วันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 11/34 (3)


พระอาจารย์
11/34 (add560624B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
24 มิถุนายน 2556
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 11/34  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  แต่ถ้าฟังแบบอ่านเอาเรื่องอย่างนี้ ก็เรียกว่าจินตา...มันเป็นจินตาหมดเลย ...เพราะนั้นเวลาฟังนี่ ฟังเพื่ออะไร...เพื่อให้ขยัน เพื่อให้เกิดเป็นอุบาย เกิดเป็นความมุมานะ บากบั่น เอาจริงเอาจัง

ที่ต้องการให้ฟัง คืออย่างนี้...เพื่อให้เกิดการกระตุ้นต่อมอยากปฏิบัติขึ้นมา กระตุ้นต่อมความอยากทำความรู้สึกตัวมากๆ ขึ้นมา ...ตรงนี้ต่างหาก

ถ้ามันได้ตัวนี้แล้วนี่ ไม่จำเป็นต้องไปฟังข้อความแล้ว ...เพราะการปฏิบัติมันมีอยู่แค่นี้จริงๆ เข้าใจมั้ย...ก็แค่รู้ตัวนี่แหละ ...ไอ้นอกนั้นเขาเรียกว่า ปลีกย่อย สัพเพเหระ สังขารธรรมหมดน่ะ

เหมือนกับชักแม่น้ำทั้งห้าขึ้นมาเพื่อให้รู้ตัวในปัจจุบันแค่นั้น พูดง่ายๆ ไอ้ที่พูดมาสามชั่วโมงนี่ มันเป็นน้ำท่วมทุ่งอยู่แล้ว ...แต่ขนาดว่าน้ำท่วมทุ่งของเรานี่ มันก็อยู่ในหลักหมดน่ะ เข้าใจมั้ย

มันไม่ใช่ว่าแบบหลวงปู่เณร...อะไรอย่างนี้ (โยมหัวเราะ) ไอ้นั่นเลอะเทอะ อะไรอย่างนี้ เข้าใจมั้ย เขาเรียกว่าสีลัพพตปรามาส มันน่าเชื่อ ธรรมเนียม แล้วก็เห็นคนหนึ่งก็ตามๆ กัน

แล้วเขาก็ว่าอย่าไปลบหลู่นะๆ เอาล่ะ เกิดความศรัทธาแบบมืดมน กลัว แล้วก็เข้าใจว่าศักดิ์สิทธิ์ แตะต้องอะไรไม่ได้อย่างนี้ ก็ลือเล่าอ้างกันไป


โยม –  ท่านสอนไปทางไหนคะพระอาจารย์

พระอาจารย์ –  ไม่รู้ ไม่สนใจ ไม่เคยฟัง ...คือคำสอนนี่ ใครก็สอนได้ มันพื้นๆ อยู่แล้วเข้าใจมั้ย คำพูดนี่ อรรถธรรมนี่ อ่านมาก ฟังมาก พิจารณามาก แล้วก็เรียบเรียงคำพูดออกมา...ก็ได้

มันก็เรียบเรียงให้ดูดี ก็ได้อรรถความ เอาไปปฏิบัติแล้วคนปฏิบัติได้ผลก็ได้...แต่ไอ้ตัวคนพูดน่ะทำได้จริงรึเปล่า ไอ้นี่อีกเรื่องนึงเพราะนั้นคำพูดน่ะใครก็พูดได้

แต่ดูการกระทำ การดำรงความเป็นวัตรปฏิปทาดูสิ มันจึงจะเป็นเครื่องรับรอง...ภายนอกนะ อันนี้ถือเป็นเครื่องรับรองภายนอกนะ หยาบๆ ...ที่ว่าพูดแล้วทำได้จริงรึเปล่า

เพราะนั้นไอ้คำพูดนี่ ใครก็พูดได้  ต่อให้ไม่ได้เรียนเป็นพระด้วย ต่อให้เป็นใครก็ได้ ตาสียายสา ฟังเทปฟังซีดีเยอะๆ อ่านหนังสือเยอะๆ แล้วก็เรียบเรียงคำพูดให้ดี

ก็สามารถพูดให้เกิดความเข้าอกเข้าใจในธรรม หรือว่าดูเหมือนลึกซึ้งในธรรมยังไงก็ได้ ...เยอะแยะ ไปหาดูในเว็บสิ บางคนนี่ ยิ่งกว่าพหูสูตก็มี รู้ไปหมด

มันสามารถอธิบายได้ โอ้โห ถี่ถ้วนหมดเลย...แต่ใครอย่าขัดนะ เดี๋ยวเจอสวน คือแค่เราเข้าไปอ่านนี่ เราเห็นนี่ มันเข้าไปสัมผัสก็รู้แล้ว ถึงความตื้นลึก ถึงความมืด ถึงความยังไม่รู้จริง ...ถึงแม้คำพูดนั้นจะจริงก็ตาม 

นี่ ถ้าบางคนที่ปฏิบัติแล้วจะรู้เลยว่า มันพูดแล้วมันทำได้จริงมั้ย ...มันมีกลิ่นอาย เข้าใจมั้ย มันมีกลิ่นอายกิเลสที่ไม่รู้จริงๆ เป็นรู้จำ รู้คิด ...มันมีกลิ่นอาย

เพราะนั้นกลิ่นอายพระอรหันต์กับพระอรหันต์ หรือกลิ่นอายพระอริยะนี่มี แต่คนที่จะได้กลิ่นอายนั้นก็เป็นพระอริยะเหมือนกัน คล้ายๆ กัน ...อย่างนี้ท่านจะรับรู้โดยสัมผัสได้

แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ตายตัวว่าระดับไหนยังไง ...แต่รู้ว่าจริง ที่พูดน่ะจริง และทำได้จริง ...นี่ คล้ายๆ อย่างนั้น

แต่ต่อให้นุ่งขาวห่มขาว แต่งตัวดี ทำตัวเรียบร้อย แล้วก็พูดอรรถธรรม ...มันก็มีกลิ่นอายของกิเลสอยู่ในนั้นก็ได้ มันจะรู้อยู่โดยนัย...แต่ท่านจะพูดหรือไม่พูดนั่นอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะอะไร ...เพราะธรรมเป็นของดีทั้งนั้น การพูด..ถ้ามันสอนให้คนดีน่ะ ใช่มั้ย คนทำตามแล้วได้ผล ไม่ว่าจะเป็นผลระดับไหน ศีลหยาบๆ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่กินเหล้า ดีหมดน่ะ

