วันพุธที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 11/34 (2)


พระอาจารย์
11/34 (add560624B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
24 มิถุนายน 2556
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 11/34  ช่วง 1

โยม –  ท่านอาจารย์ครับ อย่างนี้เวลาเรารู้ลงปัจจุบัน มันจะเห็นกอง กองอยู่ แล้วก็มันจะมีภาพ มีความรู้สึกว่าเรากำลังนั่งอยู่ แต่พอเรารู้ทันนี่ ไอ้ภาพหรือความรู้สึกนี่ก็หายไป...ไอ้นี่คือ “เรา” ในปัจจุบัน

พระอาจารย์ –  ใช่ เราที่มันมีอยู่ในรูป


โยม –  ที่นี้มันยังมี “เรา” ในปัจจุบันตรงไหนที่ยังต้องดูอีก

พระอาจารย์ –  ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องไปควาน ว่างไปก็เป็นว่างไป ว่างจากความเป็นเรา ก็ไม่ต้องไปหา ...มันมีลึกๆ แต่มองไม่เห็นหรอก ช่างมัน ดูไป


โยม –  ครับ พอมีชัดขึ้นมาก็ค่อยดูตอนนั้น

พระอาจารย์ –  เหมือนหน่อไม้น่ะ ถ้ามันผุดขึ้นมาค่อยขุด  ถ้ามันไม่ผุดขึ้นมาจากดิน อย่าไปหา ...เฉยๆ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ก็ดูกายไปด้วยความไม่รู้ไม่ชี้

ตรงนี้มันจะทำให้ความเป็นเราค่อยๆ เผยตัวของมันเองขึ้นมา ...เผยขึ้นมาเมื่อไหร่ปุ๊บ...ตัด ละ ทัน มันก็ดับ ...ทำลายไปอย่างนี้ พร้อมกับการที่รู้กายเงียบๆ ไป

รู้กายเงียบๆ ไม่รู้สึกว่าเป็นเราตรงไหนน่ะดีแล้ว  เพราะมันกำลังทำความ..ปัญญาทำความชัดเจนภายในกับขันธ์ ...กายกับขันธ์นี่ถือเป็นตัวเดียวกันนะ ขันธ์ห้ารวมลงที่กายนั่นน่ะ

พอระหว่างนั้นมันมีความคิดความปรุง...ช่างหัวมัน ไม่จับมาเป็นธุระ ไม่เอามาเป็นอารมณ์...เห็นแต่ไม่เอามาเป็นอารมณ์ ...เห็นแล้วละๆ ไม่จ้องไม่ดูๆ

เหมือนเห็นด้วยหางตา แล้วก็ละ มามุ่งลงที่กาย จดจ้องลงที่กาย ตั้งมั่นอยู่กับกาย...กายให้ชัด เพราะนั้นยิ่งกายชัดเท่าไหร่ จิตยิ่งน้อยลงเท่านั้น จิตยิ่งหายเลย มันจะชัดอยู่สองอาการ กายกับรู้


โยม (อีกคน) มันเหมือนกับว่าเรายังไม่ทันได้รู้ใช่ไหม มันขึ้นมา...

พระอาจารย์ –  ละไปเลย ...เห็นน่ะ มันเห็น เห็นแล้วก็ละๆ ตั้งหน้าตั้งตาละลูกเดียว ภายในน่ะ อะไรที่มันเกินสองสิ่งคือรู้กับกาย...ละออกหมดเลย

ละ..ไม่ได้หมายว่าละแล้วต้องดับนะ ละความสนใจจากมัน เข้าใจมั้ย ก็เรียกว่าละแล้ว เรียกว่าวางแล้ว ไม่ได้หมายความละวางแล้วมันต้องดับนะ คือไม่ดับ...ไม่ดับก็ไม่ดับ แต่วางไว้ ไม่เข้าไปยี่หระสนใจมัน

เพราะอะไร เพราะเรายังไม่เป็นสมุจเฉท ...ถ้ามันเริ่มเป็นสมุจเฉท พอรู้ปุ๊บ เห็นปั๊บ ขาดปุ๊บเลย เหมือนกับมันกระเด็น มันกระเด็นออกจากจิตเลย

