วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2557

แทร็ก 11/9




พระอาจารย์

11/9 (560506F)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

6 พฤษภาคม 2556




พระอาจารย์ –  ให้มันขยัน ... ตัวมันน่ะ ไอ้คนฟังนี่ถ้ามันขยัน แล้วมันก็ได้มรรคผลนิพพานของมันเองน่ะ มันไม่ได้ประโยชน์ของเราเลยนะเนี่ย  มันได้กับคนนั้น...คนฟังแล้วเอาไปทำน่ะ ประโยชน์ก็ได้กับตัวเองทั้งนั้น ... จะมาขี้เกียจขี้คร้านทำไม

ไอ้เราซะอีกมันน่าจะขี้เกียจพูดมากกว่า ใช่มั้ย ไม่เห็นต้องพูดเลย  เราก็ไม่ได้ตกนรก ขึ้นสวรรค์ ลงเหวลงห้วยอะไรด้วยนี่  เพราะนั้นการที่พูดนี่คือ...เห็นอกเห็นใจในความที่ตกระกำลำบากกับความเคยชิน แล้วไม่รู้ตัวว่านอนตายอยู่กับความเคยชิน โดยอาศัยความรู้นิดๆ หน่อยๆ ที่ว่าพอเข้าใจในองค์ศีลสมาธิปัญญา

เราถึงบอกว่าแค่นี้มันไม่พอ มันต้องให้มากกว่านี้ ... มันเอาจนเต็มน่ะ เต็มจนไม่มีพื้นที่ ให้หลงเหลือสำหรับความหลง ลืม เผลอ เพลิน ความคิด อดีตอนาคต ...ถ้ามันรู้ตัวเต็ม มันจะไม่มีพื้นที่ว่างให้ที่อื่นเลย...จิต ที่มันจะแสดงอาการบ้าบอคอแตกไร้สาระ

แต่ตอนนี้น่ะมันจิตยุ่บจิตยั่บ คิดยุ่บคิดยั่บ อารมณ์นิดอารมณ์น้อยเต็มไปหมด วนเวียนไปหมด จนหากายใจแทบไม่เจอเลย  กว่าจะลงมากายใจที...ได้ซักที ซักพักนึงนี่ หอบแฮ่กๆ เหมือนหมาหอบแดด  เหนื่อยเลยน่ะ เอากันจนเหนื่อยเลยน่ะ

แล้วถ้าเราไม่พากเพียร อดทนที่จะซ้ำซากๆ จริงๆ จังๆ นี่  มันจะหลุดจากอาการหมาหอบแดดไม่ได้หรอก ...เพราะว่ากิเลสทับถมน่ะ 

กิเลสตัวเองก็พอแรงแล้ว ยังกิเลสคนรอบข้างอีก กิเลสที่เราจะต้องพบเจอประจำวันอีก สำหรับสิ่งที่ไม่ได้คาดไม่ได้หมาย แบบขาจรก็มี ...ไอ้กิเลสขาประจำก็มี คือในครอบครัว คนรอบข้าง คนใกล้ชิด คนที่จะต้องผูกพันกันด้วยเหตุอันควรและไม่ควรก็ตาม แล้วยังมีขาจรเวียนมาอีกนะ

เพราะนั้นมันจะมีเรื่องที่จะต้องหลุดต้องรอด ต้องออกไปคิด ต้องออกไปปรุง ต้องออกไปสร้างอดีต ต้องออกไปสร้างอนาคต ต้องออกไปสร้างความหวังความหมาย ต้องออกไปสร้างเกราะป้องกันตัวเองในอดีต ตัวเองในอนาคตอยู่ตลอดเวลา ...กาย-ใจปัจจุบันจึงหาได้ยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร

เราจะต้องฝึก ...เมื่อได้ทีก็ต้องขี่หมาไล่ ขี่แพะไล่น่ะ เช่น เวลาอยู่คนเดียว เวลาไม่ได้ทำการงาน เวลาที่กลับมาอยู่บ้าน กลับมาอยู่กับสถานที่ที่ไม่มีเรื่องราว อะไรเหล่านี้ ... ไม่ใช่ว่ากลับมาแล้วก็ว่า พักซักหน่อย สบาย ออกจากงานแล้ว 

ก็กลับมาอีร่องเดิมอีก คือหลง เพลินอีก คือจะพักจากงานภายนอก มันเหนื่อย จะพัก ...ก็เลยพักจิตพักใจ หายไปเลย ...หลับ จิตหลับนะ ตาไม่หลับหรอก ฟังเพลงเพลินดี หรือไม่มันก็นั่งนอนยืนเดินชมนกชมไม้ ช็อปปิ้ง ไปนู่นไปนี่ สบายหูสบายตา เพลิดเพลินเจริญใจไปในสถานที่ที่ไปแล้วมีความสุข ไปแล้วมีความสบาย  ก็มีความสุขดี

มันแก้ไม่ได้ ...มันหมดเวลาไปกับความไร้สาระอีกแล้ว  แม้มันจะไม่มีความทุกข์ก็ตาม เหมือนได้พักก็ตาม  แต่ว่ามันแค่เป็นความสงบระงับชั่วคราวเท่านั้น มันไม่มีปัญญาหรือญาณทัสสนะที่มันจะเป็นยาแก้ เป็นธรรมโอสถ ... ที่เข้าไปคุ้มกัน ป้องกันภัยในภายภาคหน้า

ปัญญานี่ มันสร้างภูมิคุ้มกัน  แล้วมันก็จะไม่ให้โรคใหม่มาเกิด แล้วก็ไม่ให้โรคเก่ากำเริบ  และในขณะเดียวกันก็ถอดถอนโรคเก่าที่ฝังอยู่ภายใน ... นี่ ธรรมโอสถ หรือว่าปัญญาญาณที่เกิดจากศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นอธิศีล อธิสมาธิ

เพราะนั้นอย่าปล่อยให้หมดเวลาไปกับภายนอก และก็ปล่อยเวลาให้หมดไปกับความเลื่อนลอย ...ให้มันหมดเวลาไปกับความรู้ตัว ...จะเหนื่อยหน่อยก็ต้องทน จะยากหน่อย ลำบากหน่อย ก็ต้องอดทน 

เหมือนกับการรู้ตัวสำหรับผู้ที่ไม่ชำนาญการนี่ ...เหมือนเราถือแก้วที่มีน้ำเต็มๆ แล้วเดินไปเดินมา  มันกระเพื่อมแล้วก็กระฉอกออกไปตลอด จนมาดูอีกที อ้าว น้ำหาย เหลือแต่แก้ว อะไรอย่างนี้ ...ใหม่ๆ มันจะเป็นอย่างนั้น

กว่าที่มันจะคล่องแคล่วว่องไว หมายความว่าประเภทเล่นกายกรรมแล้วแก้วน้ำไม่หกน่ะ ประมาณนั้น เขาเรียกว่าแน่...นั่นน่ะพระอริยะ ท่านฝึกถึงขั้นแบบกายกรรมล้ำเลิศพิสดาร คือหมายความว่าจะท่าไหน อิริยาบถไหน อยู่ในสถานการณ์คับขันขนาดไหน แก้วน้ำนี่ไม่หกน่ะ ...คือความรู้ตัวเต็มเปี่ยมอยู่อย่างนั้น

นี่เขาเรียกว่าสู้ได้กับกิเลสทุกตัว ไม่กลัวเลย  กายใจก็คือกายใจเท่าเดิม ปกติเหมือนเดิม ... แต่กิเลสมากน้อยใหญ่ก็มี อยากแสดงก็มาแลบลิ้นปลิ้นตาเหมือนลิงหลอกเจ้าอยู่ข้างหน้า อู้ย พระอริยะท่านเห็นกิเลสพวกนั้น เห็นกิเลสภายนอก หรือกิเลสความคิดของตัวเองก็ตาม เหมือนกับลิงหลอกเจ้า ...ท่านไม่ได้ยี่หระเลย

ไม่ได้ให้ค่าให้ความสำคัญมันจนเป็นความเดือดเนื้อร้อนใจ หรือว่าเป็นทุกข์เป็นร้อน หรือว่าเป็นสุขเลย ... เฉยๆ ...ก็รู้อยู่ว่าเป็นลิงหลอกเจ้า เดี๋ยวมันก็ไป มันก็ว้อบๆ แว้บๆ ก็แค่นั้นน่ะ ทำไมจะต้องไปโกรธลิงที่มันมา แฮ่ๆ ฮื่อๆ ใส่  ...ก็เหมือนหมาเห่าแต่ไม่ดุน่ะ มันไม่กัดหรอก เลี้ยงหมามาทำไมจะไม่รู้ หมากระดาษ เสือกระดาษ ไม่ใช่เสือจริง ...มันรู้นี่

เรียกว่าสติความรู้ตัวทั่วพร้อมนี่เต็มเปี่ยม ก็จะเห็นทุกอย่างเหมือนของหลอกหมด  จิตมันจะเพียรสร้าง ขยันสร้างขนาดไหน ที่จะให้เป็นเสมือนจริง ดูเหมือนจริง แล้วก็จะให้มี “เรา” เข้าไปอยู่กับมันจริงๆ 

นี่ ไม่ได้แอ้มหรอก ... ปัญญานี่มันทัน มันชัดเจนมาก...ว่าความจริงมีอยู่แค่นี้สองอย่าง กาย...ที่เป็นกายศีล กับรู้...ที่เป็นใจรู้เห็นเท่านั้นเอง  ถ้านอกจากสองสิ่งนี้ ท่านมีความ ซ.ต.พ. สรุปได้ในระดับภูมิปัญญานั้นๆ ว่าไม่จริง ...ก็ทิ้งได้โดยไม่อาวรณ์ ไม่อาลัยเลย โดยไม่ลังเลสงสัยเลยว่าจะเป็นอะไรต่อหรือไม่เป็นอะไรต่อ 

แต่พวกเราบางทีทิ้งอดีตทิ้งอนาคตในความคิดไม่ได้ เพราะเรากลัวที่เราจะไม่เป็น หรือเรากลัวที่จะเป็น ในอนาคตนั้นๆ เราเลยไม่กล้าทิ้งความคิดนี้

แต่พระอริยะนี่เขาเรียกว่าไม่หวั่นไหว ไม่กลัวเลย ไม่กลัวความที่จะเป็น “เรา” ในอดีตอนาคต หรือไม่เป็น “เรา” อย่างที่คิดในอดีตและอนาคตเลย  เพราะอะไร ...เพราะท่านเข้าใจว่าจริงๆ มันไม่มีตัว“เรา”

เนี่ย คือพื้นฐาน นี่คือหลักแรก หลักเริ่มต้นของการที่จะต้องกลับมารู้กาย ...เพื่ออะไร  เพื่อให้เห็นกายที่แท้จริง ล้วนๆ ว่ามันเป็นแค่อะไร มันเป็น “เรา” ตรงไหน  ...หรือมันไม่ได้เป็น “เรา” ตรงไหนเลย นี่ แล้วมันจะมี “เรา” ในอดีตอนาคตได้อย่างไร

ถ้ามันไม่เห็น “เรา” ตรงนี้ หมดไปสิ้นไปในปัจจุบันกายนี่ มันก็สร้าง “เรา” ในอดีตอนาคตมาเป็นผู้รองรับแต่สุข-ทุกข์อยู่ตลอดเวลา แล้วก็เป็น “เรา” ในปัจจุบันที่ไม่กล้าออกจากความคิด อดไม่ได้ที่จะต้องคิด...แล้วมันอุ่นใจ