แต่ถ้ามาถึงระดับเรานี่...ยังดีไม่พอ ศีลระดับนี้ยังดีไม่พอ ยังไม่พอให้เกิดสมาธิและญาณทัสสนะ  ...ต้องระดับอธิศีลขึ้น เพราะนั้นศีลที่เราสอนเรื่องกายเรื่องศีลนี่ คืออธิศีล

ไม่ใช่ศีลวิรัติ ไม่ใช่ศีลบัญญัติ ไม่ใช่ศีลสมมุติ ...แต่มันเป็นศีลในสมาธิและปัญญา เป็นศีลในองค์มรรค เป็นศีลที่จะเป็นไปเพื่อเข้าสู่อริยศีล จนถึงเป็นอริยกันตศีล ...นั่นมหาศีล

เพราะนั้นถ้าไม่พัฒนาขึ้นเป็นอธิศีล ไม่มีทางเลยที่จะเข้าสู่ความเป็นมหาศีล...ศีลอันยิ่งยวด

คือขึ้นชื่อว่ามหาศีล หมายความว่า คือความหมายของธรรมทั้งหลายทั้งปวงเลย ไม่ใช่จำเพาะกายแล้ว ไม่ได้แค่จำเพาะกายแล้ว ...แต่ตอนนี้...อธิศีลตอนนี้เป็นแค่จำเพาะกายนะ 

คืออย่างถ้าเป็นศีลวิรัตินี่ไม่ใช่จำเพาะกายเลย เข้าใจมั้ย  มันเป็นเรื่องทั่วไปเลย เป็นเรื่องของสังคมแล้ว เรื่องของคนรอบข้างแล้ว เรื่องของการอยู่ร่วมกันในโลก

แต่ถ้าลงมาอธิศีลนี่มันจำเพาะกายแล้ว ปกติกายเดียวแล้ว นี่ มันเริ่มจำเพาะแล้ว ...แล้วพอไปถึงมหาศีลนี่ มันไม่จำเพาะกายแล้ว แต่เป็นธรรมทั้งหลายทั้งปวง

คราวนี้มันเข้าไปขยายออกหมด ทำลายความจำแนกออกในธรรมทั้งหลายทั้งปวง...ที่จิตเข้าไปจำแนกว่านี้คือนั้น นั้นคือนี้ อย่างนั้นคือนี้ คือนั้น...ด้วยรูป

จิตนี่มันจะจำแนกโดยรูป มันเห็นรูป มันจำรูป แล้วก็บอกว่า นี้คือนี้ๆ นี้คืออย่างนี้ ไม่เหมือนอย่างนั้น ไอ้นี้คืออย่างนี้ มันคนละอันกัน ...นี่ มันจิตมันจำแนก

แต่ถ้ามหาศีล จะไม่จำแนกแล้ว เป็นการตั้งอยู่ของสิ่งหนึ่งๆๆๆ เหมือนกัน...ธรรมเดียวกันหมด ไม่ว่ารูปไม่ว่านาม ...ไม่ว่ารูปไม่ว่านามด้วยนะ ไม่ใช่แต่เฉพาะธาตุนะ

นามก็เป็นสิ่งหนึ่ง รูปก็เป็นแค่สิ่งหนึ่ง กายก็เป็นสิ่งหนึ่ง คิดก็เป็นสิ่งหนึ่ง ...นั่นมันจะเห็นเป็นธรรมหนึ่งเหมือนกันหมด...นี่เขาเรียกว่ามหาศีล

มันจะไม่จำเพาะธรรมแล้ว จิตจะไม่จำเพาะกาย จะไม่จำเพาะรูป จะไม่จำเพาะนามแล้ว ...มันจะเป็นมหา...มหาศีล เป็นหนึ่งเดียวกันหมด เหมือนกันหมด

เหมือนน้ำร้อยสายมาลงที่มหาสมุทรแล้วมีรสชาติเดียว...คือเค็ม นี่คล้ายๆ อย่างนี้ ...ธรรมทั้งหลายทั้งปวงก็เหมือนกัน มันจะต้องมารวมลงที่เดียวกันหมด คือเป็นธรรมหนึ่ง

เพราะนั้น การปฏิบัติธรรมนี่ ถ้าเริ่มถูกเริ่มดีนี่มีชัยไปครึ่งหนึ่ง ...แต่ถ้าเริ่มผิด คลาดเคลื่อนแล้วนี่...ลำบาก ลำบากในการที่มันจะทำไป..เกิดตัวตนขึ้นมาใหม่ไป

มีเราเข้าไปครอบครองใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ ปึ้บนี่ มันจะพอกพูนใหม่แล้ว ...มันมีมานะ มันมีความเห็น มันเป็นทิฏฐิในความเห็น พร้อมกันในการปฏิบัติธรรม

ติดนอกว่ายาก ติดในยากกว่า ...ติด “เรา” ในธรรมนี่  ...“เรา” ที่ติดในธรรมนี่ ละได้ยากยิ่งกว่าผู้หญิงเห็นผู้ชายแล้วรักกันน่ะ ...มันมีมานะที่ลึกซึ้ง

ถ้าไม่ใช่ระดับที่เคยสั่งเคยสอนกันมาในอดีตแต่เก่าก่อน มันไม่มีทางละเลิกเพิกถอนได้เลย...ติดภายในนี่ ติดธรรม ติดสภาวธรรมของตัวเอง ติดสภาวะจิตของตัวเองนี่

เพราะนั้นการที่กลับมารู้ตัวโดยไม่เอาอะไรเลยนี่แหละ โง่เลยแหละ โง่จากความรู้ในจิต โง่จากที่จิตคิดปรุงแต่งแล้วเข้าใจอะไรอย่างนั้น เข้าใจอย่างนี้ขึ้นมานี่ หรือว่าไปเห็นสภาวะนั้นเห็นสภาวะนี้ขึ้นมานี่

นั่นแหละรู้โง่ๆ มันตรงที่สุดแล้ว มันตรงต่อศีล ...ถ้ามันตรงต่อศีลแล้ว ไม่ต้องกลัวว่ามันไม่ตรงต่อธรรม ...ถ้าตรงต่อศีลเมื่อไหร่ มันจะตรงต่อธรรมไปเอง

แต่ถ้าไม่ตรงต่อศีล ไม่ตรงต่อกายปัจจุบันแล้ว ธรรมนี่คลาดเคลื่อนหมด เป็นธรรมที่มันจะจำเพาะแล้วก็เลือก ...เกิดการเลือกเฟ้น มีการเลือกธรรม เฟ้นธรรม

มันจะเลือก...ธรรมนี้ดี ธรรมนี้ไม่ดี ธรรมนี้เอาไว้ ธรรมนี้ไม่เอาไว้ ...มันจะเลือก เพราะมันยังมีเราอยู่


โยม –  พระอาจารย์คะ อย่างโยมน่ะค่ะ ถ้าสมมุติโยมปฏิบัติได้แค่นี้น่ะค่ะ แล้วโยมตาย...

