วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 11/33 (1)



พระอาจารย์
11/33 (add560624A)
24 มิถุนายน 2556
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  3  ช่วงบทความ)

โยม –  พระอาจารย์คะ เมื่อวานโยมติดอยู่เรื่องหนึ่งว่า ที่ว่าดูเวทนาน่ะค่ะ ...เวลานั้น ถ้าเกิดว่าสมมุติว่าเรามีเวทนา แบบอย่างเราป่วยอย่างนี้ค่ะ มันป่วยมากๆ ...เริ่มต้นเลย แรกๆ ถ้าเรายังดูไม่ได้ เราควรจะให้เห็นอะไรก่อน

พระอาจารย์ –  เห็นกายนั่นแหละ


โยม –  แต่ถ้ามันเห็นไม่ได้ล่ะคะพระอาจารย์

พระอาจารย์ –  มันต้องได้สิ อยู่ในอิริยาบถไหนล่ะ ดูกายอิริยาบถก่อน รวมอยู่ในกายก่อน ...อย่าเพิ่งไปดูอะไรที่มันเป็นนาม จับรูปหยาบๆ ก่อน ดูรูปรวมๆ ก่อน

เพราะเวทนามันเนื่องด้วยกาย มันไม่ใช่เนื่องด้วยอะไรหรอก ...มันจะไม่มีเวทนาเลยถ้ามันไม่มีกาย เพราะนั้นกายมันเป็นต้นเหตุของเวทนา

เวทนาไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ หรอก มันก็มาจากกายนั่นแหละ เพราะนั้นรวมลงที่กายก่อน แล้วจากกายไปก็ค่อยๆ เห็นความเป็นเวทนาในกาย

ใจเย็นๆ ดูกายให้ชัดก่อน ดูความรู้สึกในความเป็นก้อนน่ะ เป็นก้อนธาตุ เป็นก้อนการรวมตัวกันของรูปอิริยาบถยืนเดินนั่งนอน ลมหายใจก็ได้ อะไรก็ได้

แล้วก็ค่อยดูเวทนาไป เป็นกอง คนละกอง กองกายกองหนึ่ง กองเวทนากองหนึ่ง แยกได้ก็ดูในลักษณะเป็นสองอาการก่อน เวทนาอันหนึ่ง กายอันหนึ่ง  

กายส่วนกาย เวทนาส่วนเวทนา แล้วก็มี “เรา” เข้าไปทุกข์ ไปปวดกับเวทนา ...เกิดทุกข์ขึ้นอีกกองหนึ่ง เป็นกองกิเลส กองความไม่รู้ ...ก็ดูไปตามที่มันปรากฏ

เพราะนั้นตามที่มันปรากฏจริงๆ มันก็มีอยู่แค่นั้น กาย เวทนา จิต...คิดนึกน่ะ ดูไป มันก็มีกาย เวทนา จิต หรือธรรม...มันก็มีอยู่ในนั้นแหละ อารมณ์ พอใจ ไม่พอใจขึ้นมา ดูอาการนั้น

แล้วคราวนี้ว่า มันจะเป็นทุกข์ก็ต่อเมื่อมันเป็นเวทนาของเรา กายของเรา ...มันก็มีเวทนาเข้ามาที่ “เรา” เวทนามาอยู่กับเราอีกตัวหนึ่ง เป็นเราทุกข์ เราไม่อยาก เราอยาก

สลับไปสลับมาอย่างนี้ ดูไปดูมา ...แล้วให้สังเกตว่ามันจะทุกข์มากขึ้นก็เมื่อมันคิดมาก ปรุงมาก นั่นแหละจิต จิตนึกคิดๆๆ ปรุงแต่งมากขึ้นเท่าไหร่ ทุกข์ของเราก็มากขึ้นเท่านั้น

