาไม่หลุดก็เรื่องเขา แต่เราต้องหลุดของเรา

เราจะต้องหลุดออกจากความคิดก่อน เราจะต้องหลุดจากอดีตอนาคตของตัวเองก่อน ...แล้วก็กลับมาอยู่ในฐานของปัจจุบัน ฐานกายฐานศีลก่อน ฐานรู้นี่แหละ

เพราะนั้นเวลามีปัญหาอะไร ...ทำความรู้ตัวน่ะคือการแก้ในองค์มรรค แก้ด้วยมรรค แก้ด้วยศีลสมาธิปัญญา ไม่ได้แก้ด้วยความคิด ไม่ได้แก้ด้วยการมโนภาพสถานการณ์อดีตอนาคตขึ้นมาแก้

ความประเมินตามหลักสถิติ...จิตมันชอบประเมิน...ที่ผ่านมาเราเคยทำอย่างนี้ แล้วมันเป็นอย่างนี้  ถ้าเราทำอย่างนั้นแล้วน่าจะเป็นอย่างนั้น ...มันจะประเมินอย่างนี้

เขาเรียกว่าปัญญาแบบมั่วๆ จิตมันมั่ว แล้วก็คะเนเอา คาดเอา ...ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง  ถ้าได้ก็ฟลุ้คก็ดีใจ ถ้าไม่ได้ก็ว่าหาวิธีใหม่ต่อไปแล้วกัน ...มันจะไม่ออกจากความฟุ้งซ่าน หรือความคิดได้เลย

คือถ้าตัดอกตัดใจแล้วก็...อะไรจะเกิดก็ช่าง...ช่างหัวมัน เดี๋ยวก็ตายกันแล้ว มันไม่อยู่กันเป็นล้านปีหรอก ใช่ป่าว ไม่มันตายก่อน กูก็ตายก่อนมัน อย่างเนี้ย มันก็ตาย สุดท้ายก็ตายทั้งคู่ ตายก่อนตายหลังก็ตาย

หลวงปู่ท่านบอกว่าเอาตายมาตัดเลย ...คิดมากทำไม ตายทั้งนั้น  คิดมากก็ตาย เจอก็ตาย ไม่เจอก็ตาย เขาดีก็ตาย เขาไม่ดีตอบก็ตาย...ตายทั้งนั้น 

ไปคิดทำไม จะไปกังวลทำไมกับเรื่องราว หรือใครมันไม่ตาย ...นี่ จิตมันจะได้หดตัวลงมา...พวกนี้เป็นอุบาย เพื่อให้จิตมันหยุดคิด ออกจากความคิดได้ง่ายขึ้น

แต่ถ้ามีกำลังของสติสมาธิปัญญาแล้ว ไม่ต้องใช้อุบายเลย มันก็สามารถออกได้...โดยที่ว่าถอนออก ยกกำลังถอนออกมาเลย ยกกำลังถอยออกมาเลย 

แล้วเดี๋ยวมันก็จะเคลื่อนๆ คล้อยๆ ออกไป ...พอทันปุ๊บ ยกกำลังถอนออก...ถอนออกมาตั้งอยู่ที่ความรู้สึกในกาย...ตั้งกับรู้ ตั้งเห็นอยู่ภายในขึ้นมา

ถ้าฝึกอย่างนี้ มันจะมีกำลังของตัวเองมากขึ้นในการที่จะทานทนต่อสิ่งแวดล้อม...ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต  มันก็อยู่ด้วยการที่ว่ายกกำลังถอยออก คอยหมั่นยกถอนออก..บ่อยๆ

กำลังมันก็จะพอกพูนขึ้น อำนาจของสมาธิ อำนาจของการละ การตัด การวางความรู้สึกในอดีตอนาคตที่มันเชื่อว่าจะมี แล้วมันต้องมีแน่ๆ เลยน่ะ อย่างนั้นน่ะ

ไอ้ตรงที่มันเชื่อว่าต้องมีแน่ๆ เลยตรงนี้...มันจะไม่ยอม ไม่ยอมถอนออก ...เพราะมันเข้าไปเที่ยงแล้วกับอนาคต มันเข้าไปให้ความสำคัญว่าเที่ยงแล้วกับอนาคต 

พอเที่ยงเมื่อไหร่แล้วมันถอนได้ยาก มันไม่ยอมถอนจากความคิด มันก็จะไปวนเวียน นั่นน่ะ ดงหมามุ่ยน่ะ ดงระเบิดเลยนั่น ...มันไม่รู้หรอกว่ามันกำลังเข้าไปติดกับดักวงจรของกับระเบิด 

นั่น มันก็มีทุกข์กับทุกข์เป็นที่รองรับข้างหน้าต่อไปไม่จบไม่สิ้น แล้วจะพัวพันไม่จบ..ไม่จบไม่สิ้นเลย

แต่ถ้าหักหาญกันตรงๆ ก็ถอนออก ...ถ้าหักหาญตรงๆ ไม่ได้ก็ใช้อุบาย...เออ ช่างมันเดี๋ยวก็ตายแล้วโว้ย โกรธกันก็โกรธไป ถึงมันโกรธเราจนตาย เดี๋ยวมันก็ตาย เดี๋ยวเราก็ตาย ก็ไม่เห็นมีอะไรกัน

นี่ จิตมันจะหยุด ตัดๆๆ  ตัดไปเป็นระยะๆ ...มันก็สามารถกลับมาอยู่กับตัวเองได้ มันก็สามารถอยู่กับอิริยาบถกายปกติได้ปัจจุบันได้ ...แม้จะเป็นขณะหนึ่งก็ต้องทำ

แล้วมันก็ออกไปอีก ...ไอ้อาการออกนี่เขาเรียกว่าวนเวียนซ้ำซากน่ะ เข้าใจรึเปล่า มันไม่เป็นสมุจเฉทหรอก ในระดับปัญญาขั้นต้นนี่ ไม่เป็นสมุจเฉทหรอก ...เดี๋ยวก็ไปอีกแล้ว

พอเริ่มตายใจ พอเริ่มประมาท ไปแล้ว เคลื่อน ไหลไปคิดโดยไม่รู้ตัวเลย วนไปที่เก่า วนไปจมร่องเก่า การกระทำเขาอย่างนั้น เขาอย่างนี้ การพูดอย่างนั้น...มันกิน มันกลั่น มันคามันข้องอยู่ภายในเป็นสัญญา 