มันเกิดความอุ่นใจนะ เหมือนกับมีความอุ่นใจว่า ถ้าได้คิดไว้ล่วงหน้า โปรเจ็คไว้ว่าการเจอ การทำตรงนั้น จุดนี้ แล้วการพูดการคุยกับคนนี้แล้วจะทำยังไงดี จะต้องเตรียมยังไงดี ...มันมีความอุ่นใจที่ “ตัวเรา” จะมีความสุขในข้างหน้า

สุดท้ายมันก็เหมือนเดิมน่ะ คิดไปก็เพื่อสนองความที่ “ตัวเรา” ในปัจจุบันที่จะเจอในข้างหน้าต่อไป ให้มันได้ความสุข ... “เรา” ก็ยังมีสมบูรณ์ ครบถ้วน ทั้งอดีตและอนาคตก็ช่วยกัน สนับสนุนกัน เพื่อให้ “เรา” นี่แข็งแกร่ง  “เรา” ในปัจจุบันที่มันจะยั่งยืน หรือว่าเป็นนิรันดร์กาลในการเกิดการตายซะยังงั้น

แต่เมื่อใดที่มันมาทำความแจ้งชัดในกาย ในศีล ในปัจจุบันกายปัจจุบันศีล แล้วมันจะเห็นแค่ว่ากายนี่เป็นแค่ก้อนธาตุ เป็นซากที่ไร้ชีวิต ...คำว่าไร้ชีวิตคือไร้ความเป็นบุคคล  ตัวตนมี...แต่ตัวตนเป็นบุคคลไม่มี  

การเป็นตัวตนคือการก่อรวมตัวกันขึ้นเป็นลักษณะอาการน่ะ...มี เช่น แข็ง ไหว นี่ลมพัดรู้สึกมั้ย รู้สึกวูบๆ คือการก่อรวมตัวกันขึ้นเป็นปฏิกิริยาอาการ เรียกว่าเป็นธาตุกระทบธาตุ มันมีผัสสะกระทบกัน มันก็มีรู้สึกเป็นธาตุเป็นเวทนา เป็นระยะๆ ตามการกระทบนั้นๆ ในการปรากฏขึ้นของการกระทบของภายนอกกับภายใน คือกายกับอายตนะ

แล้วมันมีตรงไหน เวลาไหน ส่วนไหน ลักษณะไหนที่ว่าเป็นเพศชายเพศหญิงบ่งบอก มีลักษณะไหนอาการไหนที่มันแสดงถึงความมีชีวิตเป็นบุคคลเราเขา

อย่างนี้ถ้ามันหมดเวลาไปกับการที่คอยสังเกต ระวังอาการทางกาย ด้วยความสม่ำเสมอต่อเนื่อง ...มันจะยังเชื่ออยู่มั้ยว่ากายนี้เป็นเรา

อันนี้คิดเอาเองแล้วกัน นี่เรียกว่าจินตามยปัญญา ให้ใคร่ครวญอย่างนี้ ...มันไม่ต้องไปเอา หรือไปบังคับ ไปยื้อ หรือว่าทำยังไงถึงจะไม่ให้มี  ... เช่นอย่างบางทีโกรธนะ ในความเป็นเราในเรื่องราวต่างๆ แล้วมันไม่ยอมหายน่ะ  แล้วจะพยายามดับ ละมันให้ได้ 

อู้ย แต่ก่อนเราก็เคยโง่...แบบ “เรา” เกิดตรงไหน หูย ไปไล่ดับแบบไม่ให้มันผุดมันเกิดมาเลยน่ะ ... เดี๋ยวจะตายน่ะ กายภายนอกนี่จะตายเอาเลย ...หมายความว่ามันมีเหตุทำให้กายนี่เกิดอาการวิปริต เป็นธาตุวิปริตขึ้นมาได้...เลยพอดีตายกัน

เหมือนกับเราเข้าไปบังคับให้มันตาย เหมือนเอา “เรา” ให้มันตายแบบไม่ให้ผุดไม่ให้เกิดนี่ มันกระเทือนไปถึงขันธ์เลย  เพราะว่า “ตัวเรา” กับตัวขันธ์นี่มันยังเชื่อมกันอยู่ มันยังกลืนกันเป็นเนื้อเดียวกันอยู่ แล้วไปทำอย่างนั้น เพราะไม่เข้าใจ คือยังทำแบบโง่ๆ อยู่ แล้วก็คิดว่ามีปัญญาด้วย  พอไม่ให้ “เรา” เกิดขึ้นเลย มันก็ดีน่ะ ...ดีจนกายมันจะตาย


เนี่ย กว่าจะเล่นกับขันธ์ กว่าจะเล่นกับกิเลส กว่าจะเล่นกับกายใจ กว่าจะเล่นกับวิถีแห่งมรรคนี่ ไม่ใช่ของง่ายหรอก  กว่าที่จะมาพูดมาคุยสนุก เล่นๆ เพลินๆ นี่ ไม่ง่ายปานนั้นหรอกนะ  มันผ่าน... มันผ่านหลายอย่าง มันลองหลายวิธี มันทำมาหลายแบบ

ทั้งๆ ที่ว่าพยายามไม่ผิดจากศีลสมาธิปัญญาแล้วนี่แหละ ไม่ได้หลุดออกไปถึงข้ามจักรวาลอื่นนะเนี่ย ก็มาห้ำหั่นทำลายกายใจอยู่ภายในนี้ กายเราใจเราของเราอยู่ข้างใน ...มันก็ยังมีผลข้างเคียง

แต่ทุกอย่างเมื่อมันผ่านพ้นแล้วนี่ ชัดเจนหมดเลยในวิถี ทุกอย่างมันมาสงเคราะห์ให้เกิดความแยกถูก แยกวิถีจิต วิถีคิด ... ออกจากวิถีจิตวิถีคิด ให้เข้าสู่วิถีรู้เฉยๆ เข้าสู่วิถีกายกับวิถีรู้เฉยๆ  นอกนั้นละ นอกนั้นวาง ไม่เอาอะไรมาเป็นตัวกำหนดวิถี เพราะมันจะเกิดความคลาดเคลื่อนแบบบางทีมันก็ไม่สามารถเอาคืนได้เลย

เมื่อรู้ตัวใหม่ก็รู้ใหม่ไป พร้อมกับทำความเข้าใจกับทุกสิ่งที่ผ่านมาและกำลังดำรงอยู่เท่านั้นเอง ...มันเป็นการเรียนรู้เรื่องของตัวเองทั้งสิ้นเลย แล้วก็ปฏิกิริยาอาการของขันธ์เป็นอย่างไรก็รู้ไปเท่าที่ขันธ์มันจะแสดงอาการ ด้วยความไม่หวั่นไหว ด้วยการไม่เข้าไปวิพากษ์วิจารณ์ในขันธ์นั้น แค่นั้นเอง แค่นั้นจริงๆ

กว่าที่เราจะออกจากจิตที่ช่างคิด ช่างค้น ช่างวิเคราะห์ ช่างหา ช่างสร้าง ช่างให้ความเห็นนี่  มันต้องขัดเกลามาทั้งอย่างหยาบ กลาง อุกฤษฎ์ ละเอียด และประณีต ...มันมีหลายขั้นตอนเลยทีเดียว

เพราะนั้นในการฝึกการปฏิบัติของพวกเรานี่ สิ่งที่จะต้องสำเหนียก ระวัง แล้วก็ให้เข้าใจว่า...ต้องเป็นการละพยศของจิต หรือเป็นการกำราบจิต ที่ไม่ให้มันมีอำนาจเหนือศีลสมาธิปัญญา ไม่ให้มันมี “เรา” ที่มีอำนาจเหนือเกินกว่าปัจจุบัน จนมันลากมันดึงออกนอกศีลสมาธิปัญญาซึ่งเป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายของความเป็นปัจจุบัน

มันจะดำรงความเป็นปัจจุบันไม่ได้เลย หรือมันจะดำรงความรู้ตัวไม่ได้เลย ถ้าไม่มีศีลสมาธิปัญญา ...เพราะนั้นทุกครั้งทุกขณะที่มีความรู้ตัวอยู่ ขณะนั้นหมายความว่าศีลสมาธิปัญญาบังเกิดอยู่  แต่มันยังมีจิตผู้ไม่รู้นี่ หรือ “เรา” ที่มันจะสร้าง “เรา” มาจากจิตผู้ไม่รู้นี่ ที่มันจะออกนอกความรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา

เราจะต้องมาคอยกำราบ “เรา” ความคิดของเรา ความเห็นของเรา ตัวตนของเราในอดีต ตัวตนของเราในอนาคต ตัวตนที่จะสุขในอดีต ตัวตนที่จะทุกข์ในอนาคต ตัวตนที่จะสบายกว่านี้ในอนาคตนี่ ... เราจะต้องกำราบพวกนี้ จนมันอยู่ในกรอบปัจจุบันกาย ...ตะจะ ปริยันโต ไม่ออกนอกกรอบเนื้อกรอบหนังนี้ ...กรอบความรู้สึกของกายปัจจุบันนี้

จึงเรียกว่า จิตนี้สมควรแก่งาน จึงเป็นจิตที่สมควรแก่งานในมรรคคือปัญญา จึงเป็นจิตที่เรียกว่าเป็นสัมมาสมาธิ ...เริ่มเป็นสัมมาสมาธิที่มากขึ้น สมควรแก่ปัญญาญาณ  

แต่ถ้าจิตไม่อยู่ในกรอบ จิตไม่อยู่ในที่ จิตไม่ได้รับการอบรม จิตไม่ได้ละพยศ จิตมันยังกระเสือกกระสนดิ้นรนโดยไร้ขอบเขตตลอดเวลา  จิตเหล่านี้เรียกว่าจิตที่ไม่มีคุณค่า จิตหยาบ จิตต่ำ จิตที่ไม่มีสาระ แล้วกระทำเรื่องไร้สาระ ...นี่ไม่ควรแก่งาน

เราจะต้องมาอบรมจิตนี้จนเป็นจิตที่สมควรแก่งาน ... เพราะนั้นจิตที่สมควรแก่งานก็คือดวงจิตผู้รู้อยู่ในปัจจุบันนั่นเอง  เพราะนั้นดวงจิตผู้รู้อยู่มันจะเกิดได้...ต้องอบรมด้วยสติ ศีล สมาธิ แล้วมันจะอยู่ได้เพราะปัญญา ... ถ้าไม่มีปัญญา ความเป็นดวงจิตผู้รู้ผู้เห็นอยู่ จะอยู่ได้ไม่นาน

ทุกอย่างลงอยู่แค่นี้ รวมอยู่แค่นี้  วิถีทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์...ก็อยู่ในที่นี้ทั้งหมดนี่ 

ที่พระพุทธเจ้าท่านจำแนกแยกธรรมมากมายก่ายกอง เพราะเหล่าสัตว์นี่สงสัยมาก ท่านเลยต้องพูดมาก ... ถ้าไม่มีเหตุ พระพุทธเจ้าจะไม่พูด  ถ้าไม่มีปัญหา พระพุทธเจ้าท่านจะไม่พูด ท่านจะไม่ตัดสิน  ซึ่งก็เพราะพระในสมัยนั้นน่ะ ทำให้พระทุกวันนี้ มี ๒๒๗ ข้อ 

เพราะศีลที่เป็นวินัยนี่ ไม่ใช่อยู่ดีๆ พระพุทธเจ้าก็บอกเลยว่า มี ๒๒๗ นะ ไปรักษากันนะ ... คือสมัยนั้นมันจะมีกลุ่มพระขี้ฟ้อง เขาเรียกฉัพพัคคีย์ เขาจัดเป็นก๊กเลยนะ ๖ องค์เขา ฉัพพัคคีย์ นี่ก็คอยนั่ง...ไม่ได้ภาวนาหรอก...คอยจับผิดพระ