เพราะนั้นในลักษณะพวกเรานี่ มันก็จะมีบางอารมณ์ที่มันสามารถกระเด็นออกจากจิตไป แต่บางอารมณ์ไม่กระเด็น เข้าใจมั้ย อึดอัด เศร้าหมอง ขุ่น หงุดหงิด กังวล กลัว

เสียใจ เศร้าโศก อาวรณ์ อะไรพวกนี้ มันยังไม่กระเด็น เข้าใจมั้ย เนี่ย ละแต่ยังไม่ดับ ...แต่อย่าเข้าไปหมกมุ่นอยู่กับมัน มาหมกมุ่นอยู่กับกาย ที่เดียวๆ ตรงนี้

แล้วก็ค่อยๆ สังเกตไป เดี๋ยวมันก็ค่อยจางไปในตัวของมันเอง เหมือนกับมันออสโมซิส หายไปตรงไหนก็ไม่รู้ เออ นั่นแหละ

นั่นแหละคือวิธีจัดการกับนามขันธ์ ด้วยการไม่แยแสมัน ไม่เอา “เรา” เข้าไปมีเป็นกับมัน มันก็จะไม่ปรากฏตกผลึกเป็นความเที่ยงแท้ขึ้นมา

เพราะนั้นการที่ตั้งหน้าไปดูมันเพื่อจะเห็นความดับนี่...คือการซัพพอร์ทอย่างหนึ่งนะ ซัพพอร์ทให้มันยังคงอยู่นะ นั่นน่ะ...เคยมั้ยที่ตั้งหน้าตั้งตาดูความโกรธแล้วยิ่งโกรธน่ะ


โยม –  ครับ

พระอาจารย์ – เออ ยิ่งไปกันใหญ่เลยน่ะ มันไม่สามารถแยกออกได้หรอก ...แต่ลองไม่สนใจมันสิ แล้วมาสนใจกายแทน จะเห็นเลยว่าไม่ค่อยโกรธ...ไม่ค่อยโกรธ

มันค่อยๆ ไม่เอาธุระกับความโกรธเท่าไหร่ ...แล้วก็ไม่มีความคิดว่าเขาจะดี เขาจะร้าย  เขาจะถูก เขาจะผิดขึ้นมา ...มันไม่สนใจแล้ว ตรงนี้

เห็นมั้ยว่าการละ การออกจากนามขันธ์นี่ ท่านออกอย่างนี้ การที่กลับมาดูกายเห็นกาย มันจะแก้ตัวเรา คือรากเหง้า คือรากเหง้าของ “เรา” ในขันธ์

พอ “เรา” ในขันธ์มันน้อยลง อ่อนตัวลงนี่...การกระทบอารมณ์นี่ ความเป็นเราที่จะเข้าไปรับผัสสะนี่ จะน้อย จะจาง จะไม่ค่อยเอาเรื่องเอาราวมากเท่าเดิม ...ให้สังเกตดู

ถึงมีเรากับเสียงกับรูปนั้น...ก็ไม่นานเท่าเดิม ไม่เป็นวันเป็นเดือน เข้าใจมั้ย อาจจะเป็นแค่ชั่วโมง นาที แล้วก็..เออ ไม่เห็นจะอะไร ...มันเหนื่อย มันเบื่อ ไม่รู้จะไปอะไรกับมัน

นี่ มันจะปล่อย มันเริ่มไม่เอาธุระแล้ว ซึ่งแต่ก่อนมันไม่ยอม ไม่ยอมวาง คาดคั้นเอาถูกเอาผิดกับมันให้ได้ อะไรอย่างนี้ ...เนี่ย เพราะนั้นแก้ให้ถูกที่

ถึงบอกว่าอย่าละเลยศีล อย่าข้ามศีล ...ศีลนี่เป็นรากเหง้าเลยของธรรม ของสมาธิธรรม ของปัญญาธรรม ตลอดสายเลย ทิ้งกายไม่ได้เลย

ก็อย่างที่เราบอก พระอรหันต์ไปยืนกลางแดด พระอรหันต์ก็ร้อน... ละได้หมดแล้วนะนั่นน่ะ กิเลสก็หมดแล้ว ความปรุงแต่งก็หมดแล้ว...แต่ท่านยังร้อนน่ะ