ก็เอาอีก ถอนใหม่ ...คอยถอนคอยรู้คอยละๆ คอยถอนออกมาอยู่ โดยมีฐานคือกายใจปัจจุบันเป็นฐานที่ตั้ง ...คือถ้ามันถอนออกแล้วมันไม่มีที่ตั้งนี่ มันอยู่ได้ไม่นาน แค่ถอนออกๆ แล้วมันก็ลอย

แต่ถ้าถอนออกแล้วมันตั้ง..ตั้งอยู่กับฐาน..ฐานกายฐานรู้อย่างเนี้ย มันก็จะมีที่ตั้งที่มั่น เป็นเกราะที่ตั้งที่มั่น เป็นเกราะกำบัง มันก็จะแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ศีลก็แข็งแรงขึ้น สมาธิก็มั่นคงขึ้น กายก็ชัด

คำว่าศีลมั่นคงขึ้น ชัดเจนขึ้น ก็คือมันชัดในกายปัจจุบัน รู้ก็ชัดเจนขึ้น ...ก็ต้องทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ ถอนบ่อยๆ ละบ่อยๆ ก็คอยละคอยเลิกๆ ตลอดเวลาแหละ

การภาวนาที่แท้จริงน่ะ ไม่ปล่อยให้จิตไปเกาะเกี่ยว ผูกพัน ไปก่อสร้างเค้าโครงอะไรขึ้นมา เผลอแป๊บเดียวมันเค้าโครงสร้างบ้านสร้างเมืองได้เป็นหนึ่งประเทศเลยน่ะ

ไวจริงๆ น่ะจิต สร้างลูกสร้างหลาน มีลูกจบปริญญาตรีโทเอก แล้วลูกมีหลาน ได้หมดเลย เชื่อมั้ย แป๊บเดียวเองน่ะ เห็นมั้ย มันสร้างโลกได้เต็มโลกเลยน่ะ...โลกของมันน่ะนะ

ถึงบอกว่าต้องคอยละคอยถอนออกอยู่ตลอด ไม่ใช่ไปไล่ดูมัน ไปคอยดูมัน ...ละเลยๆ ละกลับมาอยู่กับกายเลย ละแบบหน้าด้านๆ เลยน่ะ ละแบบไม่ใยดีเลยน่ะ ไม่ยี่หระเลยน่ะ ไม่เสียดายน่ะ

ไม่เสียดายความคิดน่ะ ไม่เสียดายอดีตอนาคต ...บางทียังมีลูกติดพันนะ ถอนมาแล้วยังเสียดาย คิดต่ออีกหน่อยมั้ย อย่างเนี้ย  ถ้าไม่คิดแล้วมันไม่แล้ว ถ้าคิดยังไม่จบแล้วมันไม่สุด ยังไม่สมบูรณ์

ไม่มีคำว่าสมบูรณ์เพอร์เฟ็คหรอกความคิดน่ะ ...ถมเท่าไหร่มันถมไม่เต็มหรอก แง่มุมล้านแปด มันคิดได้หมดน่ะ พลิกแพลงไปได้หมด จิตมันพลิกแพลงได้ตลอด ความคิดความปรุง

เพราะนั้นว่าวิธีจัดการกับมันอย่างเดียวคือ ถอยออกถอนออก ทิ้งเลยๆๆ อย่างนี้  โง่ๆ ดื้อๆ ด้านๆ เลย ...ไม่ต้องไปคอยดูคอยรอ กว่ามันจะดับแล้วค่อยมาตั้งมั่นอยู่กับกาย...ไม่มีทางน่ะ ในระดับนี้น่ะ

ถอยออก ถอนออก วางเลย ในปัจจุบัน ...กายมันก็มีอยู่แล้วเป็นที่ให้รู้ เป็นที่ให้ดู เป็นที่ให้เห็น เป็นที่อันควรอยู่น่ะศีล ...ถึงบอกว่าศีลนั่นแหละสำคัญ ถ้าไม่มีศีลแล้วนี่ ล้มเหลวหมดเลย

จิตมันพาตกระกำลำบากไปหมด..พร้อมกับ "เรา" ...จิตมันออกไปพร้อมกับเรานั่นแหละ  ผู้ค้นผู้หา ผู้ไปผู้มา ผู้มีผู้เป็น ...ไอ้ผู้ทั้งหมดนั้นน่ะคือ "เรา" แล้วก็เป็นผู้ที่ทุกข์ไม่จบไม่สิ้น ไม่หมดเรื่องหมดราวสักที

ทั้งที่ว่า แค่นั่งนี่ รู้ว่านั่งนี่ ทุกอย่างจบเลย ไม่มีอะไรเลยน่ะ ...อดีตไม่มี อนาคตไม่มี ปัจจุบันยังแทบจะหาไม่เจอเลย เพราะปัจจุบันก็มาเป็นระลอกๆ แล้วก็หายไปๆ แค่นั้นเอง

นี่ กลับมาอยู่กับปัจจุบันกาย ปัจจุบันศีล แล้วทุกอย่างมันก็จะชัดเจนในตัวของมันเอง ...ไม่ต้องไปหาความชัดเจนที่อื่น ไม่ต้องไปภาวนาที่อื่น  ภาวนาอยู่ที่เดียวนั่นแหละ กายเดียวใจเดียว รู้เดียว

แล้วมันจะเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในกายเดียวนี้...ว่ากายนี้เป็นใครของใคร หรือไม่ได้เป็นใครของใคร หรือเป็นเพียงแค่อาการเกิดดับ ธรรมชาติที่เกิดดับ

มันเป็นเพียงแค่ธรรมชาติเกิดดับ ที่ไม่มีใครครอบครองได้ ไม่มีใครบงการได้ ไม่มีใครควบคุมได้ ไม่มีใครสั่งการได้ ...นั่น มันก็จะเข้าใจในปัจจุบันกาย ปัจจุบันธรรมขึ้นมาเอง

นั่นน่ะ เรียกว่าแจ้งอยู่ในปัจจุบัน แล้วก็แจ้งกับปัจจุบัน แล้วก็แจ้งในทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ...มันก็จะแจ้งอยู่ตรงนี้ ที่นี้เอง ที่ทำความรู้แจ้ง 

ไม่ใช่ไปแจ้งที่อื่นเลย ไม่ใช่ไปแจ้งตามตำรา ตามสภาวะอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วเกิดความรู้ความเข้าใจให้จนแจ้ง..ไม่ใช่ ...มันแจ้งอยู่ทุกปัจจุบันที่ปรากฏนี่เอง

