วันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 11/34 (3)


พระอาจารย์
11/34 (add560624B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
24 มิถุนายน 2556
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 11/34  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  แต่ถ้าฟังแบบอ่านเอาเรื่องอย่างนี้ ก็เรียกว่าจินตา...มันเป็นจินตาหมดเลย ...เพราะนั้นเวลาฟังนี่ ฟังเพื่ออะไร...เพื่อให้ขยัน เพื่อให้เกิดเป็นอุบาย เกิดเป็นความมุมานะ บากบั่น เอาจริงเอาจัง

ที่ต้องการให้ฟัง คืออย่างนี้...เพื่อให้เกิดการกระตุ้นต่อมอยากปฏิบัติขึ้นมา กระตุ้นต่อมความอยากทำความรู้สึกตัวมากๆ ขึ้นมา ...ตรงนี้ต่างหาก

ถ้ามันได้ตัวนี้แล้วนี่ ไม่จำเป็นต้องไปฟังข้อความแล้ว ...เพราะการปฏิบัติมันมีอยู่แค่นี้จริงๆ เข้าใจมั้ย...ก็แค่รู้ตัวนี่แหละ ...ไอ้นอกนั้นเขาเรียกว่า ปลีกย่อย สัพเพเหระ สังขารธรรมหมดน่ะ

เหมือนกับชักแม่น้ำทั้งห้าขึ้นมาเพื่อให้รู้ตัวในปัจจุบันแค่นั้น พูดง่ายๆ ไอ้ที่พูดมาสามชั่วโมงนี่ มันเป็นน้ำท่วมทุ่งอยู่แล้ว ...แต่ขนาดว่าน้ำท่วมทุ่งของเรานี่ มันก็อยู่ในหลักหมดน่ะ เข้าใจมั้ย

มันไม่ใช่ว่าแบบหลวงปู่เณร...อะไรอย่างนี้ (โยมหัวเราะ) ไอ้นั่นเลอะเทอะ อะไรอย่างนี้ เข้าใจมั้ย เขาเรียกว่าสีลัพพตปรามาส มันน่าเชื่อ ธรรมเนียม แล้วก็เห็นคนหนึ่งก็ตามๆ กัน

แล้วเขาก็ว่าอย่าไปลบหลู่นะๆ เอาล่ะ เกิดความศรัทธาแบบมืดมน กลัว แล้วก็เข้าใจว่าศักดิ์สิทธิ์ แตะต้องอะไรไม่ได้อย่างนี้ ก็ลือเล่าอ้างกันไป


โยม –  ท่านสอนไปทางไหนคะพระอาจารย์

พระอาจารย์ –  ไม่รู้ ไม่สนใจ ไม่เคยฟัง ...คือคำสอนนี่ ใครก็สอนได้ มันพื้นๆ อยู่แล้วเข้าใจมั้ย คำพูดนี่ อรรถธรรมนี่ อ่านมาก ฟังมาก พิจารณามาก แล้วก็เรียบเรียงคำพูดออกมา...ก็ได้

มันก็เรียบเรียงให้ดูดี ก็ได้อรรถความ เอาไปปฏิบัติแล้วคนปฏิบัติได้ผลก็ได้...แต่ไอ้ตัวคนพูดน่ะทำได้จริงรึเปล่า ไอ้นี่อีกเรื่องนึงเพราะนั้นคำพูดน่ะใครก็พูดได้

แต่ดูการกระทำ การดำรงความเป็นวัตรปฏิปทาดูสิ มันจึงจะเป็นเครื่องรับรอง...ภายนอกนะ อันนี้ถือเป็นเครื่องรับรองภายนอกนะ หยาบๆ ...ที่ว่าพูดแล้วทำได้จริงรึเปล่า

เพราะนั้นไอ้คำพูดนี่ ใครก็พูดได้  ต่อให้ไม่ได้เรียนเป็นพระด้วย ต่อให้เป็นใครก็ได้ ตาสียายสา ฟังเทปฟังซีดีเยอะๆ อ่านหนังสือเยอะๆ แล้วก็เรียบเรียงคำพูดให้ดี

ก็สามารถพูดให้เกิดความเข้าอกเข้าใจในธรรม หรือว่าดูเหมือนลึกซึ้งในธรรมยังไงก็ได้ ...เยอะแยะ ไปหาดูในเว็บสิ บางคนนี่ ยิ่งกว่าพหูสูตก็มี รู้ไปหมด

