วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 11/33 (2)


พระอาจารย์
11/33 (add560624A)
24 มิถุนายน 2556
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 11/33  ช่วง 1

พระอาจารย์  พราะนั้นว่า สำคัญ...ถ้าไม่เท่าทันจิต แล้วก็ละความคิด วางความคิด ออกจากความคิดอยู่เสมอ บ่อยๆ นี่ ...มันจะไม่เกิดภาวะที่ยอมรับขันธ์ตามความเป็นจริงเลย

แล้วปัญญา...ถึงบอกว่าต้องเกิดจากสมาธิ จิตตั้งมั่นเป็นกลาง ...ถ้าจิตไม่ตั้งมั่นเป็นกลางแล้วนี่ มันจะไม่ยอมรับความเป็นไปของขันธ์เลย

มันจะมีความคิดที่มันจะคอยสร้างอุปาทานขันธ์...ขันธ์หลอกขึ้นมา...มาวัดมาเปรียบกับขันธ์จริงอยู่ตลอด มันจะสร้างขันธ์ที่ไม่มีจริงน่ะขึ้นมา

แล้วมันก็พยายามที่จะขวนขวายดิ้นรนในขันธ์ที่ไม่มีจริงนั่น...ให้มันเป็นจริงขึ้นมาให้ได้ ...ด้วยความทะยาน ผูกมัดว่าเที่ยงในอุปาทานขันธ์ เห็นอุปาทานขันธ์นั้นเที่ยง

มันไม่ยอมรับความไม่เที่ยงของขันธ์ปัจจุบัน ไม่ยอมรับความแปรปรวนของขันธ์ปัจจุบัน...ซึ่งมันเป็นขันธ์ปกติหรือขันธ์ตามความเป็นจริง

เพราะนั้นการที่กลับมารู้เฉยๆ เงียบๆ นิ่งๆ ไม่พูดกับมัน ไม่มีความเห็น ไม่คิดไม่นึก ไม่สร้างอดีตอนาคตกับปัจจุบันกายนี่ ...มันเป็นการฝึกให้เกิดรากฐานของสมาธิ คือจิตตั้งมั่น

เมื่อมันตั้งมั่นแล้วปัญญามันก็เกิด...เกิดด้วยการเห็นแล้วก็ปล่อยผ่าน...เห็นแล้วก็ปล่อยผ่าน ...นั่นน่ะ ปล่อยผ่านอาการของขันธ์ อาการของโลก เห็นแล้วก็ปล่อยผ่านๆ

ไม่เข้าไปวุ่นวี่วุ่นวาย ไม่เข้าไปเจ้ากี้เจ้าการ ไม่เข้าไปจัดการ ไม่เข้าไปมีเจตนาหรือไปตั้งเจตนา หรือไปตรึก หรือไปนึก ไปวิตกวิจารณ์กับมัน ...นั่นน่ะ ปัญญานี่มันวาง

แต่ถ้ามันไม่ตั้งมั่นแล้วมันจะวางไม่ได้ ...วางไม่ได้มันจะเข้าไปเกาะเกี่ยว แล้วก่อเกิดความเป็นเราของเรากับสิ่งนั้นๆ ทางรูปเสียงกลิ่นรส ทางความคิด ทางอดีตอนาคต ...มันจะเป็นเราไปหมดเลย

ถ้าจิตไม่สงบระงับกองสังขาร จิตสังขาร กายสังขาร วจีสังขารแล้วนี่  มันจะไม่ยอมรับขันธ์ตามความเป็นจริงได้เลย ...เพราะมันจะคอยสร้างขันธ์หลอกขันธ์ลวง

ขันธ์ที่ไกล ขันธ์ที่ใกล้ ขันธ์ที่ประณีต ขันธ์ที่ดีกว่า ขันธ์ที่สุขกว่า ขันธ์ที่เป็นทุกข์น้อยกว่า ...มันจะสร้างพวกนี้ ให้เป็นภาพลวงตาอยู่ภายใน

แล้วมันจะปิด คลุม บัง ขันธ์หรือกายตามความเป็นจริงในปัจจุบัน ...จนไม่ยอมรับ จนไม่ยอมเชื่อความเป็นจริงในปัจจุบัน

นั่น จนกว่ามันจะหยุดสร้างอุปาทานขันธ์ภายในนั่นแหละ ...เพราะนั้นมันจะหยุดสร้างอุปาทานขันธ์ภายใน ก็ต่อเมื่อจิตมันสงบ สงบเป็นหนึ่งอยู่กับรู้ อยู่กับเห็น