แล้วโดยเฉพาะมันต้องมาแจ้งในปัจจุบันกายนี้ก่อน...ว่าไอ้ปัจจุบันกาย ไอ้ปัจจุบันนั่งมันคืออะไร ไอ้ปัจจุบันความรู้สึกที่มีอยู่ในการนั่งนี่มันคืออะไร ...นี่ มันแจ้งหรือยัง

ถ้ามันยังไม่แจ้งน่ะ เดี๋ยวก็เป็นเรา เดี๋ยวก็ไม่เป็นเรา เดี๋ยวก็เป็นเรื่อง...นี่ ยังไม่แจ้ง ...ถ้ามันแจ้งแล้วมันหายสงสัย  ถ้ามันแจ้งนี่...อ้อ หายสงสัยแล้ว ไม่มีเราเลยน่ะ ไม่มีเราจริงๆ เลย

นี่เรียกว่าหายสงสัย วิจิกิจฉามันก็ถูกทำลายไปแต่ถ้ายัง เอ๊ะ ทำไมมันยังเป็นเราอยู่ มันมายังไงวะเรา ทำไมยังเป็นเรา ก็มันนั่งก็เป็นแค่นั่ง ทำไมยังรู้สึกว่าเป็นเราอยู่ ...นี่ เขาเรียกว่ายังไม่แจ้ง

ก็ทำความแจ้งซ้ำๆๆๆ ลงไป ด้วยการระลึกรู้ ดู เห็นมัน ...ซ้ำลงไปที่เดิมนั่นแหละ ในอาการเดิมนั่นแหละ เดี๋ยวมันก็จะเปิดเผยความเป็นจริงขึ้นมาเอง

เพราะว่าศีลสมาธิปัญญามันจะเป็นตัวคัดกรอง กลั่นกรองสิ่งที่ไม่จริงออก สิ่งที่มันปนเปื้อน ...เหมือนเป็นเครื่องกรองน้ำ เหมือนเป็นเครื่องกรองกากตะกอนออก

จนเหลือแต่กายเพียวๆ กายเน็ทๆ กายล้วนๆ กายที่ไม่ใช่ของใคร กายที่เป็นแค่เพียงมหาภูตรูป กายที่เป็นเพียงแค่สักแต่ว่ากาย สักแต่ว่าการปรากฏ สักแต่ว่าอาการ ...มันก็จะเหลือแต่กายตัวนั้น

มันกลั่นกรองด้วยศีลสมาธิปัญญา อะไรที่ไม่จริงมันก็อยู่ในกายไม่ได้ มันก็เอาออก  มันก็เหลือแต่กายจริงๆ ล้วนๆ ...ตรงนั้นน่ะ มันก็เข้าสู่ความบริสุทธิ์กาย กายวิสุทธิ ศีลวิสุทธิขึ้นมา

แล้วมันก็จะต่อเนื่องอยู่ในกายอันบริสุทธิ์นั้น ดำรงความบริสุทธิ์นั้นไป จนจบวาระขันธ์ อายุขัย นั่น...เพราะนั้นกระดูกพระอริยะ พระอรหันต์ถึงเป็นแก้วไง เพราะท่านอยู่กับกายบริสุทธิ์ไง

ท่านไม่ได้อยู่กับกายที่มีมลทิน ท่านทำความบริสุทธิ์ในกายได้ตลอดเวลา ธาตุขันธ์ก็กลายเป็นความบริสุทธิ์ขึ้นมา เป็นธรรมชาติที่แท้จริงคือธาตุอันบริสุทธิ์ เป็นขันธ์อันบริสุทธิ์

เอ้า เท่านี้ก่อน ...ทำให้มากกว่าฟัง ...คอยถามตัวเองไว้ “ทำอะไรอยู่”


.................................



วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 11/32 (2)


พระอาจารย์
11/32 (add560623C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
23 มิถุนายน 2556
(ช่วง 2)



(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 11/32  ช่วง 1

โยม –   แรกๆ มันก็ดับแป๊บเดียวนะคะพระอาจารย์ มันดับแป๊บเดียว แล้วมันก็ปรุงขึ้นมาใหม่

พระอาจารย์ –  จิตน่ะมันขยันปรุง เพราะจิตมันยังไม่หยุด ยังอบรมไม่ได้ที่ ...ต้องอบรมให้ได้ที่ได้ฐานของสมาธิ มันก็จะหยุด ...ทีนี้มันจะหยุดมากกว่าไป

เพราะอะไร ...เพราะมันมีปัญญากำกับ ยิ่งไปยิ่งทุกข์ ยิ่งคิดยิ่งทุกข์ ยิ่งปรุงยิ่งทุกข์ ยิ่งปรุงยิ่งมากเรื่อง ...มันก็จะหยุดด้วยตัวของมันเอง เพราะมันมีปัญญาเห็นเหตุ..เห็นเหตุแล้ว

แต่ถ้ายังไม่มีปัญญาน่ะ ...มันก็ยังชอบคิด อยากคิด...คิดแล้วมันจะมีความสุข มีความสบาย ...มันก็ยังพาเข้าดงหมามุ่ยโดยไม่รู้ตัวว่ามันเป็นดงหมามุ่ยกันน่ะ 

มันคิดว่าจะไปเจอเพชร เจอทอง เจอของดีที่หมายมั่นอยู่ในนั้น นั่นน่ะ มันเข้าใจของมันอย่างนั้นลึกๆ น่ะ มันก็เลยไม่สามารถจะหยุดได้ด้วยตัวของมันเอง

แต่เมื่อใดที่มันรู้ว่าเป็นดงหมามุ่ยแล้วนี่ เรียกว่ามีปัญญาแล้ว รู้ว่าเป็นเหตุแห่งทุกข์...แล้วกูจะไปทำไม จะคิดทำไม มันก็จะหยุด ทีนี้มันจะชอบหยุดมากกว่าชอบไป

มันก็จะไม่ค่อยมีความเห็น ไม่ค่อยปรุง ไม่ค่อยมีคอมเมนท์ ไม่ค่อยไปนิยามบัญญัติ ไม่ค่อยไปอะไรกับอะไร ไม่ค่อยมีอะไรกับเสียง ไม่ค่อยไปอะไรกับรูป ไม่ค่อยอะไรกับวิตกวิจารณ์ 

ก็ไม่วิพากษ์วิจารณ์สมมุติบัญญัติขึ้นมา ไม่หาเหตุหาผล หาถูกหาผิดกับเสียง กับกลิ่น กับรส กับการกระทำคำพูดของสัตว์บุคคล เหตุการณ์บ้านเมือง หรือในโลก อย่างนี้ มันก็สงบด้วยความเป็นสันติอยู่ข้างใน