อย่าบอกว่าพระอรหันต์ไม่ร้อนนะ ท่านยังต้องกางร่ม นั่งนาน..มีหรือพระอรหันต์ไม่เมื่อย ก็เมื่อย เห็นมั้ย กายยังมี...ลบล้างไม่ได้เลยศีลนี่ จะลบล้างไม่ได้เลย

ต่อให้เป็นจิตพระอรหันต์ก็ยังลบล้างกายไม่ได้ ลบล้างศีลไม่ได้เลย แต่กิเลสลบล้างหมดแล้ว นามขันธ์ส่วนนามขันธ์ ลบหมดแล้ว ความปรุงแต่งอดีตอนาคตไม่มีแล้ว

มันหมด หมดความหมายมั่นไปโดยปริยาย แต่กายยังมีอยู่ เวทนาในกายก็ยังมีอยู่ ...เนี่ย ไม่มีอะไรจริงกว่าศีลแล้วนะ ความเป็นจริงทั้งหลายทั้งปวงก็เหลือแค่ศีล...กายกับรู้เท่านั้นเอง กับใจ

แล้วก็คือจะเหลืออยู่สองธรรมชาติ คือธรรมชาติของกายกับธรรมชาติของใจ แล้วก็จะเห็น แล้วก็จะอยู่กันแบบต่างคนต่างอยู่ โดยธรรมชาติของกายก็คือธรรมชาติเกิดดับ ธรรมชาติของใจก็คือธรรมชาติที่ไม่เกิดไม่ดับ

เออ จนกว่าธรรมชาติของกายเกิดดับ ก็จะเหลือแต่ธรรมชาติของใจที่ไม่เกิดไม่ดับเป็นอนันตกาล เรียกว่า อนันตมหาสุญญตา นี่ท่านอยู่อย่างนี้

หมายความว่าขณะที่ขันธ์ยังอยู่ ขันธ์ยังไม่ตาย ท่านก็มีธรรมชาติสองธรรมชาติแค่นี้เอง นอกนั้นขึ้นมานี่ มันดับๆๆ ดับหมด มันได้แค่ตรงนั้นแล้วก็ดับไปตรงนั้น

นี่ มันได้แค่ตรงไหนแล้วก็ดับอยู่แค่ตรงนั้น มันจะไม่มีการว่าจะพาไปก่อเกิดหรือว่ามีเชื้อไปก่อที่เป็นอดีตสัญญา อนาคตขันธ์ต่อไปข้างหน้า...ไม่มีแล้ว

ไม่มีความเข้าไปถือแล้ว ...เกิดตรงนั้น..ดับๆๆๆ ...อารมณ์ ความรู้สึก ความคิดในจิตน่ะ ดับหมด ...แล้วมันดับ มันหมดสภาพไปในตัวของมันเอง

แต่ตอนนี้ของพวกเรานี่ มันหมดสภาพในตัวของมันเอง แต่ยังมี “เรา” เข้าไปประคับประคองอยู่ ไม่ยอมให้มันดับ หรือไปทำให้มันดับมากด้วยความจงใจหรือเจตนา

ไอ้ตรงนี้ต่างหาก เพราะมันยังมี "เรา" ในขันธ์ ...แต่ถ้าไม่มีเราในขันธ์ ขันธ์ก็เป็นธรรมชาติของขันธ์ เกิดดับของมันในตัว ไม่มีอะไร ว่างเปล่า

เกิดก็เกิดแบบว่างเปล่า ตั้งอยู่แบบว่างเปล่าแล้วก็ดับไปแบบว่างเปล่าแต่ธรรมชาติของกายนี่ยืนพื้นเลย อยู่อย่างงั้นน่ะ


โยม –  อย่างนี้เวลาเรารู้อย่างนี้นะครับ บางทีผมจะเหมือนกับนั่งฟังซีดีไปด้วย รู้ไปด้วย เสียงนี่มันเป็นอุปสรรคของการตั้งมั่นรู้กาย

พระอาจารย์ –  จริงๆ น่ะ มันไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไรหรอก คือเราไม่ต้องไปสนใจ ...เพราะว่าเรายังอยากฟังเสียง มันก็เลยเหมือนกับมีจิตที่มันยังจะแตกแบ่งออกไปกำหนดรู้อยู่กับเสียง