แต่ถ้าระงับจิต เท่าทันจิตไว้ ไม่คิดไม่ปรุง มันก็เหลือแค่กาย เวทนา  ส่วนธรรมารมณ์ก็เบาบางลงไป จิตมันก็ค่อยๆ สงบรวมเป็นรู้เป็นเห็นชัดขึ้นมา

พอรวมเป็นรู้...มันเห็นชัดขึ้นมาแล้ว ก็เห็นอาการเป็นสองอาการแค่นั้นแหละ กายกับเวทนา แล้วก็รู้ เพราะจิตมันระงับ พร้อมกับธรรมในจิต

กว่าจะเห็นได้อย่างนี้ มันต้องฝึกลงที่ฐานกายมากๆ ...เพื่ออะไร เพื่อให้จิตมันตั้งมั่นก่อน  ถ้าจิตมันไม่ตั้งมั่นแล้วมันจะไม่เห็นสามสี่อาการเหล่านี้ตามเท่าที่มันปรากฏหรอก

จิตมันก็จะอยู่ในอาการฟุ้ง คิดนั่นคิดนี่ คิดอดีตอนาคต เป็นเราของเราอยู่ตลอดเวลานั่นแหละ ... “เรา” มันก็อยู่ในจิต  “เรา” มันก็ออกมาพร้อมกับจิตน่ะแหละ

มันก็สร้างความน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ความไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมาตลอดเวลา มันก็บีบคั้น เร่าร้อน ด้วยอารมณ์ภายในจิตนั้นเอง

ตัวกายกับเวทนาก็คงเดิมนั่นแหละ ...เวทนามันก็เป็นเวทนาสักว่าเวทนา กายก็เป็นกายสักแต่ว่ากาย ขึ้นลงตามเหตุอันควรของมัน ไม่ได้ทุกข์ไม่ได้ร้อนให้ใคร

เพราะนั้นเวลามันสับสนอลหม่านอะไรนี่ ต้องพยายามผูกไว้กับกาย รู้กาย รู้อิริยาบถ อยู่กับอิริยาบถไว้ ไม่ต้องไปคิด ไปหาวิธีแก้ จะทำยังไงดี คิดจะไปจัดการกับมันยังไงดี อย่างนี้

แค่คิดมันก็ฟุ้งแล้ว เพราะมันจะไม่รู้จักวิธีการจัดการขันธ์หรอก ...ไม่มีทางจัดการขันธ์ได้อยู่แล้ว มันไม่มีวิธีไหนจัดการขันธ์ได้ นอกจากยอมรับแล้วก็วางมันอย่างเดียว ปล่อยแล้วก็วางขันธ์

แต่ถ้ายังคิด ยังไปแก้ขันธ์ หรือว่าแก้เวทนานี่...ยิ่งคิดยิ่งฟุ้ง ...ปรุงไปเถอะ หาวิธีการไปเถอะ จะกินยา จะหาหมอ จะไปทำอะไรเพื่อให้มันดีขึ้นอย่างนี้ คิดได้ไม่จบเลย

มันก็วน หมุนวนๆ หมุนวนอยู่ในความคิดอย่างนั้น ...ยิ่งหมุนวนอยู่ในความคิดเท่าไหร่ก็เศร้าหมองเท่านั้น เพราะมันไปคลุกอยู่กับสิ่งที่มันไม่มีจริงน่ะ สิ่งที่เป็นไปไม่ได้น่ะ

แต่มันไม่ยอม มันก็เศร้าหมอง มืดมัว ขุ่นมัว หงุดหงิด เป็นปฏิฆะกับกายกับขันธ์ไป เป็นเราที่ไม่พอใจในกายในเวทนาไป ว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้ๆ

จะไปสงสัยทำไม ...มันก็ต้องเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว...กาย  มันไม่เป็นอย่างอื่นหรอก แปรปรวนไปมา หาความแน่นอนไม่ได้ ไม่ได้ขึ้นกับความอยาก-ไม่อยากของสัตว์บุคคลไหน