เพราะว่ามันรู้เลยว่า...มันไร้สาระ ปรุงแต่งขึ้นไปเท่าไหร่ ทุกข์ก็มากขึ้นเท่ากับที่ปรุงแต่งนั่นแหละ ...ปรุงแต่งสิบทุกข์ก็สิบ ปรุงแต่งห้าทุกข์ก็ห้า ปรุงแต่งหนึ่งทุกข์ก็หนึ่ง  ไม่ปรุงแต่งเลย...ไม่ทุกข์

เนี่ย เขาเรียกว่าปัญญามันเกิดแล้ว มันเห็นแล้ว...แล้วจิตมันก็ยอม เพราะมันยอมรับ ...มันไม่ใช่ยอมรับเพราะตำรา มันไม่ได้ยอมรับเพราะเราบอก เราสอน เราสั่ง

แต่มันจะยอมรับต่อเมื่อมันเห็นและเข้าใจในตัวของมันเอง...เป็นปัจจัตตัง มันจึงจะยอมหยุดโดยตัวของมันเอง ...อวิชชานี่ มันต้องเล่นกันอย่างนี้ ความไม่รู้นี่

จะเอาตำรามากลบทับมัน จะเอาตำรามาบอกมาสอนมัน บอกมัน ด่ามัน มันไม่ฟังหรอก ยังไงก็ไม่ฟัง ...มันถือดี อวดดี อหังการ ดื้อรั้น มันถือความเป็นเจ้าของเจ้าของในตัวของมันเองตลอดเวลา

นั่นแหละคือนิสัยของจิต นิสัยของเรา นิสัยของอวิชชา...อะไรมากระทบสัมผัสสัมพันธ์ปั๊บนี่ เป็นเรื่องของเราหมดเลย อะไรมาผ่านหูผ่านตา ก็ปุ๊บ..เป็นเราเห็นเราได้ยินหมดเลย

โดยที่ไม่ต้องคิด ไม่ต้องตรึก ไม่ต้องตรองเลยนะ  มันว่าของมันโดยอัตโนมัติเลยว่าเป็นเราเห็น เราได้ยิน...ทันทีทันควันเลย นั่นน่ะเขาเรียกว่าอนุสัย

มันอยู่ในกมลสันดาน อยู่ในขันธสันดานเลย นั่นน่ะ …เพราะนั้นเวลาขันธ์มันกระทบอะไรปุ๊บนี่ "เรา" ก็เกิดพร้อมกันตรงนั้นเลย ...นี่ มันไวขนาดนั้นน่ะ

เพราะนั้นการภาวนามันจึงอ่อนข้อกันไม่ได้เลยนะ...สติน่ะ มันต้องฝึกจนมันเต็มขีดขั้นของสติ  สมาธิก็ต้องเต็มจนเต็มขีดขั้นของสมาธินั่น...หนึ่งก็คือหนึ่ง

มันจึงจะเกิดความรู้เท่าทันทุกขบวนการของจิตที่มันเข้าไปรับสัมผัสเป็นมโนวิญญาณ..ในวิญญาณทั้งหก..สฬายตนะนั่นแหละ คือมันออกมาเป็นมโนวิญญาณ ที่ว่า...ด้วยมหาสติ มันจะเท่าทันทุกมโนวิญญาณ 

เพราะนั้น อวิชชาปัจจยาสังขาร สังขารปัจจยาวิญญาณ วิญญาณปัจจยานามรูป นามรูปปัจจยาสฬายตนะ ...นั่นน่ะ วิญญาณ มันเข้าไปทันที่วิญญาณ...ด้วยมหาสติ 

นั่น มันก็ไม่สามารถไปสร้างความเป็นเรา เกิดเป็นเรากับอายตนะได้ ...เมื่อไม่ได้ มันก็เห็นแต่อายตนะนั้นมีแต่ความดับไปเปล่าๆ เกิดขึ้นเปล่าๆ ตั้งอยู่เปล่าๆ แล้วก็ดับไปเปล่าๆ

นี่มันเห็นรวมหมดเลย ทั้งกาย ทั้งอวัยวะภายนอก ...แต่เบื้องต้นนี่เราไปจับอายตนะหก..ไม่ทันหรอก  เอาแค่อายตนะเดียวนี่...กายวิญญาณ

กายวิญญาณคือรู้แค่กาย รู้จำเพาะกาย รู้จำเพาะศีลก่อน ...แล้วมันจึงค่อยแผ่ขยายความรู้ความเห็นโดยรอบ โดยรวม โดยทั่ว โดยตลอดออกไป

แต่ในสติขั้นต้น รู้ขั้นต้นนี่ รู้แค่สิ่งเดียวกายเดียวนี่แหละ ...แค่นี้มันยังทำกันไม่ได้เลย ยังรู้ไม่ต่อเนื่องเลย ยังเห็นกายไม่ต่อเนื่องเลย ไม่ต้องพูดถึงการเห็นการได้ยินหรอก...ไปไม่รอด ไม่รอด

หรือจะไปดูเท่าทันทุกอาการจิตก็ไม่รอด หรือไปดับให้ได้ทุกดวงจิตที่มันเกิดก็ไม่ได้...ไม่ทัน ไม่มีทางทันเลยในสติระดับเด็กอนุบาลนี่ ไม่มีทางเลย

ถึงบอกว่า มันต้องค่อยๆ สะสมไป ...เริ่มต้นตั้งฐาน มีบาทมีฐานที่มั่นคงแข็งแรง...โดยอาศัยศีลเป็นฐาน อาศัยกายเป็นฐาน อาศัยรู้เป็นฐานใจ

ถึงแม้การรู้กายๆๆ อาจจะเห็นรู้ไม่ชัดก็ตาม รู้อาจจะไม่ปรากฏเด่นชัดก็ตาม กายมันชัดกว่ารู้ก็ตาม ...แต่นั่นน่ะ มันเป็นการสร้างบาทฐานของศีล ให้เกิดความมั่นคงในองค์ศีล

สมาธิมันก็จะค่อยแข็งแกร่งขึ้นไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ  การรู้ชัดเห็นชัดก็จะเริ่มชัดเจนขึ้นภายใน ...ตรงนี้มันจะเห็นว่าจิตตั้งมั่น คือจิตตั้งมั่นก็รู้ว่าจิตตั้งมั่น

มันเริ่มเข้าใจว่า นี่คือจิตตั้งมั่น...นี่คือจิตไม่ตั้งมั่นแล้ว ...แปลว่ามันเกิดความชัดเจนตั้งมั่นขึ้นภายใน จนเปรียบเทียบได้ว่า อันนี้ตั้งมั่น อันนี้ไม่ตั้งมั่น