เดี๋ยวพระองค์นั้นก็ไปเดินเล่น สะบัดจีวรเล่นอยู่ในบ้าน  พวกนี้ก็วิ่งแร่ไปหาพระพุทธเจ้า กล่าวว่า 'ข้าพเจ้าอาวุโส เห็นพระไปทำอย่างนั้นน่ะ ดูน่าเกลียดนะ' ... พระพุทธเจ้าก็เรียกพระองค์นั้นมาถาม 'ทำอย่างนั้นจริงหรือ' ... 'จริง' ... เอ้า ปรับอาบัติ อย่าทำ เป็นถุลลัจจัย ก็ว่าไป ...มันก็ขยันฟ้องกันเข้าไป เดือดร้อนเราอีก ๒๒๗ ข้อต้องมารักษา

แต่ถ้าไม่มีคนฟ้องก็ไม่มีศีล ...พระพุทธเจ้าจะไม่พูดเลยนะ อยู่ดีๆ ไม่ใช่พูดมาเลื่อนลอยๆ นะ...เพราะนั้นการกล่าวอ้าง การกล่าวธรรม เนื่องด้วยคนฟังทั้งหมด  มันมีเหตุปัจจัยภายนอกมากระทบ ธรรมท่านก็จะว่าไปตามเหตุปัจจัยที่มากระทบนั้นๆ

เหมือนกับอภิธรรม ทำไมท่านพูดแต่เรื่อง จิ-เจ-รู-นิ ...จิต เจตสิก รูป นิพพาน เห็นมั้ย หัวข้อใหญ่ของอภิธรรมนี่  จิ-คือจิต เจ-เจตสิก รู-รูป นิ-นิพพาน ท่านพูดแค่สี่ตัว  

เพราะท่านไปเทศน์อยู่ดาวดึงส์ ท่านเทศน์ให้เทวดาฟัง จิ-เจ-รู-นิ...จิต เจตสิก รูป นิพพาน ... ท่านพูดถึงรูปนะ ท่านไม่ได้พูดเรื่องกายเลยนะ  เพราะว่าไม่ได้สอนคน ท่านสอนเทวดา ซึ่งมีแต่รูป...รูปนิมิต หรือรูปสัญญา คือรูปหรือรัศมี เป็นรูป ไม่มีกาย ไม่มีมหาภูตรูป 24.00

คนที่ไม่เข้าใจ ก็ไปเอามาแล้วก็มาจดมาจำ มาไล่ชวนะจิตกัน ขณะจิตกัน ๑๖ ชวนะจิตในการเห็น ในการได้ยิน ถ้าโดยรายละเอียดแล้วต้องกี่ร้อยชวนะจิต ... มันก็เลยเกิดความคลาดเคลื่อนน่ะ ว่าธรรมไม่สมควรแก่ธรรม ประพฤติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม มันเกินธรรม

ธรรมขั้นมนุษย์คืออะไร ...ศีลนี่เป็นเครื่องยืนยัน  ความรู้สึกในกายก็คือศีลนั่นเองที่เป็นเครื่องบ่งบอกว่า เนี้ย อันตัวข้าพเจ้าปัจจุบัน ที่ว่าเป็นตัวเรา เล่าอ้างกันว่าตัวเรานี่ คือคน เพราะมันมีความรู้สึกเย็นร้อนอ่อนแข็งแบบคน มีทรวดทรงสองแขนสองขา แท่งๆ อย่างนี้...คือมนุษย์

ความเป็นกายนี่เป็นเครื่องบ่งบอกของภพชาติปัจจุบัน ศีลจึงเป็นเครื่องบ่งบอกความเป็นคน ...เพราะนั้นตัวปกติกายคือคำว่าปกติศีล จึงเป็นเครื่องหมายสัญลักษณ์แสดงความเป็นคน ไม่ใช่สัตว์ประเภทอื่น ไม่ใช่สัตว์ประเภทเทวดา พรหม อรูปพรหม อสูรกาย เดรัจฉาน เปรต สัตว์นรก ...ไม่ใช่

เพราะนั้นผู้ใดที่ขาดศีล ผู้นั้นก็หมายความว่าออกจากความเป็นคนซะยังงั้นน่ะ  ผู้ใดที่ขาดความรู้ตัว ไม่รู้ปฏิกิริยาอาการของกายที่กระทบกับสิ่งแวดล้อม ณ ปัจจุบัน ก็เรียกว่าขณะนั้น...ออกจากความเป็นคน ออกจากภพชาติความเป็นคน หมายความว่าออกจากภพชาติตามความเป็นจริงในปัจจุบัน...ซึ่งเป็นคน

เห็นมั้ยว่า ถ้าขาดศีล ไม่มีศีลตัวเดียวนี่ มันออกจากความเป็นคนเลย  จะสูงกว่า-ต่ำกว่าคน ไม่รู้นะ แล้วแต่จิตจะพาไป แล้วแต่จิตจะสร้าง ...สร้างอารมณ์ดีก็เป็นภูมิดี สร้างอารมณ์ชั่วร้ายก็เป็นภูมิต่ำ ส่วนมากก็จะเป็นอสุรกาย สัมภเวสี คือลอยๆ คือกูยังไม่รู้จะเกิดเป็นอะไรดี

แต่เป็นได้ทั้งนั้น ที่ยังลอยอยู่ เคว้งคว้างอยู่ เลื่อนลอยน่ะนั่น มันไปได้หมด...แต่ไม่เป็นคน ทั้งๆ ที่ว่าเป็นคน เออ เอาไงกับมันวะเนี่ย เขาให้เกิดมาเป็นคน แต่ไม่ยอมเป็นคนน่ะ และไม่รู้จักความเป็นคนอีกต่างหาก ไม่รู้สึกถึงความเป็นคนอีกต่างหาก

แล้วมันจะรู้จักภพชาติตามความเป็นจริงได้อย่างไร แล้วมันจะแจ้งในความเป็นจริงปัจจุบันได้อย่างไร แล้วมันจะออกจากภพชาติได้อย่างไร แล้วมันจะไม่เกิดภพชาติใหม่ได้อย่างไร...ขนาดภพปัจจุบันมันยังไม่รู้จักเลย มันยังไม่เห็นภพปัจจุบันตามความเป็นจริงเลย

มันยังอยู่ในภาวะที่เรียกว่าสิงสาราสัตว์น้อยใหญ่ ไม่รู้ว่าเป็นอะไรน่ะ ... ทั้งวันยังไม่รู้เลยว่าเป็นคน ...ได้ไงล่ะ  แล้วมาเกิดเป็นคนทำไม  ไปเกิดเป็นผีซะดีกว่ามั้ย ใช่มั้ย ...เป็นคนแท้ๆ แต่ไม่รู้จักว่าขณะนี้กำลังเป็นคน

เนี่ย ศีลเพราะไม่มีศีลตัวเดียว ขาด ออก หลุดทะลุ บกพร่อง จากความเป็นคนโดยปริยาย ...จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจไม่รู้ล่ะ มันออกไป ไม่เป็นคนแล้ว ...เพราะนั้นภพภูมิที่จะไปจึงอเนกอนันต์ ไม่มีประมาณ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีที่หมาย

เพราะนั้นเวลาตายก็เหมือนกับเสี่ยงทายน่ะ  มันจะ ปึ่บ ออกหัวหรือก้อยไม่รู้ ...ถามตัวเองสิ รู้มั้ย  ไม่มีใครรู้หรอกว่าตายแล้วจะมาเกิดเป็นอะไร ไม่มีใครรู้และกล้าตอบได้ด้วย

เพราะนั้น...ก็ให้รู้ว่าเป็นคนแน่ๆ ณ ที่นี้ แล้วจะแจ้งในความเป็นคน ในทุกกระบวนการของความเป็นคนที่ปรากฏ...
ว่ามันคืออะไร ความเป็นคนนี้เป็นใคร 
ความแสดงอาการของคนนี้ เป็นของใคร 
ใครนั่ง หรือไม่มีใครนั่ง มีแต่อาการนั่ง 
ในการนั่ง...ไม่มีหญิงนั่ง ไม่มีชายนั่ง ไม่มี “เรา” นั่ง 
ไม่มีชื่อนางสาวกอขอ นายกอนายขอนั่ง มีแต่อะไรก็ไม่รู้มันกองอยู่

เนี่ย เรียกว่าเข้ามาแจ้งในภพปัจจุบันชาติปัจจุบัน ที่ปรากฏเป็นก้อนศีลกองศีล เป็นปกติกาย ปัจจุบันกายอยู่ตลอดเวลา ...มันจึงจะหลุด จะพ้น จากความเป็นคนได้ แม้ในขณะที่มันยังไม่ตายจากความเป็นคน 

เพราะมันเข้าใจแล้วว่าไอ้ความเป็นคนนี่เป็นยังไง  ที่แท้จริงของมัน ...ไม่ใช่อย่างที่จิต หรือเรา หรืออวิชชา...ที่เข้าใจว่าคนนี้คือตัวของเรา ...มันก็จะแจ้งในภพชาติปัจจุบันนี้ก่อน 

เมื่อมันแจ้งในภพชาติปัจจุบันของความเป็นคนแล้ว หมายความว่า มันจะไม่กลับมาเป็นคนอีกต่อไปแล้ว  เพราะไม่ใช่เรื่องของใคร เพราะความเป็นคนนี้ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่สมบัติของใคร ไม่ใช่ธุระของใคร  ...แล้วไม่มีที่หน้า ที่หมาย ที่ควรแก่การที่จะมาครอบครองอีกต่อไป

ก็สิ้นสุดความเป็นคน ณ ปัจจุบันนั้นนั่นเอง ...ความสิ้นสุดในภพปัจจุบัน ชาติปัจจุบัน ออกจากความเป็นคนโดยสำเร็จโดยสิ้นเชิง ...  จึงเรียกว่า ความเกิดเป็นคน มนุษย์นี่ ถือเป็นชาติสุดท้าย ครั้งสุดท้ายแล้ว



...............................






วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2557

แทร็ก 11/8




พระอาจารย์

11/8 (560506E)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

6 พฤษภาคม 2556




พระอาจารย์ –  สำหรับผู้ปฏิบัติเริ่มต้นนี่ จะต้องทำความชัดเจนอยู่ในสองอย่างก่อนว่า ยังไงเรียกว่ารู้ตัว อย่างไหนเรียกว่าไม่รู้ตัว ...แล้วเมื่อชัด เมื่อเข้าใจว่าอย่างนี้เรียกว่ารู้ตัว ก็ให้ทำความรู้ตัวนั้นน่ะ...ให้มาก ให้นาน ให้ต่อเนื่อง ให้ได้ตลอด ให้ได้โดยลักษณะที่เรียกว่า...ทุกที่ ทุกกาล ทุกเวลา ทุกสถาน

เล่นกีฬาก็รู้ตัวได้  ขึ้นรถ ขับรถก็รู้ตัวซะ  ต้องรู้ตัวให้ได้ เวลาทำงาน เวลากินข้าว เวลาอยู่คนเดียว เวลาพูด เวลาคุย   ให้เห็นเลยว่าที่เราเคยผ่านๆ มานี่ เราอยู่ด้วยความไม่รู้ตัวเลย ... และให้เห็นว่า การปฏิบัติก็คือ การทำยังไงก็ได้ คือการฝึกที่จะให้มีคำว่า “รู้ตัว” ในทุกกิจกรรม ทุกการดำเนินไปของชีวิต ในชีวิตประจำวัน

อย่ามัวแต่หา อย่ามัวแต่รอ อย่ามัวแต่คอย อย่ามัวแต่คิด ...ถ้ามันรู้ตัวเป็น รู้ตัวได้ชัด  เอาตรงคำว่ารู้ตัวนั่นแหละมาแก้  ทุกสิ่ง...ที่มันเริ่มคิด ที่มันกำลังหา ...ไม่ว่าจะหาในทางโลก หาผัว หาเมีย หาเงิน หางานที่ดี หาความสุข หาสถานที่สร้างบ้าน หาซื้อรถ หา...นี่เขาเรียกว่าหาในโลก ก็คิดหา

หรือหาในธรรม ...ว่าพิจารณาตามที่อาจารย์พูด หรือเคยได้ยิน เคยอ่านมาว่าธรรมนั้นอย่างนี้ คือศีลอย่างนั้น คือสมาธิอย่างนี้  มัวแต่คิดในธรรม...ก็ไม่เอา  ทำความรู้ตัวตรงนั้นให้ได้  แล้วก็ออกจากความคิด ที่กำลังหาในโลกกับหาในธรรมนั้น ... ออกมา ไม่ต้องไปหามันแล้ว ทำความรู้ตัวแทน

มันก็จะได้ซักนิดหนึ่ง ...แล้วมันก็หาต่อในความคิด เดี๋ยวมันก็หาออกไปอีก ได้ซักสิบครั้ง-ยี่สิบครั้งก็ดีแล้ว...ในการรู้ตัว  เพราะอะไร เพราะสิบครั้ง-ยี่สิบครั้ง ในระดับพวกโยมนี่ เดี๋ยวโยมจะบอกว่า 'กูไม่รู้อีกแล้ว ช่างหัวมันดีกว่า'...ปล่อยเลย ...มันจะเป็นอย่างนั้น ใหม่ๆ มันจะเป็นอย่างนั้นเลย

เราก็จะต้องพยายามพัฒนาตัวเอง  ...อย่างเวลาเราทำงานเรายังต้องมีการประเมินผลใช่ไหม ประเมินผลงานน่ะ หัวหน้าเขาต้องประเมินผลงาน ว่า 'เฮ้ย มันสมควรจะได้สองขั้นหรือว่าลดขั้นวะ' ... เนี้ย มันต้องมีการพัฒนาตัวเองขึ้นมา มันต้องพัฒนาการรู้ตัวขึ้นมา ศีลสมาธิปัญญามันถึงจะพัฒนาขึ้นมา

ถ้าไม่พัฒนาขึ้นมา ...กระแสของโลก กระแสของจิต  กระแสของกิเลสที่มีอยู่ภายใน แล้วก็ยังมีกิเลสของภายนอกที่ครอบคลุมอยู่  มันจะพัดพาศีลสมาธิปัญญาหรือคำว่ารู้ตัวนี้ ให้มันหายไปกับกระแสเหล่านั้น ให้เข้าสู่คำว่าตกต่ำ

แต่พวกเราจะไม่รู้จักคำว่าตกต่ำหรอก เพราะมันตกต่ำจนคุ้นเคย ...คือมันอยู่ในความตกต่ำ โดยที่ว่ามันไม่รู้ว่ามันตกต่ำอยู่ เข้าใจมั้ย  แล้วมันก็จะเข้าไปกลมกลืน ...เหมือนเดิมนั่นแหละ คือเหมือนกับ...'ไม่เป็นไร ช่างหัวมันเถอะ ไม่เป็นไรหรอก'

แต่นั่นน่ะ ถ้าเป็นภาษาแบบผู้มีตาญาณนะ หรือภาษาแบบของพระพุทธเจ้า นั่นน่ะคือภาวะตกต่ำ...คืออยู่ภายใต้อำนาจควบคุมครอบครองของอวิชชาความไม่รู้ ตัณหา อุปาทาน ...ซึ่งอำนาจเหล่านั้นน่ะ ที่มันมีอำนาจเหนือศีลสมาธิปัญญา เหนือกาย-ใจปัจจุบันนี่ ... มันมีผลคือ เกิดความเป็นทุกข์ที่ไม่มีคำว่าจบและสิ้น

ไอ้ที่เราว่า 'สบายๆ ไม่มีอะไรหรอก ปล่อยมันไปตามภาษามันเถอะ จะมานั่งคร่ำเคร่งรู้ตัวทำไม' ...ไอ้ตรงนี้แหละคือความตกต่ำแบบซ้ำซาก  แล้วไม่รู้สึกว่ามันเป็นความตกต่ำด้วยซ้ำ เหมือนๆ กันหมดนั่นแหละคนในโลก ก็ไม่เห็นเป็นไรเลย นั่น ...ก็เรียกว่ามันไม่ปากกัดตีนถีบน่ะ

เขาเคยมีคำพูดแบบภาษาสมัยก่อน คนจีนเวลาล่องเรือมาเมืองไทย มาแบบเสื่อผืนหมอนใบนะ ไอ้จากเสื่อผืนหมอนใบ เดี๋ยวนี้เป็นเจ้าสัว เจ้าของธนาคาร ก็เริ่มมาจากเสื่อผืนหมอนใบ ...แต่ว่ามี “ปากกัดตีนถีบ” น่ะ

แต่ถ้าพวกเรานี่ มันไม่ได้มีปากกัดตีนถีบอะไรเลย ได้แค่ปากกัดตีนถีบ...รู้ตัวอยู่แค่ครั้งนึง  ถ้าสองครั้ง...พอไหว  สามครั้ง...ชักหนักไปแล้วนะ  พอสี่ครั้งห้าครั้ง... โอ้ย ไม่เอาแล้วโว้ย ทำไมมันยากเหลือเกินเนี่ย

มันก็จะตกอยู่ในกระแสวังวนเหมือนเดิม แล้วว่าสบายใจดี ...ก็ดี สบายดี ดีตามภาษา “เรา” ... “เรา” น่ะชอบ เพราะไม่ต้องทำอะไร  “เรา” จะได้อยู่ยั้งยืนยง เที่ยงสถาพร เป็นเจ้าครอบครองสามโลกธาตุต่อไป ไม่ต้องไปไหนแล้ว

'สบายดี' เพราะมันคุ้นเคย เป็นที่ที่มันคุ้นเคย ... ไอ้ที่ที่มันคุ้นเคยนี่ ท่านเรียกว่าเป็นอนุสัย เป็นอาสวะที่หมักดองอยู่ภายใน จนมันเกิดความคุ้นเคยใน “โลก”  คุ้นเคยกับความคิด คุ้นเคยกับอารมณ์ คุ้นเคยกับกิเลสในโลก ทั้งเขาทั้งเรา ...เห็นเป็นเรื่องธรรมดา เห็นกิเลสเป็นเรื่องธรรมดา

ไม่ใช่ธรรมดาแบบพระอริยะท่านเห็นนะ แต่มันธรรมดาแบบ...เขาก็มีกันทั้งนั้น เราก็มีได้ มีสิทธิ์มีได้เหมือนกัน’  เหมือนอยู่กันกิเลสแบบไม่เป็นพิษเป็นภัยซึ่งกันและกัน  คือมันคุ้นเคย ...ไอ้การคุ้นเคยนั่นแหละ มันเป็นเหตุที่เกิดความว่าประมาท มัวเมา

เข้าไปข้องแวะ เข้าไปใช้มัน อาศัยมัน กินอยู่หลับนอนกับมัน ... ใช้มันเป็นเครื่องมือ ใช้มันเป็นเครื่องแสวงหาความสุข ความสบาย ความดีความชอบ ...และใช้มันเป็นอาวุธในการเข้าไปทำลายล้างเบียดเบียนผู้อื่น 

เนี่ย คุ้นเคยกันเข้าไปเถอะกิเลสน่ะ  สุดท้ายนี่ มันก็คือความเป็นทุกข์ให้กับตัวผู้นั้นเอง ...เหมือนดาบนั้นคืนสนองทั้งหมด

ให้จำไว้เลยว่า ในกฎของโลก กฎของธรรมชาติ ในกฎของจักรวาล ในกฎของเอกภพ ... Action = Reaction  กฎนี้คือไตรลักษณ์ กฎนี้ความไม่เที่ยง คงอยู่ไม่ได้ แปรปรวนเป็นธรรมดา มีทุกข์เป็นที่ตั้งอยู่ แล้วมีความดับไปเป็นวิสัย นี่คือกฎตายตัวของจักรภพ จักรวาล

แล้วเราเป็นใคร ใหญ่มาจากไหน อยู่นอกจักรวาลหรือไง อยู่นอกอนันตาจักรวาลหรือไง ที่จะอยู่เหนือกฎไตรลักษณ์ กฎธรรมชาตินี้

แต่ด้วยจิตที่มันคุ้นเคย มันไม่รู้  จนมันเกิดความอหังการ  จิตคือความอหังการ  “เรา” คือตัวอหังการ  “เรา” คือตัวที่อวดดี  “เรา” คือตัวที่อวดเก่ง  “เรา” คือตัวที่อวดรู้  “เรา” คือตัวที่อวดในสิ่งที่ไม่มีอะไรจะอวด แต่มันอวด

อวดดี ทั้งๆ ที่ตัวมันไม่ดี แต่มันอวดดี อวดเก่ง เอาชนะหมด แก้ได้หมด ทำได้หมด ต้องได้ให้หมด ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลง ต้องเอาชนะ ต้องดำรงไว้ ต้องคงสภาพนั้น สามารถทำอย่างนั้นได้หมด ...อวดดีนะนั่นน่ะ อวดดีกับกฎที่ยิ่งกว่ากฎเหล็กของธรรมชาติ

สุดท้ายน่ะ มันฝ่าฝืนกฎไม่ได้หรอก ... แต่ด้วยความอวดดี ยังทำอีก ...ผลเป็นยังไง ถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต คือเป็นทุกข์นั่นแหละ ... สุดท้ายก็ต้องรับทุกข์ เพราะว่ามันทำไม่ได้ มันไม่ได้ดั่งที่ "เรา" ต้องการหรือดั่งที่ “เรา” ไม่ต้องการ ดั่งที่ “เรา” ไม่อยากได้มัน

แล้วเราก็อยู่กันอย่างนี้กันไปคือ ตาย-เกิด...เกิด-ตายๆๆ ...มันเป็นความคุ้นเคยที่ไม่เห็นเลยว่า การเกิดการตายนี้มีจริง แล้วมีความหมุนวนจริง 

แต่อย่างที่บอก ก็เรียนวิทยาศาสตร์กันมานี่ สสาร-พลังงาน ไม่มีคำว่าสูญหาย ... สสาร-พลังงานนี้ ในจักรวาล อนันตาจักรวาล ไม่มีคำว่าสูญหาย ...มีแต่คำว่าเปลี่ยนสภาพกันไปมา  ตรงนี้สลายไป...เปลี่ยนสภาพเป็นพลังงาน เดี๋ยวพลังงานก็สังเคราะห์ขึ้นมา...เป็นธาตุ เป็นสสารขึ้นมา

ต่อให้โลกนี้ดับ ...ก็ไม่หายไปไหนหรอก เหลือคงไว้แต่สภาพว่างระยะหนึ่ง และจากความว่าง ความไม่มี นั่น แล้วการหมุนการเคลื่อนทำให้เกิดการกระทบ เกิดปฏิกริยาขึ้น เกิดการสังเคราะห์ธาตุขึ้น ทีละอะตอม ทีละโมเลกุล ...จากไม่มีมาเป็นมี  จากว่าง...มาเป็นมี