เพราะนั้นการฝึกอยู่ทุกอิริยาบถการเคลื่อนการไหวของกายนี่ มันเป็นการสร้างรากฐานของศีลสมาธิด้วยสติ เพราะนั้นว่าผู้ปฏิบัติทุกคนจะต้องมาเน้นอยู่ที่ตรงนี้

ปัญญาจะเกิดน้อย ปัญญาจะเกิดมาก  จะปล่อยวางได้น้อย จะปล่อยวางได้มาก...ก็อยู่ที่ว่าสติ ศีล มันมากพอไหม...มันก็วัดเอาได้น่ะ  ถ้าศีลอ่อน สมาธิน้อย ปัญญามันก็น้อย

เช่นยังไง ...เห็นอะไร ได้ยินอะไร ปึ้บ มันมีอารมณ์ขึ้นมาแบบรวดเร็วทันใจเลย แบบดึงไม่อยู่ ฉุดไม่ได้ ลากไม่ทันเลยล่ะ มันจะลากออกไป วนเวียนเป็นเรื่องเป็นราว

เพราะนั้นน่ะ กำลังของสติ ศีล สมาธิ มันไม่มี ...มันก็เกิดความเป็นเรา เป็นตัวเป็นตน เป็นตัวเขาตัวเรา เป็นอารมณ์เขาเป็นอารมณ์เราขึ้นมา...ฉับพลันทันด่วนเลย

แต่ถ้ามันมีรากฐานที่มั่นคงแข็งแรงแล้วนี่ การเห็นการได้ยินที่มันมากระทบสัมผัสนี่ มันจะเกิดการรับรู้ด้วยอาการเป็นกลางๆ ค่อนข้างจะนิ่ง เฉย แล้วก็ไม่ค่อยจะรู้สากับมัน

ก็เห็นเป็นแค่อะไรเบาๆ บางๆ วูบวาบไปมาอยู่ข้างหน้ามัน อยู่รอบขันธ์นั่นน่ะ

เพราะนั้น ถ้าฐานของสติสมาธิมันมาก ตั้งมั่นได้มาก ...มันก็เห็นอาการผัสสะ การเห็นการได้ยินนั้นน่ะ มันเป็นแค่ผัสสะวูบวาบผ่านไปมา ไร้ตัวตน ไม่มีอะไรในนั้น

ปัญญามันก็เกิดตรงนั้น มันเห็น...เห็นในความที่ว่ามันไม่มีจิตเข้าไปปรุงแต่งต่อเนื่อง ด้วยสมมุติ ด้วยบัญญัติ ด้วยอดีต ด้วยอนาคต ด้วยอะไรก็ตาม

นั่น มันก็จะเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงของไตรลักษณ์ได้ชัด...ว่ามันเป็นเพียงแค่ไตรลักษณ์เกิดๆ ดับๆ เท่านั้นเองจริงๆ  

ถึงบอกว่า การฝึกในทุกอิริยาบถที่รู้อยู่กับเนื้อตัวนี่สำคัญ มันจึงจะเกิดปัญญา ...ไม่อย่างนั้นน่ะ เวลาคับขันขึ้นมานี่ เรียกหาเรียกใช้ไม่ได้ สติไม่รู้จะตั้งอยู่ที่ไหน

ไม่รู้จะเอาจิตไปตั้งอยู่กับอะไร รวมจิตไม่ได้ รวมจิตให้อยู่แค่รู้แค่เห็นก็ไม่ได้ เพราะมันไม่รู้ว่ามันจะรวมได้อย่างไร ...มันไม่ชำนาญ มันไม่มีหลัก มันไม่ได้หลัก

แต่ถ้ามันได้หลัก มันมีหลัก ...ไม่ว่าจะเกิดเหตุคับขันภายในหรือภายนอกก็ตาม ด้วยความที่ชำนิชำนาญ ด้วยความที่สร้างฐานศีลสติสมาธิได้ ด้วยความขยันหมั่นเพียรมาก่อน

มันจะลงหลักปักฐานได้ กลับมาตั้งมั่นลงร่องมรรค ลงร่องของสมาธิ ลงร่องของกาย ลงร่องของศีลได้...ด้วยความฉับพลันทันด่วนเลย นี่

จิตมันก็จะตั้งมั่นต่อกรกับขันธ์ด้วยความเป็นกลาง ต่อกรกับจิตปรุงแต่งจากอำนาจของอวิชชาทะยานอยากนี่ ด้วยความเป็นกลาง ด้วยความอดทนตั้งมั่นไม่ท้อถอย