จนมีแต่จิตที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว นั่นแหละทุกอย่างที่ผ่านมาและผ่านไป มันก็จะรับรู้ด้วยความเป็นกลาง ...ถ้ามันตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ทุกสิ่งที่ผ่านมา ตั้งอยู่ดับไปนี่ จะรับรู้ด้วยความเป็นกลาง

เมื่อรับรู้ด้วยความเป็นกลาง มันก็หมายความว่าจะไม่มีเรา ไม่มีความเป็นเราของเราเข้าไปในนั้นโดยจิตปรุงแต่ง ...มันก็จะเห็นความเกิดความดับไป เป็นธรรมดาของทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมาผ่านไป

หรือบางอย่าง บางเหตุปัจจัยมันยังไม่ดับ...ยังตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ด้วยความเป็นสักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่ากาย สักแต่ว่าจิต สักแต่ว่าธรรม สักแต่ว่าเวทนา

โดยเฉพาะเวทนานี่ ไม่ใช่ว่าดูทุกครั้งแล้วมันดับทุกครั้งนะ ...มันไม่ดับ ก็ตั้งอยู่...แต่มันก็ตั้งอยู่ในฐานะที่ว่าสักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่ใคร ของใคร

ก็ฝึกไปอย่างนี้แหละ ลงฐานของศีล ฐานของกาย...ให้มั่น ให้แน่น ย้ำลงให้แน่น ให้มั่น ...ไม่ลืม ไม่ขาด ไม่ว่าง ไม่เว้น ไม่เว้นวรรคขาดตอน ไม่เผลอไผลไร้สติ

ขวนขวายในสติ ในศีล อยู่เสมอ ทุกที่ ทุกกาล ทุกเหตุการณ์ ทุกบุคคล ทุกเรื่องราว ...มันต้องมีให้ได้ เจริญขึ้นให้ได้ในศีล ในกาย ในสติปัจจุบันที่ตั้งมั่นอยู่กับกาย

ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหน อารมณ์จะอยู่แบบไหน จะมีกิเลสอยู่ตรงนั้นมากน้อยขนาดไหน ต้องตั้งมั่นอยู่กับกายนั้นให้ได้ โดยความที่ว่าไม่ย่อท้อ

เวลาโกรธ เวลาหงุดหงิด เวลาอึดอัดรำคาญ เวลาเบื่อคนนั้นคนนี้ ...พวกนี้ มันจะต้องตั้งมั่นอยู่กับกายให้ได้ ต้องมีกายตรงนั้นปรากฏขึ้นมาให้ได้ 

ด้วยการระลึกรู้ขึ้นมา...ไม่ต้องรอ ไม่ต้องรอให้อารมณ์นี้หายไปก่อน จางไปก่อน แล้วค่อยทำ ...ต้องทำให้ได้ ต้องเจริญให้ได้...เพราะกายมันไม่หนีไปไหน

ระหว่างที่มันโกรธ ระหว่างที่มันอึดอัด ระหว่างที่มันคับแคบคับข้องอยู่ภายใน ...กายก็ยังอยู่ตรงนั้น ทำไมมันรู้ไม่ได้ มันไปคาตรงไหน มันไปติดตรงไหน มันไปบังสติ บังศีลตรงไหน

อะไรมันมาบัง อะไรมันมาบังศีล อะไรมันมาบังมรรค ...ต้องเอาชนะกันตรงนั้น อย่าไปรอๆ ...ถ้ารอปุ๊บเดี๋ยวมันก็เป็นข้ออ้าง พอมันหมดอารมณ์นั้น ว่างจากอารมณ์ก็ลอยอีกแล้ว

ลอย สบาย...พักก่อนๆ เมื่อกี้เพิ่งเหนื่อยจากการโกรธ การเครียด การขึง การตึง การแน่น การเร่าร้อนกับคนนั้นคนนี้ ก็เออพักซะ มันจะได้สบายใจสักหน่อย...ก็ลอย

มันต้องเอาจนภาวนาไม่มีเวล่ำเวลาเลย ภาวนาตลอดเวลา รู้ตัวตลอดเวลา เห็นกายอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่คับขันเลวร้ายขนาดไหนก็ตาม

เพราะว่าการดำรงชีวิต การดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนี่ มันมีแต่เรื่องมีแต่ราวอยู่ตลอด มันมีแต่เรื่องของกิเลส...กิเลสตัวเองก็พอแรง กิเลสของคนรอบข้างก็มี

เพราะว่าเราอยู่ในสังคมปุถุชน มันไม่ใช่สังคมของพระอรหันต์ ...ยังไงก็มีแต่เรื่องของกิเลสความเห็นแก่ตัว ความเอาแต่อารมณ์ การทำ การพูด การคิด ก็เป็นไปตามความไม่รู้ของสัตว์โลก

มันก็ต้องมีเรื่อง...แล้วตัวเองก็ไม่ใช่ว่าหมดกิเลส ...เพราะนั้นกิเลสเจอกิเลส ก็เหมือนกับไฟเจอไฟ ก็ต้องเร่าร้อนอยู่แล้ว เพราะนั้นมันไวมาก เหมือนกับเป็นเชื้อไฟอยู่แล้ว

ถึงแม้ไฟเราจะไม่ลุกไหม้ก็ตาม แต่มันก็เหมือนกับอย่าให้อะไรมาสะกิดนะ มันก็ไหม้ออกไปทันทีเลย เพราะกิเลสมันก็เป็นเผ่าพ้องเดียวกัน เพื่อนพ้องเดียวกัน

เพราะนั้นมันหนีไม่ได้อยู่แล้วในเรื่องราวต่างๆ ในอารมณ์ มันเป็นการที่กิเลสมันจะเกิดได้ตลอดเวลาเลย

เพราะนั้น มันจะต้องฝึกที่จะทวนกลับมาตั้งมั่นอยู่กับกาย รู้อยู่กับกายในทุกกระบวนการ ทุกอากัปกริยาของจิตที่มันสร้างอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง หรือว่ามันจะค้างคาอยู่ก็ตาม

เพราะบางอารมณ์มันไม่ดับหรอก มันค้างเติ่งอยู่อย่างนั้นน่ะ เช่นความเบื่อเซ็งอย่างนี้ อึดอัดนี่ สมมุติว่าไปนั่งอยู่กับคนที่เราเกลียดอย่างนี้ แล้วมันเข้ามาพอดีอย่างนี้ มันอึดอัดอย่างนี้