นี่คือระเบียบของธรรมชาติ ที่มันมีการเชื่อมต่อกันระหว่างสสารและพลังงาน เปลี่ยนกันไปแปลงกันมา ...มันก็จะรวมสร้างโลกขึ้นมาเป็นโลกใบใหม่  จากไม่มีก็มีขึ้นมา เห็นมั้ย  มันไม่มีหรอกอะไรที่มันหายไปน่ะ แต่มาในรูปลักษณ์ใหม่ เหมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่

คนก็เหมือนกัน จิตมนุษย์ก็เหมือนกัน แม้กระทั่งใจก็เหมือนกัน ...ไม่มีอะไรตาย ทุกอย่างเป็นอมตะ  แต่มันเป็นอมตะแบบไหน 

ถ้าใจน่ะเป็นอมตะแบบไม่หวนคืน เป็นนิรันดร์กาล ไม่ขึ้นไม่ลง ไม่เกิดไม่ดับ ไม่มีสภาพ ไร้สภาพ ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีประมาณ ไม่มีรูปลักษณ์สัณฐาน ไม่มีการผสมกลมกลืนกับสิ่งใดอะไรแล้วทำให้เปลี่ยนสภาพได้ เนี่ยใจ ก็เป็นสภาวะที่ไม่ตาย

จิต ขันธ์ห้า ทั้งหมดก็เป็นสภาวะที่ไม่ตาย แต่เป็นสภาวะที่เกิด-ตั้ง-ดับ แล้วก็เกิด-ตั้ง-ดับ แล้วก็เกิด-ตั้ง-ดับ ใหม่  แล้วก็เปลี่ยนแปลงไปทุกการเกิด การตั้ง การดับใหม่ ...ไม่จบเหมือนกัน ไม่ดับสนิทเหมือนกัน ไม่มีอะไรดับสนิทเลย

แต่ที่เรียกว่านิพพานคือความดับโดยสิ้นเชิงนี่ คือดับไอ้อาการที่จะพาให้เกิดการเกิด-การดับอีกต่อไป นี่ ดับตัวนี้โดยสิ้นเชิง มันจึงไม่เข้าไปหมุนวนกับการเกิด-การตั้ง-การดับนี้อีก ชั่วอนันตกาล

แต่ว่าคงสภาวะที่ยิ่งกว่าเที่ยงน่ะ เหนือคำว่าเที่ยงด้วยซ้ำ ...มันจะเอาคำว่าเที่ยงมาไม่ได้ เพราะมันไม่รู้จะเรียกว่าเที่ยงยังไง  ที่มันเรียกว่าเที่ยงเพราะมันมีไม่เที่ยง แต่ตรงนี้มันเป็นสภาวะที่ไม่มีคำว่าไม่เที่ยง มันจะเรียกว่าเที่ยงมั้ยเล่า

มันจะว่าไม่เที่ยงก็ได้ จะว่าเที่ยงก็ได้ จะเรียกว่าอนัตตาก็ได้ จะเรียกว่าอัตตาก็ได้ เอาไงก็ได้ ...มันไม่เป็นอะไรสักอย่างในนั้น เพราะมันเกินกว่าบัญญัติที่มี  เพราะถ้าเป็นบัญญัติมันจะต้องมีของที่คู่กัน คือมีเกิด-มีดับ มีมีก็มีเสีย มันจะเป็นธรรมคู่ตลอดในโลกในจักรวาล

แต่ว่าในนั้นคือธรรมเอก มันเป็นความไม่มีในที่สุด ไอ้นั่นน่ะคือเอกจริงๆ ไม่ใช่เอก-หนึ่งนะ หนึ่งน่ะยังมี แต่จริงๆ คำว่านิพพาน หรือว่าใจตรงนั้นน่ะ ท่านเรียกว่าไพบูลย์ เป็นความไพบูลย์ของจิต ไม่เรียกว่าหนึ่งด้วย

หนึ่งนี่ยังเป็นแค่จิตรวมเป็นหนึ่ง หรือว่าใจของพระอรหัตตมรรค เท่านั้นเอง เป็นหนึ่งเป็นเอก  แต่ถ้าพ้นอรหัตตมรรคแล้วเป็นอนันตมหาสุญญตา มันเกินหนึ่ง ยิ่งกว่าหนึ่ง หรือว่าต่ำกว่าหนึ่ง หรือว่าสูงกว่าหนึ่งก็ได้...ถ้าจะพูดนะ  แต่ต่ำกว่าหนึ่งก็คือศูนย์ ถ้าสูงกว่าหนึ่งก็คือไม่มีคำว่าสอง


เพราะนั้นการที่จะเข้าสู่องค์มรรค เดินไปในองค์มรรคนี่...เราจะต้องมาเข้าใจความหมายตั้งแต่ศีลสมาธิปัญญาเป็นต้นไป จนถึงที่สุด...ก็เป็นที่สุดด้วยศีลสมาธิปัญญานั่นเอง  ไม่มีคำว่าออกจากศีลสมาธิปัญญาได้เลย

เพราะนั้นศีลสมาธิปัญญา  ถ้าพูดง่ายๆ สั้นๆ ก็คือรู้ตัว ไม่ต้องซับซ้อนอะไรหรอก  ฝึก...ยังไงเรียกว่า “รู้ตัว” ยังไงเรียกว่าไม่รู้ตัว แล้วก็ทำความรู้ตัวให้มันมากกว่าความไม่รู้ตัว เท่านั้นแหละ จบ 

ไม่ต้องมาถามเราแล้ว ถามตัวเองว่า...เดี๋ยวนี้รู้ตัวรึเปล่า  ถ้าไม่รู้ก็รู้ซะ ...ไม่ต้องคอยให้มันรู้ขึ้นมาเอง ไม่มีทางหรอก เป็นไปไม่ได้นะที่จะให้มันรู้ขึ้นมาเองน่ะ ตัวน่ะ จิตน่ะ

ท่านถึงบอกว่าต้องเจริญขึ้น ประกอบขึ้น กระทำขึ้น ...ไม่ใช่ว่าเลื่อนๆ ลอยๆ  เหมือนกับซื้อล็อตเตอรี่ทิ้งไว้ คือฟังเราแล้วก็รอให้ถูกหวย ปึง เอ้า คงไม่ถูกหรอก ...ไม่มีทาง สติไม่มาเองหรอก สมาธิไม่มาเองเกิดเองด้วย ...ทั้งๆ ที่มันมีอยู่นะ

แต่ถ้ามันไม่ลงทุนน่ะ หรือเข้าไปประกอบกระทำ หรือในภาษาที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าสัมมาอาชีโว ...ถ้าไม่ทำขึ้นมันก็ไม่มี ทั้งๆ ที่ของมันมีอยู่  เช่น กายมีอยู่ แต่ไม่เคยรู้ เคยดู เคยเห็นเลยว่า กายคืออะไร อยู่ตรงไหน เนี่ย ศีลมีอยู่ตั้งแต่เกิด

หรือว่ามีก่อนเกิดอีก เพราะเขาเป็นของโลก ... มหาภูตรูป ดิน น้ำไฟ ลม อากาศ อุณหภูมิ  เขามีก่อนเราเกิดอีก ศีลน่ะ เขาก็ดำรงความเป็นปกติมา ... แต่จิตน่ะ ไปโอบไปอุ้มมาเป็นปัญจสาขา ...การปฏิสนธิ จากไข่กับอสุจิกันนี่ ยังไม่เป็นอะไรนะ  พอเริ่มเป็นปัญจสาขานี่ เริ่มเป็นรูปร่างของมนุษย์

ก็เอามาจากไหนเล่า ...ก็เอามาจากก้อนศีลในดินน้ำไฟลม คือก้อนธาตุ ก้อนสสาร ก้อนพลังงาน ที่หมุนวนหมุนเวียนอยู่ในบรรยากาศของโลกนี่ ...คือคงไม่ได้เอามาจากนอกโลกหรอก เพราะมันเป็นคนในโลก มันก็เอาของในโลกนี่แหละมาเป็นสมบัติ มาหล่อหลอมขึ้นมา

ใครล่ะเป็นตัวเจ้ากี้เจ้าการในการหล่อหลอมนี้ ...อยู่ดีๆ มันเจ้ากี้เจ้าการเองไม่ได้นะ ทุกอย่างมีต้นสายปลายเหตุ ...พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าอวิชชานั่นแหละๆ ที่มันสร้างจิตเรา ตัวเรานั่นแหละๆ เป็นตัวดำเนินการ เป็นผู้จัดการ เป็นผู้กำกับ ...แล้วก็สร้างตัวละครขึ้นมาหนึ่งตัว

แต่งหน้าดีหน่อยก็เป็นพระเอก แต่งหน้าร้ายหน่อยก็เป็นผู้ร้าย แล้วแต่มัน แล้วแต่จิตผู้ไม่รู้นั้นน่ะ มันจะมีสันดาน อุปนิสัยใด มันก็จะปรุงแต่ง ปั้นแต่งหน้าตาตัวตนเหล่านึ้ขึ้นมา ตามสภาพนั้นๆ

ถึงบอกว่าศีลน่ะมีตั้งแต่เกิด ตั้งแต่ก่อนเกิด ...เกิดก็เกิดมาพร้อมกับก้อนศีลนี่แหละ แต่ไม่รู้จักกัน  

ตั้งแต่เป็นทารกน่ะก็ไม่ว่ากันหรอก พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ว่า เห็นมั้ยว่า ทำไมพระพุทธเจ้าท่านถึงบอกว่าถ้าจะบวชเณรนี่ ต้องเจ็ดขวบขึ้น ... เพราะต่ำกว่าเจ็ดขวบน่ะมันยังเล่นกองดินกองทรายไม่รู้จักอะไรเลย มันไร้เดียงสาเกินไป ท่านก็ไม่ว่าอะไร

แต่พอมันรู้ความแล้ว พอฟังความรู้เรื่อง คิดแยกแยะเป็น เจ็ดขวบขึ้นไปแล้วนี่ ... อู้ย สมัยนี้มันน่าจะต้องเกินเจ็ดขวบน่ะ สามสิบขึ้นยังไม่ค่อยเข้าใจอะไรกันเลยน่ะ ... อย่างบางคนมานั่งฟัง มันก็ลุกไปแบบ...' โว้ย พูดอะไรไม่รู้เรื่อง'  ก็มี ... กลายเป็นกูนี่ผิดเลยน่ะเนี่ย เป็นงั้นไป

เนี่ย มันไม่รู้จักแม้กระทั่งก้อนศีล ...ตั้งแต่เกิดมาจนเดี๋ยวนี้ แล้วก็อยู่กับก้อนกายก้อนธาตุนี้จนวันตาย มันไม่รู้จักคำว่าศีล ...มัวแต่ไปรักษาศีลที่ไหนก็ไม่รู้ มัวแต่ไปรักษาศีลอะไรอยู่ก็ไม่รู้ 

แล้วก็ไประวังการละเมิดนั้นๆ เป็นข้อๆ ด้วยนะ ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ...บางข้อก็ 'เออๆ ในสังคมมันก็ต้องอย่างนี้แหละ ก็ต้องโกหกกันบ้าง ก็ต้องกินเหล้าบ้าง กินไปตามสังคม ถ้าเราไม่ตั้งใจ ละเมิดนิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่เป็นไร' นี่ ไประวัง ไปกลัวศีลตัวนั้น