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องคิด อย่าไปคิด บอกแล้วไง อย่าไปคิดอนาคต อย่าไปคิดภายภาคหน้า ...นี่ ให้เท่าทัน ให้เท่าทันจิตที่มันกำลังจะเข้าไปจมแช่ในอนาคตนี่...ละซะ ละด้วยการกลับมารู้ตัวซะ

ไม่มีอนาคตแล้ว ถือว่าไม่มีอนาคตแล้ว อย่าไปตั้งท่ารออนาคต ...ถ้ามันตั้งท่ารออนาคตนี่ มันก็จะมีทั้งดีและร้าย แล้วก็จะมีทั้งถูกและผิด มันก็จะมีกรรมและวิบากที่จะไปรอรับผล

ถอนซะ ละซะ ในปัจจุบัน ...ช่างหัวมัน ดีร้ายถูกผิด...ช่างหัวมัน เนี่ย กลับมาอยู่อย่างนี้ซะ ...ต้องเอาอย่างนี้ ต้องฝืกอย่างนี้ จนกว่าจะเข้มแข็งอยู่ในกับปัจจุบันธรรมเดียว

ถึงบอกว่า โง่เข้าไว้ อย่าไปคิดมาก แล้วจิตจะไม่พาไปเกิด...ตรงนี้..การเกิดนี่มันจะเป็นหมัน เข้าใจมั้ย ...แต่ถ้าไม่ทำหมัน มันก็แพร่พันธุ์

มันก็แพร่ไปเรื่อยน่ะๆ โดยสันดานมันจะเกิดอยู่ตลอดเวลา หาที่เกิดอยู่ตลอดเวลา อย่างนั้นอย่างนี้ ช่องนั้นช่องนี้ ...ก็อย่าให้มันเกิด


โยม –  มันก็จะคิดไปน่ะค่ะพระอาจารย์ มันจะคิดว่า เออ ถ้าตายไปแล้ว

พระอาจารย์ –  อย่าคิด รู้ตัว รู้ตัวแล้วออกจากความคิด กลับมารู้กับตัว  คิดใหม่รู้ใหม่ๆๆ ...กลับมาเอาตัวเป็นฐานไว้ เอาเป็นเกาะกำบัง เอามาเป็นที่มั่น 

เพื่อไม่ให้จิตมันเล็ดรอดออกไป...ไปสร้างภพที่น่าใคร่-ที่ไม่น่าใคร ...ภพที่น่าใคร่คืออะไร...เกิดน้อยลง ภพที่ไม่น่าใคร่คือ...เกิดไม่ดี  นี่คือมันจะไปสร้างภพอย่างนั้น...สองอย่างน่ะ

ไอ้ภพที่ไม่น่าใคร่ มันก็ไม่อยาก เกิดเพราะความไม่อยาก  ไอ้ภพที่น่าใคร่ก็เกิดเพราะความอยาก ...เนี่ย มันไม่มีอะไรหรอก จริงๆ น่ะ จิตน่ะ เห็นมั้ยว่ามันหาเรื่องเกิดไปเรื่อยน่ะ

มันหาเรื่อง เข้าใจคำว่าหาเรื่องมั้ย มีเรื่อง แล้วพยายามให้มันเป็นเรื่อง แต่ถ้าเด็ดขาดกับมัน ตั้งหลักให้มั่น เอากายเป็นที่ยึด เอากายเป็นที่มั่น เอากายเป็นที่ตั้งไว้นี่ ไม่ไปไม่มากับจิตแล้ว อยู่ที่เดียวนี่ 

เออ ตายก็ช่าง ได้ก็ช่าง ไม่ได้ก็ช่าง ช่างหัวมันวะ เนี่ย เอามันรู้ตัว ตัดเลย ตัดมันตรงนี้เลย แล้วไม่ต้องกลัวการเกิดแล้ว เกิดอยู่ก็ให้เกิดอยู่กับปัจจุบันกาย ปัจจุบันรู้ 

นั่นแหละคือภพชาติปัจจุบัน ก็อยู่กับภพชาติปัจจุบัน คือกาย คือคน

เอ้า เท่านี้แหละ พอได้ความแล้ว ...ไปอยู่กับตัวเองให้มาก ให้หมดเวลาไปกับการรู้ดูเห็นตัวเองให้มากที่สุด...เท่าที่จะทำได้ จนต่อเนื่อง ไม่ขาดวรรคขาดตอน


................................



วันพุธที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 11/34 (2)


พระอาจารย์
11/34 (add560624B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
24 มิถุนายน 2556
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 11/34  ช่วง 1

โยม –  ท่านอาจารย์ครับ อย่างนี้เวลาเรารู้ลงปัจจุบัน มันจะเห็นกอง กองอยู่ แล้วก็มันจะมีภาพ มีความรู้สึกว่าเรากำลังนั่งอยู่ แต่พอเรารู้ทันนี่ ไอ้ภาพหรือความรู้สึกนี่ก็หายไป...ไอ้นี่คือ “เรา” ในปัจจุบัน

พระอาจารย์ –  ใช่ เราที่มันมีอยู่ในรูป


โยม –  ที่นี้มันยังมี “เรา” ในปัจจุบันตรงไหนที่ยังต้องดูอีก

พระอาจารย์ –  ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องไปควาน ว่างไปก็เป็นว่างไป ว่างจากความเป็นเรา ก็ไม่ต้องไปหา ...มันมีลึกๆ แต่มองไม่เห็นหรอก ช่างมัน ดูไป


โยม –  ครับ พอมีชัดขึ้นมาก็ค่อยดูตอนนั้น

พระอาจารย์ –  เหมือนหน่อไม้น่ะ ถ้ามันผุดขึ้นมาค่อยขุด  ถ้ามันไม่ผุดขึ้นมาจากดิน อย่าไปหา ...เฉยๆ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ก็ดูกายไปด้วยความไม่รู้ไม่ชี้