มันก็จะเผชิญกับขันธ์ด้วยความสำเหนียก ด้วยความเข้าใจ ...และยอมรับในทุกข์นั้นๆ ด้วยความเป็นกลาง 

ขันธ์ยังไงมันเป็นทุกข์อยู่แล้ว มีแต่เรื่องของทุกข์ทั้งนั้นแหละ ...แต่คราวนี้ว่ามันจะตั้งมั่นอยู่กับทุกข์นั้นได้นานไหม โดยที่ไม่ปรุงแต่งกับมันเลย...นี่ ตรงนี้ที่ต้องฝึก

ถ้าฐานของสมาธิไม่มี ไม่มั่น ...มันตั้งมั่นกับทุกขเวทนาได้ไม่นานหรอก มันจะต้องคิดไปข้างหน้าข้างหลังน่ะ มันจะต้องมี “เรา” อยู่ในข้างหน้า...ที่มันสร้างขันธ์ที่เป็นขันธ์หลอก 

นั่น เป็นอุปาทานขันธ์ ที่ดีกว่า ที่ไม่เป็นทุกข์ หรือว่ามีทุกข์น้อยลงกว่านี้ ...นี่ มันจะ ดิ้นออกไปหาขันธ์ตัวนั้นให้เกิด ...ถ้ามันเสกได้ มันก็จะเสกให้เป็นอย่างนั้นเลย 

นี่มันนึกว่าทำได้ แล้วมันเสกไม่ได้มันก็คิดต่อ...ไปอ้อนวอนขอให้ศักดิ์สิทธิ์มาช่วย ...มันทำหมดน่ะจิต ...ถ้ายังไม่ระงับยับยั้งจิตคิดจิตปรุงเหล่านั้นน่ะ มันจะสร้างแต่เหตุให้เกิดทุกข์ภายใน...คือทุกข์ในเรา  

นึกก็แล้ว เสกก็แล้ว ไปทำบุญ รดน้ำมนต์ อะไรก็แล้ว มันก็ไม่หาย อย่างนี้  ก็ยิ่งหา ยิ่งค้น ยิ่งอะไรไปกันใหญ่ ...ถ้าไม่หยุดจิต..แก้ไม่ได้หรอก ถ้าไม่หยุดความคิดน่ะ

แต่ถ้าหยุดความคิดแล้วก็ตั้งรับกับขันธ์ ตั้งรับกับเวทนาในขันธ์ ตั้งรับกับความเป็นไปในขันธ์ ด้วยความตั้งมั่นเป็นกลางนี่ ตรงนี้คือวิธีแก้ด้วยปัญญา

เหมือนโง่ๆ นะ เหมือนไม่ได้คิดอะไรเลย ...แต่มันตั้งมั่นอยู่ด้วยรากฐานของความอดทน มีขันติ มีความสงบระงับ และก็มีการรู้เห็นขันธ์ด้วยความเป็นกลางๆ ด้วยความเข้าใจมัน

ว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้...มันไม่เป็นอย่างอื่นหรอก ...มันก็จะเห็นไปเรื่อยๆ ด้วยความบีบคั้นลึกๆ  เพราะว่ามันยังมี “เรา” ลึกๆ อยู่ข้างใน...ที่ยังเป็นทุกข์ลึกๆ อยู่ข้างใน

ต้องอดทน ...ตราบใดที่ยังมี “เรา” อยู่ มันก็จะมีทุกข์ลึกๆ อยู่ข้างใน เป็นทุกข์ของเรากับขันธ์ ทุกข์ของเรากับเวทนาในขันธ์ ...มันต้องอดทน

แต่ว่าจะอดทนได้มากได้น้อยอยู่ที่กำลังของสมาธิ ...ถ้าสมาธิอ่อนนี่ อดทนได้ไม่เกินห้านาที ก็คิดๆๆๆ ...พอคิดแล้วมันก็เหมือนกับผึ้งแตกรังน่ะ พรูออกไป นี่ เอาไม่อยู่ล่ะ เอาไม่อยู่แล้ว

ทีนี้ก็ดึงไม่กลับ กู่ไม่กลับแล้ว ถึงตรงนั้นน่ะ มันก็จะไปวนเวียนซ้ำซากๆ เนี่ย มากมายมหาศาลแล้ว ...ถ้าถึงขั้นจุดนั้นก็ต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ นับหนึ่งใหม่กับกาย กับอิริยาบถกาย