เวทนามันก็คือเวทนาที่เนื่องด้วยการแปรปรวนของกายมันเป็นทุกข์น่ะ มันมีการแปรปรวนของกาย มันไม่เที่ยง มันก็ต้องมีเวทนาเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นธรรมดาอยู่แล้ว

ถ้ามันมองเห็นกายกับเวทนาเป็นเรื่องธรรมดาของขันธ์ของกายนี่ มันก็ไม่มีปัญหาอะไร...มันก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไรแต่ไอ้ที่มันมีปัญหา เพราะมันมี “เรา” เข้าไปคาดคั้นขันธ์น่ะ

เข้าไปคาดคั้นเวทนา เข้าไปจะเอาชนะ เข้าไปจะแก้อย่างนี้ เข้าไปจัดการ  จะเข้าไปจัดการเปลี่ยนแปลง ทำให้มันดีเหมือนเดิม หรือดีกว่าเดิม อะไรอย่างนี้ แต่มันทำไม่ได้

คิดแล้วก็ทำไม่ได้ ทำแล้วก็ไม่ได้ กินยาแล้วก็ไม่หาย อะไรมันก็ไม่ดีขึ้น มันก็ยิ่งเศร้าหมอง เพราะมันไปทำสิ่งที่มันทำไม่ได้ แล้วก็ไปทำสิ่งที่มันล่วงเกินความเป็นจริงของกายของขันธ์

แต่คราวนี้ว่าสัญญามันมีอยู่ลึกๆ มันเคยกินยาแล้วมันหาย ...เป็นบางโรคน่ะ บางโรคกินยาหาย บางโรคกินยาไม่หาย บางโรครักษาก็หาย บางโรครักษาก็ไม่หาย

ทีนี้มันไปเจอไอ้โรคที่มันรักษาไม่หายอย่างนี้ มันก็ยังยึดติดว่า มันเคยรักษาแล้วมันหาย มันก็เกิดความยึดมั่นถือมั่นว่าเราทำได้ ...มี “เรา” คาอยู่ข้างใน

ที่จะเข้าไปควบคุมบังคับขันธ์ให้มันเป็นไปตามความอยาก-ความไม่อยาก นี่ มันก็ทุกข์ลูกเดียว ถ้ายังไม่ปล่อย ถ้ายังไม่มีปัญญาถอดถอนออกจากความเป็นเราในกายในขันธ์

แล้วจุดเริ่มต้นที่จะเข้าไปสำเหนียกในอาการเหล่านี้ มันจะต้องมาตั้งมั่น ต้องมีสติก่อน ยอมรับก่อน ยอมรับในความเป็นไปของขันธ์ก่อน แล้วก็เอาสตินั้นน่ะมาระลึกรู้อยู่กับกองกายไว้มากๆ

จนมันรวม ได้ที่ได้ฐาน เป็นสมาธิที่ตั้งมั่นพอสมควรแล้ว มันก็จะแยกแยะอะไรต่ออะไรในขันธ์ได้ มันเกิดวิจยะ ธัมมวิจยะอยู่ภายใน มันก็จำแนกแยกขันธ์ออกไปเป็นส่วนๆ ส่วนๆ

อันไหนเป็นอะไร อะไรเป็นอะไร อันไหนจริง อันไหนเท็จ อันไหนเกิดขึ้นจากการสร้างของจิตผู้ไม่รู้ ...มันก็เห็นว่ากระบวนการของจิตมันเกิดจากความไม่รู้ทั้งสิ้น


โยม –  อย่างนี้เวลาเราเป็นไข้ เราก็ดูมันก่อนใช่ไหมคะ ยังไม่ต้องกินยา ยังไม่ต้องไปหาหมอ แล้วถ้ามันตัวร้อนขึ้นๆ อย่างนี้ล่ะคะ