ตรงนี้มันจะทำให้ความเป็นเราค่อยๆ เผยตัวของมันเองขึ้นมา ...เผยขึ้นมาเมื่อไหร่ปุ๊บ...ตัด ละ ทัน มันก็ดับ ...ทำลายไปอย่างนี้ พร้อมกับการที่รู้กายเงียบๆ ไป

รู้กายเงียบๆ ไม่รู้สึกว่าเป็นเราตรงไหนน่ะดีแล้ว  เพราะมันกำลังทำความ..ปัญญาทำความชัดเจนภายในกับขันธ์ ...กายกับขันธ์นี่ถือเป็นตัวเดียวกันนะ ขันธ์ห้ารวมลงที่กายนั่นน่ะ

พอระหว่างนั้นมันมีความคิดความปรุง...ช่างหัวมัน ไม่จับมาเป็นธุระ ไม่เอามาเป็นอารมณ์...เห็นแต่ไม่เอามาเป็นอารมณ์ ...เห็นแล้วละๆ ไม่จ้องไม่ดูๆ

เหมือนเห็นด้วยหางตา แล้วก็ละ มามุ่งลงที่กาย จดจ้องลงที่กาย ตั้งมั่นอยู่กับกาย...กายให้ชัด เพราะนั้นยิ่งกายชัดเท่าไหร่ จิตยิ่งน้อยลงเท่านั้น จิตยิ่งหายเลย มันจะชัดอยู่สองอาการ กายกับรู้


โยม (อีกคน) มันเหมือนกับว่าเรายังไม่ทันได้รู้ใช่ไหม มันขึ้นมา...

พระอาจารย์ –  ละไปเลย ...เห็นน่ะ มันเห็น เห็นแล้วก็ละๆ ตั้งหน้าตั้งตาละลูกเดียว ภายในน่ะ อะไรที่มันเกินสองสิ่งคือรู้กับกาย...ละออกหมดเลย

ละ..ไม่ได้หมายว่าละแล้วต้องดับนะ ละความสนใจจากมัน เข้าใจมั้ย ก็เรียกว่าละแล้ว เรียกว่าวางแล้ว ไม่ได้หมายความละวางแล้วมันต้องดับนะ คือไม่ดับ...ไม่ดับก็ไม่ดับ แต่วางไว้ ไม่เข้าไปยี่หระสนใจมัน

เพราะอะไร เพราะเรายังไม่เป็นสมุจเฉท ...ถ้ามันเริ่มเป็นสมุจเฉท พอรู้ปุ๊บ เห็นปั๊บ ขาดปุ๊บเลย เหมือนกับมันกระเด็น มันกระเด็นออกจากจิตเลย

เพราะนั้นในลักษณะพวกเรานี่ มันก็จะมีบางอารมณ์ที่มันสามารถกระเด็นออกจากจิตไป แต่บางอารมณ์ไม่กระเด็น เข้าใจมั้ย อึดอัด เศร้าหมอง ขุ่น หงุดหงิด กังวล กลัว

เสียใจ เศร้าโศก อาวรณ์ อะไรพวกนี้ มันยังไม่กระเด็น เข้าใจมั้ย เนี่ย ละแต่ยังไม่ดับ ...แต่อย่าเข้าไปหมกมุ่นอยู่กับมัน มาหมกมุ่นอยู่กับกาย ที่เดียวๆ ตรงนี้

แล้วก็ค่อยๆ สังเกตไป เดี๋ยวมันก็ค่อยจางไปในตัวของมันเอง เหมือนกับมันออสโมซิส หายไปตรงไหนก็ไม่รู้ เออ นั่นแหละ

นั่นแหละคือวิธีจัดการกับนามขันธ์ ด้วยการไม่แยแสมัน ไม่เอา “เรา” เข้าไปมีเป็นกับมัน มันก็จะไม่ปรากฏตกผลึกเป็นความเที่ยงแท้ขึ้นมา

เพราะนั้นการที่ตั้งหน้าไปดูมันเพื่อจะเห็นความดับนี่...คือการซัพพอร์ทอย่างหนึ่งนะ ซัพพอร์ทให้มันยังคงอยู่นะ นั่นน่ะ...เคยมั้ยที่ตั้งหน้าตั้งตาดูความโกรธแล้วยิ่งโกรธน่ะ


โยม –  ครับ

พระอาจารย์ – เออ ยิ่งไปกันใหญ่เลยน่ะ มันไม่สามารถแยกออกได้หรอก ...แต่ลองไม่สนใจมันสิ แล้วมาสนใจกายแทน จะเห็นเลยว่าไม่ค่อยโกรธ...ไม่ค่อยโกรธ

มันค่อยๆ ไม่เอาธุระกับความโกรธเท่าไหร่ ...แล้วก็ไม่มีความคิดว่าเขาจะดี เขาจะร้าย  เขาจะถูก เขาจะผิดขึ้นมา ...มันไม่สนใจแล้ว ตรงนี้

เห็นมั้ยว่าการละ การออกจากนามขันธ์นี่ ท่านออกอย่างนี้ การที่กลับมาดูกายเห็นกาย มันจะแก้ตัวเรา คือรากเหง้า คือรากเหง้าของ “เรา” ในขันธ์

พอ “เรา” ในขันธ์มันน้อยลง อ่อนตัวลงนี่...การกระทบอารมณ์นี่ ความเป็นเราที่จะเข้าไปรับผัสสะนี่ จะน้อย จะจาง จะไม่ค่อยเอาเรื่องเอาราวมากเท่าเดิม ...ให้สังเกตดู

ถึงมีเรากับเสียงกับรูปนั้น...ก็ไม่นานเท่าเดิม ไม่เป็นวันเป็นเดือน เข้าใจมั้ย อาจจะเป็นแค่ชั่วโมง นาที แล้วก็..เออ ไม่เห็นจะอะไร ...มันเหนื่อย มันเบื่อ ไม่รู้จะไปอะไรกับมัน

นี่ มันจะปล่อย มันเริ่มไม่เอาธุระแล้ว ซึ่งแต่ก่อนมันไม่ยอม ไม่ยอมวาง คาดคั้นเอาถูกเอาผิดกับมันให้ได้ อะไรอย่างนี้ ...เนี่ย เพราะนั้นแก้ให้ถูกที่