ความอึดอัดมันก็จะคาอยู่อย่างนั้น “เมื่อไหร่มันจะไปสักทีวะๆ” อย่างเนี้ย ถ้ามัวแต่คิด เห็นมั้ย มันก็ยิ่งทุกข์ ...ก็ต้องตั้งมั่น ท่ามกลางความอึดอัดนั้น 

นั่น มันก็มีกายอยู่ตรงนั้นมั้ย รู้ลงไป...ก็ต้องแหวกว่ายลงไปในฐานศีล ฐานสมาธิให้ได้


โยม –  ให้เราดูลงไปตรงนั้นเลย

พระอาจารย์ –  ตรงที่กายนั่นแหละ ไม่ต้องไปดูอึดอัด ไม่ต้องไปแก้อึดอัดด้วย ...ถ้ายิ่งแก้ยิ่งยุ่ง ยิ่งแก้ยิ่งฟุ้ง เดี๋ยวก็ได้มีอาการกายวาจาที่ไปเหน็บไปแนม หรือว่าไปกระแทกกระทั้นอะไรอย่างนี้

ก็พยายามหยั่งรู้ ...แหวกๆ แหวกกองกิเลส ให้เข้าไปถึงกาย ให้เข้าไปถึงรู้ ตรงนั้นให้ได้


โยม –  พอเรากลับมารู้น่ะค่ะ สมมุติว่า เราเจอกับคนที่เราอึดอัดนี่ค่ะ แล้วเราอยู่กับเขา คือเราไม่โต้ตอบเขา เขาก็ว่าเราแบบไม่ใส่ใจอย่างนี้ค่ะ

พระอาจารย์ –  ก็ไม่ต้องไปสนใจน่ะ เสียงนกเสียงกา เสียงหอยเสียงปู ...สละ สละความที่เขาจะมองเรายังไงก็ได้ เราก็ตั้งมั่นของเราภายใน ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้


โยม –  มันก็จะเป็นผลต่อเนื่องน่ะค่ะพระอาจารย์

พระอาจารย์ –  ก็ดีแล้ว มันต่อเนื่องแบบเพื่อจะขาดไง ไม่ได้ต่อเนื่องที่ให้ไปผูกพัน


โยม –  เขาน่ะค่ะจะมาผูกพันกับเรา

พระอาจารย์ –  ไม่รู้ล่ะ แต่เราน่ะให้ขาดอยู่ตลอด ให้ขาดออก ...ใครจะผูก ใครจะไม่ผูก มันห้ามกันไม่ได้นะ ...ถ้าเราไม่ไปติดเขา ไม่ไปเกาะ...เราแกะออกอย่างนี้  

มันจะเกาะขนาดไหน เราก็แกะขนาดนั้น...มันก็เกาะไม่ติดหรอก เดี๋ยวมันก็เบื่อที่จะเกาะไปเองน่ะ ...แต่เราขยันแกะหน่อย ต้องคอยแกะ 


(ต่อแทร็ก 11/32  ช่วง 3)



วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 11/32 (1)


พระอาจารย์
11/32 (add560623C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
23 มิถุนายน 2556
(ช่วง 1)



(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  3  ช่วงบทความ)

โยม –  เหมือนเวลามันจะดูอย่างนี้ค่ะพระอาจารย์  มันจะเหมือนวิ่งไป วิ่งไปดูที่ตา วิ่งไปดูลมหายใจ วิ่งไปดูที่ขา อะไรอย่างนี้ค่ะ

พระอาจารย์ –  เออ ดูไปเหอะ อย่างนั้นก็ทำได้ ...ขอให้มันเป็นอาการของกายจริงๆ  ไม่ใช่นึกๆ คิดๆ  ให้มันเป็นความรู้สึกจริงๆ มันเป็นกายผัสสะจริงๆ ที่มันปรากฏ


โยม –  อย่างนี้เราจะรู้ได้ยังไงคะพระอาจารย์ ว่าเราคิดเอาหรือมันไปดูจริงๆ

พระอาจารย์ –  เดี๋ยวมันแยกออกเองน่ะ เพราะกายตามความคิดนี่ มันเป็นกายที่ไม่มีอยู่จริงนั่งอยู่นี่ มันรู้สึกตรงไหนบ้างเล่า มีความรู้สึกอะไรบ้าง


โยม –  อย่างถ้านั่งอย่างนี้ค่ะ ก็จะดูที่ก้นค่ะ

พระอาจารย์ –  เออ ก็นั่นน่ะ หยั่ง คอยหยั่งๆๆๆ ไว้ อย่าให้มันลืม


โยม –  ค่ะ แล้วสักพักหนึ่งก็จะไปรู้ที่ลมหายใจน่ะค่ะ

พระอาจารย์ –  ให้มันวนเวียนอยู่ในกายนั่นแหละ ที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องจำเพาะว่าก้นหรือว่าลม


โยม –  ก็มีปวด เมื่อยอย่างนี้ มันจะขึ้นมาเป็นพักๆ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ได้หมด ...ก็เรียกว่า เขาจะแสดงบทบาทไหนขึ้นมา ก็ดูมันไป กายมันก็มีบทบาทของกาย  เดี๋ยวก็เป็นอย่างนั้น เดี๋ยวก็เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวก็ชัดตรงนั้น

แต่ถ้าไม่มีบทบาทชัดเจนนี่ แล้วมันไม่รู้จะดูอะไร ก็บอกว่าดูรูปกายโดยรวมว่ารูปกายกำลังเป็นรูปทรงอย่างไร เป็นรูปทรงนั่ง หรือมันอยู่ในรูปทรงไหน

อย่างอยู่ในอิริยาบถนั่ง ก็ให้เห็นตัวเองนั่ง ให้เห็นตัวรูปกายนั่ง  แล้วก็ในรูปกายนั่งก็จะค่อยๆ ชัดเจนในความรู้สึกของการนั่งขึ้นมา ทีละเล็กทีละน้อย

คือเอาอิริยาบถใหญ่ไว้ก่อน ...ถ้าเวลาหากายไม่เจอ เวลาหลงเพลินหายไปนี่ ต้องกลับมาถามตัวเองว่าทำอะไรอยู่นี่ แล้วกลับมารู้ในอิริยาบถ ว่าอยู่ในอิริยาบถไหน


โยม –  เอาใหญ่ๆ ไว้ก่อน

พระอาจารย์ –  เอาใหญ่ไว้ก่อน พอใหญ่แล้วก็จับใหญ่ไว้ จับรูปทรงอิริยาบถไว้ จับรูปกายไว้ ว่ายืน หรือนั่ง หรือเดิน