แต่ถ้ากำหนดลงที่กายที่เดียว มันจะไม่ได้ยินเสียง มันจะไม่สนใจเสียง ...พอมันไม่สนใจเสียงปุ๊บ มันก็จะเสียดายข้อความในเสียง ตรงนี้มันก็เกิดละล้าละลัง เข้าใจมั้ย

เพราะว่าเราตัวหนึ่งก็อยากฟังธรรม อยากฟังรู้ เข้าใจในธรรม อีกใจก็กำลังปฏิบัติธรรมอยู่ มันจะเอายังไงดี เข้าใจมั้ย เพราะนั้นถ้าเลือกเอาที่เดียว คือเอากาย รู้ตัว

เสียงก็เสียง ผ่านหูไปผ่านหูมา ไม่ต้องไปใส่ใจเสียง แล้วไม่ต้องไปใส่ใจข้อความในเสียง ...ถ้าอย่างนี้ การฟังนี้จะเรียกว่าเป็นการฟังด้วยดี เป็นการฟังพร้อมกับปฏิบัติไปในตัว

แล้วไอ้ข้อความในเสียงนั้นน่ะ ไม่ต้องกลัวว่ามันจะจำไม่ได้ มันจะจำได้ในมิติที่ไม่ใช่ “เราจำ”  แต่ไอ้ตอนที่จะไปฟังเสียงนี่มันจะเอา “เราจำ” เข้าใจมั้ย

แต่ในลักษณะที่เราฟังแล้วไม่สนใจในเสียง มันกระทบๆๆ ของมันไป แล้วเราก็รู้ตัว รู้ตัวอยู่กับตัวนี่ ...ใจหรือจิตนี่มันจะจำของมันเอง ในสิ่งที่มันจำแล้วมาพ้องกับสภาพธรรมในปัจจุบันอย่างไร

มันจะไม่จำหมดหรอก มันจะไม่จำหมด ...แล้วพอฟังเสร็จแล้ว สมมุติว่าถ้ากำหนดรู้ตัวอย่างเดียวนะ เลิกฟังซีดีแล้วก็ถามตัวเองว่ารู้เรื่องมั้ย มันจะบอกไม่รู้เรื่องเลย...นั่นน่ะดีแล้ว

รู้แต่ตัว ไม่รู้เรื่องที่ฟัง ...แล้วต่อไปก็จะเข้าใจว่า กูไม่ต้องฟังก็ได้


โยม (อีกคน)  อย่างนี้ไม่ต้องฟังก็ได้ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ก็ใช่ ...แต่คราวนี้ว่าการที่ฟังนี่ คือมันเป็นอุบายนะ อุบายเพื่ออะไร ...เพื่อให้เกิดการตั้งมั่น อุบายเพื่อให้เกิดการขยันเจริญสติ ขยันทำความรู้ตัว

เพราะนั้นพอเราฟังแล้วจนเกิดความขยัน แล้วไม่ต้องเอาข้อความอะไรเลยน่ะ แล้วก็ฟังผ่านๆ ผ่านๆ ไป แล้วก็ทำความรู้ตัวๆๆ ...ไอ้ข้อความที่มันต้องการน่ะ มันจะเก็บไว้หมดเลย

มันจะเก็บไว้เอง ไว้ถึงคราวที่สภาวธรรม สภาวะขันธ์ สภาวะความรู้ความเข้าใจมันเกิดขึ้นปุ๊บนี่ ...ไอ้ที่จำ ไอ้ที่ฟังโดยที่ว่าไม่ได้เข้าใจ ไม่ได้ตั้งใจฟังนี่ มันจะมีเป็นสัญญาขึ้นมา

มันจะบอกว่า...อ๋อ เหมือนที่อาจารย์พูดเลย ...ทั้งที่ตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่าพูดอะไร มันไม่รู้เรื่อง ...นี่ มันจะเป็นอย่างนี้ ระบบของจิต ระบบของขันธ์ ระบบของธรรม มันจะเป็นอย่างนี้


(ต่อแทร็ก 11/34  ช่วง 3)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น