ถึงบอกว่าอย่าละเลยศีล อย่าข้ามศีล ...ศีลนี่เป็นรากเหง้าเลยของธรรม ของสมาธิธรรม ของปัญญาธรรม ตลอดสายเลย ทิ้งกายไม่ได้เลย

ก็อย่างที่เราบอก พระอรหันต์ไปยืนกลางแดด พระอรหันต์ก็ร้อน... ละได้หมดแล้วนะนั่นน่ะ กิเลสก็หมดแล้ว ความปรุงแต่งก็หมดแล้ว...แต่ท่านยังร้อนน่ะ

อย่าบอกว่าพระอรหันต์ไม่ร้อนนะ ท่านยังต้องกางร่ม นั่งนาน..มีหรือพระอรหันต์ไม่เมื่อย ก็เมื่อย เห็นมั้ย กายยังมี...ลบล้างไม่ได้เลยศีลนี่ จะลบล้างไม่ได้เลย

ต่อให้เป็นจิตพระอรหันต์ก็ยังลบล้างกายไม่ได้ ลบล้างศีลไม่ได้เลย แต่กิเลสลบล้างหมดแล้ว นามขันธ์ส่วนนามขันธ์ ลบหมดแล้ว ความปรุงแต่งอดีตอนาคตไม่มีแล้ว

มันหมด หมดความหมายมั่นไปโดยปริยาย แต่กายยังมีอยู่ เวทนาในกายก็ยังมีอยู่ ...เนี่ย ไม่มีอะไรจริงกว่าศีลแล้วนะ ความเป็นจริงทั้งหลายทั้งปวงก็เหลือแค่ศีล...กายกับรู้เท่านั้นเอง กับใจ

แล้วก็คือจะเหลืออยู่สองธรรมชาติ คือธรรมชาติของกายกับธรรมชาติของใจ แล้วก็จะเห็น แล้วก็จะอยู่กันแบบต่างคนต่างอยู่ โดยธรรมชาติของกายก็คือธรรมชาติเกิดดับ ธรรมชาติของใจก็คือธรรมชาติที่ไม่เกิดไม่ดับ

เออ จนกว่าธรรมชาติของกายเกิดดับ ก็จะเหลือแต่ธรรมชาติของใจที่ไม่เกิดไม่ดับเป็นอนันตกาล เรียกว่า อนันตมหาสุญญตา นี่ท่านอยู่อย่างนี้

หมายความว่าขณะที่ขันธ์ยังอยู่ ขันธ์ยังไม่ตาย ท่านก็มีธรรมชาติสองธรรมชาติแค่นี้เอง นอกนั้นขึ้นมานี่ มันดับๆๆ ดับหมด มันได้แค่ตรงนั้นแล้วก็ดับไปตรงนั้น

นี่ มันได้แค่ตรงไหนแล้วก็ดับอยู่แค่ตรงนั้น มันจะไม่มีการว่าจะพาไปก่อเกิดหรือว่ามีเชื้อไปก่อที่เป็นอดีตสัญญา อนาคตขันธ์ต่อไปข้างหน้า...ไม่มีแล้ว

ไม่มีความเข้าไปถือแล้ว ...เกิดตรงนั้น..ดับๆๆๆ ...อารมณ์ ความรู้สึก ความคิดในจิตน่ะ ดับหมด ...แล้วมันดับ มันหมดสภาพไปในตัวของมันเอง

แต่ตอนนี้ของพวกเรานี่ มันหมดสภาพในตัวของมันเอง แต่ยังมี “เรา” เข้าไปประคับประคองอยู่ ไม่ยอมให้มันดับ หรือไปทำให้มันดับมากด้วยความจงใจหรือเจตนา

ไอ้ตรงนี้ต่างหาก เพราะมันยังมี "เรา" ในขันธ์ ...แต่ถ้าไม่มีเราในขันธ์ ขันธ์ก็เป็นธรรมชาติของขันธ์ เกิดดับของมันในตัว ไม่มีอะไร ว่างเปล่า

เกิดก็เกิดแบบว่างเปล่า ตั้งอยู่แบบว่างเปล่าแล้วก็ดับไปแบบว่างเปล่าแต่ธรรมชาติของกายนี่ยืนพื้นเลย อยู่อย่างงั้นน่ะ


โยม –  อย่างนี้เวลาเรารู้อย่างนี้นะครับ บางทีผมจะเหมือนกับนั่งฟังซีดีไปด้วย รู้ไปด้วย เสียงนี่มันเป็นอุปสรรคของการตั้งมั่นรู้กาย

พระอาจารย์ –  จริงๆ น่ะ มันไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไรหรอก คือเราไม่ต้องไปสนใจ ...เพราะว่าเรายังอยากฟังเสียง มันก็เลยเหมือนกับมีจิตที่มันยังจะแตกแบ่งออกไปกำหนดรู้อยู่กับเสียง

แต่ถ้ากำหนดลงที่กายที่เดียว มันจะไม่ได้ยินเสียง มันจะไม่สนใจเสียง ...พอมันไม่สนใจเสียงปุ๊บ มันก็จะเสียดายข้อความในเสียง ตรงนี้มันก็เกิดละล้าละลัง เข้าใจมั้ย

เพราะว่าเราตัวหนึ่งก็อยากฟังธรรม อยากฟังรู้ เข้าใจในธรรม อีกใจก็กำลังปฏิบัติธรรมอยู่ มันจะเอายังไงดี เข้าใจมั้ย เพราะนั้นถ้าเลือกเอาที่เดียว คือเอากาย รู้ตัว

เสียงก็เสียง ผ่านหูไปผ่านหูมา ไม่ต้องไปใส่ใจเสียง แล้วไม่ต้องไปใส่ใจข้อความในเสียง ...ถ้าอย่างนี้ การฟังนี้จะเรียกว่าเป็นการฟังด้วยดี เป็นการฟังพร้อมกับปฏิบัติไปในตัว

แล้วไอ้ข้อความในเสียงนั้นน่ะ ไม่ต้องกลัวว่ามันจะจำไม่ได้ มันจะจำได้ในมิติที่ไม่ใช่ “เราจำ”  แต่ไอ้ตอนที่จะไปฟังเสียงนี่มันจะเอา “เราจำ” เข้าใจมั้ย