มันสามารถอธิบายได้ โอ้โห ถี่ถ้วนหมดเลย...แต่ใครอย่าขัดนะ เดี๋ยวเจอสวน คือแค่เราเข้าไปอ่านนี่ เราเห็นนี่ มันเข้าไปสัมผัสก็รู้แล้ว ถึงความตื้นลึก ถึงความมืด ถึงความยังไม่รู้จริง ...ถึงแม้คำพูดนั้นจะจริงก็ตาม 

นี่ ถ้าบางคนที่ปฏิบัติแล้วจะรู้เลยว่า มันพูดแล้วมันทำได้จริงมั้ย ...มันมีกลิ่นอาย เข้าใจมั้ย มันมีกลิ่นอายกิเลสที่ไม่รู้จริงๆ เป็นรู้จำ รู้คิด ...มันมีกลิ่นอาย

เพราะนั้นกลิ่นอายพระอรหันต์กับพระอรหันต์ หรือกลิ่นอายพระอริยะนี่มี แต่คนที่จะได้กลิ่นอายนั้นก็เป็นพระอริยะเหมือนกัน คล้ายๆ กัน ...อย่างนี้ท่านจะรับรู้โดยสัมผัสได้

แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ตายตัวว่าระดับไหนยังไง ...แต่รู้ว่าจริง ที่พูดน่ะจริง และทำได้จริง ...นี่ คล้ายๆ อย่างนั้น

แต่ต่อให้นุ่งขาวห่มขาว แต่งตัวดี ทำตัวเรียบร้อย แล้วก็พูดอรรถธรรม ...มันก็มีกลิ่นอายของกิเลสอยู่ในนั้นก็ได้ มันจะรู้อยู่โดยนัย...แต่ท่านจะพูดหรือไม่พูดนั่นอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะอะไร ...เพราะธรรมเป็นของดีทั้งนั้น การพูด..ถ้ามันสอนให้คนดีน่ะ ใช่มั้ย คนทำตามแล้วได้ผล ไม่ว่าจะเป็นผลระดับไหน ศีลหยาบๆ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่กินเหล้า ดีหมดน่ะ

แต่ถ้ามาถึงระดับเรานี่...ยังดีไม่พอ ศีลระดับนี้ยังดีไม่พอ ยังไม่พอให้เกิดสมาธิและญาณทัสสนะ  ...ต้องระดับอธิศีลขึ้น เพราะนั้นศีลที่เราสอนเรื่องกายเรื่องศีลนี่ คืออธิศีล

ไม่ใช่ศีลวิรัติ ไม่ใช่ศีลบัญญัติ ไม่ใช่ศีลสมมุติ ...แต่มันเป็นศีลในสมาธิและปัญญา เป็นศีลในองค์มรรค เป็นศีลที่จะเป็นไปเพื่อเข้าสู่อริยศีล จนถึงเป็นอริยกันตศีล ...นั่นมหาศีล

เพราะนั้นถ้าไม่พัฒนาขึ้นเป็นอธิศีล ไม่มีทางเลยที่จะเข้าสู่ความเป็นมหาศีล...ศีลอันยิ่งยวด

คือขึ้นชื่อว่ามหาศีล หมายความว่า คือความหมายของธรรมทั้งหลายทั้งปวงเลย ไม่ใช่จำเพาะกายแล้ว ไม่ได้แค่จำเพาะกายแล้ว ...แต่ตอนนี้...อธิศีลตอนนี้เป็นแค่จำเพาะกายนะ 

คืออย่างถ้าเป็นศีลวิรัตินี่ไม่ใช่จำเพาะกายเลย เข้าใจมั้ย  มันเป็นเรื่องทั่วไปเลย เป็นเรื่องของสังคมแล้ว เรื่องของคนรอบข้างแล้ว เรื่องของการอยู่ร่วมกันในโลก

แต่ถ้าลงมาอธิศีลนี่มันจำเพาะกายแล้ว ปกติกายเดียวแล้ว นี่ มันเริ่มจำเพาะแล้ว ...แล้วพอไปถึงมหาศีลนี่ มันไม่จำเพาะกายแล้ว แต่เป็นธรรมทั้งหลายทั้งปวง

คราวนี้มันเข้าไปขยายออกหมด ทำลายความจำแนกออกในธรรมทั้งหลายทั้งปวง...ที่จิตเข้าไปจำแนกว่านี้คือนั้น นั้นคือนี้ อย่างนั้นคือนี้ คือนั้น...ด้วยรูป