เพราะมันยังไม่รู้จักศีลที่แท้จริงเลย ...ที่จะเป็นขุมทรัพย์ลายแทง ที่จะเป็นเส้นทางออกจากเขาวงกตวกวนของสังสารวัฏ

ถ้ามันไม่รู้จักศีลที่แท้ ...ไม่ต้องถามหาสมาธิ-ปัญญา ยิ่งไม่ต้องถามหามรรค ยิ่งไม่ต้องถามว่ามัชฌิมาปฏิปทา ยิ่งไม่ต้องถามถึงผลคือนิพพาน ...เหมือนฟ้ากับเหว คนละมิติเลย

แต่เมื่อใดที่มันแยบคาย ชัดเจน ในความหมายของคำว่าศีล แล้วศรัทธาในศีล ให้สร้างศรัทธาในศีลขึ้นมา ให้เชื่อมั่นในศีลขึ้นมา แล้วเริ่มลงทุนทีละอัฐทีละเฟื้องไป ...ถ้าอย่างพวกเรานี่ต้องเรียกว่าทีละอัฐทีละเฟื้อง ...ทีละขณะๆ เป็นขณิกะ

ลงทุนไป อย่าเพิ่งหวังกำไร ...อัฐนึงเฟื้องนึง คิดเหรอจะนอนคอนโดได้ หือ  ไม่ได้แน่นอน ซำเหมาอยู่ ยังหาที่ ไร้ที่ พเนจรกันอยู่ เป็นธรรมดา  ...สะสมไปทีละอัฐทีละเฟื้อง เรื่อยๆ ไป

อย่าท้อถอย อย่าหันเห อย่ามากเรื่อง อย่ามากความ อย่าหลายวิธี อย่าหลายธรรม อย่าเป็นคนหลายใจ อย่าหลายความเชื่อ หลายตำรา แล้วก็ใช้หัวไอ้เรืองมา adapt ให้เป็นตำราของกู...ไม่เอา ... เอาศีลตัวเดียวให้มั่น กายเดียว กายเอก กายหนึ่ง กายปัจจุบัน

ให้รู้ไว้เลยว่า กายในที่นี้ ในคำพูดของเรานี่ คำว่ากายนี้คือกายปัจจุบันเท่านั้น ... ถ้านอกจากกายปัจจุบันนี้ ทิ้งได้...ทิ้ง ละได้...ละ วางได้...วาง  ไม่ให้ความสำคัญกับมันได้ ก็ไม่ต้องให้ความสำคัญ  ไม่แยแสมันได้...ก็ไม่แยแสมัน

เอาให้มันเหลือแค่ปัจจุบันกาย  ปัจจุบันกายคือคำว่าปัจจุบันศีลนั่นเอง คือความหมายเดียวกับคำว่าปกติกายนั่นเอง คือหมายความเดียวกับว่า กายตามความเป็นจริงนั่นเอง คือความหมายว่า กายที่จะบ่อเกิดของปัญญา อยู่ที่นี้ ก็คือกายศีลนั่นเอง ... จึงเรียกว่าเป็นบ่อเกิด เป็นที่เกิด แม้กระทั่งเป็นที่ตั้งของสมาธิและปัญญา

ให้มันเชื่อมากๆ ...ถ้ามันไม่เชื่อ มาหาเราบ่อยๆ เดี๋ยวเราจะโฆษณาชวนเชื่อขึ้นไปเรื่อยๆ  ไม่เชื่อจนมันต้องเชื่อ ... นี่เพราะว่ามันเชื่อยังไม่จริง เนี่ย มัวแต่ไปหาที่อื่น 

ก็ต้องมาล้างสมองกันใหม่ ต้องค่อยๆ กลับมาให้ล้างสมอง แล้วก็... 'เออ เอาล่ะวะ...ลองอีกซักตั้ง' ...แล้วก็ไล่กลับบ้านไป ก็ให้มันไปต่อสู้กับจิตมัน ใครจะแน่กว่ากัน

จนมันเหลือกายเดียวใจเดียว จนมันเหลือหนึ่งกายหนึ่งรู้ ไม่มีหลายรู้ ...ไอ้หลายรู้ออกไปนั่นน่ะจิต ไอ้หลายเรื่องออกไปนั่นน่ะหลายกาย ไอ้มันหลายข้อความนั่นแหละหลายคำพูด วจีสังขาร หลายความเห็น ...เห็นมั้ย มันอยู่กับความหลากหลาย 

มันยังหลากหลายไม่พอรึไง ธรรมน่ะ หรือมันยังรู้ไม่ทั่วรึไง  หาความหลากหลายน่ะ ...กลัวไม่จบในธรรมรึไง นั่น จิตมันยังหาอยู่  ยังสร้าง “เรา” เป็นผู้ค้นและหาอยู่  ยังทำตามอำนาจของความอยากของ “เรา” อยู่ แล้วไม่คืนไม่กลับมาสู่ความเป็นกายที่แท้จริง...ที่เป็นที่ตั้งของกายที่ไม่มีคำว่า “เรา” หรือความรู้สึกว่าเป็นเรา

มันก็จะอยู่กับ “กายเรา” ตลอดเวลา ...เมื่อมันอยู่กับ “กายเรา” ตลอดเวลา  ไอ้ “กายเรา” นั่นน่ะมันไม่ได้จบแค่กายเรา หรือตัวเรา หรือความรู้สึกเป็นตัวเราเท่านั้น ... ไอ้ตัวนี้แหละที่มันจะแตกกระสานซ่านกระเซ็นออกไปแบบ unlimited หรือไร้ขอบเขต ...แล้วมันจะออกไปพร้อมกับกิเลสน้อยใหญ่ หยาบ กลาง ละเอียด และประณีต เป็นผลพลอยได้ ผลตามมา

มันจะไปพร้อมกับกิเลสความอยากและไม่อยากเป็นตัวแรก และจากความอยากและไม่อยากนั่นแหละ เดี๋ยวมาเป็นกระบวน ลูกหลานเหลนโหลนโคตรเหง้ามาเลย ...ทั้งอึดอัด คับข้อง พอใจ ไม่พอใจ อิจฉา ริษยา เศร้า ขุ่น มัว นี่ เยอะแยะไปหมด  โคตรของมันก็เริ่มจากความอยากของ “เรา” นี่แหละ จึงว่า ตัณหา อุปาทาน

เพราะนั้นในปัจจยาการนี่ไม่ได้พูดเรื่องกิเลสเลย ท่านพูดถึง ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ...นี่นับไม่ถ้วนเลย ถ้าขึ้นว่าภพและชาตินี่นับไม่ถ้วนเลย  เพราะว่าภพและชาตินี่ มันตั้งขึ้นได้เพราะกิเลส อารมณ์ ...มันสร้างอารมณ์ขึ้นมา แล้วก็มันข้องในอารมณ์นั้น

พอมันเกิดการข้องการคาในอารมณ์นั้นว่าเที่ยงปั๊บนี่ ภพเกิดเลยในจิต ...ก็มีเราเข้าไปเสวยในภพนั้น อึดอัด คับข้อง เศร้าหมอง ขุ่นมัว หรือดีใจ หรือว่าเป็นสุขสบาย หรือว่าเป็นผู้ปฏิบัติดี เป็นผู้ปฏิบัติชอบ หรือว่าเป็นผู้ที่ท้อแท้อ่อนแอ ผิดหวัง ...ครบหมด นั่น กิเลสมันเกิดขึ้นมา ก็เป็นภพ

พอเป็นภพ ภพๆๆๆๆ ภพกันบ่อยๆ นะ มันจะตกผลึกในภพ ในจิต ในความคิด ในอารมณ์ มันตกผลึก ...พอมันตกผลึก ยิ่งตกผลึก มันก็ยิ่งแข็งแกร่ง ยิ่งเที่ยง เป็นตัวตนของเราที่ชัดเจนขึ้น ในความรู้สึกนึกคิดนั้นๆ  นี้แหละ ชาติจึงบังเกิด

ก็เดือดร้อน ...เดือดร้อนโคตรของขันธ์คือกายปัจจุบัน ...'ว่าแล้วต้องไปด่ามันซักตั้งนึง'  เห็นมั้ย มันจะลากไปเลย ...มันจะลากกายตัวนี้ให้ไปทำอะไร  มันจะลากกายนี้ให้ไป...ไปหาเรื่อง ไปหาความสุข ไปทำความสุขให้เกิดขึ้น ให้ได้มา ให้ชัดๆ ยิ่งกว่านี้

ให้ได้ชัดๆ ยิ่งกว่านี้ คือให้ได้ครบอายตนะ ๖ คือ ตาหูจมูกลิ้นกายแล้วก็ผสมกับภพในจิต เสร็จเลย กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ปึ้ง เป็นครุกรรม...รับผลได้เลย  นอกจากรับผลได้เลยในปัจจุบันแล้ว ไม่ต้องกลัว มีผลตามในอนาคตอีกนะ วิบากยังไม่จบแค่นั้น 

เพราะนั้นทำบุญก็จะได้บุญ ทำบาปก็จะได้บาป  ซึ่งตอนนี้กุศล-อกุศลจะเกิดแล้ว ...ไอ้ตัวกุศลและอกุศลที่จะเกิดนั่นน่ะ คือตัวที่ต่อจากชาติ คือชรา พยาธิ มรณะ โศกะ ปริเทวะ โทมนัส อุปายาส ตามมา  ...มันครบขันธ์ห้าแล้ว มันมีอำนาจจนลากขันธ์ห้า....ขันธ์ปัจจุบันกายปัจจุบันนี้ไปส้องเสพในโลก

แล้วเราอยู่ในกระบวนการ ปัจจยาการปฏิจจสมุปบาทสายเกิดนี่ ด้วยความไม่รู้...ตลอดเวลา  และเป็นปัจจยาการสายเกิดข้างเดียวด้วย ... แล้วมันเกิดแต่ทุกข์น่ะ โดยวงเล็บสุขข้างหลังทุกข์ 

คือตัวเดียวกันนะ ...จริงๆ คือผลของการกระทำจากความไม่รู้ทั้งสิ้นเลย  แล้วมันค่อยมาแบ่งเอา จิตมันค่อยมาแบ่งเอาว่า อย่างนี้เรียกว่าสุข อย่างนี้เรียกว่าทุกข์ แล้วก็เราพอใจกับเราไม่พอใจในสุขกับทุกข์

เพราะนั้นตัวที่เข้าไปดำเนินกิจการนี้ทั้งหมด ปัจจยาการนี้ทั้งหมด ก็คืออวิชชา ที่มันสร้าง “ตัวเรา” นี่เป็นผู้ผลักดัน

จึงถึงบอกว่าสิ่งแรกเริ่มต้น ต้องมาเห็นกายตามความเป็นจริง ที่เป็นกายที่ไม่ใช่ “ตัวเรา” ...มันจึงจะเห็นความไม่มี “ตัวเรา” หรือความไม่ปรากฏซึ่ง “ตัวเรา” ที่แท้จริงในที่ใดที่หนึ่งในสามโลกซะก่อน

ถ้ามันยังไม่เห็นตัวมัน ถ้ายังคิดว่ายังมีตัวเราอยู่ ไม่มีทางที่จะเดินไปจนที่สุดของมรรคได้เลย  ...เป็นไปไม่ได้เลย เรายังยืนยันหัวชนฝา