แต่ในลักษณะที่เราฟังแล้วไม่สนใจในเสียง มันกระทบๆๆ ของมันไป แล้วเราก็รู้ตัว รู้ตัวอยู่กับตัวนี่ ...ใจหรือจิตนี่มันจะจำของมันเอง ในสิ่งที่มันจำแล้วมาพ้องกับสภาพธรรมในปัจจุบันอย่างไร

มันจะไม่จำหมดหรอก มันจะไม่จำหมด ...แล้วพอฟังเสร็จแล้ว สมมุติว่าถ้ากำหนดรู้ตัวอย่างเดียวนะ เลิกฟังซีดีแล้วก็ถามตัวเองว่ารู้เรื่องมั้ย มันจะบอกไม่รู้เรื่องเลย...นั่นน่ะดีแล้ว

รู้แต่ตัว ไม่รู้เรื่องที่ฟัง ...แล้วต่อไปก็จะเข้าใจว่า กูไม่ต้องฟังก็ได้


โยม (อีกคน)  อย่างนี้ไม่ต้องฟังก็ได้ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ก็ใช่ ...แต่คราวนี้ว่าการที่ฟังนี่ คือมันเป็นอุบายนะ อุบายเพื่ออะไร ...เพื่อให้เกิดการตั้งมั่น อุบายเพื่อให้เกิดการขยันเจริญสติ ขยันทำความรู้ตัว

เพราะนั้นพอเราฟังแล้วจนเกิดความขยัน แล้วไม่ต้องเอาข้อความอะไรเลยน่ะ แล้วก็ฟังผ่านๆ ผ่านๆ ไป แล้วก็ทำความรู้ตัวๆๆ ...ไอ้ข้อความที่มันต้องการน่ะ มันจะเก็บไว้หมดเลย

มันจะเก็บไว้เอง ไว้ถึงคราวที่สภาวธรรม สภาวะขันธ์ สภาวะความรู้ความเข้าใจมันเกิดขึ้นปุ๊บนี่ ...ไอ้ที่จำ ไอ้ที่ฟังโดยที่ว่าไม่ได้เข้าใจ ไม่ได้ตั้งใจฟังนี่ มันจะมีเป็นสัญญาขึ้นมา

มันจะบอกว่า...อ๋อ เหมือนที่อาจารย์พูดเลย ...ทั้งที่ตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่าพูดอะไร มันไม่รู้เรื่อง ...นี่ มันจะเป็นอย่างนี้ ระบบของจิต ระบบของขันธ์ ระบบของธรรม มันจะเป็นอย่างนี้


(ต่อแทร็ก 11/34  ช่วง 3)



แทร็ก 11/34 (1)


พระอาจารย์
11/34 (add560624B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
24 มิถุนายน 2556
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  3  ช่วงบทความ)

โยม –  พระอาจารย์คะ แล้วอย่างถ้าสมมุติว่าเรายังดูแล้วมันยังแบบ...ดูได้เป็นขณะน่ะค่ะ

พระอาจารย์ –  เอ้า มันก็ต้องตั้งใจให้มันมากกว่านั้น มันอยู่ที่ความใส่ใจตั้งใจ ...ถ้ามันไม่พัฒนาขึ้นมาด้วยตัวของมันเอง มันก็ไม่มีทางพัฒนาสติให้มันมากขึ้นกว่านี้ได้

ถ้ามันไม่ตั้งใจขวนขวายน่ะ ด้วยความเพียร...ฉันทะ เข้าใจคำว่าฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ไหมล่ะ นั่นน่ะคืออิทธิบาท ๔ ...ถ้าไม่มีอิทธิบาท ๔ นี่ มันไม่มีทางพัฒนาสติสมาธิปัญญาให้มันเต็มที่ขึ้นได้เลย 

มันก็เหมือนกับน้ำที่บกพร่องไม่เต็มแก้ว แล้วถ้าไม่เติมลงไป มันจะเต็มมั้ยเล่า ...มันอยู่ที่ใครล่ะ ...ใครจะมาเติมให้ได้เล่า มันก็ต้องทำเองน่ะบอกแล้วต้องขยัน

เพราะนั้นเรื่องของกายนี่ อิริยาบถกายนี่ มันเป็นอะไรที่มันซ้ำซากในตัวของมัน ...หมายความว่ากิจกรรมหรือพฤติกรรมทางกาย ในหนึ่งวันนี่ ลองดูสิ มันมีพฤติกรรมซ้ำซาก

กิน ดื่ม อาบน้ำ แปรงฟัน ขี้เยี่ยว พวกนี้มันเป็นอิริยาบถซ้ำซากอยู่แล้ว ...ตั้งแต่เกิดมานี่ กินไปกี่ล้านมื้อแล้ว  ขี้เยี่ยวไปกี่ล้านครั้งแล้ว ใช่มั้ย ...แล้วก็ยังจะขี้เยี่ยวต่อ แล้วก็ยังจะกินต่อ อย่างนี้

มันไม่ใช่ว่ามันเป็นของที่ไกลตัว หรือเป็นของที่ว่าต้องดำดินบินบนถึงค้นหาเจอ  มันมีให้เห็นอยู่ทุกวี่ทุกวัน ...แต่คราวนี้ว่าทำไมถึงไม่เห็นเล่า มันไม่ตั้งใจน่ะๆ

อาบน้ำก็อาบน้ำทุกวัน กินก็กินทุกวัน ใช่มั้ย ซ้ำซากอยู่อย่างนี้ ...แล้วก็ยังเผลอเพลินอยู่อย่างนี้หรือ เอ้า ใครจะช่วยได้ล่ะ  จะมาหาอุบายไหน มันไม่มีอุบาย

มันอยู่ที่ตั้งใจรึเปล่า ตั้งใจขึ้นมารึเปล่าล่ะ เนี่ย เวลากำลังจะกิน...ก็ตั้งใจกิน ตั้งใจที่จะรู้ตัวระหว่างการกินให้ต่อเนื่องอย่างนี้ ...มันก็ต้องตั้งขึ้นมา

อาบน้ำอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าอาบลวกๆ กินก็กินลวกๆ กินตามความเคยชิน กินไปคุยไป กินไปคิดไป กินไปเพ้อเจ้อไป กินไปนึกถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปตามความเคยชินอย่างนี้...จิตน่ะ

ถ้าอย่างเนี้ยมันไม่สามารถจะพัฒนาขึ้นมาได้เลย ...แล้วก็ยังกินแบบ กินทิ้งกินขว้าง เข้าใจรึเปล่า ขว้างจิตขว้างใจออกทิ้ง ขว้างสติขว้างปัญญาอยู่ตลอดเวลา