จิตนี่มันจะจำแนกโดยรูป มันเห็นรูป มันจำรูป แล้วก็บอกว่า นี้คือนี้ๆ นี้คืออย่างนี้ ไม่เหมือนอย่างนั้น ไอ้นี้คืออย่างนี้ มันคนละอันกัน ...นี่ มันจิตมันจำแนก

แต่ถ้ามหาศีล จะไม่จำแนกแล้ว เป็นการตั้งอยู่ของสิ่งหนึ่งๆๆๆ เหมือนกัน...ธรรมเดียวกันหมด ไม่ว่ารูปไม่ว่านาม ...ไม่ว่ารูปไม่ว่านามด้วยนะ ไม่ใช่แต่เฉพาะธาตุนะ

นามก็เป็นสิ่งหนึ่ง รูปก็เป็นแค่สิ่งหนึ่ง กายก็เป็นสิ่งหนึ่ง คิดก็เป็นสิ่งหนึ่ง ...นั่นมันจะเห็นเป็นธรรมหนึ่งเหมือนกันหมด...นี่เขาเรียกว่ามหาศีล

มันจะไม่จำเพาะธรรมแล้ว จิตจะไม่จำเพาะกาย จะไม่จำเพาะรูป จะไม่จำเพาะนามแล้ว ...มันจะเป็นมหา...มหาศีล เป็นหนึ่งเดียวกันหมด เหมือนกันหมด

เหมือนน้ำร้อยสายมาลงที่มหาสมุทรแล้วมีรสชาติเดียว...คือเค็ม นี่คล้ายๆ อย่างนี้ ...ธรรมทั้งหลายทั้งปวงก็เหมือนกัน มันจะต้องมารวมลงที่เดียวกันหมด คือเป็นธรรมหนึ่ง

เพราะนั้น การปฏิบัติธรรมนี่ ถ้าเริ่มถูกเริ่มดีนี่มีชัยไปครึ่งหนึ่ง ...แต่ถ้าเริ่มผิด คลาดเคลื่อนแล้วนี่...ลำบาก ลำบากในการที่มันจะทำไป..เกิดตัวตนขึ้นมาใหม่ไป

มีเราเข้าไปครอบครองใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ ปึ้บนี่ มันจะพอกพูนใหม่แล้ว ...มันมีมานะ มันมีความเห็น มันเป็นทิฏฐิในความเห็น พร้อมกันในการปฏิบัติธรรม

ติดนอกว่ายาก ติดในยากกว่า ...ติด “เรา” ในธรรมนี่  ...“เรา” ที่ติดในธรรมนี่ ละได้ยากยิ่งกว่าผู้หญิงเห็นผู้ชายแล้วรักกันน่ะ ...มันมีมานะที่ลึกซึ้ง

ถ้าไม่ใช่ระดับที่เคยสั่งเคยสอนกันมาในอดีตแต่เก่าก่อน มันไม่มีทางละเลิกเพิกถอนได้เลย...ติดภายในนี่ ติดธรรม ติดสภาวธรรมของตัวเอง ติดสภาวะจิตของตัวเองนี่

เพราะนั้นการที่กลับมารู้ตัวโดยไม่เอาอะไรเลยนี่แหละ โง่เลยแหละ โง่จากความรู้ในจิต โง่จากที่จิตคิดปรุงแต่งแล้วเข้าใจอะไรอย่างนั้น เข้าใจอย่างนี้ขึ้นมานี่ หรือว่าไปเห็นสภาวะนั้นเห็นสภาวะนี้ขึ้นมานี่

นั่นแหละรู้โง่ๆ มันตรงที่สุดแล้ว มันตรงต่อศีล ...ถ้ามันตรงต่อศีลแล้ว ไม่ต้องกลัวว่ามันไม่ตรงต่อธรรม ...ถ้าตรงต่อศีลเมื่อไหร่ มันจะตรงต่อธรรมไปเอง

แต่ถ้าไม่ตรงต่อศีล ไม่ตรงต่อกายปัจจุบันแล้ว ธรรมนี่คลาดเคลื่อนหมด เป็นธรรมที่มันจะจำเพาะแล้วก็เลือก ...เกิดการเลือกเฟ้น มีการเลือกธรรม เฟ้นธรรม

มันจะเลือก...ธรรมนี้ดี ธรรมนี้ไม่ดี ธรรมนี้เอาไว้ ธรรมนี้ไม่เอาไว้ ...มันจะเลือก เพราะมันยังมีเราอยู่


โยม –  พระอาจารย์คะ อย่างโยมน่ะค่ะ ถ้าสมมุติโยมปฏิบัติได้แค่นี้น่ะค่ะ แล้วโยมตาย...