พอมันจับอยู่กับอิริยาบถได้แล้วนี่ ความรู้สึกในอิริยาบถ หรืออิริยาบถย่อย กายในกาย เรียกว่ากายย่อยในกายใหญ่นี่ มันก็จะปรากฏ ...ทีนี้พอกายย่อยปรากฏนี่ ก็ต้องไล่ คอยสอดส่อง

เพราะมันจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาในกาย ในอิริยาบถ เช่นในนั่งนี่ เดี๋ยวก็เปลี่ยนไปตรงโน้น เดี๋ยวก็เปลี่ยนไปตรงนี้ เดี๋ยวก็ไปชัดตรงนั้น เดี๋ยวก็ชัดตรงนี้ขึ้นมา 

ก็เรียกว่ากายมันกำลังแสดงบทบาท นั่น ดูเฉยๆ รู้เฉยๆ ให้ทัน..ให้ทันอาการของกายเหล่านี้ ...ไม่ต้องคิดไม่ต้องหาอะไร แล้วแต่เขาจะแสดงยังไงก็ดูมันไป


โยม –  พระอาจารย์คะ แล้วอย่างสมมุติแวบแรกเลย...เราแบบหลงๆ ไป แวบแรกเรามารู้ลมหายใจก่อนน่ะค่ะ

พระอาจารย์ –  ได้ อะไรก็ได้


โยม –  แล้วต่อจากนั้น เราควรจะรู้อะไรต่อ

พระอาจารย์ –  แล้วก็ขยายลม สูดลมให้เห็นอิริยาบถ ทั้งกายเลย ...ขยาย เขาเรียกว่าขยายลม ให้เห็นทั่วตัว ให้เห็นรูปกายทั่วตัวก่อน ...ไม่งั้นลมนี่มันละเอียด 

พอลมมันละเอียด แล้วจะไปจับลมละเอียดในอิริยาบถหยาบ นี่ เดี๋ยวหาย เดี๋ยวลมหาย ...พอลมหายแล้วมันจะพาให้จิตหายไปด้วย ใจหายไปเลย รู้ก็หาย สติก็หาย

แต่ว่าพอขยายลมมาทั่วอิริยาบถกายใหญ่ กายธาตุ กายมหาภูตรูป ๔ ...ตรงนี้ มันจะลงมาที่กายหยาบขึ้น ...พอกายหยาบปุ๊บนี่ การระลึกรู้ การเท่าทันในระดับสติที่ยังอ่อนด้อยของพวกเรานี่ มันก็จะชัดเจน

แต่ถ้าเป็นสติละเอียดแล้วนี่ ฝึกดีแล้วนี่ ก็สามารถกำหนดลมได้ตลอดเวลาเหมือนกัน คือเห็นลมได้ด้วยความต่อเนื่องในแทบจะทุกอิริยาบถก็ได้ ...แต่ว่าต้องเป็นผู้ที่มีสติที่มั่นคงจริงๆ ละเอียดจริงๆ แล้ว

แต่ในเบื้องต้นน่ะ เราไม่แนะนำหรอกให้เอาลมเป็นที่ระลึกรู้โดยตรง ...การดึงกลับมาน่ะมันชัดในขณะแรกเท่านั้นเอง แต่ว่าจะต้องมาไล่..ไล่กายใหญ่ ไล่อิริยาบถ อยู่กับอิริยาบถ อิริยาบถ ๔ นี่ อย่าให้ขาด

เพราะยังไงๆ มันก็ต้องมีอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งอยู่แล้วในการดำรงชีวิต ในขณะที่เอาสติมาระลึกรู้ตรงนั้นน่ะ ...เพราะนั้นเราถึงบอกให้ถามตัวเองว่า "ทำอะไรอยู่" บ่อยๆ 

ท่องไว้ “ทำอะไรอยู่ๆๆ” แล้วกลับมาดู ทำอะไรอยู่ ...ต่อไปก็ขยับเขยื้อน กำลังไหวก็รู้ว่ากำลังไหว กำลังคู้ กำลังหัน กำลังหมุน กำลังเอื้อม กำลังพลิก กำลังทำอะไรต่อไป 

มันก็จะรู้ต่อเนื่องๆ ไป ...ให้มันเห็นอาการกายเชื่อมอิริยาบถต่อเนื่องไป เกิดความรู้ตัวทั่วพร้อมไป อย่าใจร้อนแค่นั้นเอง  ใจเย็นๆ แล้วก็ค่อยๆ อย่ารีบร้อน อย่าเร่งรัด

เพราะถ้ารีบร้อนเร่งรัดแล้วมันจะเคร่งเครียด ...พอเคร่งเครียดแล้วมันจะอยากได้..แล้วไม่ได้  พออยากได้แล้วไม่ได้ แล้วมันจะท้อ แล้วมันจะทิ้ง เข้าใจมั้ย

มันจะเป็นอย่างนี้ นักภาวนามันจะมักง่าย แล้วก็โลภมาก จะเอาเร็วๆ ...พอฟังไป คิดว่าเข้าใจดีแล้ว ง่าย รู้ดีแล้ว ...ไปทำจริงๆ มันไม่ได้ มันแทบไม่ได้เลยน่ะ

ก็ค่อยๆ เรียนรู้  ค่อยๆ ฝึก  แต่ว่าไม่ทิ้งงานนี้ ทำไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ  แล้วกลับมาทำแบบเดิมซ้ำเดิมๆ อยู่บ่อย นั่นแหละ เหมือนกับพวกนักกีฬาที่เขาฝึกซ้อมน่ะ

เหมือนกับนักตะกร้อ นักวอลเลย์บอลนี่ กว่าที่มันจะเสริฟได้ลูกที่มันลงขอบลงเขต มันต้องฝึกมาเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นครั้งน่ะ ฝึกซ้อมมันอยู่ที่เดียว จนกว่ามันจะชำนาญ หลับตาตีลูกก็ยังลง อย่างเนี้ย

มันก็เหมือนกันน่ะ การฝึกซ้อม..ก็ต้องฝึกซ้อมที่เดิมที่เก่าน่ะ จะไปเปลี่ยนที่ไม่ได้ เรียกว่าทำซ้ำๆ ซากๆ ลงไป รู้แบบเดิม ก็รู้ที่กายอันเดิม ก็รู้ที่ปกติกาย ก็คือปกติกาย