กายเขาไม่ได้หายไปไหนนะ พฤติกรรมทางกายก็มีเหมือนเดิม แล้วก็จะต้องวนเวียนเหมือนเดิมอยู่อย่างนี้ ...ขี้เยี่ยวกี่ครั้งล่ะ เคยรู้สึกชัดเจนมั้ยในการเกร็ง การบีบรัด การขยับ การไหวน่ะ

หรือการกินอย่างนี้ แค่ห้านาทีสิบนาที กินมื้อหนึ่งนี่สิบนาที เอ้า ทำไม่ได้รึไง มันไปไหนกันล่ะ ...แล้วจะมาถามว่า ทำยังไงล่ะๆ ...จะทำยังง้าย ใช่มั้ย

กายมีอยู่แล้ว มีมาตั้งหลายสิบปีแล้ว ...จะไปหาสติที่ไหนเล่า จะไปหาสมาธิจากที่ไหนเล่า ใช่มั้ย ก็อยู่ตรงนี้ ของมันมีอยู่ต่อหน้าต่อตานี่ ...แต่ใช้ไม่เป็นน่ะ

แล้วก็ละเลยเกินไป ละเลย...มันละเลย มันคุ้นเคยกับกายนี้แบบลวกๆ เกินไป ...มันไม่เข้าไปตั้งสติจริงจังในการเฝ้ารู้ดูเห็นอากัปกริยาอาการของมัน

การกิน...แค่กระบวนการการกินนี่ ใครกินได้โดยที่รู้ตัวไม่ขาดเลยทุกขณะ...เก่ง ถือว่าเก่งมาก ...นี่ โดยที่ว่าไม่ผิดเพี้ยน ไม่คลาดเคลื่อนเลยแม้แต่อณูหนึ่ง

แล้วมันก็จะต้องกินทุกวันน่ะ มีให้ฝึกทุกวันน่ะ...อยู่ที่มันจะตั้งใจมั้ยล่ะ ...มันยากไง พอมันยาก มันทำได้สักพัก มื้อ-สองมื้อ วัน-สองวัน...ไม่เอาแล้ว ...อย่างนี้เขาเรียกว่าความเพียรไม่มี

ถ้าพระอริยะนี่ท่านมีความเพียร ...ไม่ได้วันนี้..พรุ่งนี้ต้องได้ พรุ่งนี้ไม่ได้..มะรืนต้องได้ มะรืนไม่ได้..อาทิตย์หน้าต้องได้ ...แล้วถ้ามันทำซ้ำๆๆๆ ซ้ำอยู่อย่างนั้น จนไม่ขาดตกบกพร่องเลยน่ะ

นี่ ไม่ขาดตกบกพร่อง แล้วก็ไม่ประมาทเลินเล่อเผลอเพลินอีกนะ ...เอามันจนชำนาญ ...พอชำนาญแล้วเขาเรียกว่าหลับตาเดินยังไม่หลง ...มันคล่องน่ะ

ซึ่งมันไม่ใช่แค่การกินนะ พอกินได้แล้วมันคล่องแคล่วว่องไว...สติมันฉับพลันทันที ชัดเจน ...แล้วก็ขยายออก ลุกจากที่นั่ง ล้างบาตร หมุนหัน เอื้อม หยิบจับกระโถน

สติดำเนินไปหมดน่ะ ...คราวนี้เชื่อมต่อ เดินขึ้นกุฏิ เอาบาตรไปวาง เช็ดบาตร ถูบาตร...ยาวเลย คราวนี้ยาวเลย ...เนี่ย มันอยู่ที่ความตั้งใจของคนนั้นๆ น่ะ

กายก็มีเท่ากัน เหมือนกัน กิจกรรมพฤติกรรม มีเท่ากัน เหมือนกัน  ไม่ได้มากไม่ได้น้อย ไม่ได้เก่งกล้ากว่ากันเลย ...แต่ว่าการอบรมจิต การอบรมสติสมาธินี่ ท่านมีสูง

ท่านมีความตั้งใจใฝ่ดีสูง ใฝ่อยู่ในศีล ใฝ่อยู่ในสตินี่มาก มากกว่าใส่ใจภายนอก ...เห็นความสำคัญตรงนี้มากกว่าความสำคัญภายนอก เช่นความสนุกในการกิน ความสนุกในการคุย ความสนุกในการคิด

นี่ ท่านให้ความสำคัญกับตรงนี้มากกว่าความสนุก ความน่าใคร่น่าพอใจทางอารมณ์ที่เคยเสพ เคยใช้ เคยมีเคยเป็นก็ดึงกลับมาอยู่กับฐานปัจจุบันได้ แล้วก็ปักหมุด...ตั้ง แล้วก็ปักหลักลงไป

เกิดการปักหลักปักหมุด ไม่ให้คลาดเคลื่อน ...แล้วท่านก็รักษาความไม่คลาดเคลื่อนอยู่ภายใน เป็นปัจจุบันกาย ปัจจุบันรู้ ปัจจุบันขันธ์ แล้วก็เป็นปัจจุบันธรรมอยู่ตลอดเวลาเลย

ทุกสิ่งทุกอย่างก็ชัดเจน แจ่มแจ้ง เหมือนกับกระจ่างในที่นี้...มันก็กระจ่างอยู่ในที่นี้ ไม่ใช่กระจ่างที่อื่น ...อะไรๆ มันเป็นอะไร มันเปิดเผยความเป็นจริงอยู่ที่นี้ 

นี่มันเห็นว่าอะไรเป็นอะไรกันแน่ ทุกอย่างกระจ่าง ณ ที่นี้ เคลียร์...เกิดอาการเคลียร์หมดเลย นี่เขาเรียกว่าวิสุทธิญาณบังเกิดขึ้นอยู่ ณ ปัจจุบันนั้นๆ

ปัญญาท่านไม่ได้เกิดจากการคิดค้นหรอก คิดค้นนี่เป็นแค่อุบายเท่านั้นเอง ...พอคิดจนดับ พอดับความคิดหมดแล้วนี่ คิดจนไม่รู้จะคิดอะไรแล้วนี่ ...มันจะหยุดเลย