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องคิด อย่าไปคิด บอกแล้วไง อย่าไปคิดอนาคต อย่าไปคิดภายภาคหน้า ...นี่ ให้เท่าทัน ให้เท่าทันจิตที่มันกำลังจะเข้าไปจมแช่ในอนาคตนี่...ละซะ ละด้วยการกลับมารู้ตัวซะ

ไม่มีอนาคตแล้ว ถือว่าไม่มีอนาคตแล้ว อย่าไปตั้งท่ารออนาคต ...ถ้ามันตั้งท่ารออนาคตนี่ มันก็จะมีทั้งดีและร้าย แล้วก็จะมีทั้งถูกและผิด มันก็จะมีกรรมและวิบากที่จะไปรอรับผล

ถอนซะ ละซะ ในปัจจุบัน ...ช่างหัวมัน ดีร้ายถูกผิด...ช่างหัวมัน เนี่ย กลับมาอยู่อย่างนี้ซะ ...ต้องเอาอย่างนี้ ต้องฝืกอย่างนี้ จนกว่าจะเข้มแข็งอยู่ในกับปัจจุบันธรรมเดียว

ถึงบอกว่า โง่เข้าไว้ อย่าไปคิดมาก แล้วจิตจะไม่พาไปเกิด...ตรงนี้..การเกิดนี่มันจะเป็นหมัน เข้าใจมั้ย ...แต่ถ้าไม่ทำหมัน มันก็แพร่พันธุ์

มันก็แพร่ไปเรื่อยน่ะๆ โดยสันดานมันจะเกิดอยู่ตลอดเวลา หาที่เกิดอยู่ตลอดเวลา อย่างนั้นอย่างนี้ ช่องนั้นช่องนี้ ...ก็อย่าให้มันเกิด


โยม –  มันก็จะคิดไปน่ะค่ะพระอาจารย์ มันจะคิดว่า เออ ถ้าตายไปแล้ว

พระอาจารย์ –  อย่าคิด รู้ตัว รู้ตัวแล้วออกจากความคิด กลับมารู้กับตัว  คิดใหม่รู้ใหม่ๆๆ ...กลับมาเอาตัวเป็นฐานไว้ เอาเป็นเกาะกำบัง เอามาเป็นที่มั่น 

เพื่อไม่ให้จิตมันเล็ดรอดออกไป...ไปสร้างภพที่น่าใคร่-ที่ไม่น่าใคร ...ภพที่น่าใคร่คืออะไร...เกิดน้อยลง ภพที่ไม่น่าใคร่คือ...เกิดไม่ดี  นี่คือมันจะไปสร้างภพอย่างนั้น...สองอย่างน่ะ

ไอ้ภพที่ไม่น่าใคร่ มันก็ไม่อยาก เกิดเพราะความไม่อยาก  ไอ้ภพที่น่าใคร่ก็เกิดเพราะความอยาก ...เนี่ย มันไม่มีอะไรหรอก จริงๆ น่ะ จิตน่ะ เห็นมั้ยว่ามันหาเรื่องเกิดไปเรื่อยน่ะ

มันหาเรื่อง เข้าใจคำว่าหาเรื่องมั้ย มีเรื่อง แล้วพยายามให้มันเป็นเรื่อง แต่ถ้าเด็ดขาดกับมัน ตั้งหลักให้มั่น เอากายเป็นที่ยึด เอากายเป็นที่มั่น เอากายเป็นที่ตั้งไว้นี่ ไม่ไปไม่มากับจิตแล้ว อยู่ที่เดียวนี่ 

เออ ตายก็ช่าง ได้ก็ช่าง ไม่ได้ก็ช่าง ช่างหัวมันวะ เนี่ย เอามันรู้ตัว ตัดเลย ตัดมันตรงนี้เลย แล้วไม่ต้องกลัวการเกิดแล้ว เกิดอยู่ก็ให้เกิดอยู่กับปัจจุบันกาย ปัจจุบันรู้ 

นั่นแหละคือภพชาติปัจจุบัน ก็อยู่กับภพชาติปัจจุบัน คือกาย คือคน

เอ้า เท่านี้แหละ พอได้ความแล้ว ...ไปอยู่กับตัวเองให้มาก ให้หมดเวลาไปกับการรู้ดูเห็นตัวเองให้มากที่สุด...เท่าที่จะทำได้ จนต่อเนื่อง ไม่ขาดวรรคขาดตอน


................................



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น