อยู่ดีๆ มานั่งหลับตาภาวนาเอาความสงบ พุทโธๆๆ แล้วก็สงบ แล้วก็สบาย  แล้วก็วันพรุ่งนี้นั่งแล้วก็สบาย แล้วออกจากนั่งหลับตาแล้วก็จะสบายอยู่ได้ตั้งหลายวัน แล้วก็บอกว่า “ถ้าเราทำไปเรื่อยๆ แล้วจะสบายจนตายเลย ไม่มีกิเลสจนตายเลย”

ถึงบอกว่า ไม่มีทางเลย เป็นไปไม่ได้  อยู่ดีๆ อะไรมันจะสบายแบบไร้เหตุไร้ผลอย่างนี้ หือ ...มันจะหมดสิ้นไปแบบไม่มีเหตุไม่มีผลเลยหรือ  ยังไม่เข้าใจอะไรสักอย่างเลย มันจะสบายได้ตลอดได้ยังไง  แล้วมันจะมีปัญญาตรงไหน เรียกว่าเกิดปัญญาตรงไหน

คำว่าปัญญาคือมันรู้เห็นตามความเป็นจริง เนี่ย คือคำว่ารู้เห็นตามความเป็นจริง ...ความเป็นจริงคืออะไร คือปัจจยาการแห่งการเกิดและการดับ นั่นแหละคือความเป็นจริง 

ถ้ามันรู้เห็นปัจจยาการนี้ 'อ๋อ อย่างนี้ สิ่งนี้เกิด...สิ่งนี้เกิด  อ๋อ สิ่งนี้ดับ...สิ่งนี้ดับ' นี่ มันรู้เห็นตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา หรืออารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งขึ้นมา หรือการกระทบใดกระทบหนึ่งขึ้นมา แล้วมันเป็นเรื่องขึ้นมา 

นี่ มันเห็นปัจจยาการความเป็นจริงที่ทำให้ความเป็นจริงนี้ปรากฏ ...และความเป็นจริงในปัจจยาการนี่ ไม่มีใคร ของใคร เป็นคนสร้างปัจจยาการนี้

แรกๆ ที่มันเห็น มันก็จะบอกเรานี่เป็นคนสร้าง แล้วก็ทั้งหมดเป็นอย่างนี้ ...แต่สุดท้ายมันจะเห็นปัจจยาการเหล่านี้ มันเป็นปัจจยาการที่เกิดขึ้นตามเหตุอันควร ตามปัจจัยแห่งการเกิดนั้น

อย่างนี้ต่างหากถึงเรียกว่าเข้าใจด้วยปัญญา แล้วก็ 'อ๋อ เป็นเรื่องของมัน  ขันธ์ก็เป็นเรื่องขันธ์ โลกก็เป็นเรื่องของโลก จักรวาลก็เป็นเรื่องของจักรวาล สังสารวัฏก็เป็นเรื่องของสังสารวัฏ ...ไม่ใช่เรื่องของใคร ไม่ใช่เรื่องของเรา' นี่ มันเห็นอย่างนี้ 'เข้าใจแล้วแหละ ...เข้าใจ'

ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็หายไปดื้อๆ อย่างนั้น ...มันจะไปหายดื้อๆ ได้ยังไง  หายไปแบบโง่ๆ ได้ยังไง  โง่อยู่แล้ว ยังให้โง่ยิ่งงั่ง ยิ่งโง่  ยิ่งสงบยิ่งโง่นี่...ไม่ได้ ไม่ใช่มรรค

เพราะนั้นว่าตัวแก้ความสงบ ครูบาอาจารย์ท่านสอนไว้อยู่แล้ว สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ...ถ้าโง่นักชอบความสงบ นั่งพุทโธๆๆ นี่ก็ไม่ได้ห้าม ไม่ได้ว่า  แต่ว่าออกจากความสงบแล้วไล่กายให้ทั่วสักหน่อยได้มั้ย ตั้งแต่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ว่าดูหน้าดูตาของ ขน ผม หนัง ว่ามันเป็นยังไงสักหน่อย

เห็นมั้ย เมื่อถอนจากความสงบ ออกจากความสงบแล้ว ให้น้อมนึกพิจารณาใคร่ครวญ หยั่งรู้ดูเห็นในจินตามยปัญญาอยู่ในแวดวงของกายคตาสติ  นี่เป็นธรรมแก้ตัวสำคัญ มันแก้ตัวที่จะติดอยู่ในความสงบ แล้วว่าแบบหมดกิเลสไปไร้ร่องรอย แล้วก็ไปนอนจมแช่เป็นพระนารายณ์บรรทมสินธุ์อยู่งั้นน่ะ

แต่ในลักษณะวิถีแห่งมรรค หรือวิถีแห่งมัชฌิมาปฏิปทา หรือวิถีแห่งศีลสมาธิปัญญานี่  มันไม่ต้องแก้ไม่ต้องกันเลย  คือว่ากันไปแบบตรงๆ ต่อหน้า ซึ่งกันและกัน ไม่มีเบี่ยงเบนกัน ไม่มีเลี่ยงกัน  ว่ากันไปแบบตัวต่อตัว ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ว่ากันไปตรงๆ ...มันปรากฏอย่างนี้ก็รู้อย่างนี้ รู้แค่เนี้ย ไม่ล้ำ ไม่ขาด และก็ไม่เกิน

มันนั่ง ก็รู้แค่ว่านั่งแค่นี้ ...ไม่เกินนั่ง ไม่ยิ่งกว่านั่ง ไม่รู้ยิ่งกว่านั่ง ไม่เห็นอะไรที่ยิ่งกว่าการนั่ง ไม่อยากเห็นอะไรยิ่งกว่าการนั่ง นี่ ตรงนี้ มันต้องสู้ตรงนี้ ...ซึ่งจิตมันจะชอบล้ำ ชอบเกิน ชอบอะไรที่มากกว่านี้ มากกว่าการนั่งนี้ มากกว่าความรู้สึกที่เป็นแค่นั่งแค่นี้ 

แล้วก็ยืนอยู่บนความรู้ตัว...เท่าที่ตัวมันแสดงนี่  อย่าให้มันรู้เกินตัว อย่าให้มันรู้เกินกายปัจจุบัน อย่าให้มันรู้ยิ่งกว่ากายปัจจุบัน ...มันปวดเท่านี้ ก็ให้มันอยู่เท่านี้  อย่าให้มันปวดน้อยกว่านี้  

เพราะจิตมันจะสร้างความปวดน้อยกว่านี้อยู่เรื่อย ว่าตัวนั้นน่ะเป็นตัวจริง 'ไอ้ตัวปวดตัวนี้ เดี๋ยวจะทำให้มันหายไปซะ' ใช่มั้ย มันก็เป่าหูอยู่ตลอดน่ะไอ้ตัวปวดที่หายไปได้น่ะ ว่าต้องทำให้ได้ ...คือข้าพเจ้านี่จะควบคุมสามโลกธาตุให้อยู่ในกำมือ

ก็เอาให้มันขาหลุดไปเลย ...อยากดูขาหลุด  เคยได้ยินมั้ยว่าพระกรรมฐานนั่งสมาธิจนขาหลุด ไว้ถ้ามีจะลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์เลย  ตั้งแต่หลวงปู่มั่นลงมานี่ร้อยกว่าปีแล้วนะ ยังไม่มีข่าวเลยว่าพระกรรมฐานนั่งสมาธิจนขาขาด

จิตมันเอาที่ไหนมาว่า 'ตายแน่ๆๆ' ฮึ  ...แล้วเชื่อด้วยนะ เชื่อว่า 'ไอ้กายนี้จะตายแน่ๆ เส้นเลือดจะขอด มันต้องขอด ทำบ่อยๆ นี่สงสัยแก่ตัวเราจะต้องเป็นอัมพาต ...เอาออกซะหน่อย' นั่น เห็นมั้ย เห็นจิตที่มันสร้างขันธ์ขึ้นมาใหม่ ...เดือดร้อนต้องมาออกแรงยกขาออก 

ขันธ์นี่ กายนี่ ไม่รู้ไม่ชี้ ไม่เคยเรียกร้องอะไร ให้เอาออก ...เงียบ กายเงียบ เขาตั้งอยู่ด้วยความเงียบ เป็นส่วนที่เงียบ เป็นกองเงียบๆ ...ไม่ได้เรียกร้องขออำนาจศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว ด้วยการเอาขาออกหน่อย ไม่เคย ไม่จ้างทนายหน้าหอด้วยซ้ำ ...แล้วมันมายังไง ไอ้ขาออกนี่...มันออกเองได้ยังไง ฮึ

“เรา” นั่นแหละ ... แล้ว "เรา" น่ะ ขอดูหน้า “เรา” หน่อย  อยากเห็นหน้า “เรา” มันอยู่ตรงไหน หือ  ดูดีๆ สิ หาให้เจอนะ อยากดู อยากเห็นหน้าตา “เรา” เหลือเกิน นี่

นี่แหละคือขบวนการ ที่จะสืบค้นทบทวนหาความเป็นจริง ว่าอะไรจริง อะไรเท็จ ...จะได้เห็นหน้าค่าตากันจะจะ อันไหนจริง อันไหนเท็จ ...แล้วทำไมทำตามความเท็จตลอด ได้ยังไง 

ถ้ามันเห็นว่าอันนี้จริงแล้วอันนี้เท็จแล้วมันจะรู้เลย...ตลอดชีวิต ... มันจะรู้ว่าอเนกชาติมา...กูทำตามความเท็จหมดเลย...คือ “เรา” เป็นผู้ชี้นำ

เพราะนั้น “ตัวเรา” นี่ยังถือว่าเป็นความเท็จขั้นต้นนะ ... โคตรพ่อโคตรแม่คืออวิชชานี่ไม่มีสิทธิ์เห็นเลยนะ ในระดับนี้นะ ...ในระดับสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ นี่ ไม่มีทางเห็นอวิชชาเลยนะ

แค่นี้ยังไม่เห็น ยังไม่กล้าสู้หน้ามันเลย แค่มันพูดขึ้นมาคำเดียวนี่เชื่อเลย ...ต่อต้านกับความปวดมาตั้งครึ่งชั่วโมง มาตายแค่ว่า “ไม่ไหวแล้ว” ปึง แค่นี้ จบเลยนะ จบเลย ...เห็นมั้ย ง่ายปานนั้นเลย

อำนาจของความเป็นเรา อำนาจของความที่เราเป็นเจ้าของขันธ์ และควบคุมขันธ์ได้ ว่าขันธ์เป็นของเรานี่ ยิ่งใหญ่อลังการมาก ...กว่าที่มันจะยอมทำลายตัวมันเอง มันจะต้องอาศัยสติ ที่มันจดจ่อมั่นคงแน่วแน่อยู่กับก้อนกายก้อนศีลนี่ อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ไม่จางคลาย

เพราะนั้นการภาวนานี่ ฟังหลักการหลักศีลสมาธิปัญญาของเราน่ะง่าย แต่ถ้าทำจริงๆ ให้เข้าถึงขั้นที่ว่าสลายจางคลายจากความเป็นเราจนหมดสิ้นเชิงนี่ ไม่ใช่ของง่ายเหมือนอย่างที่พูดหรอก ...มันอยู่ที่ว่าความตั้งใจของบุคคลนั้นๆ ว่าจะทำความสม่ำเสมอ จะหมดเวลาไปกับอะไร จะให้เวลาเสียไปกับอะไรมากกว่ากัน

แต่ถ้ายอมลงทุนน่ะ ยอมลงทุนเวลาที่หมดไปสิ้นไปทุกขณะวินาทีนี่ มันหมดไปกับการรู้ดูเห็น ในก้อนปกติกาย ในก้อนศีลก้อนธรรมนี้ ...อย่างนี้พอฟัดพอเหวี่ยง กับการที่จะเข้าไปทำความจางคลายจากความหมายมั่นของความเป็นตัวเราที่เที่ยงขึ้นมาอยู่ข้างใน