นี่ มันต้องกลับมาที่ศีลก่อน กลับมาตั้งลงมั่นคงที่ศีลก่อน คือไม่ออกนอกกายปัจจุบันก่อน ...ถ้าไม่มีศีล ถ้าออกนอกกายปัจจุบันแล้วนี่ จิตมันก็จะสร้างกายล้านแปดกายขึ้นมา

กายอดีตกายอนาคต กายคนนั้นกายคนนี้ คนนั้นเขาเป็นอย่างนี้ คนนี้เขาทำอย่างนั้นได้ เขาไปหาหมอ ...มันจะมีไม่รู้กี่กาย สับสนไปหมด ก็เรียกว่ามันเกินศีล มันล้ำศีลออกไป มันล่วงเกินศีล

เพราะนั้นต้องกลับมา ...ต่อให้มันจะเป็นผึ้งแตกรังออกไปมากมายมหาศาลขนาดไหน ก็ต้องกลับมารวมอยู่กายเดียวให้ได้ก่อน...คือศีล กลับมาตั้งลงที่ฐานศีลก่อน

คืออิริยาบถกาย รูปของกายปัจจุบันอยู่ในท่าไหน ความเย็นร้อนอ่อนแข็งมันอยู่ตรงไหน ลมหายใจเข้าออกมันอยู่ตรงไหน ...ตรงนี้ต้องกลับมาฐานกายปัจจุบันก่อน

ตรงนี้ก็เรียกว่าต้องอดทนอย่างยิ่งแล้ว เพราะว่าเหมือนผึ้งแตกรัง มันไม่ยอมกลับมาง่ายๆ หรอก ...และตรงนี้มันจะขุ่นมาก มัวมาก มีความขุ่นมัวเศร้าหมอง

ใครอย่าเข้ามาพูด ใครอย่ามาแนะอันนั้น ทำอย่างนี้ ...มันจะโกรธ  มันจะมีอารมณ์ มันจะด่า ใช้อำนาจของกิเลสออกไป เพราะมันจะอ่อนไหวต่อกิเลสมากตอนนี้

แล้วมันก็เป็นการเอาชนะกันระหว่างสติ ศีล สมาธิ...กับ “เรา” ที่มันจะคิด จะปรุง จะต่อ ไม่ยอมหยุด ...เพราะลึกๆ มันก็มีเป้าหมายของความคิด ว่าคิดไปจนกว่าจะหาทางออกได้

ซึ่งมันไม่มีทางจะหาทางออกได้ ...บอกแล้วว่ามันเป็น...ความคิดความนึกของจิตน่ะมันเป็นทางแห่งวิบัติ เพราะมันหมุนวนน่ะ ไม่มีคำว่าจบ

คิดเท่าไหร่ คิดจนวันตายก็ยังแก้ไม่ได้...แก้ตายไม่ได้ เข้าใจมั้ย จะเอาชนะกายก็ไม่ได้ด้วยความคิด คิดเข้าไปเถอะ หายาขนาดไหน หมอเก่งขนาดไหน

เอาหมอชีวกมาก็ตายน่ะ พระพุทธเจ้ายังตายเลย หมอชีวกนี่ว่าเก่งที่สุดแล้วยังเอาไม่อยู่ ...เห็นมั้ย มันแก้ด้วยความคิดอะไรไม่ได้หรอก มันจะเอาความคิดมาแก้ขันธ์ไม่ได้เลย

แต่จิตไม่มีปัญญามันไม่เชื่อหรอก มันเข้าใจว่ามันทำได้...มันต้องทำได้สักวัน มันต้องทำได้สักความคิดหนึ่ง สักความเห็นหนึ่ง สักสิ่งที่ได้จากความคิดอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมานั่นน่ะ

นี่แหละที่มันไม่ยอมหยุดคิดน่ะ ...มันไม่ยอมหยุด มันไม่ยอมละความคิด เพราะมันจะเข้าใจว่ามันจะคิดจนกว่าจะได้มรรคผลนิพพานของมัน...คือความสุขน่ะ

มรรคผลนิพพานในความคิดของ เราคืออะไร...คือความสุข ความสุขในขันธ์ ความสุขในโลก ...นั่นแหละคือมรรคผลของมัน หรือของ “เรา”
 
แต่มันไม่ใช่มรรคผลอันเป็นมรรคเป็นผลคือนิพพาน...คือความดับโดยสิ้นเชิง


(ต่อแทร็ก 11/33  ช่วง 3)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น