มันจะหยุด...หยุดตรงนี้เลย แจ้ง...แจ้งทุกปัจจุบัน กระจ่างทุกปัจจุบัน ...ไม่ว่าอะไรนี่...ไม่มีอะไรไม่ชัด ไม่มีอะไรไม่เข้าใจ...ในปัจจุบันที่มันแสดงอาการ

ก็เห็นเลยว่าไม่มีอะไร ทั้งหลายทั้งปวงล้วนว่างเปล่า สามโลกธาตุล้วนว่างเปล่า เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนที่ชัดเจน ไม่มีตัวตนที่แท้จริง ไร้สภาพ...เป็นสภาวะที่ไร้สภาพ

เพราะนั้นสภาวะขันธ์ก็คือสภาวะที่เกิดดับแค่นั้นเอง ...สภาวะโลก สภาวะผัสสะ ก็เป็นสภาวะที่เกิดดับเท่านั้นเอง คือเป็นธรรมชาติหนึ่งที่เกิดดับเท่านั้นเอง

ไม่มีอะไร ไม่เป็นอะไรในธรรมชาติที่เกิดดับขณะหนึ่งๆ นั้น ...นั่นแหละ มันแจ้งในปัจจุบันทุกปัจจุบันอย่างนั้น จนไม่สงสัยในธรรมทั้งหลายทั้งปวง สัพเพธัมมา อนัตตาติ มันกระจ่างตรงนี้ ปัจจุบันนี้

แต่ถ้ารวมจิต รวมขันธ์ อยู่ในปัจจุบัน รวมกายอยู่ในปัจจุบัน เป็นพื้นฐานไม่ได้แล้วนี่...วุ่นวี่วุ่นวายหมด ...มัวแต่ไปภาวนาไปตั้งรู้ตั้งเห็นกับที่อื่น ไปอยู่ที่จิตบ้างที่อารมณ์บ้างๆ อย่างนี้ ที่อดีตบ้างที่อนาคตบ้าง 

จะไปตั้งอยู่กับมันทำไม...มันไม่มีความจริงหรอก มันเป็นแค่เรื่องราววูบวาบเท่านั้นเอง ...ต้องยึดต้องมั่นลงที่กายที่ศีลนี่แหละ ปักหมุดลงไปที่กาย อยู่กับกายนี่ 

รู้ตัวอย่างเดียวๆ แล้วมันจะเร็ว ...แล้วมันจะไม่สงสัยในที่ในธรรม ในจิต ในเรื่องราวในจิต ในคนนั้นคนนี้ ในคำพูดคนนั้นคนนี้ ...มันจะไม่สงสัยเลย 

พอมันเริ่มสงสัย กลับมารู้ที่กายปั๊บ...ขาด ...ต้องอย่างนั้นเลย ต้องเด็ดขาดกันเลย...เด็ดให้ขาด อย่าเยิ่นเย้อ แล้วมันจะแข็งแกร่งขึ้นๆ ...เหมือนกับเกลี้ยงเกลา ภายในมันจะเกลี้ยงเกลา เกาะไม่ติด 

เสียงมากระทบปุ๊บ พอจิตมันจะออกไปรับ จิตเราจะไปรับแล้วมาปรุงต่อ มันขาดๆๆ ...มันก็ไม่มีเรื่อง เรื่องเข้ามาไม่ถึงใจ มันก่อมันรวมตัวเป็นภพเป็นชาติไม่ได้ ก็ขาดๆๆๆ 

กายก็ทำหน้ารู้ทำหน้าที่เห็นไป ...เพื่ออะไร เพื่อทำลายความเป็นตัวเราในปัจจุบัน ในขันธ์ ที่มันยึดขันธ์เป็นเรา ยึดเราในขันธ์อยู่ ...ถ้าไม่ลงที่กายนี่ ไม่มีทางละเราในปัจจุบันได้เลย

เพราะจิต ความคิดความปรุงนี่ มันซัพพอร์ทเราในปัจจุบัน ...คิดไปทำไม...เพื่อให้ “เรา” เวลานั้นน่ะ สบาย มีความสุข  ถ้าไม่คิดก่อนแล้วเดี๋ยวไปเจอตรงนั้นแล้วจะทุกข์ เข้าใจมั้ย มันเลยต้องคิด

เพราะนั้นไอ้จิตที่มันมีได้ เพราะ “เรา” ในปัจจุบัน เข้าใจรึยัง ...ถ้ามันไม่มี “เรา” ในปัจจุบัน มันจะคิดไปหาพระแสงด้ามสั้นด้ามยาวทำไม...ไม่คิดหรอก

จิตจะหยุดความปรุงแต่งเลย เพราะมันไม่รู้จะซัพพอร์ทอะไร ...ถ้าไม่มี “เรา” ในปัจจุบันนั่งนอนยืนเดินนี่ ไม่มีหรอก จิตไม่ปรุงเลย

เพราะนั้นจิตน่ะมันเป็นปลายเหตุ เรื่องราวในจิตก็เป็นปลายเหตุหมด ...ทั้งหมดที่มันมีเรื่องราวไม่จบไม่สิ้นเพราะว่า มันต้องการให้ “เรา” นี่..."เรา" ตัวนี้  "เรา" ที่นั่งนอนยืนเดินนี่

เมื่อถึงเหตุการณ์นั้น เวลานั้น เจอคนนั้น เจอบุคคลนั้นๆ แล้วมันจะมีความสุข..."เรา" ตัวนี้จะมีความสุข "เรา" ในขันธ์นี่จะมีความสุข เมื่อถึงเวลานั้น เหตุการณ์นี้

แล้วมันจะคิดไปยังไงก็ได้สารพัด...ที่ว่าทำไมถึงไม่จบ ...นี่ ก็เพื่อให้จะตรงนี้ ความสุขที่เราจะได้นี่...เที่ยงที่สุด นานที่สุด ไม่หายไปไหนเลย

ถ้าไม่แก้ที่ “กายเรา” ในปัจจุบันนี่...แก้อะไรไม่ได้เลย ...ภาวนาก็ไม่ได้เรื่องราวอะไร ได้แต่เจอสภาวธรรมแปลกๆ ใหม่ๆ ได้แต่เจอสภาวะจิตแปลกๆ ใหม่ๆ ...ก็แค่นั้นน่ะ เกิดบ้างดับบ้าง 

แต่มันละ “เรา” อะไรไม่ได้เลย...เพราะมันไม่ได้เพื่อเป็นไปในการละ “เรา...ตัวเรา” เลย


(ต่อแทร็ก 11/34  ช่วง 2)