มันแข็งแกร่งมากนะ มันเที่ยงแบบไม่มีตัวตนด้วยนะ ความรู้สึกว่าเป็นตัวเราของเรานี่ ... หาดูดิ จริงๆ ก็หาไม่เจอ .. แต่ไอ้ความรู้สึกนี่มันเหมือนกับทุกอณูเลยอยู่ข้างใน แล้วก็ไม่รู้จะทำลายมันยังไงด้วย

พอบอกว่าเห็นหน้าค่าตา “เรา” นี่ เหมือนกับกระชากหน้ากากมันออกมาให้เห็นเหมือนกับว่ามันเป็นตัวร้าย หรือตัวชั่วร้าย หรือเป็นตัวผู้ร้ายที่ว่าหน้าตามันเหมือนพระเอ๊กพระเอก ...แต่พอมาเห็นแล้ว พอมาเห็นว่ามันมีความเป็นเราแล้วอย่างนี้แล้ว ยังหาอะไรไปทำลายมันไม่ได้เลย ไม่มีเครื่องมืออาวุธใดเลยที่จะทำลาย “ตัวเรา” ได้

นี่ไงพระพุทธเจ้าถึงบอกว่าศีลสมาธิปัญญาเท่านั้น จึงเป็นอุปกรณ์หรือว่าเครื่องมือเครื่องใช้เพียงอย่างเดียวที่จะเข้าไปฟาดฟันห้ำหั่น กับความรู้สึกที่มันเป็นนามธรรมนั้น...ซึ่งลอยๆ อยู่ แต่ว่าเที่ยงซะเต็มประดาเลย  ...นี่เรียกว่าห้ำหั่นให้ได้โดยที่ว่าโดยเด็ดขาด โดยสิ้นเชิง

แต่ไม่ใช่ว่ามาทำกันเล่นๆ หรือเป็นแค่งานอดิเรก ...มันก็ได้ชั่วคราว เดี๋ยวมาใหม่  มันแค่สลบไปเดี๋ยวก็ฟื้นแค่นั้น ...นี่หมายถึงทั้งในแง่สมถะ ทั้งในแง่ดูจิตดับจิต ดูกิเลสดับไป ที่รู้สึกความเป็นเราก็ดูเหมือนไม่มีอะไร สบาย ไม่รู้สึกเป็นทุกข์อะไร

แต่นั่นคือข้าพเจ้ากำลังทรงปางนารายณ์บรรทมสินธุ์อยู่แค่นั้นเอง ...แล้วอย่าให้ธรณีพิโรธนะ เดี๋ยวพระนารายณ์ตื่นมาปราบอสูรแล้ว มันก็จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างคืออสูร ...ที่ว่าพระนารายณ์ตื่นขึ้นมาคือ “เรา” ตื่นขึ้นมาเมื่อไหร่ เป็นเรื่อง ได้เรื่อง เกิดเรื่อง ไม่จบเรื่อง แล้วไม่หมดเรื่อง

ไม่เหนื่อยด้วยนะ ขนาดยังทำไม่จบเรื่องตอนจะตาย ยัง 'ฝากไว้ก่อน เดี๋ยวชาติหน้าเอาใหม่' หรือเป็นคนรักก็บอกว่า 'ขอให้เกิดมาพบเจอกันทุกภพทุกชาติไป' ...เอากันเข้าไป นั่น มันไม่ยอมตายง่ายๆ นะ “เรา” มันยังฝากไปถึงอนาคตเลยนะ

เห็นมั้ยว่าความไม่รู้ในจิต...พาให้เกิด สนับสนุนให้เกิดความพอกพูนความเป็นตัวเราของเรา แล้วก็เกิดความต่อเนื่องเชื่อมต่อไปในที่ที่ไม่ควรไป คืออดีตและอนาคตได้ ไปแบบฟรีเวย์ ซุปเปอร์ไฮเวย์ ยิ่งกว่ารถด่วน ทางด่วนอีก

แล้วไม่รู้จักทำลายเส้นทางของมัน ...กลับปล่อยให้มันสร้างทางเดินแบบสบายๆ เชื่อมต่อไปในอดีตกาล อนาคตกาล  ...แล้วก็ชวนกัน จูงมือกันไป 

คนไหนรักกันชอบกันก็ชวนกันไป คนไหนเกลียดก็ 'มึงอยู่ไกลๆ กู อย่ามาด้วยกันนะ' ถ้าไปทำบุญก็ไม่บอกมันหรอก 'เดี๋ยวมันก็มาเกี่ยวกับกู เดี๋ยวต้องเจอกัน' ไปทำกันแต่คนรักคนชอบกัน เพื่อนสนิทกันก็ทำกัน ...นี่คือสร้างซุปเปอร์ไฮเวย์ไว้ โรยกรวดโรยทรายปูพรมตามประสามัน

แทนที่ว่าจะให้สร้างทางมรรคก็ไม่สร้าง ...มรรคมีให้สร้างก็ไม่สร้าง ไม่ทำ มันมีแต่ทำลายลูกเดียว พอมรรคจะเกิดขึ้นเป็นขณะก็ตัดซะ มันกำลังออกมาซักสองวิ ห้าวิ ก็ตัดซะ ... จิต มันจะเดินทางนี้ กูจะเดินทางนี้ คืออัตตกิลมถานุโยค กับกามสุขัลลิกานุโยค เพราะว่ามันเดินสบายดี

เพราะมันสร้างทางนั้นมาตั้งแต่อเนกชาติ มีหรือมันจะไม่สบาย ... แต่ไอ้มรรคนี่ไม่เคยสร้าง แล้วสร้างแล้วก็ยังไม่เห็นเลยว่ามันถึงนิพพานได้ยังไงวะ เนี่ย มันไม่เห็นปลายทาง

แต่ไอ้สองทางนี่หลับตาเดินยังได้เลย เพราะมันทำมาตลอด คือ อัตตกิลมถานุโยค กับ กามสุขัลลิกานุโยค สองทางนี่ยิ่งกว่าไฮเวย์อีก คุ้นเคยอย่างยิ่ง ... แต่มันพาไปไหนไม่รู้ และไม่มีจุดจบ ...พอขึ้นเขาก็ขึ้นยาก พอถึงทางโค้งก็แหกโค้งบ้าง อะไรอย่างนี้  ใครจะไปรู้ เส้นทางบนโลกมันขรุขระคดเคี้ยว แล้วก็หมุน หมุนไปหมุนมา อ้าว ที่เดิมนี่หว่า คือโลกมันกลมไง มันก็หมุนวนอยู่อย่างนี้

อารมณ์เดิมทั้งหมดเลยนะ กิเลสตัวเดิมทั้งหมด ความรู้สึกแบบเดิมทั้งหมดเลย แต่เปลี่ยนลักษณะของการกระทบ เชื่อมั้ยล่ะ ...มันยังไม่รู้เลยว่าถูกหลอกนะนั่นน่ะ หลอกให้มาลงที่เดิมน่ะ ความอยากแบบเดิม ความพอใจแบบเดิม ความไม่พอใจแบบเดิม

แต่ว่าไอ้คนทำปฏิกิริยา action – reaction มันเปลี่ยนหน้าคนไปมาเท่านั้นเอง  แต่อารมณ์เท่าเดิม กิเลสเหมือนเดิมนะ มากขึ้นกับน้อยลงเท่านั้นเอง ...แต่กิเลสก็กิเลสตัวเก่า ราคะ โทสะ โมหะ เหมือนเดิม กับพอใจ-ไม่พอใจ แล้วก็เป็นสุขกับเป็นทุกข์ นี่ เดิมหมดเลย

ทำไมยังถูกหลอก ... เพราะว่าเส้นทางนี้มันวน วนไปวนมา หมุนๆๆ ไม่มีหัวไม่มีท้าย  

แต่มรรคนี่ มันเป็นเส้นทางที่เราไม่เคยเดิน และไม่เคยสร้างขึ้นมา  มันจึงลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ ไม่คุ้นเคย แล้วไม่เกิดความมั่นใจเหมือนกับทางที่มันเคยเดินประจำ คือทางเดินของจิต หรือว่าทางเดินของ “เรา” ที่มี “ตัวเรา” เป็นผู้นำ เป็นผู้คิดนำ เป็นผู้ทำตาม

แต่ในทางของมรรคนี่ มันไม่มี “เรา” มีแต่กายกับใจ มีแต่ศีลกับสมาธิ แล้วมันจะพาไปไหนก็ไม่รู้ เพราะในระหว่างที่รู้ว่านั่ง มันก็ไม่มีอะไรในนั้นเลย ...ทั้ง “เรา” ก็ไม่มี ผลที่ได้จากการรู้ว่านั่งก็ไม่มี ความรู้ความเข้าใจอะไรที่นอกเหนือจากเรานั่งก็ไม่มี อดีตอนาคตก็ไม่มี ละกิเลสได้หรือละกิเลสไม่ได้ก็ไม่มี มีแต่รู้ว่านั่งอย่างเดียว นี่ มันจะเกิดความไม่มั่นใจ

แต่อาศัยอินทรีย์เบื้องต้นก็คือศรัทธากับวิริยะ ศรัทธากับวิริยะนี่จะเป็นตัวหนุนให้เกิดสติสมาธิปัญญา ต้องมีศรัทธากับวิริยะ คือเชื่อ เชื่อมั่นในศีล เชื่อมั่นในวิถีแห่งมรรค เชื่อมั่นในวิถีแห่งการปฏิบัติด้วยสติ เชื่อมั่นในการระลึกรู้อยู่กับกายใจปัจจุบัน

อาศัยเชื่อมั่นแล้วก็ทำตาม คือวิริยะ พากเพียร สองตัวนี่จะเป็นกำลัง เรียกว่าอินทรีย์ตัวแรกที่จะบ่มให้เกิดสติที่มากขึ้น สมาธิที่แข็งแกร่งขึ้น ปัญญาที่เข้าใจชัดเจนขึ้นในวิถีแห่งการเดินในวิธีการนี้

แต่ส่วนมากมันตายตรงวิริยะ ความพากเพียรมันน้อย มันทานทนไม่ได้ต่ออำนาจของกิเลส ที่มันกลุ้มรุม ต้องเรียกว่ามันกลุ้มรุมเลยนะ กลุ้มรุมสุมหัวเลย ...ทั้งกิเลสภายใน กิเลสภายนอก

แล้วถ้ากิเลสภายนอกตัวไหนมันปะ เจอะ พอดีกันกับกิเลสของตัวเอง นี่เรียกว่าขนมจีนผสมน้ำยาน้ำเงี้ยวเลยแหละ มันส์กันเลยละพวก  แล้วมันจะหลงเพลิน หาย หลุด แม้ไม่มีเรื่องก็หายเอาดื้อๆ ลืมไปเลยว่ามีกาย-ใจนั่ง ... มันลอย อมยิ้ม ตาลอย  ไม่มีทุกข์ไม่มีสุขอ่ะ แต่ลอย หาย เหมือนสัมภเวสีน่ะ 

ถึงบอกว่าทางนี้ ถ้าไม่ตั้งใจใส่ใจจริงๆ นี่ มันเหมือนกุดด้วนอยู่ตลอดน่ะ ...มันถึงเกิด-ตายๆๆ ไม่รู้จักขยาดน่ะ



(ต่อแทร็ก 11/9)