อย่าไปบอกว่าตรงนี้ ตรงนั้นไหม วิธีการนั้นวิธีการนี้มันจะมาช่วยไหม นี่ จิตมันจะเริ่มค้นหาแล้ว ...ฟุ้งซ่าน นี่เรียกว่าจิตฟุ้งซ่าน...ก็ละซะ อย่าไปเอามาเป็นธุระ

อย่าเอามาเป็นไกด์ไลน์ อย่าเอามาเป็นบทนำ อย่าเอามาเป็นตัวชี้นำ ...เพราะไอ้ตัวนั้นน่ะคือตัวเรา  อะไรที่ “เรา” ชี้นำนั่นน่ะ พาไปสู่ความวิบัติ หรือหายนะ หรือทุกข์ หรือหมุนวน

มันจะพาไปไหนรู้มั้ย พาเข้าดงหมามุ่ย...เออ แต่มันคิดว่ามันจะพาไปสวรรค์น่ะ คิดว่าพาไปมรรคผลนิพพาน ...แต่จริงๆ ที่แท้มันพาเข้าดงหมามุ่ย ดงขี้ ดงทุ่นระเบิด ดงกับดัก ดงแร้ว ดงห่วง ดงปืน

เนี่ย มันก็พาเข้ารกเข้าพง เข้าดงไปอย่างนี้ ...“เรา” น่ะพาไปตกระกำลำบากอยู่ตลอดเวลา วนเวียนอยู่ในโลกสามโลกธาตุ ก็เพราะ “เรา” นี่พาไปอยู่ตลอดเวลา

แต่ถ้าให้มรรคนี่พาไป...มรรคไม่พาไปไหนเลย มรรคนี่อยู่กับปัจจุบัน...โดยสติเป็นตัวคอยกำกับ ให้มันอยู่ ให้มันหยุด ...เพราะนั้นการหยุดอยู่กับปัจจุบันนั่นแหละคือการเดินในองค์มรรค

มันเดินด้วยการหยุด...นั่นแหละมรรค ...แต่จิตมันคุ้นเคยไงว่า ถ้าทำอย่างนั้น ไปตรงนั้น ไปอย่างนี้ แล้วเรียกว่าเดิน คือได้...ถ้าได้อะไรเรียกว่าเดินหน้าหรือก้าวหน้า อะไรอย่างนั้น

ไม่ใช่หรอก...มรรคนี่ต้องหยุดอยู่กับปัจจุบันกาย ปัจจุบันขันธ์ มันจึงจะเดินปัญญา ปัญญาจึงจะเดิน ...เดินยังไง ...เดินด้วยการรู้ชัด เข้าใจชัดเจน 

แจ้งในปัจจุบันขันธ์ แจ้งในปัจจุบันกาย แจ้งในขณะทุกปัจจุบันกายที่ปรากฏ...ว่ามันเป็นอะไร มีการเกิดอย่างไร มีการตั้งอย่างไร มีการดับไปอย่างไร 

และในการเกิด ในการตั้ง ในการมาก ในการน้อย ในการดับไปนี่ มันมีอะไรไหมที่บ่งบอกถึงความเป็นเราของเรา ...นี่ มันจะแจ้งอยู่ในทุกปัจจุบันกายที่ปรากฏอย่างนี้...ทีละเล็กทีละน้อย 

ปัญญามันก็เดินไปด้วยการเข้าอกเข้าใจในตัวของมันเอง พร้อมกับถอดถอนความเห็นผิด ความเข้าใจผิดในกาย ...ความยึดมั่น ความถือมั่น ความเชื่อแบบผิดๆ เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิในกาย มันก็คลายๆ

มันคลายไปด้วยความรู้ชัด รู้จริง รู้แจ้งเห็นจริง...อยู่ในปัจจุบันกายทุกขณะๆ  ในการเกิด ในการตั้ง ในการดับของเหตุแห่งกายที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นอะไร

จะดีจะร้าย จะควร-จะไม่สมควรตามที่มันเคยให้ค่าไว้ก็ตาม ...มันก็เห็นความเกิดความดับเท่านั้น...ที่ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีเราไม่มีของเราในการเกิดในการดับทุกปัจจุบันกายที่ปรากฏ

แม้มันจะตั้งอยู่..ไม่ดับ แสดงความไม่ดับ ...บางอาการที่มันตั้งอยู่ เช่นแข็ง เช่นอ้าว เช่นอบอย่างนี้ มันก็ตั้งอยู่ด้วยความเป็นกลางๆ ไม่มีความหมาย ...เงียบๆ

มันไม่บ่งบอกสัญลักษณ์ว่าคืออะไร เป็นอะไร  ไม่มีการบ่งชี้ว่าอาการนี้เป็นใครของใคร มันไม่มี...ไม่มีอะไร ไม่มีอะไรในกายเลย ไม่มีอะไรในขันธ์เลย

มันไม่มีอะไรในนั่ง ไม่มีอะไรในเดิน ไม่มีอะไรในยืน ไม่มีอะไรในนอน  ไม่มีอะไรในขยับ ในไหว ในแน่น ในตึง  ไม่มีอะไรในแข็ง ในร้อน ในอ่อน ในนิ่ง

เห็นมั้ย ไม่มีอะไรในปวด ในเมื่อย ในเวทนาทั้งหลายในกาย มันไม่มีอะไร ...เวทนาก็คือเวทนาล้วนๆ กายคือกาย เหตุแห่งกาย ไม่มีอะไรในนั้นเลย ...มันจะเห็นน่ะ

นั่น มันก็จะเห็นว่าขันธ์น่ะ ในขันธ์น่ะ ในขันธ์ที่ปรากฏน่ะ มันล้วนแล้วแต่ว่างเปล่า ไม่มีอะไรในนั้น ...คำว่าไม่มีอะไรในนั้นคือ...ไม่มีแม้กระทั่งเราในนั้น

แล้วยังมาบอกว่าเป็นเรา ของเรา ตรงไหนล่ะ...ดูเข้าไป ดูดีๆ ...มันดูยังไงก็ไม่มีอะไรในนั้น มันไม่มีอะไร ก็มีแต่เกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป 

มันไม่ตกค้างเป็นอะไรหลงเหลืออยู่ในนั้นเลย ไม่มีว่ายังมีอะไรที่ยังไม่ดับมั้ย ยังมีอะไรลึกๆ ในนั้น ...มันก็ดับไปหมดสิ้นไปในปัจจุบันนั้นเอง...ในอาการแห่งการปรากฏนั้น


(ต่อแทร็ก 11/32  ช่วง 2)