พระอาจารย์ –  ดูไปก่อน ...ก็ดูไป ดูไปสักพักหนึ่งก่อน แล้วก็แยกแยะมันก่อน ระงับความอยาก-ความไม่อยากก่อน ให้มันเห็นความเป็นจริงอะไรสักนิดสักหน่อยก็ยังดี

แล้วก็ค่อยไปหาหมอกินยาทีหลัง การรักษา มันก็เป็นการบรรเทาเท่านั้นน่ะ มันไม่สามารถรักษาขันธ์ รักษากายได้จริงหรอก เดี๋ยวมันก็เกิดขึ้นอีก เดี๋ยวมันก็เป็นอีก

มันก็แสดงความเสื่อมอยู่ตลอดเวลากายนี่ มันไม่สามารถดำรงคงอยู่แบบเดิมได้หรอก มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ...ทุกครั้งที่มันเจ็บไข้ได้ป่วยก็หมายความว่ามันเสื่อม มันทรุดโทรมลงไป

เพราะนั้น ก่อนที่จะกินยา ก่อนที่จะหาหมออะไร ก็ทำความเข้าใจ ยอมรับสภาพขันธ์นี่ก่อน  มันต้องเป็นอย่างนี้ แล้วก็จะเป็นอย่างนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เรื่อยๆ ...จนวันตายน่ะ จนวันตาย

เพราะว่าขันธ์นี่ มันไม่ได้แข็งแรงอะไรหรอก ก็เป็นเหมือนบ้านโกโรโกโส คล้ายๆ อย่างนั้น ใครเข้าใครออกหกช่อง เปราะบาง เหมือนแก้วร้าวๆ จะแตกเมื่อไหร่ก็ได้ มันไม่ใช่ของถาวรอะไร

แต่ด้วยความไม่รู้ มันก็เข้าใจว่าขันธ์นี้เที่ยง ขันธ์นี้ยังคงอยู่ได้อีกนาน แล้วมันจะไม่มีวันเจ็บไข้ได้ป่วย ...มันไม่อยากเจ็บไข้ได้ป่วย มันไม่ยอมรับ

ถ้าไม่ยอมรับมันก็จะเดือดร้อนมากขึ้นเท่านั้นน่ะ  เพราะมันฝืนกับความเป็นจริง มันเกินความเป็นจริง ...มันทำไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้น่ะ

เพราะนั้นการกลับมายอมรับกับความเป็นจริง...โดยที่ไม่คิดไม่นึก ...นั่นแหละคือการยอมรับความเป็นจริงอย่างหนึ่งแล้ว ไม่คิดไม่นึกกับมันน่ะ

ทำเป็นเฉยๆ ไม่รู้ไม่ชี้อะไรกับมัน นั่นน่ะ ก็ดูเขาแสดงบทบาทของเขาไป ดูขันธ์มันแสดงบทบาทอาการ ดูโลกแสดงบทบาทอาการไป

โลกภายนอก ขันธ์ภายใน เขาก็แสดงอาการบทบาทของเขาไป...เท่าที่เขามี เท่าที่เขาเป็น ...จิตมันก็จะค่อยๆ เข้าใจแล้วก็วางไปในตัวของมันเอง

แต่ถ้าเข้าไปคิดนึกปรุงแต่งกับมันมากเท่าไหร่นี่ มันจะเกิดความสับสน..เกิดความสับสนในขันธ์ในโลก ...มันแยกอะไรไม่ออก 

อันไหนจริงอันไหนเท็จ อันไหนเป็นความจริง อันไหนเป็นความเท็จ อันไหนสิ่งที่เกินจริง อันไหนที่ทำไม่ได้ ...นี่ มันแยกไม่ออก 

เพราะจิตที่ไม่รู้มันจะปรุงในสิ่งที่มันไม่ใช่ความจริงอยู่ตลอดเวลามันเกินความเป็นจริง ...มันจะคิด มันจะนึก มันจะสร้างอะไรที่เกินความเป็นจริงอยู่ตลอดเวลา


(ต่อแทร็ก 11/33  ช่วง 2)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น